5 หนังสือ แทนเสียงก้องของสามัญชนในนาม จิตร ภูมิศักดิ์
Faces

5 หนังสือ แทนเสียงก้องของสามัญชนในนาม จิตร ภูมิศักดิ์

Focus
  • จิตร ภูมิศักดิ์ ชื่อนี้คือนักเขียน นักคิด นักเคลื่อนไหวที่ผลิตงานอันเป็นที่จดจำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานด้านภาษาศาสตร์ วรรณกรรม งานแปลจากภาษาอื่น งานวิชาการ หนังสือแนวคิดด้านการเมือง ศิลปะ และประวัติศาสตร์
  • ผลงานของจิตรไม่ใช่เพียงงานวรรณกรรมหรือวิชาการเพื่อความรู้เท่านั้น งานเขียนของจิตรยังประกาศจุดยืนทางความคิดของเขาซึ่งอยู่ฟากตรงข้ามกับเหล่าอำนาจนิยม ศักดินา และเผด็จการอีกด้วย

จิตร ภูมิศักดิ์ ชื่อนี้คือนักเขียน นักคิด นักเคลื่อนไหวที่ผลิตงานอันเป็นที่จดจำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานด้านภาษาศาสตร์ วรรณกรรม งานแปลจากภาษาอื่น งานวิชาการ หนังสือแนวคิดด้านการเมือง ศิลปะ และประวัติศาสตร์ ผลงานของจิตรไม่ใช่เพียงงานวรรณกรรมหรือวิชาการเพื่อความรู้เท่านั้น แต่งานเขียนของจิตรยังประกาศจุดยืนทางความคิดของเขาซึ่งอยู่ฟากตรงข้ามกับเหล่าอำนาจนิยม ศักดินา และเผด็จการอีกด้วย และนั่นส่งให้ชื่อของ จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกจดจำและพูดถึงในแง่ความเป็นเสรีชนผู้ยืดหยัดในการพูดถึงมุมมืดของอำนาจ และความไม่ชอบธรรมของชนชั้นผู้กดขี่ ดังประโยคฮิตจากเพลง “แสงดาวแห่งศรัทธา” ที่จิตรเขียนคำร้องว่า

“คนยังคง ยืนเด่นโดยท้าทาย แม้นผืนฟ้า มืดดับเดือนลับละลาย ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน”

ในวาระครบรอบวันคล้ายวันเกิด 90 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ซึ่งตรงกับวันที่ 25 กันยายน 2563 Sarakadee Lite จึงได้คัดเลือกหนังสือผลงานสำคัญและยังสามารถหาซื้อหาอ่านได้ในปัจจุบันมาแนะนำในวันที่ประชาชนยังคง “ยืนเด่นโดยท้าทาย”

คาร์ล มากซ์
แปลจากหนังสือ Karl Marx Short Biography ที่เขียนโดย E. Stepanova หนังสือเล่มนี้มีความสำคัญในด้านที่จิตรได้ทำให้ชีวประวัติของ คาร์ล มากซ์ และเสมือนเป็นบทริเริ่มที่แนะนำไปสู่การนำเข้าความคิดแบบมากซ์ (Marxism) ในภาคภาษาไทยให้เกิดขึ้นอีกหนึ่งเล่ม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่าด้วยชนชั้น ประวัติศาสตร์ วิธีการทำความเข้าใจระบบทุนนิยมอันเป็นส่วนสำคัญของการกดขี่แรงงานและผลิตซ้ำโครงสร้างทางชนชั้น ซึ่งแนวคิดแบบมากซ์ที่ว่ามานี้เป็นแนวคิดที่ให้น้ำหนักกับการแสดงจุดยืนสนับสนุนให้ความสำคัญกับชนชั้นกรรมมาชีพจนถือว่าเป็นบุคคลสำคัญที่ส่งต่อแรงบันดาลใจในการปฏิวัติทั่วโลกและเป็นแนวคิดสำคัญของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงการเมืองแบบคอมมิวนิสต์

โฉมหน้าศักดินาไทย

อดีตหนังสือต้องห้ามผลงานเล่มเด่นของจิตรที่ได้พาคนอ่านย้อนมองประวัติศาสตร์ของการกดขี่ขูดรีดประชาชนจากเหล่าศักดินาชนชั้นสูงและวิเคราะห์ให้เห็นถึงระบบโครงสร้างของระบบศักดินาจนไปถึงการวิพากษ์ระบบศักดินาในไทยและยังเขียนถึงประวัติศาสตร์ในมุมมองเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นการมองเชิงวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ (เป็นหนึ่งในแนวคิดของความคิดแบบมากซ์) โดยให้ความสำคัญในการมองประวัติศาสตร์ในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจและความสัมพันธ์กันของการผลิตเช่นระหว่างศักดินากับแรงงาน หรือ นายทุนกับแรงงาน โฉมหน้าศักดินาไทยจึงเป็นเล่มที่อธิบายปฐมบทของโครงสร้างการกดขี่ได้อย่างกว้างและสามารถนำมาพิจารณาเพื่อเข้าใจองค์ประกอบของโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบันได้อย่างดี

บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย

เป็นอีกหนึ่งผลงานที่มีความสำคัญในฐานะนักภาษาศาสตร์และการวิเคราะห์วรรณกรรมของจิตร หนังสือเล่มนี้ได้รวมบทความที่จิตรเขียนวิเคราะห์องค์ประกอบและคุณค่าที่อยู่ภายในวรรณคดีของไทยที่มีส่วนในการสร้างความเข้าใจในชีวิตและความคิดที่อยู่ในสังคมของไทยผ่านการมองจากสายตาของประชาชนไม่ใช่การอธิบายเพื่อยกย่องสรรเสริญความสูงส่งของวรรณคดีไทยแต่เป็นการเข้าใจมิติที่วรรณคดีไทยได้ส่งมอบความคิดบางอย่างในตัวบทของตัวเอง

ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ

ผลงานค้นคว้าและสันนิษฐานเชิงภาษาศาสตร์ นิรุกติศาสตร์ และสังคม โดยมุ่งไปที่บทวิเคราะห์การหาที่มาของลักษณะต่างๆ ของชาติพันธุ์และสังคมในแถบสุวรรณภูมิ รวมทั้งวัฒนธรรม และที่มาของภาษาในแถบนี้ด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งเสนอการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างภาษา ชนชาติและอำนาจ ที่แทรกอยู่ในคำที่ใช้ในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งจะสามารถอธิบายถึงความเข้าใจในสิ่งต่างๆ อย่างวิญญาณ ภูตผี คำเหยียด การเรียกคนนอก การเรียกทาส โดยวัฒนธรรมทางภาษาเหล่านี้สามารถอธิบายการมองโลกของกลุ่มคนชนชาติได้ในมิติใดมิติหนึ่งเพราะคำเป็นสิ่งที่ใช้แทนความเข้าใจในการบอกถึงสิ่งที่กำลังจะหมายถึง หนังสือเล่มนี้ของจิตรจึงมีมิติในการวิเคราะห์ที่น่าสนใจทีเดียวว่าคำโบราณนั้นๆ มีความคิดแบบใดอยู่และส่งทอดผ่านประวัติศาสตร์มาอย่างไร

ศิลปเพื่อชีวิต

จิตรเขียนเล่มนี้ในนามปากกา “ทีปกร” เป็นงานเขียนที่มีเจตนา “ฟอกความคิดเก่า” เกี่ยวกับการมองศิลปะโดยอธิบายไว้ถึงการค้นคว้าครอบคลุมตั้งแต่ศิลปะคืออะไร ศิลปะเพื่อชีวิตในนิยามของจิตรคืออะไรและได้ปูไปถึงงานนำเสนอเล่มสำคัญของจิตรอย่าง “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ซึ่งในบทศิลปะเพื่อประชาชนได้เขียนเพิ่มภายหลังจากเล่มนี้ เพราะเป็นการนำเสนอความความเชื่อมโยงของการสร้างสรรค์ระหว่างศิลปิน ชีวิต สังคม โดยในศิลปเพื่อชีวิตเล่มนี้จะเป็นงานแนะนำความคิดของศิลปะและการอธิบายว่าการสร้างสรรค์งานศิลปะไม่สามารถตัดขาดแยกออกจากสังคมไปได้เพราะชีวิตของมนุษย์วางอยู่บนสังคมไม่ว่าจะตั้งใจมองหรือไม่ก็ตามศิลปเพื่อชีวิต จึงเป็นปฐมบทอีกเล่มที่สำคัญในการคิดคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของศิลปินและงานศิลปะต่อสังคม


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน