5 วรรณกรรมแห่งอักษร ภาพสะท้อนชีวิต เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์
Faces

5 วรรณกรรมแห่งอักษร ภาพสะท้อนชีวิต เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์

Focus
  • เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) เกิดเมื่อ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2442 เขาเป็นนักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ. 1954 และผู้ทรงอิทธิพลทางวรรณกรรมของศตวรรษที่ 20
  • เฮมิงเวย์มีเอกลักษณ์ในการเขียนโดยใช้ภาษาเรียบง่าย กระชับ ตรงไปตรงมา และเดินเรื่องอย่างรวดเร็ว เฉกเช่นหนังสือทั้ง 5 เล่มนี้ที่บ่งบอกพัฒนาการต่างๆทั้งชีวิต วรรณกรรม และความคิดของเฮมิงเวย์ได้เป็นอย่างดี

เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) นักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ. 1954 และเป็นผู้ทรงอิทธิพลทางวรรณกรรมของศตวรรษที่ 20 งานของเฮมิงเวย์มีเอกลักษณ์ตรงที่ใช้ภาษาเรียบง่าย กระชับ ตรงไปตรงมา และมีการเล่าเรื่องรวดเร็ว ซื่อตรงกับความหมายที่กำลังเล่า และส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าก็มักแปรมาจากความทรงจำ จินตนาการ ประสบการณ์ส่วนตัวเจือลงไปในงานเขียนชิ้นต่างๆ

เฮมิงเวย์
เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway)

ผลงานที่เด่นของ เฮมิงเวย์ อย่างหมวดนวนิยายเล่าได้เสมือนเฉือนประสบการณ์ สิ่งที่เขาประสบ มาผสมกับจินตนาการในการก่อสร้างเรื่องแต่งขึ้นมาใหม่ บ่งบอกถึงสายตาและการมองโลกของเฮมิงเวย์ได้อย่างชัดเจน

และหากวรรณกรรมคือการบรรจุชีวิตจิตใจบางส่วนของ เฮมิงเวย์ Sarakadee Lite จึงขอพาไปรู้จักตัวตน ชีวิต และสายตาของ เฮมิงเวย์ ผ่านงานวรรณกรรมของเขาอีกสักครั้ง

เฮมิงเวย์

By-Line (บาย-ไลน์)

ในสงครามโลกครั้งที่ 1 เฮมิงเวย์ วัยหนุ่มผู้รักการผจญภัยมักจะพาตนไปอยู่ในที่ที่เขาคิดว่าท้าทายเสมอ (ในช่วงวัย 17 ปีเขาเคยออกจากบ้านไปใช้ชีวิตด้วยตัวเองและเลี้ยงชีพด้วยการเขียนข่าวมาแล้ว) และในช่วงสงครามเขาจึงก้าวเข้าสู่ความท้าทายใหม่โดยเข้าร่วมกับกองทัพอเมริกา แท้จริงเขาอยากเข้าร่วมรบเป็นทหารแต่เนื่องจากมีปัญหาด้านสายตาทำให้เฮมิงเวย์ได้เข้าร่วมเป็นทหารที่รับหน้าที่ขับรถพยาบาล (ค.ศ. 1918) แต่แล้วเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องออกจากสงครามก็เกิดขึ้นท่ามกลางสมรภูมิเมืองมิลาน เขาได้รับบาดเจ็บจากระเบิดทำให้ต้องพักรักษาตัวจากบาดแผลที่รุนแรงถึงขั้นทำให้เข้าต้องกลับมาพักรักษาอาการบาดเจ็บที่บ้าน จุดนี้เอาทำให้เขาได้เริ่มการเป็นนักเขียนเพราะหลังจากเป็นทหาร เฮมิงเวย์ก็ได้มีโอกาสเขียนบทความสารคดีที่ The Toronto Daily Star

บทความสารคดีเหล่านั้นเป็นการเขียนที่ก่อร่างสไตล์งานทางวรรณกรรมให้เฮมิงเวย์ ซึ่งต่อมาได้นำมาตีพิมพ์รวมเป็นเล่มชื่อ By-Line (บาย-ไลน์) ซึ่งผู้อ่านที่อ่านงานรวมเล่มสารคดีชิ้นแรกๆ ในชีวิตนักเขียนอย่างเป็นทางการของเฮมิงเวย์ชิ้นนี้จะได้เห็นโลกผ่านสายตาของนักเขียนหนุ่มหลังสงคราม โดยใช้วิธีการเขียนที่สั้นกระชับ เล่าเรื่องชัด เดินเรื่องเร็ว ซึ่งทักษะสารคดีเหล่านี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่เขาเคยเขียนเชิงข่าว และนำการเขียนเชิงข่าวนั้นมาประกอบกับการถ่ายทอดงานเขียนเชิงสารคดี เมื่อทักษะการเล่าเรื่องกระชับพบกับประสบการณ์ชีวิต By-Line  จึงสำคัญในแง่ของการเป็นร่องรอยของวิธีทางวรรณกรรมที่กำลังจะพัฒนาต่อไปเป็นเอกลักษณ์นวนิยายแบบฉบับเฮมิงเวย์

เฮมิงเวย์

A Moveable Feast (ฤกษ์งามยามปารีส)

ปารีสเป็นเมืองที่เฮมิงเวย์ประทับใจอย่างมาก เขาเคยกล่าวถึงปารีสไว้ว่า

“ถ้าคุณโชคดีพอที่จะได้อาศัย ณ ปารีสในวัยหนุ่ม จากนั้นไม่ว่าชีวิตคุณจะอยู่ที่ไหน ปารีสจะเป็นเสมือนศิริมงคลที่ติดตามสถิตประทับไว้กับคุณ”

แม้ A Moveable Feast (ฤกษ์งามยามปารีส) เป็นงานที่เฮมิงเวย์เขียนในปี ค.ศ. 1964 แต่งานชิ้นนี้เป็นงานเขียนเชิงรำลึกความทรงจำ (Memoir) ถึงความทรงจำของเขาเองในช่วงทศวรรษที่ 20 ถึงห้วงเวลาสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตช่วงที่เป็นนักเขียนไร้ชื่อเสียงในมหานครซึ่งเต็มไปด้วยนักเขียนโด่งดังมากมาย อย่าง เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) เจมส์ จอยซ์ (James Joyce) และนักเขียนร่วมยุคอีกมากมาย ประกอบกับสถานการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้มีกลุ่มนักเขียนอเมริกันจำนวนหนึ่งเดินทางเข้ามาในปารีส ทำให้ปารีสเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยนักเขียนและแรงบันดาลใจทางความคิดหมุนเวียนกันอยู่ในแวดวงวรรณกรรม

ในA Moveable Feast เล่มนี้เฮมิงเวย์เขียนบันทึกชีวิตคู่รักระหว่างเขากับ แฮดลีย์ริชาร์ดสัน (Hadley Richardson) ภรรยาที่ร่วมพักอาศัยกันในปารีสช่วงวัยหนุ่มสาว ซึ่งตรงกับยุคสมัยอันวุ่นวายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นยุคที่สังคมดูไม่มั่นคง ยุ่งเหยิง และไร้ทิศทาง จนเรียกกันว่าเป็น รุ่นของการสาบสูญ(Lost Generation)

ในวรรณกรรมเชิงอัตชีวประวัติเล่มนี้ผู้อ่านจึงได้เห็นโลกในสายตานักเขียนหนุ่มผู้ตั้งใจจะเขียนงานวรรณกรรมในโมงยามที่โดดเดี่ยว ร่าเริงสลับกับสิ้นหวังเป็นพัก ๆ ในห้วงเวลาที่แรงบันดาลใจจากเมืองและผู้คนคัดง้างกับสภาพสังคมหลังสงคราม A Moveable Feast จึงเป็นวรรณกรรมที่งดงามกับชีวิตรักหนุ่มสาว และทำให้เห็นว่าสำหรับ เฮมิงเวย์ แล้วไม่ว่าจะโมงยามไหนสิ่งที่สำคัญสำหรับเขาคือ การมีชีวิตเพื่อที่จะเขียนและเขียน

เฮมิงเวย์

The Sun Also Rises (หัวใจโลกีย์)

ค.ศ.1926 นวนิยายเล่มนี้เป็นเล่มที่ทำให้ รุ่นของการสาบสูญ เป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านวรรณกรรมด้วยวลีอมตะที่ยืนยันจากปลายปากกาของเฮมิงเวย์ว่า You are all a lost generation”

The Sun Also Rises ได้ขยายประเด็น รุ่นของการสาบสูญ ผ่านสายตาของหนุ่มรักการผจญภัยซึ่งก็มีบางส่วนเขานำตัวตนและประสบการณ์ของเขาใส่ลงไป อาทิ การชอบดูการสู้กระทิง เที่ยวเตร่เป็นนักดื่มตัวยง หรือความสนใจในการชกมวย เรียกได้ว่านวนิยายเล่มนี้เป็นเครื่องยืนยันการมองโลกแบบบุรุษเจ้าสำราญของเฮมิงเวย์ที่ผจญภัยไปในสภาพสังคมหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงที่เศรษฐกิจยุโรปถดถอย นวนิยายเรื่องนี้จึงเล่าประสบการณ์ของตัวละครหนุ่มเจ้าสำราญที่ไปมีประสบการณ์น่าตื่นเต้นเคล้าความรักในประเทศฝรั่งเศสและสเปน

เฮมิงเวย์ได้ใช้ภาษาและการเล่าเรื่องที่รวดเร็ว เดินหน้าเหตุการณ์มากกว่าการให้น้ำหนักกับอารมณ์หรือภาษาที่หวือหวา ทำให้ The Sun Also Rises ได้สะท้อนภาพ รุ่นของการสาบสูญจากการที่ผู้อ่านจะได้ติดตามตัวละครที่เดินทางไปเรื่อยๆอย่างสับสน ยุ่งเหยิง เสมือนไร้จุดประสงค์ ชีวิตหนุ่มสาวที่เคลื่อนไปกับเรื่องราวต่างๆราวกับความหมายของการมีชีวิตอยู่ถูกเบลอและทำให้เลือนลางโดยยุคสมัยที่ว่างเปล่าสาบสูญ

เฮมิงเวย์

A Farewell to Arms (รักระหว่างรบ)

เรื่องนี้เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1929 นวนิยายที่มีน้ำหนักของการเขียนที่ใส่ตัวตนของเฮมิงเวย์ลงไปเช่นเคยและดูจะหนักมือในการเล่าเรื่องที่มาจากประสบการณ์ครั้งที่ไปร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของเฮมิงเวย์ และนั่นทำให้ A Farewell to Armsเป็นนวนิยายในรูปแบบเรื่องแต่งและมีส่วนประกอบบางส่วนที่ทำให้นึกถึงการเขียนเชิงอัตชีวประวัติ เพราะนวนิยายเล่มนี้เน้นความสมจริงของสงครามจากสายตาเฮมิงเวย์ที่มีความรู้จากประสบการณ์จริงอย่างเต็มเปี่ยมจนกลายเป็นความสมจริงแบบที่ไม่พาฝัน ผู้อ่านจะเสมือนเป็นประจักษ์พยานของสมรภูมิสงครามในลีลาการเขียนที่เล่าเรื่องเรียบง่าย ใช้ภาษาไม่หวือหวาและดำเนินเรื่องรวดเร็วเช่นเคย นวนิยายเล่มนี้เป็นเล่มสำคัญในแง่ชั้นเชิงทางวรรณกรรมด้วยรูปแบบและวิธีการเขียน

เฮมิงเวย์เคยกล่าวถึงนวนิยายเล่มนี้ว่าเขาได้เขียนให้คำต่างๆ มีจังหวะและถ่ายทอดสำนึกทางจินตนาการ โดยใช้คำให้มีจังหวะการเปล่งน้ำหนักและสัมพันธ์กันเปรียบได้กับการประพันธ์ดนตรีของ โจฮาน เซบัสเตียนบัค (Johann Sebastian Bach) และการใช้ภาษาในเล่มนี้ก็จะมีความเคลื่อนไหวของตัวละครเอก ไม่ว่าจะเสียงความคิด บทสนทนา โดยจังหวะและการออกแบบองค์ประกอบคำนึงถึงความสมจริงจากประสบการณ์ร่วมสงครามของเฮมิงเวย์เองนวนิยายเล่มนี้จึงน่าสนใจในแง่ของการพัฒนาและออกแบบการทำงานวรรณกรรมของเฮมิงเวย์ แน่นอนว่าสงครามแห่งโศกนาฏกรรมของมนุษย์ก็เต็มเปี่ยมอยู่ในนวนิยายเล่มนี้เช่นกัน

The Old Man and the Sea (เฒ่าผจญทะเล)

The Old Man and the Sea เป็นนวนิยายของ เฮมิงเวย์ ที่ได้รับความนิยมในไทยอย่างมากเล่มหนึ่ง ปัจจุบันถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้วไม่ต่ำกว่า 3 สำนวน The Old Man and the Sea (เป็นนวนิยายที่ถูกเขียนขึ้นในปี ค.ศ.1952 และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prize)ในปี ค.ศ.1953

เนื้อเรื่องว่าด้วยชายชราผู้ที่แทบหาปลาใหญ่ไม่ได้มาเป็นเวลานาน แต่อยู่มาวันหนึ่งเขาได้พบกับปลากระโทงยักษ์ นวนิยายเล่มนี้หากอ่านติดต่อกันภายในทีเดียวจบจะได้พบกับการต่อสู้อันทรหดด้วยกำลังของชายชราผู้ที่ไม่ทดท้อต่ออุปสรรคและกำลังอันมหาศาลของปลากระโทงยักษ์ จนท้ายที่สุดสิ่งสำคัญคือการยืนหยัดที่จะอดทนต่อสู้กับแรงมหาศาลของทั้งปลาและท้องทะเล

ความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว ท้าทายกับการผจญภัยต่าง ๆ เป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่เป็นภาพจำของเฮมิงเวย์ในครั้งนี้สิ่งที่มนุษย์ในนิยายสู้ไม่ใช่สงครามหรือวิถีชีวิตดังเล่มที่ผ่านๆมา แต่เป็นการสู้กับความท้าทายเพราะเมื่อมนุษย์ลงไปในทะเลผืนน้ำนั้นไม่ใช่แผ่นดินและไม่ใช่ที่ของมนุษย์ มนุษย์ที่จะยืนหยัดสู้เจ้าทะเลอย่างปลาใหญ่ในผืนน้ำนั้นย่อมต้องเป็นผู้กล้า ดังประโยคยอดนิยมของนวนิยายเล่มนี้ที่ว่า

“ชายผู้ที่สามารถถูกทำลายได้ แต่จะไม่พ่ายแพ้”

ช่วงสุดท้ายของชีวิตเฮมิงเวย์ได้เข้ารับรักษาอาการซึมเศร้า จนในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ.1961 เฮมิงเวย์ในวัย 62 ปี เลือกที่จะดับชีวิตของตนในบ้านพักด้วยปืนลูกซอง จากเหตุที่เขาพบว่าตนเองไม่สามารถจัดการกับงานเขียนของตนต่อไป โดย เอ.อี.ฮอชเนอร์ (A. E. Hotchner) ได้เล่าถึงข้อสังเกตที่มีต่อเฮมิงเวย์ในวาระสุดท้ายไว้ว่าเขาดูลังเลผิดปกติและสับสนอย่างไม่เป็นระบบระเบียบ รวมถึงเป็นทุกข์วิตกกังวลเกี่ยวกับสายตาที่แย่ลง

การตายของ เฮมิงเวย์ จากการไม่สามารถเขียนหนังสือต่อไปได้จึงเสมือนเป็นอุปมาวรรคทองของนวนิยาย The Old Man and the Sea (เฒ่าผจญทะเล) เล่มนี้เพราะ เฮมิงเวย์ ก็อาจถูกทำลายได้แต่เขาไม่สามารถพ่ายแพ้ได้เช่นกัน

ภาพ : Encyclopaedia Britannica

อ้างอิง


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน