เจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ 5 นักประดิษฐ์โมเดลจิ๋วผู้มาก่อนกาล กับมาสเตอร์พีซบ้านตุ๊กตาฝรั่ง
Faces

เจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ 5 นักประดิษฐ์โมเดลจิ๋วผู้มาก่อนกาล กับมาสเตอร์พีซบ้านตุ๊กตาฝรั่ง

Focus
  • เจ้าจอมเลียมในรัชกาลที่ 5 เป็นนักประดิษฐ์โมเดลของจิ๋วคนแรก ๆ ของสยามที่สามารถประดิษฐ์ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ขนาดย่อส่วนได้อย่างสมจริง
  • คอลเล็กชันผลงานประดิษฐ์ของเจ้าจอมเลียม เช่น บ้านตุ๊กตาฝรั่งและข้าวของเครื่องใช้ขนาดจิ๋ว เป็นหนึ่งในไฮไลต์ของศิลปวัตถุที่จัดแสดงในพระตำหนักแดง ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ 5 เป็นสุภาพสตรีในราชสำนักจากสายสกุลบุนนาค ผู้มาก่อนกาลในการเป็นนักประดิษฐ์โมเดลของจิ๋วคนแรก ๆ ของสยามที่สามารถประดิษฐ์สิ่งของขนาดเล็กได้อย่างละเมียดเพื่อเลียนแบบสิ่งของต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างสมจริงโดยคอลเล็กชันผลงานสร้างสรรค์ของ เจ้าจอมเลียม นั้นเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของศิลปวัตถุที่จัดแสดงใน พระตำหนักแดง อาคารทรงไทยทาสีแดงส้มภายใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

บ้านตุ๊กตาฝรั่งในคอลเล็กชันของเจ้าจอมเลียม

ผลงานชิ้นเด่นของเจ้าจอมเลียมคือ บ้านตุ๊กตาฝรั่ง ซึ่งทำเป็นตู้ไม้และจัดแบ่งพื้นที่ด้านในเป็น 9 ช่องในแนวตั้งเพื่อแทนแผนผังของการแบ่งห้องต่าง ๆ ภายในบ้านขนาด 3 ชั้นตามรูปแบบอย่างตะวันตกโดยมีห้องน้ำและบันไดอยู่ภายในบ้าน แบบบ้านนี้แตกต่างจากบ้านเรือนไทยแบบจารีตที่มักจะทำเป็นบ้านยกใต้ถุนสูงโดยแยกห้องน้ำ ห้องครัวและบันไดอยู่นอกเรือนและมีพื้นที่อเนกประสงค์นอกชาน ในแต่ละห้องของบ้านตุ๊กตาตกแต่งด้วยเครื่องเรือนและของประดับขนาดจิ๋วที่ผสมผสานทั้งแบบฝรั่งและแบบไทยซึ่งสามารถสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในการสร้างบ้านเรือนของไทยจากแบบจารีตสู่แบบสมัยใหม่ที่รับอิทธิพลตะวันตกโดยเฉพาะในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นช่วงที่เจ้าจอมเลียมประดิษฐ์บ้านตุ๊กตาชิ้นนี้

ภาพรัชกาลที่ 7 ที่ประดับตามมุมต่างๆ ของบ้านตุ๊กตา

ทันตแพทย์หญิงพิมสวาท วัฒนศิริโรจน์ ผู้ซึ่งคุณตาของเธอ (เต็ม สุริยวงศ์ บุนนาค) เป็นน้องชายของเจ้าจอมเลียมได้กล่าวถึงเจ้าจอมเลียมซึ่งเธอเรียกว่า “คุณยายในวัง” ในเสวนาทางวิชาการเรื่อง เล่าเรื่องของเล่น ของสะสม (ของจิ๋ว) เจ้านายในราชสำนัก ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ว่า

 “จำได้ว่าคุณแม่ (วิสวาท อัศวนนท์) เคยพาไปเยี่ยมคุณยายในวังที่บ้านทรงไทยโบราณบริเวณแยกบ้านแขก และเคยเห็นตู้ของจิ๋วของท่านด้วย แต่ตอนนั้นเรายังเด็กและยังไม่ได้สนใจอย่างลึกซึ้ง คุณยายในวังท่านเป็นคนประดิดประดอยและมีความสามารถทางศิลปะ ท่านไม่เคยไปต่างประเทศแต่เฟอร์นิเจอร์จิ๋วแบบฝรั่งที่ท่านประดิษฐ์ตกแต่งในบ้านตุ๊กตามีความเหมือนจริงและสเกลสมส่วน นอกจากนี้ท่านยังชอบทำอาหารโดยทางครอบครัวเราได้สืบทอดสูตรข้าวแช่ของคุณยายจนเป็นเมนูประจำบ้านบุนนาคในช่วงฤดูร้อน”

ห้องครัวตกแต่งด้วยเครื่องครัวฝรั่งและไทยอย่างกระต่ายขูดมะพร้าว

สำหรับงานมาสเตอร์พีซบ้านตุ๊กตาฝรั่งนั้น ทางพิพิธภัณฑ์ได้รับมอบจาก วรันดับ ฉัตรกุล ณ อยุธยา ผู้เป็นหลานสาวเมื่อ พ.ศ.2503 ภายหลังการถึงแก่อนิจกรรมของเจ้าจอมเลียม (พ.ศ.2424-2503) สิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ในบ้านนั้นล้วนสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และสังคมของไทยในยุคนั้นโดยเราสามารถเริ่มสำรวจบ้านเริ่มจากชั้นล่างสุดซึ่งบริเวณตรงกลางทำเป็นโถงเข้าบ้านมีพรมปูพื้นและบันได ส่วนด้านซ้ายจัดวางเป็นห้องครัวตกแต่งด้วยตู้กับข้าวที่ทำจากมุ้งลวดจริง กระต่ายขูดมะพร้าว โอ่งน้ำ ตู้ โต๊ะและจาน ชาม มีด ที่มีลักษณะสมจริงอย่างมากและห้องด้านขวาเป็นห้องรับแขกตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์อย่างตะวันตกและเปียโนย่อส่วน

เบาะรองนั่งและหมอนสามเหลี่ยมแบบไทย

เมื่อขึ้นสู่ชั้น 2 ของบ้านจะมีห้องทำงานอยู่ด้านซ้ายเพียบพร้อมด้วยโต๊ะเขียนหนังสือ ตู้หนังสือ และโซฟา ส่วนห้องตรงกลางเป็นห้องเก็บของและห้องด้านขวาเป็นห้องน้ำชาซึ่งประดับตกแต่งด้วยชุดน้ำชาแบบฝรั่งขนาดจิ๋วและตู้โชว์เครื่องแก้วแบบต่าง ๆ แต่บริเวณมุมขวาสุดจะสังเกตเห็นเบาะรองนั่งและหมอนสามเหลี่ยมแบบไทย

“หลาย ๆ ห้องในบ้านตุ๊กตามีการประดับด้วยรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 7 ซึ่งย่อให้เป็นขนาดจิ๋วดังนั้นผลงานชิ้นนี้น่าจะทำขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 7 ที่น่าสนใจคือหนังสือในตู้หนังสือสามารถดึงออกมาเป็นเล่ม ๆ ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในงานศิลปประดิษฐ์และความละเมียดของเจ้าจอมเลียม เสื่อจันทบูรที่ปูในห้องครัวและห้องรับแขกมีการเก็บขอบอย่างดีจึงน่าจะเป็นการทอแบบสั่งทำพิเศษโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีการทำเลียนแบบหนังสัตว์เพื่อใช้ปูบนพื้นและบนโต๊ะตามรสนิยมแบบตะวันตกในขณะนั้น” ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อธิบาย

หนังสัตว์ใช้ปูบนพื้นและบนโต๊ะตามรสนิยมแบบตะวันตก และหนังสือที่สามารถดึงได้เป็นเล่มๆ

บริเวณชั้น 3 ของบ้านประกอบด้วยห้องนอนทางด้านขวาซึ่งตกแต่งด้วยเครื่องเรือนแบบตะวันตก วิทยุ พัดลม โต๊ะเครื่องแป้งซึ่งมีหวีกระที่ทำได้เหมือนจริงมากวางอยู่บนโต๊ะด้วย ตรงกลางเป็นห้องน้ำติดตั้งสุขภัณฑ์แบบตะวันตกประกอบด้วยอ่างอาบน้ำ ชักโครก และอ่างล้างหน้าพร้อมขาตั้ง ส่วนห้องด้านขวาเป็นห้องพระที่มีพระพุทธรูปขนาดย่อส่วนและโต๊ะหมู่บูชา บนเพดานเขียนลวดลายดอกไม้และตกแต่งด้วยแชนเดอเลียทำจากลูกปัด

นอกจากบ้านตุ๊กตาแล้ว ของจิ๋วที่ เจ้าจอมเลียม ประดิษฐ์และมอบให้พิพิธภัณฑ์ด้วยตนเองเมื่อ พ.ศ.2475 คือ ชุดเครื่องแก้วย่อส่วนทำจากหลอดแก้ว (หลอดฉีดยา) และถัดมาใน พ.ศ.2494 ได้มอบศิลปวัตถุเพิ่มอีกคือ ตู้ 1 หลัง พร้อมข้าวของย่อส่วนและตุ๊กตาขนาดเล็ก พร้อมด้วยโปสต์การ์ดรูปเจ้าจอมเลียมและปัจฉิมโอวาทที่เจ้าจอมเขียนเกี่ยวกับมรณสติเพื่อเตรียมไว้สำหรับจัดพิมพ์ในงานศพของตนเองไว้ล่วงหน้า

ชุดเครื่องพุทธบูชาไซส์จิ๋ว

“เจ้าจอมเลียมมีฝีมือในงานประดิษฐ์มาก ในตู้เราจะเห็นข้าวของเครื่องใช้หลายประเภทที่ย่อส่วนได้อย่างสมจริง และความสามารถในการนำวัสดุต่าง ๆ มาประดิษฐ์ เช่น สำรับคาวหวานทำจากไม้กลึง เครื่องครัวดินเผามีฝาเปิดปิดได้ ภาชนะทำจากเปลือกหอยและกระจกเกรียบ ชุดเครื่องดนตรีทำจากไม้ ชฎาทำจากใบตาล โต๊ะหมู่บูชา แว่นเวียนเทียน และเชี่ยนหมากก็ทำได้ประณีตอย่างน่าทึ่ง บางรูปที่ประดับในบ้านตุ๊กตาเป็นรูปที่อยู่บนซองบุหรี่และนำมาอัดและย่อส่วนจนได้สัดส่วนที่เหมาะสม” ยุทธนาวรากรกล่าว

เจ้าจอมเลียม
ชุดเครื่องดนตรีทำจากไม้ และชฎาทำจากใบตาล

อีกหนึ่งผลงานสร้างสรรค์ของเจ้าจอมเลียมในคลังสะสมของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ที่ไม่เคยนำออกมาจัดแสดงที่ไหนมาก่อน คือ บ้านกระดาษในรูปทรงแบบบ้านสไตล์ทิวดอร์ 2 ชั้นย่อส่วน จำนวน 1 หลัง โดยออกแบบให้สามารถถอดหลังคาบ้านได้และภายในบ้านแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ พร้อมข้าวของประดับขนาดจิ๋ว บ้านกระดาษหลังนี้คาดว่าประดิษฐ์ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 เช่นเดียวกันแต่มีสภาพชำรุดและยังไม่ผ่านการบูรณะจากนักอนุรักษ์ อีกทั้งด้วยวัสดุกระดาษมีความอ่อนไหวที่จะเสียหายได้ง่ายต่อแสงแดดและความชื้นทำให้ไม่ได้นำมาจัดแสดงร่วมกับคอลเล็กชันอื่น ๆ อย่างไรก็ตามทางพิพิธภัณฑ์ได้นำบ้านกระดาษมาจัดแสดงครั้งแรกเป็นการชั่วคราวในระยะสั้น ๆ เพียง 1 สัปดาห์เมื่อวันที่ 18-24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 สืบเนื่องจากการจัดเสวนาทางวิชาการเล่าเรื่องของเล่น ของสะสม (ของจิ๋ว) เจ้านายในราชสำนัก

เจ้าจอมเลียม
บ้านกระดาษในรูปทรงแบบบ้านสไตล์ทิวดอร์ 2 ชั้นย่อส่วน สามารถถอดหลังคาได้
เจ้าจอมเลียม

เจ้าจอมเลียม เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) และท่านผู้หญิงตลับและมีศักดิ์เป็นหลานชวดสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นขุนนางผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองของสยามโดยเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 5 ระหว่าง พ.ศ. 2411-2416 ซึ่งในเวลานั้นพระองค์ยังไม่ทรงบรรลุราชนิติภาวะ

เมื่ออายุ 11 ปี เจ้าจอมเลียมได้เข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวังเพื่อฝึกฝนการเป็นกุลสตรีในสำนักเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ผู้มีศักดิ์เป็นอาและเป็นพระสนมเอกในรัชกาลที่ 5 จนได้ถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาเมื่อวัย 15 ปี จนสิ้นรัชสมัยจึงกราบบังคมทูลลารัชกาลที่ 6 กลับมาพำนักที่บ้านเดิมบริเวณแยกบ้านแขกและร่วมทำนุบำรุงพระศาสนาเป็นประจำโดยเฉพาะที่วัดบุปผาราม กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นวัดที่ท่านมาฟังพระธรรมในวันพระอยู่เป็นประจำ

“เมื่อได้มาเห็นงานในคอลเล็กชันของเจ้าจอมเลียมอีกครั้งหลังจากที่มีการปรับปรุงพระตำหนักแดง เราก็รู้สึกภาคภูมิใจและปลื้มใจในฝีมือศิลปะของท่านอย่างมาก ที่วัดบุปผารามเองก็มีหนังสือที่เจ้าจอมเลียมเขียนและเก็บไว้ที่นั่นเยอะมาก” ทันตแพทย์หญิงพิมสวาทกล่าว

เจ้าจอมเลียม
โปสต์การ์ดรูปเจ้าจอมเลียมและปัจฉิมโอวาทที่เจ้าจอมเขียนเกี่ยวกับมรณสติเพื่อเตรียมไว้สำหรับจัดพิมพ์ในงานศพของตนเองล่วงหน้า

นอกจากเป็นนักประดิษฐ์แล้ว เจ้าจอมเลียมยังเป็นผู้บุกเบิกการสะสมตรารุ่นแรกของสยาม เช่น ตราแผ่นดิน ตราประจำพระองค์ ตราประจำหน่วยงานสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4-5 กว่า 400 ดวงตราซึ่งถือเป็นงานออกแบบกราฟิกยุคแรกของสยามโดยเจ้าจอมเลียมใช้เวลารวบรวมกว่า 6 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2445-2451 และนำมาประทับลงในสมุดที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 5 และวาดภาพพร้อมระบายสีตกแต่งเพื่อจัดแสดงตราในหน้าต่าง ๆ ไว้อย่างสวยงาม และทางสำนักพิมพ์ สยาม เรเนซองส์ จำกัด ได้รวบรวมตราสะสมเหล่านี้มาจัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “สมุดตราสะสมเจ้าจอมเลียม ในรัชกาลที่ ๕” ซึ่งได้รับรางวัลชมเชยประเภทสวยงามทั่วไป ในการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี 2560 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

เจ้าจอมเลียม
บรรยากาศภายในพระตำหนักแดง

ของจิ๋วที่จัดแสดงในพระตำหนักแดงและน่าสนใจไม่แพ้กันคือ เครื่องเล่นของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร โดยเป็นการจำลองย่อส่วนสำรับคาวหวานของเจ้านายในราชสำนัก เช่น โถข้าววางบนพาน สำรับคาว สำรับหวาน และภาชนะชำระพระหัตถ์ รวมไปถึงตุ๊กตาชาววังอันเป็นสมบัติเดิมของพิพิธภัณฑ์ที่เป็นตุ๊กตาขนาดจิ๋วนั่งล้อมวงกันอยู่บนตั่งไม้ และเครื่องเรือนจำลอง เช่น ตู้ เตียง ตั่งไม้ที่จำหลักได้สวยงามสมจริง

พระตำหนักแดงได้รับการอนุรักษ์และเพิ่งเปิดให้เข้าชมเมื่อปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 การจัดแสดงศิลปวัตถุได้รับการปรับปรุงเพื่อเล่าเรื่องวิถีชีวิตเด็กไทยในอดีต ตั้งแต่ธรรมเนียมการขอลูก การเกิด การอยู่ไฟ การโกนจุก การละเล่นและการศึกษาโดยมีการใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) ให้ผู้ชมได้สนุกกับการชมจุดต่าง ๆ เพียงดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน AR Phra Tam Nak Daeng ทั้งในระบบ iOS และ Android จะได้เห็นภาพจำลองของวิถีชีวิตและประเพณีต่าง ๆ เช่น บริเวณพระอู่ (เปลเด็ก) จะปรากฏภาพจำลองและเสียงบรรเลงของวงขับไม้กล่อมพระบรรทมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ของพระบรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า รวมไปถึงภาพจำลองการอยู่ไฟแบบโบราณของสตรีที่เพิ่งคลอดบุตร และภาพจำลองการเคี้ยวหมาก

Fact File

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ กรุงเทพฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันพุธ-วันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 8.30-16.00 น.
  • ค่าเข้าชม: ชาวไทย 30 บาท ต่างชาติ 200 บาท นักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พระภิกษุ สามเณร และนักบวชทุกศาสนา ไม่เสียค่าเข้าชม
  • สอบถามเพิ่มเติม: โทรศัพท์ 02-224-1333 และ 02-224-1402 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์