P.S. Publishing : หลากหลายความสัมพันธ์ในวรรณกรรมเล่มเล็ก
Brand Story

P.S. Publishing : หลากหลายความสัมพันธ์ในวรรณกรรมเล่มเล็ก

Focus
  • สำนักพิมพ์ P.S. Publishing มีจุดเริ่มจากการทำหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ และให้น้ำหนักไปที่นักเขียนหญิง โดยมี ปณิธิตา เกียรติ์สุพิมล นั่งแท่นเจ้าของสำนักพิมพ์
  • Passion Perfect เป็นหนึ่ง ดั่งใจ และมากกว่า, คุยเรื่องจุ๋มจิ๋มของน้องสาว คือตัวอย่างหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์ที่เล่มหนึ่งคือเรื่องความสัมพันธ์ เล่มหนึ่งอิงการแพทย์ แต่สามารถดึงมาเล่าได้อย่างสนุกถูกจริตคนรุ่นใหม่

P.S. Publishing กับ 4 ปี แห่งการเติบโตจากสำนักพิมพ์หน้าใหม่จนมาถึงสำนักพิมพ์ที่วัยรุ่นพูดถึงกันทั่วบ้านทั่วเมือง แม้จะเล็กแต่ P.S. Publishing  มีความหลากหลายให้เลือกอ่าน ทั้งเรื่องสั้น เรื่องรัก ไซไฟ บทกวี นวนิยาย จนถึงบทความทางการแพทย์ จากสำนักพิมพ์เล็กๆ P.S. Publishing ทำอย่างไรจึงทำให้หนังสือที่คัดสรรมาตีพิมพ์แต่ละเล่มติดกระเป๋าวัยรุ่นในทุกวันนี้ Sarakadee Lite ชวน ปนิธิตา เกียรติ์สุพิมล เจ้าของสำนักพิมพ์สุดแนว มาเล่าถึงเบื้องหลังการทำงาน และการสร้างแบรนด์เล็กๆ ให้เติบใหญ่ เจาะเข้าไปนั่งในใจนักอ่านรุ่นใหม่และมีแฟนๆ ที่เหนียวแน่น และพร้อมสนับสนุนในแนวทางอันชัดเจนของ P.S. Publishing 

P.S. Publishing

จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มเล็กๆ ที่อยากบอกเล่าเรื่อง “ความสัมพันธ์”

“ P.S. Publishing เริ่มจากการทำหนังสือเล่มเล็กที่มีประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์และให้น้ำหนักกับนักเขียนหญิง เพราะก่อนหน้านี้เราเห็นสำนักพิมพ์อื่นๆ ในตลาดมีนักเขียนชายมาก และเรามองว่ายังไม่ค่อยตอบโจทย์ เราคิดว่าน่าจะดีถ้าได้ฟังจากเสียงของผู้หญิงบ้าง บางทีเราอ่านเรื่องจากนักเขียนชาย เราจะเห็นถึงการสร้างผู้หญิงว่า ผู้หญิงต้องผิวขาวอมชมพูสวยเนียนอยู่ตลอดเวลา เราคิดว่า เฮ้ย! ไม่ใช่ เรามีเซลลูไลท์ เรามีผิวเปลือกส้ม เราไม่ได้มีความสวยแบบหนึ่งเดียว อยากให้มองความสวยงามที่หลากหลายของผู้หญิงด้วย เราเลยมองหาการเล่าเรื่องจากผู้หญิงที่บางทีก็จะมีเรื่องอารมณ์ หรือบางทีก็จะเป็นน้ำเสียงจุ๊กจิ๊ก ผ่านมุมมองเล็กๆ น้อยๆ ที่บางทีเรื่องเล็กน้อยสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง แม้จะไม่ได้เล่าปัญหานั้นตรงๆ อย่างปัญหารถติด ปัญหาขนส่งมวลชน พวกนี้อาจเล่าเพียงว่าทำให้เราไปเดทสาย และไปถึงขั้นทะเลาะกัน รถติดสามารถกระทบกับความสัมพันธ์เลยได้”

หรือแท้จริง P.S.Publishing คือโรงเรียนหญิงล้วน

“บางคนอาจมองว่า P.S. เป็นโรงเรียนหญิงล้วน แต่จริงๆ ไม่ใช่ อาจเพราะเล่มที่ขายดีเล่มแรกๆ เป็นของนักเขียนหญิง แต่จริงๆ เราอยากพูดถึงเรื่องของผู้หญิง เสียงของผู้หญิง แต่ไม่ได้ปฏิเสธนักเขียนชาย เพียงแต่นักเขียนชายที่เราเลือกก็ต้องพูดด้วยประเด็นและน้ำเสียงที่ต่างออกไป เช่น อุเทน มหามิตร เป็นนักเขียนที่ทำงานกับภาษาสนุกๆ มีไวยกรณ์ใหม่ๆ มีการเล่นแร่แปรธาตุทางภาษา” 

P.S. Publishing

“หรืองานของ กวีวัธน์ ที่พูดถึงวรรณกรรมชายรักชายที่ต่างไปจากแนววาย เช่น เด็กรักกับผู้ใหญ่ อาจมองว่าเด็กเองก็ใช้วัยหรือความสัมพันธ์มาต่อรองบางอย่างจากผู้ใหญ่ได้ ไม่ใช่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะมีอำนาจฝ่ายเดียว เราจึงเป็นสำนักพิมพ์ใหม่ที่ทำงานกับนักเขียนหน้าใหม่ ส่วนในช่วงหลังนี้เรามีนักเขียนรุ่นใหญ่อย่างงาน อุรุดา โควินท์ และ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒนวงศา เราไม่ปิดกั้น แต่เราพยายามจะเลือกนักเขียนที่มีบุคลิก หรือแนวคิดที่ต่างกันไป เหมือนทีมฟุตบอลที่มีหลายตำแหน่งเราจะไม่หาคนที่มีแนวทางซ้ำกัน แต่ต้องชัดในแนวทางของตัวเอง แล้วมาสร้างงานระหว่างสำนักพิมพ์กับนักเขียนให้เติบโตไปด้วยกัน”

“การเมือง” ที่ซ่อนอยู่ในเรื่องของความสัมพันธ์

“เมื่อเริ่มต้นทำหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคน ระหว่างทางมันจึงเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วที่จะมีเรื่องการเมืองอยู่ในความสัมพันธ์นั้นๆ ซึ่งเราไม่ได้บอกตรงๆ หรือเขียนอยู่บนปกหลัง แต่เรื่องของความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นแม่ลูก เป็นแฟน เป็นเพื่อน เราก็มักจะมีความสัมพันธ์ทางอำนาจ การแลกเปลี่ยน เงื่อนไขการอยู่ร่วมกัน สิ่งเหล่านี้มันเป็นการเมืองอยู่แล้ว เช่น การที่แม่อ้างว่า ‘ฉันเป็นแม่เธอนะ’ การที่พ่อสั่งว่า ‘ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้’ หรือขอบเขตของการเกรงใจเพื่อนว่ามันควรอยู่ตรงไหน เหล่านี้ก็คือการเมือง

“ที่ผ่านมา เรื่องเล่าของ P.S. มักเป็นเรื่องเล็กๆ บางทีเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัวของนักเขียน แต่ก็เกี่ยวข้องกับการเมืองที่กว้างออกไป สำนักพิมพ์อื่นเขาอาจทำงานวิชาการ ทำงานตรงไปตรงมา วิพากษ์สังคมกันตรงๆ ซึ่งเขาก็ทำได้ดี เราก็ทำเรื่องเล็กๆ ของเรา เช่น สีลิปติก กระโปรงสั้น เครื่องสำอาง ร่างกาย สิทธิ อย่างการบอกปฏิเสธคนรักว่ายังไม่อยากมีเซ็กซ์ ซึ่งบางคนอาจไม่คุยกัน ไม่รู้จะพูดยังไง หรือเวลาพูดถึงเรื่องเซ็กซ์ หลายคนไม่รู้ว่าจะสื่อสารจะพูดกันอย่างไร เรื่องราวในหมู่บ้าน ตำบล ครอบครัว สิ่งเหล่านั้นมีความสัมพันธ์กับเราอย่างไร เรื่องความสัมพันธ์เป็นอะไรที่เศร้าและสนุกได้ในทีเดียวกัน เพราะเมื่อมันผ่านไป อารมณ์ของเรื่องนั้นมันก็จะเปลี่ยนไป นักอ่านของเราพออ่านแล้วเขาก็จะรู้สึกว่าความสัมพันธ์รักๆ เลิกๆ เป็นเรื่องธรรมดาคนอื่นก็เป็นกัน ไม่ได้มีแค่เขาคนเดียว

P.S. Publishing

“เราคิดว่าการที่คนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง เราคิดว่าคนรุ่นใหม่ยังดูมีหวังอยู่ พวกเขาเห็นถึงฟันเฟืองของการต่อสู้ที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น ตระหนักถึงการเรียกร้อง เหมือนเจนวาย (Gen Y) ถูกปรามาสมากเลยว่าไม่มีความอดทนกับการทำงาน แต่นั่นเพราะเขาเห็นความหมายในชีวิตของตัวเอง ต่างจากเจนก่อนหน้าที่ตั้งหน้าตั้งตาอดทนต่อไป เพราะหมุดหมายของรุ่นพ่อแม่อาจจะเป็นการสร้างความมั่นคงส่งลูกเรียน พอมาถึงเจนวาย พวกเขาอาจมองว่าไม่ต้องมีลูก อยากเดินทาง อยากหาความหมายชีวิต ความสัมพันธ์ก็ต่างออกไป พอไม่ต้องการความมั่นคงก็อาจรักๆ เลิกๆ ได้ มีเซ็กซ์กัน เดี๋ยวก็เลิกกันได้ สะท้อนถึงการเมืองในชีวิตประจำวัน เพราะชุดความคิดได้เปลี่ยนไปแล้ว”

เมื่อการแพทย์ถูกเล่าในมุมของ  P.S.Publishing

“มันยังมีค่านิยมที่ผิดๆ ที่หลายคนยังไม่กล้าที่จะบอกเล่า อย่างในเล่มล่าสุด Sister to Sister คุยเรื่องจุ๋มจิ๋มของน้องสาว ของ พญ. ขวัญชนก หอมแสงประดิษฐ  คุณหมอเขาก็บอกว่าน้องสาวมีกลิ่นคือปกติ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องหาน้ำยาล้างมากลบกลิ่น และจริงๆ น้ำยาล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศไม่จำเป็นต่อผู้หญิงด้วยซ้ำ เรื่องแบบนี้บางทีบางคนอายและมีความเชื่อผิดเพี้ยน บางคนก็ไม่กล้าพูดเรื่องเพศ บางคนสงสัยแต่ไม่กล้าปรึกษาพ่อแม่ อย่างเรื่องฝังห่วงอนามัย ตามกฎหมายจริงๆ ทำได้โดยไม่ต้องมีผู้ปกครองก็ได้ เรื่องอย่างนี้บางคนไม่รู้ มันเป็นเรื่องของการดูแลตัวเองที่ถูกต้อง และคุณหมอเองก็อย่าให้ไปมองเด็กวัยรุ่นที่มาฝังห่วงอนามัยว่าแรดจัง แต่อยากให้มองว่าเขาทำได้เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดา หรืออย่างเวลาไปซื้อของร้านสะดวกซื้อ ผ้าอนามัยเป็นสินค้าที่ผู้ขายบางคนมักถามว่า ‘ใส่รวมกับของอื่นได้ไหม’ ได้สิ! มันยังไม่ได้ใช้ มันก็ใส่ร่วมกันได้ ไม่ได้สกปรก เรื่องเล็กๆ พวกนี้มีผลต่อผู้หญิงนะ มีผลต่อจิตใจ ต่อการยืนอยู่ในสังคมต่อสายตาที่กำลังมองมา”

ปัจฉิมลิขิตถึงนักอ่าน มองตลาดวรรณกรรมแบบ P.S.

“P.S. คือ ปัจฉิมลิขิตในจดหมาย ซึ่งมักจะอยู่ท้ายของจดหมายเสมอ และมักอยู่ช่วงท้ายของสาระสำคัญที่มีอารมณ์ลงไปเช่น ทั้งฉบับเขียนเนื้อหามาทั้งฉบับ แต่ลงท้ายด้วย ป.ล.คิดถึงนะ P.S. คือคำว่า คิดถึงนะ ท้ายจดหมาย มาสั้นๆ แต่มีอารมณ์ความรู้สึกเป็นคำทิ้งท้ายและน่าจดจำ นั่นจึงทำให้หนังสือของ P.S. เริ่มจากทำเล่มเล็กสั้นๆ อ่านจบในวันเดียวแต่น่าจดจำ

“สาระสำคัญเวลาเรามองหาต้นฉบับเราจะมองหาเรื่องเล่าที่เข้ากับยุคสมัย เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สังคมพูดถึง แต่ถูกพูดออกมาในน้ำในเสียงที่ไม่ถูกพูดถึงบ่อยนัก เช่น หากผ่านน้ำเสียงที่มีความหลากหลายทางเพศ งานของ P.S. จะไม่ใช่น้ำเสียงที่ตัดสิน คนอ่านมักบอกว่าเหมือนมีเพื่อนมานั่งเล่าเรื่องให้ฟัง ไม่ตีตรา ไม่สั่งสอนศีลธรรม เรื่องความสัมพันธ์ทุกวันนี้มันหลากหลาย การคบแฟนหลายคน หรือการมีพ่อที่มีแฟนเป็นผู้ชาย เป็นความสัมพันธ์ที่สมัยใหม่ ไม่แบ่งพรมแดนอีกต่อไป

“คนอ่านหลักของ P.S. อายุระหว่าง 18-30 ปี กลุ่มหลักแรกๆ ที่เราตั้งใจเลยคือผู้หญิง แต่พอทำหนังสือออกมากลับพบว่าคนอ่านผู้ชายก็มี และค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ตอนออกหนังสือใหม่ๆ คิดว่าผู้ชายจะไม่ชอบ เพราะเราก็เขียนตอบโต้ความเป็นชายไปเยอะเหมือนกัน แต่พบว่ายังมีผู้ชายที่ไม่ได้อยู่ในกรอบคิดบนความเป็นชายอยู่มาก เช่น ผู้ชายที่ไม่เห็นด้วยกับการคุกคามทางเพศ ผู้ชายที่ตระหนักกับเรื่องความไม่ยุติธรรมทางเพศ 

“สำหรับการออกแบบปก ช่วงแรกเราทำปกนามธรรมค่อนข้างเยอะ พอช่วงหลังมาเปลี่ยนทำปกภาพวาด มีรูปคน มีการสื่อสารมากขึ้น เป็นมิตรมากขึ้น คิดว่ามีผลต่อยอดขายนะ เพราะปกที่สื่อสารกับคนดู จับต้องได้ เข้าถึงง่าย เป็นปกที่ตอบโจทย์นักอ่านมากกว่า”

การเลือกต้นฉบับในน้ำเสียงที่น่าจดจำ

“ในการทำสำนักพิมพ์เราไม่ใช่แค่เลือกต้นฉบับที่ดี แต่เราต้องเลือกทัศนะคติที่ดี เป็นทัศนคติที่เข้ากับเราด้วย ที่สำคัญการทำสำนักพิมพ์ไม่ใช่มูลนิธิ สำนักพิมพ์ต้องแสวงหากำไร เราต้องตัดสินใจแล้วว่างานที่จะตีพิมพ์เป็นงานที่ดี งานที่ขายได้ P.S. เริ่มต้นด้วยทุน 1 แสนบาท พิมพ์เล่มแรกใช้ไปแล้ว 6 หมื่นบาท เราก็มองว่าถ้ามันอยู่ไม่ได้ มันไม่ใช่แล้ว เพราะสายป่านเราไม่ยาวพอ 

“ตอนทำเล่มถัดมาก็ทำเล่มเล็กและใช้ต้นทุนในการผลิตถูกลง ทำเล่มเล็กลง ปรับราคาลงมาเป็น 90 บาท เล่มแรกเราใหม่มาก ขายแพงบางคนก็ไม่กล้าซื้อ แต่พอเล่มสองของสำนักพิมพ์ Abstract Bar ของ ปอ เปรมสำราญ เราปรับการผลิตใช้ปกขาวดำ พิมพ์ขาวดำ ใช้แรงงานน้อย ไม่มีออฟฟิศ ไปส่งของเอง ลดต้นทุน หาทิศทางคนอ่าน เล่มสองจึงขายค่อนข้างดี ซึ่งเหตุผลหนึ่งคือ การเติมช่องว่างทางการตลาด เป็นช่องว่างของตลาดวรรณกรรม เราทำหนังสือที่บรรยายฉากน้อย อ่านจบได้เร็ว เดินเรื่องเร็ว ขายกับวัยรุ่นที่โตมากับยุค MV ยุคที่ประโยคสั้นลง คนสามารถจินตนาการฉากได้โดยไม่ต้องบรรยายฉากยาวๆ เพื่อให้เห็นภาพ ผู้อ่านวัยรุ่นสามารถเติมจินตนาการ ประสบการณ์ของเขาลงไปผสมกับเรื่องของเราได้ เหมือนมาเติมช่องวางของตลาดและเข้ากับยุคสมัยกับนักอ่านสมัยนี้” 

เมื่องานสำนักพิมพ์ไม่ใช่มูลนิธิ

“ตอนนี้บัญชีเรายังตัวแดงอยู่นะ แต่เป็นเงินหมุนเวียน ตัวแดงจึงเป็นตัวแดงที่รับได้ และมองเห็นความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ปัจจุบันเราพิมพ์มาราว 30 เล่ม เงินทุนหมุนเวียนก็เพิ่มขึ้นมา เรามองเห็นความเป็นไปได้จากเสียงคนอ่านที่เริ่มเพิ่มขึ้น ลึกๆ คนทำสำนักพิมพ์น่าจะไม่หวังรวยหรอก ถ้าหวังรวยไปทำอย่างอื่นง่ายกว่า เพราะสำนักพิมพ์ใช้แรงเยอะ ใช้ความชอบแต่ก็ต้องทำให้อยู่ได้ ในแง่การตลาดเราทำการตลาดเล่มต่อเล่ม หาความเหมาะสม เช่นล่าสุดเราทำเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศของผู้หญิง เราตั้งใจให้เด็กวัยรุ่นอ่าน เราก็จัดโปรโมชัน อายุต่ำกว่า 18 ปีลด 15% คิดถึงคนอ่านที่เราอยากไปหาเขา พยายามทำให้หนังสือไปถึงมือเขาให้ง่ายที่สุด

“นอกจากการขายหนังสือตามร้าน และออนไลน์แล้ว เรายังต้องเพิ่มช่องทางให้นักเขียนและนักอ่านได้พบกัน สร้างความผูกพันระหว่างสำนักพิมพ์ นักเขียน นักอ่าน อย่าง P.S.ใน Litfest เราก็มีดอกไม้ให้นักอ่านที่มาซื้อหนังสือเรา หรือถ้าสั่งออนไลน์เราก็จะมีการ์ดขอบคุณ เพื่อให้มีความสัมพันธ์กัน และให้คนอ่านนั้นแหละบอกเล่าเกี่ยวกับหนังสือของเรา รีวิวหนังสือเราผ่านออนไลน์ จะชอบหรือด่าเราก็ขอบคุณ”

P.S. ถึงพรุ่งนี้

“แผนการตลาดตอนนี้คือออกหนังสือให้ได้มากกว่า 12 ปกต่อปี และมากกกว่านี้ได้ยิ่งดี ที่สำคัญควรต้องมียอดขาย 3,000 เล่มต่อเดือน รวมถึงตั้งใจขยายไป Platform อื่นมากขึ้น เช่น การขายทำลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และละคร การแปลหนังสือเป็นภาษาอื่น ซึ่งตอนนี้เราเริ่มแปลบางชิ้นเป็นภาษาอังกฤษเตรียมไว้แล้ว พยายามต่อยอดสร้างเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเชื่อมโยงกับหนังสือ หรือลงข้อเขียนเป็นตอนๆ แล้วค่อยนำมารวมเล่มอีกที

“อีกสิ่งที่อยากทำคือ หนังสือบทกวี เราพบว่าบทกวีถ้าดี คือดีจริงๆ เราอยากหากลุ่มนักอ่านบทกวีให้เจอ ซึ่งเป็นตลาดที่ตอนนี้เรายังไม่ชัดเท่าไร เรามองหาอะไรใหม่ๆ P.S. Publishing ชอบคนดื้อ หมายความว่า ดื้อที่จะตั้งคำถามกับขนบเดิมๆ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและมีทัศนะพร้อมจะไปกับยุคสมัย”


Fact File

  • ติดตามสำนักพิมพ์ P.S. ได้ที่ Facebook: P.S.Publishing

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม