What’s up Docs แพทยศาสตร์การดนตรี ที่ใส่ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนหมอไว้ในตัวโน้ต
Brand Story

What’s up Docs แพทยศาสตร์การดนตรี ที่ใส่ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนหมอไว้ในตัวโน้ต

Focus
  • What’s up Docs วงดนตรีเล็กๆ ที่อบอุ่นด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนหมอ 6 คนที่ผูกพันกันมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนแพทย์
  • ในช่วงที่คนไทยกำลังวิตกกับโควิด-19 อย่างหนัก พวกเขา What’s up Docs ได้ส่งเพลง “ปลอบ” ออกมาปลอบหัวใจคนไทย และสามารถชนะการประกวด The Nurse Singer ในรายการตลาดใจ

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ยังอินกับความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนหมอในซีรีส์อุ่นหัวใจ Hospital Playlist เราขอแนะนำให้รู้จักเพลย์ลิสต์ความผูกพันของคุณหมอฉบับไทยที่เชื่อมโยงกันไว้ด้วยเสียงเพลง กับแพทยศาสตร์การดนตรีที่ชื่อ What’s up Docs เรื่องราวของเพื่อนหมอ 6 คน ที่ผูกพันกันมาด้วยโน้ตดนตรีร่วม 20 ปี ซึ่งล่าสุดได้ปล่อยซิงเกิลเพิ่มภูมิคุ้มกันใจอย่าง “ปลอบ” ออกมาปลอบคนไข้นอก ท่ามกลางโลกที่กำลังสับสนอยู่ในตอนนี้

What’s up Docs

วงดนตรีทางการแพทย์ What’s up Docs

“ปนัดดา ศรีจอมขวัญ” อายุรแพทย์ด้านโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลจุฬาฯ ตำแหน่งร้องนำ “อาชวินทร์ ตันไพจิตร” แพทย์ด้านหู คอ จมูก โรงพยาบาลศิริราช ตำแหน่งคีย์บอร์ด “อนงค์นาถ ศิริทรัพย์” กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด โรงพยาบาลจุฬาฯ ตำแหน่งร้องนำ “สุดาปรีย์ สรสุชาติ” วิสัญญีแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ ตำแหน่งร้องนำ และอูคูเลเล่ “ศุภฤกษ์ ปรีชายุทธ” ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาฯ ตำแหน่งกีตาร์ “ธีรวัฒน์ พึ่งรัศมี” ตอนนี้ไม่ได้ประจำโรงพยาบาลไหน ตำแหน่งประจำที่วินเทจสตูดิโอ และเป็นโปรดิวเซอร์ของวง

นี่คือคำแนะนำตัวของ What’s up Docs วงดนตรีเล็ก ๆ ที่มีทีมแพทย์และอดีตนักเรียนแพทย์มารวมตัวกัน โดยมีความชอบทางดนตรีเป็นตัวตั้งและเชื่อมทุกคนให้มารวมกันได้อย่างเหนียวแน่นตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนแพทย์จนเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในปัจจุบัน

What’s up Docs

“แต่ละคนก็เล่นดนตรีกันตั้งแต่ตอนเป็นนักเรียนแพทย์ หนังสือไม่ค่อยเรียน (หัวเราะ) มีเวลาว่างก็ชอบมาเล่นดนตรีกัน สมัยนั้นมีคนมากกว่านี้ มีคุณหมอสืบตีกลองแต่ตอนนี้เขาอยู่ภาคใต้ มีหมอนัทช่วยเล่นเปียโน แล้วก็มีโอกาสไปเล่นดนตรีตามงานต่าง ๆ ที่เขามีโอกาสให้เล่น มีแต่งเพลงไว้บ้างแต่ก็ไม่ได้จริงจัง เพราะสุดท้ายพอทุกคนเรียนจบก็ต้องทำงาน ใช้ทุน เรียนต่อเฉพาะทาง จุดเริ่มต้นของวง What’s up Docs จริง ๆ เกิดจากหมอบิว (ธีรวัฒน์) ที่พอเรียนจบแพทย์ไปใช้ทุนต่างจังหวัด แล้วก็กลับมาเรียนต่อเฉพาะทางอีกครั้งหนึ่ง แล้วเขารู้สึกว่ามันไม่ใช่แนวทางของเขา เขาเลยลาออกแล้วก็มาทำ วินเทจสตูดิโอ ที่เป็นห้องอัดเสียง หรือตอนนี้ก็คือต้นสังกัดของ What’s up Docs”

“ปนัดดา ศรีจอมขวัญ” อายุรแพทย์ด้านโรคต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลจุฬาฯ ตำแหน่งร้องนำ

หมอเต้-ศุภฤกษ์ ย้อนถึงสมัยยังเป็นนักเรียนแพทย์ คณะที่ขึ้นชื่อว่าเรียนหนัก เรียนโหด แต่พวกเขาก็ยังหาเวลามารวมตัวกันร้องเพลง ซึ่งเหตุผลที่ยังคงทำวงมาอย่างยาวนานนั้นฟังเหมือนคำตอบที่เปี่ยมด้วยอุดมคติ แต่พวกเขาก็ตอบตรงกันว่า What’s up Docs นั้นรวมตัวกันแบบ เล่นเพื่อเล่น อย่างที่ หมอบิว-ธีรวัฒน์ ได้จำกัดความไว้

“สุดาปรีย์ สรสุชาติ” วิสัญญีแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ ตำแหน่งร้องนำ และอูคูเลเล่

“มันดูเหมือนการทำงาน ทำวงแบบอุดมคติ แต่จริง ๆ คือไม่ใช่ว่าเราไม่อยากให้ใครฟัง แต่ไม่คิดว่าจะมีคนฟังต่างหาก คือถ้าเราไปตั้งเป้าว่าทำเพลงแล้วจะมีคนฟัง บางทีมันก็กลายเป็นความคาดหวัง เราแค่รู้สึกว่าเราอยากทำเพลงให้ดี แต่ไม่ต้องให้ดูเป็นงาน ไม่มีเป้าหมายว่าจะทำเพลงจบเมื่อไร จริง ๆ แล้วถามว่าสมาชิกวงคือใคร ก็ตอบได้ว่าไม่ทราบจริง ๆ เพราะที่ผ่านมาจะมีพี่ ๆ น้อง ๆ ในโรงพยาบาล คนไหนพร้อมก็มาเล่นด้วยกัน เราจำกัดว่าสมาชิกวงต้องเป็นหมอหรือเปล่า ก็ไม่ แต่เป็นเพราะเราอยู่ในโรงพยาบาล ไม่ค่อยเจอใคร นอกจากเพื่อนหมอด้วยกัน

“คำว่าไม่จริงจังของเราคือ เมื่อทำแล้วก็ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ อาจไม่จริงจังทางธุรกิจว่าเราจะต้องได้ผลตอบแทนกลับมาจากการทำดนตรี เราคิดว่าสนุกก็เอาแล้ว แต่ถามว่าอยากจะทำให้มันดีไหม ก็อยากจะทำให้ดีที่สุด ก็แก้กันไปแก้กันมา อัดใหม่อัดซ้ำ ก็ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะออกมาดี”

เมื่อชีวิตต้องการ “การปลอบ”

หลังจากที่มีการรวมตัวเล่นดนตรีอย่างจริงจังในชื่อ What’s up Docs ในปี 2015 ทางวงก็เริ่มมีการ cover เพลงดัง รวมทั้งแต่งเพลงของตัวเองมาเรื่อย ๆ แต่ที่ติดหูและเริ่มมีคนนำไป cover รวมถึงส่งให้ทีมชนะการประกวดThe Nurse Singer ในรายการตลาดใจก็คือเพลง ปลอบ

เนื้อหามันก็เกี่ยวกับการปลอบใจ คนเราเวลามีความเศร้า ความทุกข์ น่าจะเริ่มต้นจากปลอบตัวเองก่อนครับ ดีกว่ารอให้คนอื่นมาปลอบ เวลาเรามีเรื่องไม่สบายใจ มีเรื่องเศร้าในชีวิตก็อยากจะมีเพลงที่เอาไว้ปลอบใจได้ เพราะผมเชื่อว่าเพลงที่ดี มันสามารถจะเข้าถึงจิตใจคนเราได้ แล้วก็เวลาคนเรามีความทุกข์หรือความเศร้า เพลงที่ดีก็จะช่วยปลอบประโลมให้เรารู้สึกดีขึ้น จริง ๆ ก็เริ่มจากตั้งใจจะปลอบตัวเอง แต่ว่าก็แอบหวังไว้ลึก ๆ ว่าเพลง… ถ้าเราทำออกมาแล้ว ถ้ามันเข้าถึงคนอื่นได้บ้าง ไปช่วยให้คนอื่นเขารู้สึกดีบ้าง คลายทุกข์อะไรได้บ้าง มันก็จะยิ่งดีมาก ๆหมอเต้-ศุภฤกษ์ ให้เหตุผลถึงการแต่งเพลงปลอบ

What’s up Docs

“ตอนที่แต่งเพลงผมคิดถึงการที่คนเราทั่วไป ไม่ว่าจะยากดีมีจนก็คงจะหนีไม่พ้นความทุกข์ ความเศร้าใจ โดยเฉพาะช่วงหลัง ๆ ประเทศเรามีแต่ข่าวไม่ดีเต็มไปหมด ทีนี้เวลาเราเศร้า คนที่จะปลอบเราได้ดีที่สุด คือตัวเราเอง เลยเป็นที่มาของเนื้อเพลงที่ว่า ถ้าเรารู้สึกไม่ไหว ท้อแท้ในชีวิตก็ให้กอดใจตัวเอง หากเราเอาคนอื่นมากอด เขาก็อาจจะไม่ได้เข้าใจเราดีพอเท่าที่เราเข้าใจตัวเอง”

หมอเต้-ศุภฤกษ์ บอกว่าเขารู้สึกคิดถูกที่ตัดสินใจไม่ร้องเพลงนี้เอง แต่ได้ให้ หมอเหน่ง-ปนัดดา เป็นผู้ถ่ายทอดบทเพลงในเวอร์ชันแรกที่ได้ปล่อยออกมาในช่วงสถานะการณ์โควิด-19 พอดี และหมอเหน่งก็ทำหน้าที่ถ่ายทอดบทเพลงนี้ได้ดีมากๆ” ซึ่งต่อมา ทางวงก็ได้ส่งเพลงปลอบในแบบ live version ไปยังรายการตลาดใจจนชนะโหวตการประกวด The Nurse Singer

What’s up Docs
“ศุภฤกษ์ ปรีชายุทธ” ศัลยแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาฯ ตำแหน่งกีตาร์
“อนงค์นาถ ศิริทรัพย์” กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด โรงพยาบาลจุฬาฯ ตำแหน่งร้องนำ

และเมื่อถามต่อว่าในฐานะคนทำเพลงที่ใช้เพลงออกมาปลอบโยนคนฟัง หากกลับกันเป็นว่าในฐานะหมอต้องการการปลอบเหมือนอย่างในเพลงบ้างไหม หมออ๋อ-อนงค์นาถ ตอบว่า

“ตอนนี้หมอทั้งหลายคงต้องการกำลังใจเช่นกันค่ะ เพราะว่าตอนนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 คิดว่าหมอเป็นด่านหน้าที่สำคัญอีกด่านหนึ่งที่ต้องทำงานอย่างหนัก ในขณะที่เราส่งกำลังใจให้คนอื่นด้วยเพลงปลอบ เราเองในฐานะหมอก็ต้องการให้คนรอบ ๆ ตัวเราส่งกำลังใจมาให้พวกเราด้วย”

หมอเต้-อาชวินทร์ กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า “พวกเราเป็นหมอ รักษาคนไข้หายเราก็มีความสุข ในขณะที่เวลาเราเล่นดนตรี เราเล่นเพื่อคลายเครียด แต่ถ้าคนฟังชอบเพลงของเราด้วย เราก็จะมีความสุขเช่นกัน”

What’s up Docs
“อาชวินทร์ ตันไพจิตร” โสต ศอ นาสิกแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช ตำแหน่งคีย์บอร์ด

ส่วน หมอหมูหวาน-สุดาปรีย์ ก็มองว่าดนตรีและวง What’s up Docs นี่แหละที่เป็นกำลังใจและเป็นการปลอบอย่างหนึ่ง

“เราจริงจังกับการเป็นหมออยู่แล้ว อันนั้นเป็นอาชีพ และก็เป็นแพสชันของเราที่ทำให้เราเลือกเรียนด้านนี้ ส่วนดนตรีนี้ก็เป็นอีกแพสชัน เป็นอีกด้านที่เรารัก เราจริงจังเหมือนกัน ทำเพื่อความสนุก ใช้เวลาว่างของเราให้เกิดประโยชน์ หรือเวลาที่เราเครียดจากงาน บางทีเราก็หนีมาเล่นดนตรีทำให้ได้พลังกลับไปทำงานต่อได้ และแม้ดนตรีจะเป็นการทำเพื่อปลอบตัวเอง แต่เราก็หวังขอให้คนฟังไม่เปลี่ยนเพลงหนีเราไปก่อน ช่วยฟังเราให้จบก่อนนะคะ”

What’s up Docs
(ซ้าย)“ธีรวัฒน์ พึ่งรัศมี” ตำแหน่งประจำที่วินเทจสตูดิโอ และเป็นโปรดิวเซอร์ของวง

“ผมเคยบอกหมอเต้ว่า ผมว่าดนตรีและการทำวงก็เหมือนงานทดลอง แต่หมอเต้บอกผมว่ามันไม่ใช่การทดลอง สำหรับเขามันเหมือนปาฏิหาริย์มากกว่า ปาฏิหาริย์ไม่ใช่ว่าเป็นคนเก่ง เป็นนักดนตรีที่ดีอะไรหรอก ปาฏิหาริย์คือจังหวะเวลาที่มีคนเข้ามาฟังเพลงที่เราทำ มันคือ achievement ยิ่งถ้าเขาฟังเพลงเราได้จบ มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูกเหมือนกัน คือเราทำสิ่งนี้ขึ้นมา โดยไม่รู้ว่าจะมีใครฟังหรือเปล่า แต่วันหนึ่งมีคนเดินมาบอกรู้จักเพลงนี้ มันพูดไม่ถูกเลยครับ” อดีตแพทย์ผู้เป็นเหมือนผู้จัดการวงกล่าวทิ้งท้ายถึงจุดหมายทางการดนตรีของ What’s up Docs

** ขอบคุณ : Vintage Studio สตูดิโอที่เอื้อเฟื้อสถานที่ถ่ายภาพและห้องอัดเสียง (ติดต่อ 086-774-0077 facebook.com/vintagestudiothailand )

Fact File


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"