จอร์จ ออร์เวลล์ และสรรพสัตว์ของเขาใน Animal Farm ฟาร์มเดรัจฉานที่เสียดสีไปถึงชนชั้นปกครอง
Faces

จอร์จ ออร์เวลล์ และสรรพสัตว์ของเขาใน Animal Farm ฟาร์มเดรัจฉานที่เสียดสีไปถึงชนชั้นปกครอง

Focus
  • จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) คือนามปากกาของ อีริค อาร์เธอร์ แบลร์ (Eric Arthur Blair) นักเขียนชายชาวอังกฤษที่เกิดที่ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.1903 และเสียชีวิตเมื่อ  21 มกราคม ค.ศ. 1950 ขณะอายุ 46 ปี
  • Animal Farm และ 1984 เป็นนวนิยายขึ้นหิ้งของ จอร์จ ออร์เวลล์ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์นับล้านเล่ม และได้รับการแปลในภาษาต่างๆ เผยแพร่ไปทั่วโลก

“พฤติกรรมของมนุษย์ทุกอย่างล้วนเป็นความชั่วร้าย และเหนือกว่าอื่นใด สัตว์ต้องไม่ปกครองอย่างเผด็จการ เหนือสัตว์ด้วยกันเอง ไม่ว่าจะอ่อนแอหรือแข็งแกร่ง ฉลาดหรือซื่อเซ่อ พวกเราทุกตัวล้วนพี่น้อง ต้องไม่มีสัตว์ตัวใดฆ่าสัตว์ตัวอื่น สัตว์ทุกตัวล้วนเสมอภาคกัน”*

วรรคทองนี้เป็นประโยคคลาสสิกที่นักอ่านหลายคนยังจำได้ดี เพราะนี่คือคำโปรยที่บอกเล่าพล็อตเรื่องของนวนิยายเสียดสีชนชั้นปกครอง Animal Farm โดย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell)

Animal Farm
จอร์จ ออร์เวลล์ เมื่อครั้งทำงานที่ BBC (ภาพ : BBC)

Animal Farm วรรณกรรมเสียดสีชนชั้นปกครอง โดย จอร์จ ออร์เวลล์ วางแผงสู่สายตานักอ่านครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ.1945  โดยสำนักพิมพ์ Secker & Warburg วางแผงครั้งแรกที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ (UK Edition) จำนวนพิมพ์ครั้งแรกเพียง 4,000 เล่ม โดยในช่วงเวลาที่หนังสือเล่มเยี่ยมนี้ออกสู่สายตานักอ่านในอังกฤษครั้งแรกนั้นตรงกับช่วงที่ยุโรปเพิ่งจบสงครามโลกครั้งที่ 2 มาหมาดๆ ในสภาพอันแสนบอบช้ำจากกองทัพนาซีเยอรมนี

1 ปีถัดมาในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ.1946 Animal Farm วางแผงครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา (US Edition) ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Harcourt, Brace and Company ถือได้ว่าเป็นงานเขียนลำดับท้ายๆ ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตลงใน ค.ศ.1950 แม้ว่าตัวละครในนวนิยายจะเต็มไปด้วยสรรพสัตว์ในฟาร์ม แต่เนื้อหาชัดเจนว่าโจมตีเผด็จการฝ่ายซ้ายของสหภาพโซเวียตและเสียดสีชนชั้นปกครอง โดยเหตุการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจของนวนิยายเรื่องนี้มาจากการยึดอำนาจของ โจเซฟ สตาลิน ผู้นำเผด็จการแห่งสหภาพโซเวียตที่หักหลังประชาชนหลังการปฏิวัติบอลเชวิค ค.ศ.1917 ที่สามารถโค่นล้มราชวงศ์โรมานอฟได้สำเร็จ แต่สตาลินกลับนำการปกครองแบบอำนาจเบ็ดเสร็จกลับมากดขี่ประชาชนรัสเซียเสียเอง ด้วยแก่นเนื้อหาของเรื่อง Animal Farm ที่ต่อต้านอำนาจอันกดขี่ประชาชน ส่งให้ความนิยมและทำให้งานเขียนชิ้นนี้จุดติดกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์และการต่อต้านโซเวียตในสหรัฐอเมริกา

Animal Farm
ออร์เวลล์ และสัตว์ในฟาร์มของเขา

จอร์จ ออร์เวลล์ เป็นนามปากกาของ อีริค อาร์เธอร์ แบลร์ (Eric Arthur Blair) ชายชาวอังกฤษที่เกิดในประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ.1903 ตรงกับยุคที่อินเดียอยู่ใต้อาณานิคมอังกฤษ และพ่อของเขาก็ได้ไปทำงานเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยอยู่ที่นั่น หลังจากนั้นเขาได้ไปใช้ชีวิตวัยเด็กช่วงหนึ่งที่เมียนมาซึ่งขณะนั้นตกเป็นเมืองใต้อาณานิคมอังกฤษเช่นกัน ก่อนจะกลับไปศึกษาเล่าเรียนที่อังกฤษอีกครั้งในช่วงวัยหนุ่ม และเลือกกลับมารับราชการตามรอยพ่อของเขาด้วยการเป็นตำรวจประจำการที่เมียนมา ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้เขาสะเทือนใจต่อชนชั้นปกครองอังกฤษที่กระทำต่อคนพื้นเมือง

ออร์เวลล์ในช่วงวัยหนุ่มได้รับอิทธิพลทางความคิดด้านสังคมการเมืองในสายสังคมนิยม โดยเฉพาะช่วงที่ปลายทศวรรษ 1930 หลังจากได้ใช้ชีวิตช่วง 6 เดือนในสเปน ในฐานะนักเคลื่อนไหวต่อต้านการปกครองเผด็จการฟาสซิสต์ยุคนายพลฟรังโกครองอำนาจในสเปน เมื่อ ค.ศ. 1937

จอร์จ ออร์เวลล์
รูปปั้น ออร์เวลล์ ที่ BBC อังกฤษ

ออร์เวลล์ มีประสบการณ์รอดตายแบบเส้นยาแดงผ่าแปดระหว่างการเข้าร่วมเคลื่อนไหวที่สเปน เมื่อโดนลูกกระสุนถากผ่านเส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอไปเพียงไม่กี่มิลลิเมตรโดยหน่วยสังหารที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหภาพโซเวียต อีกทั้งเขายังเคยเคลื่อนไหวที่บาร์เซโลนาในฐานะทหารสังกัดพรรค POUM (Partit Obrer d’Unificació Marxista หรือ Party of Marxist Unification) พรรคการเมืองสเปนที่ยึดอุดมการณ์สังคมนิยมซ้ายจัดตามแบบทรอตสกี ประสบการณ์เหล่านั้นได้ตอกตรึงแนวคิดต่อต้านอำนาจเผด็จการให้ฝังรากลึกในใจของออร์เวลล์ และผลผลิตก็คืองานเขียนชิ้นสำคัญที่สะท้อนช่วงชีวิตของออร์เวลล์ในช่วงต่อต้านฟาสซิสต์ครองสเปนผ่านนิยายเรื่อง Homage to Catalonia (แปลภาษาไทยในชื่อ แด่คาทาโลเนีย ) ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อค.ศ. 1938

หนังสือของ ออร์เวลล์ ยังคงได้รับการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่อง

และแม้ออร์เวลล์จะเคยแสดงการสนับสนุนและมีความหวังกับสงคราม Russo-German (ค.ศ.1939) แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาไม่ต้องเข้าร่วมรบเนื่องจากปัญหาสุขภาพ และได้ทำงานเป็นโปรดิวเซอร์รายการสนทนาของสถานีวิทยุบีบีซี (BBC’s Eastern Service) ซึ่งเขาบ่นถึงบรรยากาศการทำงานในบีบีซีที่เขาเห็นว่า สิ่งที่ทำอยู่มันช่างไร้ประโยชน์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1943 เขาได้งานเป็นบรรณาธิการวรรณกรรมของนิตยสาร Tribune นิตยสารรายสัปดาห์ที่มีแนวคิดสังคมนิยมฝ่ายซ้าย

Animal Farm
Animal Farm เวอร์ชันเกม พัฒนาโดย Nerial

ออร์เวลล์ เขียนนิยายAnimal Farm โจมตีเผด็จการฝ่ายซ้ายของสหภาพโซเวียต ตั้งแต่กลางปี ค.ศ.1944 แต่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม 1945 ตามชีวประวัติที่เผยแพร่ผ่าน www.orwellfoundation.com ซึ่งได้ระบุเบื้องหลังความล่าช้าของการเผยแพร่ว่า มีส่วนจากการถูกกดดันโดยสายลับรัสเซียที่ทำงานให้กับกระทรวงสารสนเทศ (Ministry of Information) และในตอนที่หนังสือออกวางแผงนั้น ชีวิตส่วนตัวของออร์เวลล์ย่ำแย่ในทุกด้าน ภรรยาของเขาเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจล้มเหลวระหว่างผ่าตัด แม้สุขภาพตัวเองจะย่ำแย่ลง แต่เขาก็ได้เขียนต้นฉบับนิยายเล่มสุดท้ายเรื่อง 1984 (Nineteen Eighty-Four) เสร็จในปี 1948 ก่อนอาการร่างกายของเขาจะทรุดลงจากวัณโรค ซึ่ง 1984 เป็นอีกผลงานชิ้นเยี่ยมที่บอกเล่าถึงความบอบช้ำ ความคับแค้นของผู้คนซึ่งถูกกดทับโดยผู้ปกครอง

ช่วงที่นิยายเรื่องสุดท้าย 1984 ออกวางแผงครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1949 อาการป่วยของออร์เวลหนักขึ้น และเขาเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในวันที่ 21 มกราคม ค.ศ. 1950 ขณะอายุ 46 ปี ไม่ทันได้เห็นความสำเร็จของงานเขียน 2 เรื่องสุดท้าย ที่กลายเป็นผลงานขึ้นหิ้ง เป็นสองผลงานที่ขายดีที่สุดของเขาทั้งยังถูกแปลในหลายภาษา ตีพิมพ์นับล้านเล่ม และยังเป็นสองเล่มที่มีเนื้อหาสะท้อน เสียดสีสังคมการเมืองมนุษย์โลกมาถึงทุกวันนี้

จอร์จ ออร์เวลล์
แสตมป์ ออร์เวลล์ และความโด่งดังของหนังสือ 1984

Animal Farm ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร ไทม์ (Time Magazine) นิตยสารทรงอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ให้เป็น หนึ่งใน 100 นิยายภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดของโลก สำหรับผลงานนิยายที่ตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.1923-2005 และ ติดอันดับ 31 ในอันดับนิยายยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษที่ 20 จัดอันดับโดย the Modern Library แถมท้ายด้วยรางวัลเชิดชูเกียรตินิยายดีเด่น Retrospective Hugo Award เมื่อปี ค.ศ. 1996 ส่วน  Animal farm ฉบับตีพิมพ์ ภาษาไทย ครั้งแรกวางแผงเมื่อ ค.ศ.1959 แปลโดย ม.ล. นิภา ภานุมาศ ชื่อเรื่องภาษาไทย  ฟาร์มเดรัจฉาน

เรื่องย่อ  

นายโจนส์ มนุษย์ผู้เป็นเจ้าของเมเนอร์ฟาร์ม (Manor Farm) ที่มีสัตว์ในฟาร์มประกอบด้วย ไก่ ลา แกะ ม้า และหมู แต่แล้ววันหนึ่งหมูชื่อ นโปเลียน ได้นำสัตว์ในฟาร์มลุกขึ้นมาต่อสู้ขับไล่มนุษย์เจ้าของฟาร์ม และเริ่มปกครองกันเอง เปลี่ยนจากเมเนอร์ฟาร์มเป็น แอนิมอล ฟาร์ม และผลผลิตทั้งหมดจากฟาร์มจะไม่ถูกมนุษย์กอบโกยแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป แต่บรรดาสัตว์จะได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียม ทว่าการขึ้นเป็นผู้นำอำนาจเบ็ดเสร็จสูงสุดของเจ้าหมูนโปเลียน ทำให้สิ่งมีชีวิตที่เป็นสัตว์เปลี่ยนไปไม่ได้ต่างจากตอนที่คนปกครอง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือหมู ก็ยังคงใช้อำนาจกดขี่ผู้อื่นอีกที่แม้จะเป็นสัตว์เหมือนกัน

จอร์จ ออร์เวลล์

ลิสต์หนังสือที่น่าสนใจของ จอร์จ ออร์เวลล์

  • Down and Out in Paris and London หนังสือที่ จอร์จ ออร์เวลล์ เขียนในวัยหนุ่ม ตกผลึกเรื่องราวหลังจากที่เขาทนรับราชการกับจักรวรรดิอังกฤษในดินแดนประเทศเมียนมาต่อไปไม่ไหว และย้ายกลับมาเป็นครูที่อังกฤษ แต่ด้วยสุขภาพที่ไม่แข็งแรงทำให้เขาไม่สามารถทนอยู่กับฝุ่นชอล์กในห้องเรียนได้ เขาจึงย้ายไปเป็นพ่อค้าขายหนังสือที่ปารีสและได้ใช้ชีวิตร่วมกับคนที่จนอย่างที่สุด หนังสือเล่มนี้จึงบรรยายถึงชีวิตของคนยากไร้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในมหานครทั้งสองแห่งนี้ ฉบับแปลไทยในชื่อ ความจนกับคนจร ในปารีสและลอนดอน แปลโดยบัญชา สุวรรณานนท์ สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น
  • Burmese Days หนังสือที่เล่าถึงห้วงเวลาที่ จอร์จ ออร์เวลล์ ต้องไปทำงานเป็นตำรวจที่เมียนมา เล่าให้เห็นถึงเพื่อนร่วมชาติของเขาและความโอหังของเหล่าชนชั้นปกครองที่ถูกส่งไปควบคุมอาณานิคมเมียนมา รวมทั้งเหตุผลที่ทำให้เขาไม่สามารถทำงานในฐานะตำรวจของชนชั้นปกครองได้อีกต่อไป ฉบับแปลไทยในชื่อ พม่ารำลึก แปลโดยบัญชา สุวรรณานนท์ สำนักพิมพ์ไต้ฝุ่น
  • Homage to Catalonia หนังสือจากประสบการณ์ตรงในสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในสเปนเมื่อ ค.ศ.1937 ครั้งนั้นปัญญาชนชาวอังกฤษเลือกที่จะอาสาไปหนุนประชาชนพลเมืองฝ่ายซ้ายซึ่งต้องการรักษาประชาธิปไตยไว้ด้วยการสู้กับเผด็จการฝ่ายขวาของนายพลฟรังโก ซึ่งออร์เวลล์ได้เข้าร่วมขบวนการนี้ด้วย หากแต่ระหว่างนั้นเขาได้เข้าไปเห็นความฉ้อฉลของพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งรับบงการมาจากเผด็จการฝ่ายซ้ายคือ สตาลิน แห่งสหภาพโซเวียต เขาจึงรู้สึกเศร้าและเขียนเล่าประสบการณ์ไว้ในหนังสือเล่มนี้ ฉบับแปลไทยในชื่อ แด่คาทาโลเนีย แปลโดย สดใส สำนักพิมพ์ เคล็ดไทย
  • The Road to Wigan Pier ผลงานวิจัยของออร์เวลล์ที่แสดงถึงสภาพทางสังคมที่น่าสนใจ ชี้ประเด็นไปที่สภาพของกรรมกรเหมืองถ่านหินซึ่งถูกเอาเปรียบทุกด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงด้านสุขภาพอนามัยเพียงเพื่อความร่ำรวยของนายทุน หนังสือเล่มนี้ยังไม่มีแปลภาษาไทย
  • Animal Farm วรรณกรรมเสียดสีชนชั้นปกครองเรื่องเยี่ยมที่วางแผงสู่สายตานักอ่านครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ.1945  โดยสำนักพิมพ์ Secker & Warburg ได้รับการยกย่องจากนิตยสาร ไทม์ (Time Magazine) นิตยสารทรงอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา ให้เป็น หนึ่งใน 100 นิยายภาษาอังกฤษที่ดีที่สุดของโลก สำนวนแปลไทยมีหลายเวอร์ชันและหลายสำนักพิมพ์ และล่าสุดได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นเกมโดย www.nerial.co.uk (รายละเอียดเกม คลิกhttps://www.youtube.com/channel/UCLFrqnD4XBhNQmE8tff1fwQ)
  • 1984 นวนิยายเล่มสุดท้ายของเขาที่ใส่ความดิสโทเปีย ฉากการเมือง ประเด็นสังคม มาเต็มเปี่ยม  ฉบับแปลไทยมีหลายสำนวน และหลายสำนักพิมพ์

* หมายเหตุ : คัดลอกจากสำนวนแปลไทยโดย สรวงอัปสร กสิกรานันท์ สำนักพิมพ์ Storyside

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป