Love Letter : จดหมายรักเข้ารหัสลับของ พระนางมารี อังตัวแน็ต กับรักซ่อนเร้นกลางไฟปฏิวัติ
Faces

Love Letter : จดหมายรักเข้ารหัสลับของ พระนางมารี อังตัวแน็ต กับรักซ่อนเร้นกลางไฟปฏิวัติ

Focus
  • สองปีสุดท้ายก่อนถูกประหารชีวิตพระนางมารีอองตัวแน็ตเขียนจดหมายลับถึงเคานต์ แอ็กเซิล ฟอน แฟร์ซอง ทูตจากราชอาณาจักรสวีเดน ประจำฝรั่งเศสในจดหมายมีความพิเศษหลายอย่างทั้งการใช้หมึกขาว และรหัสลับเพื่อบอกรัก
  • การใช้ภาษาเข้ารหัสลับสื่อความหมายที่เรียกว่า Polyalphabeticsystem ใช้ป้องกันการถูกสอดแนมเป็นการเขียนรหัสลับในแบบตัวอักษรแทนที่ เช่น AK AMAPVAF AZAPAX เขียนแทนคำว่า “I Love You” ฉันรักเธอ

พระนางมารี อังตัวแน็ต (Marie Antoinette) องค์หญิงจากออสเตรีย วัย 14 ชันษา ถูกส่งตัวมาฝรั่งเศส จากนั้นอภิเษกสมรสกับ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 (Louis XVI) เมื่อปี ค.ศ. 1770 ขณะนั้นพระนางมารี อังตัวแน็ตพระชนมายุเพียง 15 พรรษา (ได้ขึ้นเป็นพระราชินีเมื่อพระชนมายุเพียง 19 พรรษา) เป็นการเชื่อมอำนาจระหว่าง ออสเตรีย-ฝรั่งเศส สองผู้ยิ่งใหญ่ในยุโรปแห่งศตวรรษที่ 18 แต่วิถีชีวิตที่อยู่กับความมั่งคั่งจากมรดกของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14-15 กลายเป็นความฟุ้งเฟ้อ หรูหรา และลงท้ายด้วยการถูกประชาชนประณามถึงการใช้ทรัพย์สินในท้องพระคลังจนเกือบถึงขั้นล้มละลายขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่อยู่อย่างลำบากยากแค้น ปัญหาเศรษฐกิจที่แก้ไม่ออก จนนำไปสู่การเคลื่อนไหวปฏิวัติโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เพื่อสถาปนาระบอบสาธารณรัฐขึ้นมาแทน

พระนางมารี อองตัวแน็ต
พระนางมารี อังตัวแน็ต (Marie Antoinette)

นอกจากการถูกฝ่ายฝักใฝ่สาธารณรัฐเกลียดชังในความฟุ้งเฟ้อ พระนางมารี อังตัวแน็ต ยังถูกเรื่องฉาวข่าวลือซุบซิบในราชสำนักไม่ว่างเว้น และหนึ่งในเรื่องที่เล่าขานต่อ ๆ กันมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือพระนางมารี อังตัวแน็ตกับความสัมพันธ์ลับ ๆ กับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นชู้รัก เคานต์ แอ็กเซิล ฟอน แฟร์ซอง (Axel von Fersen) เอกอัครราชทูตสวีเดน ซึ่งมาประจำการที่พระราชวังแวร์ซายตั้งแต่ปี ค.ศ.1774 ข่าวลือเรื่องชู้รักรุนแรงถึงขั้นที่กล่าวกันว่า องค์รัชทายาท หลุยส์ที่ 18 (Dauphin Louis XVII เกิดปีค.ศ. 1785-เสียชีวิต ปี ค.ศ.1795) นั้นเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของแฟร์ซองไม่ใช่ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16

เคานต์ แอ็กเซิล ฟอน แฟร์ซอง (Axel von Fersen)

แต่ข่าวลือก็เป็นข่าวลือที่หาหลักฐานของความสัมพันธ์รักชัดเจนแทบไม่ได้ ยกเว้นในช่วงเวลาสุดท้ายก่อนสิ้นสุดราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) ที่ความลับซ่อนเร้นของมารี อังตัวแน็ตถูกรื้อค้นเป็นหมายเหตุประวัติศาสตร์หลังม่านพระราชวัง ในจดหมายเข้ารหัสลับ ประทับด้วยหมึกผสมน้ำมะนาวที่ทำให้บรรดานักประวัติศาสตร์ นักอนุรักษ์ นักวิจัย และนักภาษาศาสตร์ต้องมานั่งถอดข้อความในจดหมายเพื่อยืนยันข่าวลือว่า รักซ่อนเร้นในวาระสุดท้ายของ พระนางมารี อังตัวแน็ต มีอยู่จริงหรือไม่

จดหมายจากที่จองจำ 

จดหมายจากมารี อังตัวแน็ตถึงเคานต์ แฟร์ซองมีทั้งหมด 23 ฉบับเขียนขึ้นระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1791- 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792 แต่หลักฐานที่เหลืออยู่มีจดหมายเพียง 4 ฉบับเท่านั้นที่เป็นต้นฉบับลายมือมารีอังตัวแน็ต ส่วนฉบับอื่น ๆ เป็นฉบับคัดลอกข้อความจากมารีอังตัวแน็ต สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นลายมือของแฟร์ซอง หรือเลขานุการของแฟร์ซอง หรือทายาทแฟร์ซองรุ่นเหลนในศตวรรษที่ 19 ชื่อ บารอน เดอ คลินชอว์สตรอม (Baron de Klinckowström) ทั้งนี้ยังพบว่ามีจดหมาย 7 ฉบับ ที่เขียนด้วยภาษารหัสลับในบางประโยค หรือบางฉบับเป็นภาษารหัสลับทั้งหมด 

พระนางมารี อองตัวแน็ต
ตัวอย่างการใส่รหัสในจดหมาย (ภาพ : efe.com)

สำหรับตัวเอกสารจดหมายที่ทางหอจดหมายเหตุแห่งชาติฝรั่งเศสเก็บรักษาไว้พบว่ามีเนื้อความซ้ำกันหลายฉบับ เพราะมีทั้งเอกสารที่เป็นต้นฉบับลายมือจริงของ มารี อังตัวแน็ต และลายมือคัดลอกโดยเคาตน์แฟร์ซอง หรือลายมือคัดลอกโดยเหลนของเคานต์แฟร์ซองอย่างที่กล่าวไป ส่วนช่วงเวลาของการเขียนจดหมายเหล่านี้คาดว่าเป็นช่วงที่ พระนางมารี อังตัวแน็ตถูกกักบริเวณหรือจองจำอยู่ในพระราชวังตุยเลอรี (Tuileries Palace) ในฐานะนักโทษของแผ่นดิน ทั้งนี้หลังเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของฝรั่งเศสพระนางมารีอังตัวแน็ตถูกกักบริเวณหรือจองจำอยู่ในพระราชวังตุยเลอรีก่อนที่จะถูกสมัชชาแห่งชาติของคณะผู้นำการปฏิวัติฝรั่งเศสดำเนินคดีและพิพากษาประหารชีวิตบนแท่นกิโยตินในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1793 ในข้อหาผู้ทรยศโกงชาติ

เนื้อหาในจดหมายส่วนใหญ่เป็นการบอกข่าวความเป็นอยู่อย่างยากลำบากในสถานการณ์การเมืองที่ตึงเครียดและความพยายามขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรต่างประเทศเพื่อหนีจากเงื้อมมือคณะปฏิวัติ รวมทั้งการติดต่อขอความช่วยเหลือจากเหล่าผู้ปกครองราชวงศ์และขุนนางในยุโรป นักวิชาการฝรั่งเศส Jacques Patarin และ Valerie Nachef ผู้ทำงานวิจัยถอดรหัสจดหมายลับของมารีอังตัวแน็ต ได้สรุปไว้ว่า มารีอองตัวแน็ตถูกพิพากษาโดยไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด เป็นเพียงผลจากคำวินิจฉัยของฝ่ายปฏิวัติที่ปักธงโค่นล้มราชวงศ์อยู่แล้ว

พระนางมารี อองตัวแน็ต
ตัวอย่างการเข้ารหัสในจดหมาย (ภาพ : www.thehistoryblog.com)

ถอดรหัสลับว่าด้วย “รักอย่างสุดซึ้ง”

ในบรรดาจดหมายทั้งหมดมีเพียง 2 ฉบับ ที่บ่งบอกถึงบอกความในใจลึกซึ้งระหว่างมารีอังตัวแน็ตกับขุนนางสวีเดนโดยในจดหมายฉบับหนึ่งพบข้อความที่ถอดรหัสภาษา สื่อถึงความห่วงใยของพระนางต่อขุนนางผู้นี้ ความว่า

โปรดดูแลตัวเองเพื่อตัวฉัน ฉันไม่อาจเขียนถึงท่านได้อีกต่อไป แต่ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้จะหยุดความชื่นชมที่ฉันมีต่อท่านจนวันตาย”

สถานภาพคนรักของทั้งสองถูกเปิดเผยในงานศึกษาวิจัยโดย Jacques Patarin และ Valerie Nachef ถอดเนื้อความเต็ม ถอดรหัสในจดหมายฉบับลงวันที่ 9 กรกฎาคม ค.ศ. 1792 ได้ความว่า

“ฉันยังมีชีวิตอยู่วันนี้นะที่รัก ด้วยเหตุผลเพียงเพื่อชื่นชมคุณโอ,ฉันเป็นห่วงคุณเหลือเกิน ฉันเสียใจเหลือเกินกับความทุกข์ระทมที่บังเกิดกับเธอจากความเงียบงันของฝ่ายเรา ขอสวรรค์โปรดพาจดหมายฉบับนี้ไปถึงเธอ โปรดอย่าเขียนตอบฉัน นี่เป็นทางช่วยเหลือเราทุกคนและเหนือสิ่งอื่นใด อย่าเขียนตอบไม่ว่ากรณีใด ๆ เป็นที่รู้กันว่าคุณจะเป็นผู้ช่วยเหลือเราออกจากที่นี่ (พระราชวังตุยเลอรี) แต่ทั้งหมดคงล้มเหลวหากท่านแสดงตัวเสียก่อน มียามเฝ้าดูเราทั้งวันทั้งคืน แต่ฉันมิได้ใส่ใจ คุณไม่ได้อยู่ที่นี่ อย่าได้กังวลเรื่องของฉัน ไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับฉันแน่นอน สมัชชาแห่งชาติคงยังปรานีพวกเรา ลาก่อนชายผู้ที่ฉันรักที่สุด โปรดเงียบไว้ ดูแลตัวท่านเพื่อตัวฉัน ฉันคงไม่อาจเขียนถึงท่านได้อีกแล้ว แต่ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้จะหยุดความชื่นชมที่ฉันมีต่อท่านจนวันตาย” (อ้างอิง www.researchgate.net บทความงานวิจัยเรื่อง “I Shall Love You Until Death” (Marie-Antoinette to Axel von Fersen เผยแพร่ปี ค.ศ. 2010)

พระนางมารี อองตัวแน็ต
การเข้ารหัสในจดหมาย (ภาพ : leahmariebrownhistoricals.blogspot.com)

ทั้งนี้แม้ในจดหมายจะไม่ได้บอกถึงคำว่ารักอย่างเปิดเผยแต่ได้มีการใส่รหัสคำว่า AK AMAPVAF AZAPAX ใช้เขียนแทนคำว่า “I Love You” ความหมายคือ “ฉันรักเธอ” ทั้งนี้การใช้ภาษาเข้ารหัสลับในจดหมายของพระนางมารีอังตัวแน็ตเป็นวิธีที่ใช้การเขียนภาษารหัสลับในแบบตัวอักษรแทนที่ เรียกว่า Polyalphabetic system เพื่อป้องกันการถูกสอดแนม

ในจดหมายลงวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1792 จากมารีอังตัวแน็ตถึงเคาน์ตแฟร์ซองถอดรหัสโดย CRCC หรือ ศูนย์วิจัยเพื่องานอนุรักษ์ (Research Centre for the Conservation of Collections) ถูกเปิดเผยเมื่อปี ค.ศ. 2016 โดยหอจดหมายเหตุแห่งชาติฝรั่งเศส หลังจากข้อความเหล่านี้เคยถูกปกปิดด้วยหมึกขาว (อ้างอิงจาก www.france24.com) ในจดหมายมีนัยถึงคำว่า รักอย่างสุดซึ้ง ความว่า 

“ฉันขอจบจดหมายฉบับนี้ แต่ก่อนจบ ฉันขอบอกมิตรผู้อ่อนโยนน่ารักของฉันว่า ฉันรักคุณอย่างสุดซึ้งและไม่มีเลยแม้ชั่วขณะหนึ่งที่ฉันจะไม่ชื่นชมคุณ”

วิธีแยบยลจนวาระสุดท้าย

ปี ค.ศ. 2020 หอจดหมายเหตุแห่งชาติฝรั่งเศส (French National Archives) ผู้เก็บรักษาจดหมายรักฉบับประวัติศาสตร์เหล่านี้ ได้นำจดหมาย 8 ฉบับของ มารีอองตัวแน็ต และเคานต์แฟร์ซอง มาจัดแสดง พร้อมข้อความที่ถอดรหัสได้เพิ่มเติม จากเทคนิคใหม่ที่ใช้ระบบการเอกซเรย์ด้วยแสงฟลูออเรสเซนต์ หรือ XRS สามารถอ่านตัวอักษรข้อความในจดหมายที่ถูกขีดคร่อมด้วยหมึกขาว และนำมาถอดรหัสเนื้อความได้ 

นอกจากการเข้ารหัสลับแล้วพระนางมารีอังตัวแน็ตยังมีเทคนิคพิเศษในการซ่อนข้อความบนหน้ากระดาษ โดยใช้น้ำมะนาวผสมกับหมึกสังเคราะห์เคลือบแผ่นกระดาษหลังจากเขียนเสร็จผู้รับจดหมายต้องเอากระดาษไปอังไฟหรือโดนความร้อนจากเปลวเทียน และอักษรต่าง ๆ จะปรากฏขึ้นบนหน้ากระดาษ เป็นข้อความเข้ารหัสอีกชั้น บางฉบับก็ใช้รหัสที่เป็น “ตัวเลข”

ด้านวิธีการส่งจดหมายระหว่าง มารี อังตัวแน็ต กับเคาตน์แฟร์ซอง อาศัยข้าราชบริพารชั้นใน นำจดหมายซุกซ่อนออกไปจากพระราชวังตุยเลอรี ที่กักบริเวณของสมาชิกราชวงศ์ช่วงรอการตัดสินคดีจากคณะปฏิวัติวิธีการมีทั้งซุกใต้เสื้อคลุม หรือการใช้ธนบัตรเย็บไว้ใต้ตะเข็บปีกหมวก หรือซุกไว้กับผ้าห่ม ปลอกหมอนเครื่องนอน ถุงมือ หนังสือ หนังสือพิมพ์ เพื่อหลบลอดสายตาของทหารรักษาความปลอดภัย 

หลังวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1792 คณะปฏิวัตินำตัวสมาชิกราชวงศ์ไปกักบริเวณในเขตศาสนสถาน ตัดการสื่อสารจากโลกภายนอก ก่อนนำเธอสู่ลานประหาร แต่พระนางมารีอังตัวแน็ตก็ยังสามารถหาช่องทางส่งข้อความผ่าน นายพลเดอจาร์เจ (ต้นแบบตัวละครพ่อของเลดี้ออสการ์ ในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง กุหลาบแวร์ซายล์) เป็นจดหมายขออภัยโทษส่งถึงประธานสมัชชาแห่งชาติ ในวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1793 และจดหมายถึงเลดี้เอลิซาเบธ น้องสาวของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ส่งเป็นฉบับสุดท้ายในเช้าตรู่วันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1973 ก่อนที่เธอจะสิ้นชีวิตบนแท่นประหารกิโยติน 

จากความรักซ่อนเร้นกลางไฟปฏิวัติสู่ กุหลาบแวร์ซายล์

จากเรื่องราวความรักซ่อนเร้นกลางไฟปฏิวัติของราชินีผู้อื้อฉาวที่สุดในประวัติศาสตร์โลกได้กลายเป็นต้นเรื่อง ของ The Rose of Versailles หรือ Lady Oscar ชื่อไทย กุหลาบแวร์ซายล์ หนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นสำหรับผู้หญิง (โชโจ มังงะ) หรือที่หลายคนเรียกว่าการ์ตูนตาหวาน แต่เนื้อหาในกุหลาบแวร์ซายล์ไม่ได้หวานแหววสมชื่อ เพราะมาในแนวดรามาย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ท่ามกลางไฟสงครามกลางเมือง เขียนโดย ริโยโกะ อิเคดะ ระหว่างปี ค.ศ. 1972-1974 และถูกดัดแปลงเป็นอนิเมะซีรีส์ ฉายเป็นตอน ๆ ทางสถานีนิปปอนทีวีในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1979 

กุหลาบแวร์ซายล์ เล่าเรื่องตัวละครเอกชื่อ เลดี้ออสการ์ ชื่อเต็ม ออสการ์ ฟรังซัวส์ เดอ จาร์เจ ลูกสาวขุนนางชั้นสูงของฝรั่งเศสที่ถูกเลี้ยงมาแบบเด็กผู้ชาย เพราะบิดาของเธอเคยคาดหวังอยากได้ลูกชายมากกว่า เลดี้ออสการ์มุ่งมั่นจะสืบทอดตำแหน่งพลเอก หัวหน้าหน่วยราชองครักษ์ต่อจากบิดาชีวิตของเลดี้ออสการ์เกี่ยวพันกับบุคคลในประวัติศาสตร์ช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส รวมถึงคู่รักซ่อนเร้น พระนางมารีอังตัวแน็ต และเอกเซล ฟอน แฟร์ซอง ขุนนางผู้ใกล้ชิดกษัตริย์สวีเดน

ใน กุหลาบแวร์ซายล์มีตัวละครหลักในเรื่องที่ใช้ชื่อและปูมหลังเหตุการณ์เหมือนประวัติศาสตร์ปฏิวัติฝรั่งเศสนั่นก็คือ ท่านเคานต์ ฮานส์ เอกเซล ฟอน แฟร์ซอง (Hans Axel Von Fersen) ขุนนางชั้นสูงของสวีเดน ผู้โด่งดังในฐานะชู้รักของพระราชินีฝรั่งเศส เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องแต่งของกุหลาบแวร์ซายล์ เป็นช่วงเวลาหลังจากแฟร์ซองรู้สึกผิดที่ตัวเองทำให้ชื่อเสียงของมารีอังตัวแน็ตเสียหายเขาจึงสมัครเข้าร่วมกองทัพของฝรั่งเศสไปทำสงครามช่วยอเมริกาปลดแอกจากอาณานิคมอังกฤษและกลายเป็นหนุ่มที่เลดี้ออสการ์นางเอกของเรื่องตกหลุมรักข้างเดียวก่อนที่เลดี้ออสการ์จะได้พบรักกับ อองเดร เกรนาดิเยร์

เมื่อสูญเสีย มารี อังตัวแน็ต แฟร์ซองได้ปกครองสวีเดนและกลายเป็นทรราชที่แค้นเคืองประชาชน จากปมหัวใจที่เขารู้สึกว่าประชาชนฆ่ามารีอังตัวแน็ต และจุดจบของเขาก็ถูกประชาชนโค่นล้มเช่นเดียวกันหลังการปกครองสวีเดนมาสิบปี แม้กุหลาบแวร์ซายล์จะเป็นเรื่องแต่งเติม โดยเฉพาะตัวเอกของเรื่อง เลดี้ออสการ์ นั้นเป็นตัวละครที่แต่งขึ้นใหม่ แต่มังงะ กุหลาบแวร์ซายล์ได้นำเสนอเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่ตรงกับประวัติศาสตร์เรื่องจริงในช่วงปฏิวัติฝรั่งเศส รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมารีอังตัวแน็ตกับแฟร์ซอง การที่กองทัพสวีเดนไปช่วยอเมริกากู้อิสรภาพจากอาณานิคม และเหตุการณ์ “คดีเครื่องเพชร” สุดอื้อฉาวที่จุดชนวนให้ประชาชนฝรั่งเศสโกรธเคืองพระนางมารีอังตัวแน็ต จนถึงเหตุการณ์ถูกประหารด้วยกิโยติน

อ้างอิง 


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป