ซี.เอส.ลูอิส ผู้ให้กำเนิดแผ่นดินแห่งสัตว์พูดได้ นาร์เนีย
Faces

ซี.เอส.ลูอิส ผู้ให้กำเนิดแผ่นดินแห่งสัตว์พูดได้ นาร์เนีย

Focus
  • ซี.เอส.ลูอิส (C.S. Lewis) นักเขียนชาวไอริช เกิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค..1898 และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ค.. 1963
  • ผลงานอันเลื่องชื่อของ ซี.เอส.ลูอิส คือวรรณกรรมเยาวชนชุด นาร์เนีย ซึ่งเป็นนวนิยายแฟนตาซีความยาว 7 เล่ม
  • ซี.เอส.ลูอิส ได้รับการยกย่องจาก The Times ให้อยู่ในรายชื่อ the 50 greatest British writers since 1945

หากใครเห็นสิงโตตัวโตทีไรแล้วหวนนึกถึงสิงโตผู้น่าเกรงขาม ยามอัสลาน กับแผ่นดินแห่งสัตว์พูดได้แสดงว่าคุณต้องเคยสัมผัสเรื่องราวเหนือจินตนาการแห่ง นาร์เนีย หนึ่งในวรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกของโลกที่ยังคงอมตะและได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องทั้งการได้รับการแปลและตีพิมพ์ออกมาในหลายภาษารวมถึงภาษาไทย ทั้งยังได้รับการดัดแปลงถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์อีกหลายภาคโดยเฉพาะตอนที่ได้รับความนิยมจนเป็นที่น่าจดจำอย่าง อภินิหารตำนานแห่งนาร์เนียตอนราชสีห์แม่มดกับตู้พิศวง (The Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe) ที่ดัดแปลงมาจากฉบับนิยายในชื่อ ตู้พิศวง (The Lion, the Witch and the Wardrobe) 

มนต์ขลังแห่งโลกจินตนาการแห่งนาร์เนียนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่มีนักเขียนผู้มีจินตนาการอันทรงพลังอย่าง ซี.เอส.ลูอิส (C.S. Lewis) นักเขียนชาวไอริชที่มีผลงานการเขียนหนังสือตลอดชีวิตกว่า 40 เล่มโดยมีผลงานที่เป็นที่นิยมและจดจำถึงทุกวันนี้คือนวนิยายเยาวชนชุดนาร์เนีย นวนิยายขนาดยาวจำนวน 7 เล่ม นอกจากนวนิยายชุดนี้ซี.เอส.ลูอิส ยังมีผลงานนวนิยายและงานด้านวิชาการที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย และในปี ค.ศ. 2008 The Times ได้จัดอันดับเขาให้อยู่ในรายชื่อ the 50 greatest British writers since 1945

นาร์เนีย

นวนิยายหนึ่งในเล่มสำคัญของซี.เอส.ลูอิสคงหนีไม่พ้น กำเนิดนาร์เนีย (The Magician’s Nephew) ที่ถูกเขียนขึ้นในปี ค.ศ.1955 โดยมีเนื้อเรื่องถึงจุดเริ่มต้นการเกิดขึ้นของโลกนาร์เนีย ที่ย้อนความเล่าไปถึงการที่มีเด็กสองคนพบแหวนวิเศษที่สามารถใช้หายตัวข้ามโลกไปยังมิติต่าง ๆ ได้ ในตอนกำเนิดนาร์เนีย นี้มีประเด็นที่น่าสนใจกับทั้งผู้อ่านไม่ว่าจะอายุไหนคือการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน 

ในตอนนี้มีจุดเริ่มต้นจากผู้ใหญ่ใจร้ายจนทำให้เด็กอยากหลบหนีไปอยู่โลกอื่น ๆ หวนทำให้นึกถึงการเลี้ยงดูเด็กว่าความเข้มงวดต่าง ๆ ที่ผู้ใหญ่สร้างขึ้นกำลังทำให้โลกของเด็กไม่น่าอยู่หรือไม่และไม่เพียงแต่ประเด็นการเลี้ยงดูเด็กแต่นวนิยายตอนนี้ยังเล่าไปถึงการหาวิธีอยู่ร่วมกันของความแตกต่างไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ เด็ก แม่มดร้าย และสัตว์พูดได้ โลกแห่งนาร์เนีย แม้เต็มไปด้วยการผจญภัยอันน่าอันตรายและตื่นตาตื่นใจแต่สิ่งที่สัญลักษณ์ของโลกนาร์เนียอย่างสิงโตอัสลานคิดนั้นนอกจากการระงับเหตุร้ายแล้วนี่ยังเป็นการหาวิธีอยู่ร่วมกันของทุกสายพันธุ์ทุกกลุ่มในโลกนาร์เนีย ดังที่อัสลานเคยกล่าวถามไว้กับสารถีรถม้าไว้ว่า

“เจ้าจะปกครองบรรดาสัตว์เหล่านี้อย่างมีเมตตา และยุติธรรมได้หรือไม่…ด้วยระลึกเสมอว่าพวกมันมิใช่ทาสเหมือนบรรดาสัตว์โง่เง่าในโลกที่เจ้าเกิดมา แต่เป็นสัตว์พูดได้ และเป็นพลเมืองอิสรเสรีของเจ้า”

โลกแห่งนาร์เนียของ ซี.เอส.ลูอิส จึงไม่ได้เป็นเพียงนิทานกล่อมเด็กแต่กลับกันบางประโยค บางใจความของ นาร์เนีย เป็นสิ่งกระตุ้นให้แม้แต่ผู้ใหญ่ตื่นและปลุกความคิดว่าโลกทุกวันนี้สันติสุข ยุติธรรมกว่านี้ได้ใหม โลกแห่งความเป็นจริงของเราจะอยู่ร่วมกันโดยเห็นทุกคนอย่างเท่าเทียมและเปี่ยมไปด้วยเมตตาอย่างโลกแห่งนาร์เนียได้หรือไม่ 

นาร์เนีย

อ้างอิง

  • https://www.britannica.com/biography/C-S-Lewis
  • กำเนิดนาร์เนีย. ซี.เอส.ลูอิส เขียน. สุมนา บุณยะรัตเวช แปล.สำนักพิมพ์ ผีเสื้อ.2548

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน