เดอะ เคหา บ้านของศิลปินผู้รักการเดินทาง คาเฟ่และโฮสเทลใจกลางโอลด์ทาวน์
Brand Story

เดอะ เคหา บ้านของศิลปินผู้รักการเดินทาง คาเฟ่และโฮสเทลใจกลางโอลด์ทาวน์

Focus
  • เดอะ เคหา (The Kheha) คาเฟ่และโฮสเทล ที่เปิดตัวเมื่อปลายปีพ.ศ. 2562 กับคอนเซปต์ที่ตั้งใจให้เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของนักเดินทาง ให้ได้ไปพักผ่อนจิบกาแฟ ทานอาหารและชมศิลปะไทยประยุกต์เสมือนการไปพักบ้านเพื่อน
  • ผนังอาคารด้านนอก รวมถึงชิ้นงานศิลปะด้านในล้วนมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับการเดินทางและเป็นผลงานของศิษย์เก่าจากรั้วศิลปากร

ภายในบ้าน 3 ชั้นหลังหนึ่งของเพื่อนศิลปินผู้รักการเดินทาง บรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยชิ้นงานศิลปะ เพลงจังหวะสบาย ๆ เครื่องดื่มเรียกความสดชื่นและอาหารรสเข้มข้นเสมือนทำกินเองที่บ้าน เรากำลังพูดถึง เดอะ เคหา (The Kheha) คาเฟ่และโฮสเทลแห่งใหม่ที่ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมของแยกถนนบำรุงเมืองตัดกับถนนพลับพลาไชย เพราะคอนเซ็ปต์ของที่แห่งนี้เป็นแบบนั้น

เดอะ เคหา
จากซ้าย: รี-จารีนันท์ เสรีโรจนสิริ ยุ้ย-ณัฏฐ์ฌา พงศ์พัฒนจินดา และ อ้อย-อินทิรา ทัพวงศ์

Brand Story

เดอะ เคหา เกิดจากการชักชวนกันของ 3 ผู้ก่อตั้ง อ้อย-อินทิรา ทัพวงศ์ รี-จารีนันท์ เสรีโรจนสิริ และ ยุ้ย-ณัฏฐ์ฌา พงศ์พัฒนจินดา ที่เห็นพ้องต้องกันว่าอยากทำงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้นหนึ่งที่ประเทศไทยยังไม่เคยมี จึงเกิดเป็นการ Hand Painted ทั้งตึกแบบที่แขกไปใครมาในย่านนี้ต้องมีสะดุดตากันบ้าง

“คอนเซ็ปต์ของที่นี่เป็นเรื่องของการเดินทาง เหมือนการรวมตัวของนักเดินทางจากทั่วโลก ชื่อ เคหา แปลว่าบ้าน เราอยากให้ที่นี่เป็นเหมือน Home away from Home ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางแล้วมาพัก หรือแวะมากินอาหาร ดื่มกาแฟ อยากให้รู้สึกเหมือนเป็นบ้านที่เขามาพักเหนื่อยแล้วค่อยเดินทางต่อ บ้านที่มีเจ้าของเป็นศิลปิน มาที่นี่เหมือนได้มาเยี่ยม มาพักบ้านเพื่อน ลวดลายต่าง ๆ ที่วาดขึ้นทุก ๆ ชิ้นได้แรงบันดาลใจมาจากการเดินทาง” ยุ้ย ผู้ดูแลในส่วนของการบริหารเล่าให้เราฟัง

เดอะ เคหา
สุทิน ตันติภาสน์ ศิลปินผู้วาดอาคาร The Kheha

อาคาร 3 ชั้นของ The Kheha ในอดีตเคยเป็นธนาคารเก่า ซึ่งถูกชุบชีวิตผนังด้านนอกให้มีสีสันขึ้นใหม่ด้วยลวดลายสีน้ำเงินพื้นขาวผลงานของ สุทิน ตันติภาสน์ ศิษย์เก่าคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร รุ่นที่ 26 เจ้าของเพจ Art For Dec โดยการวาดแบบ Hand Painted ทั้งตึก รวมถึงป้อมตำรวจจราจรด้านหน้าร้านที่มีเรื่องราวไปในทางเดียวกันด้วย

“คอนเซ็ปต์ของที่นี่เป็นการเดินทางท่องเที่ยว เราเลยใช้สัญลักษณ์รูปโลกสองซีก ขั้วเหนือกับขั้วใต้ ส่วนเรื่องราวเราก็นำมาผสมผสานกับมุมมองของเราคือมีภาพไทยเข้าไปปน อาศัยรูปแบบดั้งเดิมของแผนที่โบราณ แต่ไม่ทิ้งความเป็นไทยอย่างพวกลายคลื่น เราจะใช้ดีไซน์แบบไทยเข้ามาดัดแปลง

“ตอนแรกที่รับงานนี้มา เพราะรู้สึกว่าเราทำได้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ส่วนใหญ่ที่เคยทำจะเป็นผนังไซซ์ทั่วไป ตึกสูงแบบนี้ไม่เคยทำเลย เป็นคนกลัวความสูงด้วย ตอนที่รับงานเหตุผลหนึ่งคือความเป็นเพื่อน เขามีความฝันว่าอยากทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นมาก เราเองก็ไม่เคยเขียนงานในสเกลใหญ่ขนาดนี้ แต่เห็นปุ๊บก็รู้สึกว่าทำได้ เอาที่รู้สึกก่อนนะ แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็แอบขับรถมายืนดูว่าจะทำอย่างไร อันนี้ไม่ให้ใครรู้นะ เพราะเรารับปากไว้แล้ว ต้องทำให้ได้” สุทินเล่าถึงจุดเริ่มต้นของงานวาดผนังตึกราว 400 ตารางเมตรเต็มพื้นที่ความสูงของตึก 3 ชั้น

เดอะ เคหา

แม้จะเล่าแบบติดตลก แต่สุทินบอกว่าเบื้องหลังงานนี้โหดใช่ย่อย ถึงขนาดที่เขาเก็บไปฝันเพราะมีรายละเอียดและสิ่งที่ต้องคิดคำนวณให้แม่นเป๊ะอย่างที่ตั้งใจอยู่มาก เพราะหากพลาดไปเพียงหนึ่งเซนติเมตรอาจส่งผลถึงชิ้นงานทั้งหมดได้

“เราใช้สมองทุกเวลา นอนยังเอาไปฝันเลย สองเดือนเต็ม ๆ ไม่ได้ทำงานอื่นเลยนะ สเกลแบบนี้ถ้าทำจริง ๆ น่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน แต่ที่เรากำหนดให้เสร็จใน 2 เดือนเพราะบังเอิญเราขับรถอยู่แล้วคิดขึ้นได้ว่า มันมีวิธีทำนะ วิธีที่จะทำให้ภาพออกมาคมและสัดส่วนไม่ผิด แม่นตรงกับภาพที่เราคิดจินตนาการไว้ คือเราไปนึกถึงการแปลอักษรขึ้นมา ทำงานทีละชิ้น ๆ มาต่อกัน” 

นอกเหนือจากการคำนวณและมองรายละเอียดต่าง ๆ ของชิ้นงานด้วยเทคนิคการแปลอักษร แบ่งภาพรวมของชิ้นงานออกเป็นช่องเล็ก ๆ หลาย ๆ ช่องประกอบกัน แล้วทำไปทีละช่อง เขาเล่าว่ายังต้องคำนึงถึงมุมมองจากด้านล่างของตึกให้มองขึ้นไปดูไม่เบี้ยวด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังมีอุปสรรคตามมาอีกหลายสิ่งในขั้นตอนการลงมือวาด นั่นคืออากาศที่ร้อน เสียงรบกวนจากรอบข้างและที่สำคัญคือความสูงที่สุทินรับว่าแอบขาสั่นในช่วงแรก

“สิ่งที่กลัวอย่างเดียวคือความสูง ตอนทำงานเราได้ไอเดียอย่างหนึ่งว่า เรากลัวอะไรก็ลองทำอย่างนั้นดู เช่นกลัวความสูงก็ลองยืนบนพื้นราบนี่แหละ แล้วคิดจินตนาการว่ามันสูงมาก เราต้องคิดจินตนาการแบบนี้ตลอดเลย ขับรถมาพอลงจากรถก็คิดว่า เรากำลังยืนอยู่บนที่สูงนะ จนวันหนึ่งเรารู้สึกไม่กลัวความสูง แต่พอวันที่ตั้งนั่งร้านจริง ๆ ก็ขึ้นไปยืนแล้วขาสั่น เพราะความจริงกับสิ่งที่เราคิดไม่เหมือนกัน แต่ทำอยู่อย่างนั้นวันสองวันก็รู้สึกขาไม่สั่นแล้ว เป็นโจทย์ที่ยากมากแต่นึกถึงเวลางานเสร็จออกมาแบบนี้ อุปสรรคเหล่านั้นก็ลืมหมดเลย”

สุทินเล่าต่อว่าความโชคดีอย่างหนึ่งคือการได้ทีมช่างทาสีมาช่วยในขั้นตอนการลงสี ทำให้ชิ้นงานออกมาเสร็จทันเวลาก่อนฤดูฝนอย่างที่ตั้งใจในระยะเวลาสองเดือน ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงพฤษภาคม โดยที่เขาเป็นคนเริ่มต้นวาดสเก็ตช์และเก็บรายละเอียดเองทั้งหมด ก่อนที่วันเปิดม่านโชว์ภาพเสร็จสมบูรณ์ของชิ้นงานจะลุ้นจนไม่กล้าดูด้วยตัวเอง

เดอะ เคหา

“อีกตอนหนึ่งที่ยากสำหรับความรู้สึกเราคือตอนเปิดผ้าม่าน ลุ้นกันน่าดูเลย ถ้ามันไม่ตรงอย่างที่เราคิด มันคือติดลบเลยนะ ไม่รู้จะลบอย่างไรเลย มันจะเป็นเหมือนตราบาป (หัวเราะ) ถ้าตรงตามที่คิดเราก็ถือว่าเสมอ แต่เราทำการบ้านมาดีมาก ชนิดที่ทุกส่วนเราเอามาขยายในคอมพิวเตอร์นั่งดูไป 3 วันเต็ม ๆ ไม่ไปไหนเลย นั่งดูทีละส่วนเลยว่ามีตรงไหนผิดไหม เบื้องหลังนี้ไม่มีใครรู้เลยนะ อย่างเช่นแผ่นที่ 1/400 มีข้อเสียตรงเส้นนี้ที่ทำให้ดูเบี้ยว ก็จะจดไว้ก่อน ไล่ดูอยู่อย่างนั้นจนเรามั่นใจ แล้วถึงจะเริ่มเขียนจริง ตอนเปิดม่านคือไม่ดูเลย ให้เขาไลน์มาบอก เรารู้สึกว่ามันจบไปแล้ว แต่พอมาดูในเฟซบุ๊กทุกคนบอกว่าสวยมาก พอเห็นว่ารูปออกมากลมก็จบ ไม่ได้ฟุ้งต่อ เพราะตั้งโจทย์เอาไว้ว่า กลมอย่างเดียวคือจบ” สุทินเล่าถึงการทำงาน ก่อนจะกล่าวทิ้งท้าย

“การทำงานนี้ ทำให้เรารู้ว่าต้องระวังมากขึ้น ทุกวันนี้เดินพื้นราบก็ยังคิดว่ามันสูงอยู่ กลายเป็นอย่างนั้นไป (หัวเราะ) แต่มันดีนะ ทำให้เรามีสติมากขึ้น” 

นอกจากตัวอาคารที่ตั้งโดดเด่นและดึงดูดให้เข้าไปเยี่ยมชมแล้ว ภายในยังประกอบไปด้วยงานศิลปะหลากชิ้นทั้งบนผนังและการจัดวางประดับอยู่ตามจุดต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินไทยนับสิบคนและทั้งหมดล้วนเป็นเพื่อนพี่น้องร่วมรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรของอ้อยทั้งหมด โดยมีคอนเซ็ปต์ร่วมคือการเดินทางและศิลปะแบบไทยประยุกต์ผสมผสานหลากหลายวัฒนธรรม เพื่อที่ยังคงสื่อสารกับคนรุ่นใหม่และวงกว้างได้

เดอะ เคหา
เดอะ เคหา

อย่างที่เห็นตรงผนังด้านขวา เป็นผลงานของ วรเศรษฐ์ นพอภิรักษ์กุล ที่ใช้สัญลักษณ์ดวงตาในการสื่อถึงการมองเห็นในหลาย ๆ ด้าน หลาย ๆ มุมมอง เงยหน้ามองไปด้านบนจะพบโครงสร้างของแผนที่โลก ผนังด้านที่ติดกับประตูจะเป็นภาพของแผนที่โบราณในย่านเมืองเก่า ถัดเข้าไปตรงบันไดเป็นภาพพระพิฆเนศอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวศิลปากรที่ศิลปินใส่ความโมเดิร์น วาดให้ดูร่วมสมัยมากขึ้น 

เรียกได้ว่ามองไปทางไหนก็สามารถเสพศิลปะได้ทุกอณู ในแบบเข้าถึงง่าย อย่างที่บอกว่า ความตั้งใจของที่นี่คือการเป็นครีเอทีฟสเปซ ที่อยากให้คนเข้ามาแล้วได้รับแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะมาพัก มากินอาหารหรือตั้งใจมาชมศิลปะ แบบที่ไม่รู้สึกว่าศิลปะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ผสมผสานอยู่ในชีวิตประจำวันได้

Signature Dishes

ในส่วนของอาหาร เดอะ เคหา มีทั้งอาหารไทยและสากล เมนูเด็ดที่ทางร้านแนะนำคือเซตข้าวแกงเขียวหวานไก่กับไข่ลูกเขย (165 บาท) ที่รับประกันความถึงเครื่องแกงแบบไทยจากสูตรดั้งเดิมและพริกแกงตำมือ ใครไม่ถนัดรสเผ็ดแนะนำ สปาเกตตีซอสเพตโตกับปลาแซลมอนย่าง (175 บาท) ที่เสิร์ฟมาด้วยแซลมอนชิ้นโตและซอสเพตโตรสเข้มข้น หรือจะเลือกเป็น Garlic Bread With Pate’ ขนมปังกระเทียมกับตับบด (135 บาท) ก็เป็นอีกเมนูแนะนำของที่นี่

ทางฝั่งเครื่องดื่ม เดอะ เคหา เน้นเมนูที่ให้ความสดชื่น ดื่มง่าย ซิกเนเจอร์เมนูคือ Yinyang Coffee (110 บาท) เอสเพรสโซช็อตปั่นจากเมล็ดกาแฟเบลนด์พิเศษนิการากัวผสมไทยฉบับของทางร้าน เสิร์ฟคู่มากับนมให้เติมได้ตามความต้องการ ส่วนสายนอนกาเฟอีนก็สามารถเพลิดเพลินกับความนวลเนียนไม่เปรี้ยวไม่หวานไปของ Strawberry Frappe (115 บาท) ได้เช่นกัน

Stay

ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ขอพาทุกคนสำรวจด้านบนไปพร้อมกันสักหน่อย ยุ้ยเล่าว่าโครงสร้างภายในตัวอาคารมีการปรับเปลี่ยนจากเดิมตามประโยชน์ใช้สอยที่ได้สถาปนิกอย่าง สมชาย จงแสง ศิลปินศิลปาธร สาขาการออกแบบเชิงสร้างสรรค์มาดูแลให้ ซึ่งมีทั้งส่วนของห้องประชุมบริเวณชั้นลอยให้สามารถมาเช่าทำงานได้ตามคอนเซ็ปต์ครีเอทีฟสเปซ

ส่วนบริเวณชั้นสองและชั้นสามจะเป็นโซนห้องพักขนาดเท่ากันโดยจะมีทั้งหมด 4 ห้อง มีห้องน้ำในตัว โดยจะมีความต่างกันที่ดีไซน์การตกแต่ง แบ่งออกเป็นห้องมาลัยไทย ห้องดอกไม้ขาว ห้องใบไม้และห้องป่าหิมพานต์ ตามภาพวาดที่มีศิลปิน 4 คนมาสร้างสรรค์ให้

อีกทั้งยังมีห้องริมสุดของชั้นที่สองและสาม เปิดเป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการให้เช่า แบบที่ผู้เข้าพักสามารถตื่นมาชมนิทรรศการได้แบบใกล้ชิดสุด ๆอีกด้วย เรียกว่า เดอะ เคหา เป็นมากกว่าร้านอาหาร มากกว่าที่พักมากกว่าแกลเลอรีแต่ผสมผสานหลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ วัฒนธรรมเข้ากันไว้ได้อย่างลงตัว ซึ่งไม่ว่าผู้ไปเยือนจะเป็นศิลปินหรือไม่ก็สามารถไปเสพศิลปะหรือพักผ่อนหย่อนใจกันได้ที่นี่

Fact Flie 

  • เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.00-20.00 น.
  • โทร. 09-3446-2874 หรือ Line : @thekheha
  • Facebook : The Kheha
  • Instagram : the_kheha

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชยพล ปาระชาติ
11 ปีกับช่างภาพประจำนิตยสารสาย interior ปัจจุบันเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ที่ยังมุ่งมั่นอยากให้ทุกภาพออกมางดงามที่สุดในทุกครั้งที่กดชัตเตอร์