หลู่ซิ่น : เสียงตะโกนของตัวอักษร ที่พร้อมสู้กับความป่วยไข้ของสังคมด้วยความหวัง
Faces

หลู่ซิ่น : เสียงตะโกนของตัวอักษร ที่พร้อมสู้กับความป่วยไข้ของสังคมด้วยความหวัง

Focus
  • หลู่ซิ่น เป็นนามปากกาของ โจวซู่เหริน เกิดในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2424 เป็นชาวเมืองเส้าซิง มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีนเขาคือเจ้าของเรื่องสั้นที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากเรื่องสั้นขนาดยาว ประวัติจริงของอาคิว (The True Story Of Ah Q) ในปี พ.ศ.2464
  • หลู่ซิ่นเป็นที่รู้จักเทียบเท่านักเขียนคนสำคัญระดับโลกร่วมรุ่นอย่าง แม็กซิม กอร์กี้, อัลตอน เชคอฟ, จอร์จ ออร์เวลล์ และ วอลแตร์
  • ประวัติจริงของอาคิว ติพิมพ์ฉบับภาษาไทยครั้งแรก พ.ศ. 2500 แปลโดย เดชะ บัญชาชัย สำนักพิมพ์เทวเวศม์

หลู่ซิ่น (Lu Hsun) นักเขียนคนสำคัญของวรรณกรรมจีนร่วมสมัย เจ้าของเรื่องสั้นขนาดยาว ประวัติจริงของอาคิว (The True Story Of Ah Q) ตีพิมพ์ใน พ.ศ.2464 เป็นวรรณกรรมเล่มสำคัญที่พูดถึงการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยจากยุคเก่าค่านิยมเก่าแบบขงจื้อ ที่มีการยึดหลักธรรมเนียมประเพณีแบบโบราณ มีการไว้ผมเปียยาว รวมไปถึงการจัดวางบทบาทเพศหญิงให้มีอำนาจด้อยกว่าเพศชาย สู่โลกสมัยใหม่ที่ค่านิยมดั้งเดิมถูกท้าทายจากสังคมและผู้คนรุ่นใหม่ ซึ่งวรรณกรรม ประวัติจริงของอาคิว ได้แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกของยุคสมัยจนได้รับการตอบรับอย่างดีโดยการตีพิมพ์แปลเป็นภาษาอื่น ๆ เช่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศษ ญี่ปุ่น และ ไทย

จากความนิยมในระดับมวลชนส่งให้ หลู่ซิ่น เป็นนักเขียนวรรณกรรมเชิงสังคมรวมทั้งยังได้รับความนิยมในหมู่นักปฏิวัติและผู้อ่านวรรณกรรมที่มีเนื้อหาส่งเสริมความเท่าเทียม ตีแผ่การกดขี่ของระบบคุณค่าแบบเก่าจนชื่อของเขากลายเป็นกรณีศึกษาด้านวรรณกรรมประชาชน วรรณกรรมสังคมนิยม รวมทั้งวรรณกรรมที่ท้าทายจารีต เขย่าความคิดอ่านของสังคม ไม่แพ้นักเขียนคนสำคัญระดับโลกอย่าง แม็กซิมกอร์กี้ (Maxim Gorky) อัลตอน เชคอฟ (Anton Chekhov) จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) และวอลแตร์ (Voltaire)

จากการรักษาความป่วยไข้ถึงการรักษาจิตวิญญาณสังคม

หลู่ซิ่น ซึ่งเป็นนามปากกาของ โจวซู่เหริน เกิดในวันที่ 25 กันยายน (พ.ศ.2424-2479) เขาเป็นชาวเมืองเส้าซิง มณฑลเจ้อเจียง ครอบครัวของเขาเป็นข้าราชการจีนที่มั่งมีทั้งลาภยศและเงินทอง เขาจึงได้ร่ำเรียนตามค่านิยมที่ครอบครัวข้าราชการสมัยนั้นควรจะเรียน ทั้งกวีนิพนธ์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ปรัชญารวม ถึงมีโอกาสเรียนภาษาต่างประเทศอย่างภาษาอังกฤษและเยอรมัน ทำให้เขาจึงสามารถอ่านงานวรรณกรรมจากโลกตะวันตกได้จนมีพื้นฐานทางวรรณกรรมถึงขั้นสามารถเป็นนักแปล นักวิจารณ์ และนักเขียนได้ แต่แล้วภายหลังครอบครัวของเขาประสบปัญหาทางการเงิน อีกทั้งพ่อยังล้มป่วยลงจนชีวิตของหลู่ซิ่นดิ่งลง เขาเคยกล่าวถึงช่วงเวลาแห่งความทุกข์ของครอบครัวในครั้งนั้นไว้ว่า

“ระยะเวลา 4ปีกว่า ข้าพเจ้าเคยเข้า ๆ ออก ๆ โรงรับจำนำ และร้านขายยาเสมอ ๆ แทบทุกวัน”

อีกทั้งหลู่ซิ่นยังได้กล่าวว่าการที่เขากำลังเปลี่ยนสถานะจากผู้มั่งมีสู่ความลำบากทางการเงินทำให้เขาได้รับรู้และได้เห็น โฉมหน้าอันแท้จริงของคน

“ข้าพเจ้าคิดว่า ใครก็ตามที่อยู่ในฐานะพอมีอันจะกินแล้วกลับตกต่ำสู่สภาพยากจนข้นแค้น คงจะเห็นโฉมหน้าอันแท้จริงของคนได้ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงนี้”

นอกจากความลำบากของครอบครัวแล้ว หลู่ซิ่นได้บันทึกบรรยากาศสังคมในวัยเรียนของเขาไว้ว่า หากใครเรียนวิชาฝรั่งมักจะถูกดูแคลน เพราะวิถีจีนที่ได้รับการยอมรับคือการสอบเลื่อนชั้นสู่การเป็นขุนนาง และต้องเรียนคัมภีร์แบบจีน หลู่ซิ่นในวัยเรียนจึงเลือกเข้าเรียนในโรงเรียนนายเรือเจียงหนาน (Kiangnan) เมืองนานกิง โดยมีเงินค่าเดินทางที่แม่ให้ติดตัวมาเพียง 8 หยวน ส่วนค่าใช้จ่ายที่เหลือเขาต้องรับผิดชอบตนเอง

ตลอดระยะเวลาที่ได้เรียนที่เจียงหนานเขาได้เปิดโลกด้วยการศึกษาวิชา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ที่นั่นเขาได้รู้จักหนังสือที่ทันสมัยอย่าง “ทฤษฏีใหม่เกี่ยวกับโครงร่างมนุษย์” ซึ่งเป็นหนังสือด้านสรีรศาสตร์ และหนังสือ ความเรียงเกี่ยวกับเคมีและอนามัย

ด้วยแนวความคิดวิทยาศาสตร์ที่ต่างจากตำราของจีนดั้งเดิม ทำให้เขาเริ่มเข้าใจร่างกายและการแพทย์แบบสมัยใหม่ นั่นทำให้หลู่ซิ่นที่ต้องเข้าโรงรับจำนำเพื่อนำเงินไปซื้อยาให้พ่อก่อนหน้านี้คิดขึ้นมาได้เกี่ยวกับแนวทางการรักษาผู้ป่วยแบบจีนแผนโบราณว่า “หมอแผนโบราณเป็นได้ก็แต่เพียงนักหลอกลวงโดยเจตนาหรือไม่เจตนาเท่านั้น”  และที่น่าสนใจก็คือ วิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่นี่เองที่ทำให้ หลู่ซิ่น มีแนวคิดเพื่อผู้อื่นตามมาดังประโยคที่เขาได้บันทึกไว้ว่า

“ในขณะเดียวกันก็บังเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเป็นอย่างมากต่อคนไข้และวงศาคณาญาติของคนไข้ที่ถูกหลอกลวง”

หลังจากที่พ่อของ หลู่ซิ่น เสียจากความเจ็บป่วยหลู่ซิ่นในวัย 23 ปี ได้เดินทางไปศึกษาต่อด้านการแพทย์ที่ประเทศญี่ปุ่นในยุคที่ญี่ปุ่นเองก็กำลังเปลี่ยนแปลงปฏิรูปการเมืองการปกครอง ทำให้เขาได้เห็นการปฏิรูปบ้านเมืองของญี่ปุ่น โดยเหตุผลหนึ่งที่เขาเลือกเรียนด้านการแพทย์ก็เพื่อต้องการมีโอกาสรักษาผู้คนอย่างถูกวิธี และต้องไม่มีใครป่วยตายจากการรักษาแผนโบราณเหมือนพ่อเขาอีก

แต่แล้วการเรียนแพทย์ของเขาก็ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองและความขัดแย้งที่กำลังปะทุอยู่ในญี่ปุ่น โดยในช่วงพักหรือช่วงปลายการเรียนการสอน ครูผู้สอนก็มักจะเปิดภาพยนตร์หรือข่าวการเมือง วันหนึ่ง หลู่ซิ่น ได้เห็นข่าวชาวจีนถูกสังหารโดยทหารญี่ปุ่นตัดหัวประจานต่อหน้าสาธารณะ ด้วยข้อหาเป็นสายลับให้กับรัสเซีย ภาพที่เห็นได้เปลี่ยนทิศทาง ความรู้สึก และความคิดของเขาอย่างมีนัยยะสำคัญดังบันทึกตอนหนึ่ง ที่เขาเขียนถึงเหตุนั้นว่า

“ปีการศึกษานั้นยังไม่ทันจบ ข้าพเจ้าก็ย้ายไปโตเกียวเพราะหลังจากครั้งนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็รู้สึกว่า วิชาแพทย์หาใช่สิ่งสลักสำคัญอะไรไม่ ลงเป็นประชาราษฏร์ที่โง่เขลาและอ่อนแอแล้ว ต่อให้มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์และกำยำล่ำสันเพียงไรก็เป็นได้แต่เพียงผู้ถูกตัดหัวเสียบประจาน”

จากเหตุการณ์ข่าวการสังหารชาวจีนในครั้งนั้นทำให้หลู่ซิ่นไม่ได้มุ่งศึกษาร่างกายดังที่เขาตั้งใจไว้แต่แรก ทว่าเขากลับมุ่งศึกษาและทำงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และหันมาทำงานวรรณกรรมเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้กับสังคม

ถ้ามีความหวังแม้เพียงเล็กน้อย ขอเพียงเปล่งเสียงตะโกน

“สิ่งสำคัญอันดับแรกของเราก็คือเปลี่ยนแปลงจิตใจของพวกเขา และข้าพเจ้าคิดในเวลานั้นว่า สิ่งที่จะใช้เปลี่ยนแปลงจิตใจให้ได้ผลที่สุดนั้นแน่นอนจะต้องเป็นศิลปะวรรณคดี”

หลู่ซิ่นพยายามสร้างสรรค์วรรณกรรมเพื่อรักษาจิตใจของคน และพูดถึงระบบสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ความแตกต่างของโลกเก่าและโลกใหม่ ค่านิยมที่ประชาชนยึดถือ โดยเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของงานหลู่ซิ่นคือการเล่าเรื่องของคนธรรมดา ๆ ในสังคมจีน ที่ต้องปะทะกับชุดความคิดแบบโบราณ ความคิดชาตินิยม อันส่งผลไปสู่ความรุนแรงต่อมนุษย์ในสังคมนั้น ๆ

แม้วรรณกรรมของเขาจะเต็มไปด้วยความรุนแรง ตีแผ่เรื่องจริงของสังคม และดูว่าทางออกจะมืดมิด ทว่าหากอ่านจนจบจะพบว่าในความหวังที่อาจดูริบหรี่ แต่เขาก็เชื่อว่ามันยังมีความหวังนั้นอยู่ เช่นการที่เขาได้บันทึกถึงเหตุการณ์สมมติถึงบ้านเหล็กหลังหนึ่งอันทนทานและไม่มีประตูหน้าต่างใด ในบ้านมีผู้คนอาศัยจำนวนมากและกำลังนอนหลับอยู่ แต่อีกไม่นานพวกคนพวกนั้นจะตายลงจากความแออัด และตายอย่างหลับใหลโดยไม่รู้สึกตัว คนในบ้านจึงไม่มีความเศร้า ไม่มีความโศกใดๆ แม้ตนกำลังจะตาย แต่หากมีใครสักคนตื่นขึ้นและตะโกนให้ทุกคนในบ้านตื่นขึ้นมา แม้เพียงสองสามคน แน่นนอนว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเห็นว่าบ้านเหล็กหลังนี้มันแออัด ซึ่งความแออัดก็อาจทำให้พวกเขาตายได้ แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาที่ตื่นขึ้นมาก็สามารถช่วยกันพังบ้านเหล็กหนีตายได้เช่นเดียวกัน

“แต่ในเมื่อสองสามคนฟื้นตื่นขึ้นมาแล้ว คุณย่อมพูดไม่ได้ว่าไม่มีหวังที่จะพังบ้านเหล็กหลังนี้เสียเลย”

อ้างอิง

  • https://www.britannica.com/biography/Lu-Xun
  • ตะโกนสู้ ชุมนุมเรื่องสั้นของหลู่ซิ่น . หลู่ซิ่น เขียน.สำนักพิมพ์ ไทยควอลิตี้บุ๊คส์.2563

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน