สวนีย์ อุทุมมา : นักเต้น ตัวประกอบ ผู้กำกับ หลากบทบาทกว่าจะมาเป็น ร่างทรง
Faces

สวนีย์ อุทุมมา : นักเต้น ตัวประกอบ ผู้กำกับ หลากบทบาทกว่าจะมาเป็น ร่างทรง

Focus
  • เอี้ยง-สวนีย์ อุทุมมา คือนักแสดงละครเวทีที่พ่วงตำแหน่งคนเขียนบท ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และอีกหลายหน้าที่เบื้องหลัง รวมถึงโลดแล่นอยู่เบื้องหน้าในสื่อหลักทั้งภาพยนตร์และละคร
  • สวนีย์ อุทุมมา เป็นที่คุ้นหน้าจากบทเล็ก ๆ ในภาพยนตร์หลายเรื่อง ด้วยการแสดงที่เปี่ยมพลัง เข้าถึงบทบาท แม้จะเป็นเพียงบทสมทบที่ปรากฏตัวเพียงไม่กี่นาที จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ในงานคมชัดลึกอวอร์ดปี พ.ศ.2552 จากภาพยนตร์เรื่องสามชุก
  • ชื่อของ สวนีย์ อุทุมมา เป็นที่พูดถึงอย่างมากหลังการเข้าฉายของ ร่างทรง ภาพยนตร์ร่วมทุนสร้าง ไทย-เกาหลี จากฝีมือการกำกับของ บรรจง ปิสัญธนะกูล และอำนวยการสร้างโดย นา ฮง-จิน ซึ่งเอี้ยงรับบทเป็น “ป้านิ่ม” หนึ่งในตัวละครหลัก

“ตอนเรียนอยู่ ม.2 ที่อุบลราชธานี มีโอกาสได้เล่นละครหน้าชั้นแล้วสนุก พอสนุกก็รู้สึกชอบเลยคิดว่าน่าจะเป็นสายอาชีพนี้แหละที่อยากจะเดินไป คือด้วยหน้าตารู้ว่าคงไม่ได้เป็นดาราหรอก แต่ก็ตั้งเป้าว่าจะต้องเข้ามาอยู่ในแวดวงนี้ให้ได้” สวนีย์ อุทุมมา หรือ เอี้ยง หวนนึกถึงครั้งแรกของการตกหลุมรักในงานแสดงแรงบันดาลใจที่ผลักดันให้เธอก้าวตามฝัน ค่อยๆ พัฒนาตัวเองจากเด็กเกาะขอบเวทีดูเพื่อนซ้อมละคร ทีมเต้น Contemporary Dance ในหลายเรื่อง เดินผ่านหน้ากล้องตามคำชวนของรุ่นพี่ บทสมทบตัวเล็ก ๆ ในหนังใหญ่ จนมาวันนี้ที่หลายคนคุ้นหน้าและรู้จักกับบท ป้านิ่ม ในภาพยนตร์ชวนหวาดหวั่นขวัญผวาแห่งปีอย่าง ร่างทรง (The Medium)

สวนีย์ อุทุมมา
สวนีย์ อุทุมมา ในภาพยนตร์ ร่างทรง

“ตอนนั้นที่โรงเรียนมีกิจกรรมอะไรสักอย่าง จำได้แค่ว่าเรารับหน้าที่ทำการแสดงหน้าชั้นเรียนสั้น ๆ ประมาณ 5 นาที ก็พยายามคิดว่าจะเล่นอะไรดี จนพี่สาวแนะนำให้แสดงตลก เป็นโฆษณาขายยาชูกำลัง ตราแม่มานสก็อตจัมป์ซึ่งพอออกเสียงเป็นภาษาอีสานจะเป็น แม่ม้านสก็อตจั่มป์(กรุณาอ่านแบบสำเนียงอีสาน) แม่มานก็คือคนท้อง แปลว่ายาชูกำลังนี้ดีมาก ขนาดคนท้องกินยังสก็อตจัมป์ได้เลย คือบ้าบอ แต่ผลตอบรับดี เพื่อนชอบ ทุกคนขำ เลยทำให้เรารู้สึกมั่นใจและมุ่งมั่นจะมาทางนี้” นักแสดงในวันนี้เล่าถึงเด็กหญิงคอซองในวันนั้นพร้อมเสียงหัวเราะ

ทว่าคงเหมือนนักฝันคนอื่น ๆ ที่การฝันให้ไกลไม่ใช่เรื่องยาก แต่จะไปให้ถึงได้หรือไม่ คือสิ่งที่ต้องพยายามพิสูจน์ การเดินทางบนถนนเส้นนี้ของเธอก็เช่นกัน เอี้ยงอาจจะเริ่มด้วยต้นทุนที่ไม่มากนัก แต่เพราะใจที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังแห่งฝันและความแน่วแน่ในจุดหมาย จึงทำให้เธอไม่เคยลังเลที่จะก้าวไปในแต่ละก้าว ค่อยๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ เติมเชื้อไฟให้ตัวเอง จนเติบโตในสายงานละครเวที มีผลงานเป็นที่ประจักษ์และกล่าวขวัญมากมาย โดยเฉพาะการแสดงเดี่ยวเรื่อง “จะวันไหนๆ” ในเทศกาลละครกรุงเทพ 2551ซึ่งคว้ารางวัลละครดีเด่นประเภทจุดประกายเครือข่ายสังคมมาเป็นเครื่องการันตีฝีมือ

สวนีย์ อุทุมมา

แต่ที่ทำให้หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตา คือการรับบทสมทบในภาพยนตร์ ทั้งเรื่อง “อรหันต์ซัมเมอร์” “สามชุก”“6.66”“ตายไม่ได้ตาย” “นาคปรก” รวมถึงละคร เช่น “เธอกับเขาและรักของเรา” “พระจันทร์ลายพยัคฆ์” “ห้องสมุดสุดหรรษา” ฯลฯ ซึ่งแม้จะปรากฏตัวไม่มากไม่นานแต่ก็สร้างการจดจำได้ดี จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ในงานคมชัดลึกอวอร์ดปี พ.ศ. 2552 จากบทเล็กแต่ไม่เล็กในภาพยนตร์เรื่องสามชุก และล่าสุดกับการปล่อยพลังการแสดงอันตรึงคนดูได้อยู่หมัดกับการรับบทตัวละครหลักในภาพยนตร์ ร่างทรง

ทั้งหมดทั้งมวลที่เล่ามาอยากให้เห็นว่าเรื่องราวการเดินทางบนสายอาชีพนักแสดงของเอี้ยง หรือที่ใครอาจจะติดปากเรียกว่าป้านิ่มนั้นไม่ธรรมดา ยิ่งหากได้รู้ถึงความทุ่มเทและทัศนคติที่มีต่ออาชีพที่เธอรัก จะรู้ว่ามิใช่เพียงโอกาสวาสนา แต่เป็นความพยายาม ประสบการณ์ ความซื่อสัตย์ และฝีมือต่างหาก ที่พาเธอมาถึงจุดนี้และนี่คือบทสนทนาที่จะพาไปทำความรู้จักกับนักแสดง ซึ่งใครหลายคนต่างก็อยากมอบรางวัลให้แก่ฝีไม้ลายมือของเธอ

หลังตกหลุมรักตอน ม.2 ก้าวแรกในงานแสดงเริ่มจากจุดไหน

“เริ่มจากเรียนรู้เรื่องละครก่อน ครั้งแรกเลยคือตอน ม.4 ซึ่งเข้ามาเรียนที่โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒารามในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในกรุงเทพฯตอนนั้นมีเพื่อนๆ ไปซ้อมละครเวทีที่โรงเรียนเทพศิรินทร์เราก็ไปยืนเกาะขอบเวทีดูเขาซ้อมกันจนพี่เชาว์(ชวลิต พงศ์ไชยยง) มาเห็นเข้า คือแววตาเราคงเผยออกมาว่าสนใจมาก พี่เขาเลยถามว่า‘น้องอยากเล่นละครเหรอ’เราก็พยักหน้ารับทันที เลยได้ลองเวิร์กชอปการแสดงเป็นครั้งแรก จึงนับได้ว่าพี่เชาว์เป็นคนแง้มประตูสู่อาชีพนี้ให้เราเลย จากนั้นพอเวิร์กชอปเสร็จ เข้าสู่การซ้อมจริง ก่อนที่จะออกจากตรงนั้น พี่พรหรือพี่พรอึ๊ง ผู้กำกับ ก็วิ่งมาคว้าแขนเราแล้วก็พูดว่า ‘น้องอย่าทิ้งละครนะ’ได้ยินแล้วเราก็รู้สึกมั่นใจ ใจชื้นว่าเราน่าจะมีแววพอไปฝั่งนี้ได้อยู่นะ”

จากนั้นเริ่มเข้ามาสู่งานแสดงอย่างเต็มตัวเลยไหม

“หลังจากได้ร่วมเวิร์กชอปครั้งแรกแล้ว เวลามีกิจกรรมอะไรพี่ ๆ ก็เปิดโอกาสให้เราได้เข้าร่วม จนในที่สุดก็พาไปสู่การทำงาน ได้ลองเป็นนักแสดง โดยเริ่มจากเป็นคนเต้น Contemporary Danceในเรื่องก่อน แล้วค่อยๆ เรียนรู้การทำงานในตำแหน่งอื่น ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังผลัดเปลี่ยนกันไปกับเพื่อนๆ รุ่นเดียวกัน อย่างสันต์ ศรีแก้วหล่อ (ผู้กำกับละครและซีรีส์) กรัณย์ คุ้มอนุวงศ์ (ผู้กำกับละครและซีรีส์) และอีก 2-3 คนที่ทำละครมาด้วยกันซึ่งนับว่าโชคดีที่พี่ๆ อยากให้เราเรียนรู้อะไรหลายอย่าง พอเสร็จงานนี้พี่คนนี้ก็พาไปต่องานนั้น พอเสร็จงานนั้นพี่คนนั้นก็แนะนำให้ไปทำงานกับอีกคน เลยทำให้ได้เข้ามาอยู่ในสายอาชีพนี้”

สวนีย์ อุทุมมา

ทราบมาว่าทำงานหลายหน้าที่มาก ทั้งเขียนบท กำกับ และแสดง

“เราสนุกที่จะทำอะไรหลายๆ อย่างมาตั้งแต่เด็ก อีกอย่างรุ่นพี่ที่ส่งงานให้ก็พยายามผลักดันให้ทำหลายอย่าง จะได้ค้นหาสิ่งที่ชอบด้วย และที่สำคัญคือเรารู้ตัวว่าไม่ใช่คนหน้าตาดี ฉะนั้นถ้าอยากจะเป็นนักแสดง ก็คงได้แต่รอ ซึ่งพอได้ลองทำนั่นทำนี่ก็ค้นพบว่า ที่จริงแล้วเราชอบเขียนบทด้วยนะ ชอบเต้นด้วย ชอบกำกับด้วย เลยกลายเป็นการงาน เป็นอาชีพ ที่เมื่อมีโอกาสก็พยายามทำให้ดีที่สุดทุกบทบาท ในขณะเดียวกันก็รู้ตัวเสมอว่า ถึงอย่างไรสิ่งที่ชอบที่สุดก็ยังคงเป็นการแสดง”

เสน่ห์ของการแสดงคืออะไร ทำไมถึงทำให้รักได้ขนาดนี้

“พอเรียนรู้เกี่ยวกับการแสดงมากขึ้น ยิ่งค้นพบว่ามีความน่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะการแสดงพาเราไปเรียนรู้ทั้งเรื่องภายในตัวเอง เรื่องคนอื่น เรื่องสังคมรอบข้างทำให้รู้ว่าการแสดงออกของเราในแต่ละเรื่อง แต่ละสถานการณ์ มีผลกระทบต่อใครแบบไหนอย่างไรบ้าง และบางสิ่งบางอย่างที่เราต้องแสดงก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเจอได้ในชีวิตจริง ดังนั้นการแสดงจึงให้อะไรเรามากกว่าแค่ได้โชว์ออฟ จะว่าไปก็ไม่ต่างจากศิลปะแขนงอื่น ที่พอศิลปินค้นเจออะไรบางอย่างแล้วอยากจะเล่า ก็จะทำการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพบว่าจะนำเสนอออกไปแบบไหน จะวาดภาพออกมาอย่างไร จะใส่ตัวโน้ตตัวไหนลงไปให้เป็นเพลง การแสดงก็เหมือนกัน เมื่อเรารู้ว่าคอนเซปต์คืออะไร ก็จะค้นคว้าฝึกฝน ฝึกซ้อมไปเรื่อยๆบ่อยๆ จนสุดท้ายได้ออกมาเป็นแนวทางที่เราอยากนำเสนอ”

ร่างทรง
บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง

แสดงว่ากว่าจะถ่ายทอดแต่ละบทบาทออกมาได้ต้องซ้อมหนักมาก

“ต้องบอกว่าแล้วแต่เรื่อง บางทีละครเวทีบางเรื่อง ผู้กำกับอยากทดลองอะไรใหม่ๆ ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาอยากได้ตัวอย่างเรื่องหนึ่งที่ต้องเล่นเป็นคนขี้ลืม เหมือนเป็นอัลไซเมอร์ เขาจึงไม่มีอะไรให้เลย ไม่มีโจทย์ ไม่มีการบ้าน ไม่ต้องทำอะไร เพราะตัวละครเป็นอัลไซเมอร์ ก็นับเป็นวิธีการที่ต่างจากเรื่องอื่นๆ เราไม่ต้องทุ่มเทในแง่ของการกลับไปทำการบ้านเลย แต่ส่วนใหญ่แทบทุกเรื่องคือต้องกลับไปทำการบ้านค่อนข้างเยอะ”

บทป้านิ่มในเรื่อง ร่างทรง ทำการบ้านหนักแค่ไหน

“ในเรื่องร่างทรง ก่อนอื่นคือเราไม่ใช่ร่างทรงจริง จึงอยากรู้ว่ามีร่างทรงแบบไหนบ้าง เลยไปค้นดูตามข่าว ตามคลิปต่าง ๆจนไปเจอว่าเมื่อหลายปีก่อนมีครูคนหนึ่งเป็นคนทรง ซึ่งไม่ได้มีแอ็กชันใหญ่โตอะไร เขาสื่อสารแบบธรรมดา พูดคุยธรรมดา เลยจับฟอร์มนี้มาเล่นให้พี่โต้ง (บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องร่างทรง)ดู สุดท้ายพี่โต้งก็โอเค เลือกแบบนี้ นี่คือส่วนหนึ่งของการทำการบ้านแล้วนำเสนอผู้กำกับ ตัวผู้กำกับก็มีทางของเขาอยู่ประมาณหนึ่ง เมื่อนำมารวมกันก็ได้ออกมาอย่างที่เห็นในเรื่อง นี่คือฟอร์มของร่างทรง แต่พอเจอฟอร์มของร่างทรงแล้ว สำหรับเราสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าเดิมก็คือชีวิตของป้านิ่ม ว่าเป็นคนอย่างไร ใช้ชีวิตแบบไหน โดยเริ่มดูจากตัวบทที่เขามีให้นั่นแหละ”

ร่างทรง

เห็นว่าตัวบทหนังของเรื่องนี้ไม่ธรรมดา

“ใช่ เพราะไม่ได้มีบทพูดหรือมีอะไรชัดเจนเหมือนบททั่วไป มีแค่ข้อมูลสั้น ๆ คร่าว ๆ เหมือนทรีตเมนต์แต่เป็นเนื้อหาโดยคร่าวที่ชัดว่าเริ่มตรงนี้ จบตรงนี้ ต้องทำอย่างนี้ ต้องมีประโยคนี้ สิ่งเหล่านี้จะถูกเขียนไว้ เพียงแต่ไม่มีบทให้ท่อง เพราะผู้กำกับต้องการเปิดพื้นที่ให้นักแสดงได้ทำงานอย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด ฉะนั้นการทำการบ้านของเราจึงต้องซับซ้อนขึ้นไปอีกคือนอกจากการหาตัวละครให้เจอ ยังต้องคิดว่าจะทำให้ไม่เป็นฟอร์มการแสดงทั่วไปอย่างไรด้วย เคยสังเกตไหมว่า เวลาดูหนัง ดูละคร บางทีจะมีจังหวะอะไรบางอย่างที่ถูกสร้างขึ้นในการแสดง แต่สำหรับเรื่องนี้เพื่อให้เป็นธรรมชาติที่สุด สิ่งที่พี่โต้งทำก็คือทำลายกฎเดิม ๆ ของการแสดงทิ้งไป ซึ่งเราเองก็ต้องทำการบ้านในการที่จะทำลายมันออกไปด้วย”

มีอะไรบ้างที่ต้องทำลายขนบการแสดงแบบเดิม

ยกตัวอย่าง วิธีการพูดที่เป็นจังหวะการแสดงทั่วไปก็ถูกทำให้กลายเป็นสิ่งใหม่ ซึ่งถ้ามีโอกาสได้ดูจะเห็นว่า ตัวป้านิ่มมีความจังหวะนรกอยู่ นั่นก็เพราะหนังเรื่องนี้ต้องการการแสดงแบบนั้น หรืออย่างการบล็อกกิง (blocking) ซึ่งไม่ได้บังคับเท่าไรอยู่แล้วว่าจะยืนตรงไหนอย่างไรแต่ด้วยความที่เคยทำหน้าที่ผู้กำกับมาก่อน พอเห็นว่าถ้ากล้องมาประมาณนี้compositionจะสวยมากแน่ๆแต่ไม่ธรรมชาติ เหมือนเซตจัดวาง เราก็จะถอยหลบ ไปยืนให้คนอื่นบังเล่นๆ บ้างคิดว่าถ้ากล้องอยากได้หน้าเราจริง เขาจะมีวิธีเอง ดังนั้นถ้าถามว่าทำการบ้านเยอะไหม ก็เยอะ ในส่วนภูมิหลังของป้านิ่ม ที่แม้จะออกมานิดๆ หน่อยๆ แต่ก็มีผลต่อพฤติกรรมและจิตใจของป้านิ่มอย่างมาก ซึ่งผู้กำกับช่วยเยอะ ในการแสดงให้เห็นว่าทำไมตัวละครตัวนี้จึงรู้สึกแบบนั้นแบบนี้ แล้วมาคุยกับเราว่าใช่ไหม รู้สึกแบบนี้หรือเปล่า ซึ่งวิธีกำกับของพี่โต้งเป็นวิธีที่เราคิดว่า…ดีจังเลย”

ร่างทรง

เคยได้ยินว่านักแสดงบางคนติดในบทบาทจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน

“เราไม่เป็นและไม่เห็นด้วยกับการเป็นแบบนั้น คือ เวลาแสดงหนัง ผู้กำกับจะสั่งแอ็กชัน(action)และสั่งคัต(cut) นั่นแปลว่าเขามีให้เริ่มและหยุด ก็ควรเริ่มและหยุดตามนั้น ส่วนละครเวที สมมติว่าเล่นยาวต่อเนื่อง2 ชั่วโมง ก็ควรจบแค่ใน 2 ชั่วโมงนั้น ซึ่งการจะทำได้ไหม หรือยังติดกับอารมณ์ความรู้สึกจนพาบทกลับบ้านไปด้วย ก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ เปรียบเทียบกับการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่ต้องมีการวอร์มอัปก่อนและจบด้วยคูลดาวน์ การแสดงก็เหมือนกันต้องคูลดาวน์เพื่อเอาตัวเองออกจากอารมณ์หรือจากบทบาทที่สวมอยู่ซึ่งการทำงานอย่างโฟกัสและเข้าใจวิธีที่จะดึงตัวเองออกจากจุดนั้น เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญและจำเป็นต้องทำ”

มีวิธีดึงตัวเองให้ออกมาจากบทบาทนั้นอย่างไร

“วิธีดึงสติตัวเองคือ การกลับมารู้สึกง่ายๆ แค่ที่ตัวเรา ไม่ต้องไปคิดเรื่องอื่น กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวหลังจากได้ยินเสียงสั่งคัตซึ่งส่วนตัวเราจะมีอีกเทคนิคหนึ่ง นั่นคือในขณะที่ทำการแสดง จะมีสติตัวหนึ่งที่มองเห็นอยู่ว่าเรากำลังทำอะไร เช่นรู้ว่ากำลังยกมือขึ้นไปแตะที่หัวเขาและเราจะบีบลงไปแรงจนทำให้เพื่อนนักแสดงเจ็บไม่ได้ แต่จะเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อให้ดูเหมือนว่าเรากำลังบีบเขาแทน เหล่านี้คือใช้สติหมดเลย ดังนั้นพอรู้ตัวรู้ตนว่ากำลังทำอะไรอยู่ เมื่อผู้กำกับสั่งคัตเราก็แค่หยุดเล่น นี่เป็นเครื่องมือสำคัญที่นักแสดงทุกคนต้องรู้ เพราะเราต้องดูแลตัวเราเองด้วย ไม่อย่างนั้นอาจจะเป็นบ้าได้สักวัน”

ที่ผ่านมาสวมบทบาทหลากหลายทั้งบทเล็ก บทใหญ่ มีวิธีเลือกรับงานอย่างไร

“ด้วยความที่ทำทั้งเบื้องหลังและเบื้องหน้า รู้จักคนเยอะ งานบางงานไม่มีอะไรเลยเราก็รับนะ อย่างบางทีเพื่อนๆ ในวงการชวน‘แกมาเล่นเป็นตัวนี้ให้หน่อยสิ’ อาจจะเป็นบทเล็ก ๆ แต่ก็แสดงอย่างเต็มที่ เพราะว่าไหนๆ เขาก็ให้ไปเล่นแล้ว คิดว่าเขาอาจจะต้องการศักยภาพอะไรบางอย่างจากเรา ดังนั้นก็ต้องทำให้เต็มศักยภาพ แม้ว่าจะสั้นจะน้อยก็ตาม แต่หลังจากนี้ พอร่างทรงออกไปก็ต้องพูดตามตรงว่า อาจจะต้องเลือกงานหน่อยแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหยิ่งขึ้น จะเลือกงานมากขึ้น หรือบทเล็กบทน้อยไม่เล่นนะ แค่ต้องดูหน่อยว่าเป็นบทอะไร อย่างไร คือจริง ๆ ไม่ได้มีปัญหากับการไปเดินผ่านกล้องให้เฉยๆ ถ้าคิวเราว่างก็ว่ากันไป แต่ถ้าเกิดมีงานเข้ามาชนกัน ก็จำเป็นต้องเลือกสิ่งที่เรารู้สึกว่าเหมาะสมมากที่สุด”

เอี้ยง-สวนีย์ อุทุมมา คือนักแสดงละครเวทีที่พ่วงตำแหน่งคนเขียนบท ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และอีกหลายหน้าที่เบื้องหลัง รวมถึงโลดแล่นอยู่เบื้องหน้าในสื่อหลักทั้งภาพยนตร์และละคร ชื่อของเธอเป็นที่พูดถึงอย่างมากหลังการเข้าฉายของ ร่างทรง ซึ่งเอี้ยงรับบทเป็น “ป้านิ่ม” หนึ่งในตัวละครหลัก

เรียกได้ว่าบทป้านิ่มคือบทที่พีคที่สุดในชีวิตนักแสดงที่ผ่านมา

“บทป้านิ่มพีคที่สุดในแง่ของการเป็นภาพยนตร์ ใช้คำว่าในฝั่งของเมนสตรีม(Main Stream)ก็แล้วกัน แต่ถ้าเป็นฝั่งของละครเวทีที่เราถือว่าเป็นชิ้นมาสเตอร์พีซ(Masterpiece)ของเราคือการแสดงเดี่ยว 2 ภาค ภาคแรกชื่อ ‘17 พฤษภา My Valentine’ และภาคที่สองชื่อเรื่อง ‘จะวันไหนๆ’ เป็นการทำงานเดี่ยวตั้งแต่เขียนบทละคร ดูแลโปรดักชันเล็ก ๆ นั้นเอง และแสดงเอง โดยเล่าถึงบางแง่บางมุมที่ส่งผลมากๆ ต่ออารมณ์และจิตใจของเราในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่เป็นวัยรุ่น จึงนับว่านั่นคือมาสเตอร์พีซของเราในส่วนที่เป็นละครเวที”

การเริ่มต้นด้วยละครเวที มีส่วนส่งเสริมการแสดงหนังและละครอย่างไร

“แน่นอนที่สุดว่าละครเวทีมีส่วนสำคัญในพัฒนาการด้านการแสดงของเรา ทำให้เรารู้วิธีเข้าถึงตัวละคร และรู้ว่าจะทำให้ตัวละครมีพลังขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องยากนะ เพราะจริง ๆ แล้วนักแสดงหลายคนใช่ว่าจะแสดงให้ตัวละครแต่ละตัวมีพลังได้แต่ด้วยความที่เราได้ฝึกมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ค่อย ๆ สะสมประสบการณ์จากละครเวที จึงทำให้รู้ว่าตัวละครแต่ละตัวต้องการอะไร รวมถึงเทคนิคการเคลื่อนไหวร่างกายที่จะสื่อหรือถ่ายทอดอารมณ์ด้วย”

ในฐานะอดีตนักแสดงตัวเล็กๆสิ่งที่อยากบอกเพื่อนนักแสดงตัวเล็กๆ คืออะไร

“การเป็นนักแสดง อย่างแรกเลยต้องซื่อสัตย์กับการเป็นตัวละครนั้น ๆ เข้าใจตัวละครตัวนั้นให้ได้ก่อน แล้วอยู่กับมัน ส่วนจะมีแสงไฟส่องมากระทบตัวเราเมื่อไรอย่างไร โอกาสจะเปิดไหม เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อมหมดเลย ดังนั้นต้องมีสติและซื่อสัตย์ ต่อให้คุณเล่นเป็นตัวละครเล็กๆ ที่อยู่แถวหลังสุด แต่ถ้ามีสมาธิอยู่ที่ตัวละครนั้นซื่อสัตย์กับบทบาทนั้น เชื่อเถอะว่าจะมีคนเห็นคุณแน่นอน อย่าไปมัวติดอยู่กับความรู้สึกที่ว่า ทำไมเขาไม่เห็นเรา เพราะหากคุณคิดแบบนั้น แปลว่าสมาธิของคุณจดจ่ออยู่กับตัวเอง ไม่ได้อยู่กับตัวละคร ถ้าคุณไม่ซื่อสัตย์กับตัวละครของคุณ แต่เอาความต้องการอะไรบางอย่างมากลบมัน มัวแต่เรียกร้องอยู่ในใจก็ไม่มีประโยชน์ สู้ทุ่มเท ฝึกฝน ตั้งใจทำจริงๆ ดีกว่า รับรองว่าสักวันแสงไฟจะต้องส่องมาถึงคุณ”


Author

สุรางค์รัตน์ แก่นบุบผา
อดีตคนทำงานนิตยสารที่โหยหาความสงบเรียบง่าย ย้ายกลับไปดูแลโฮมสเตย์ในพะเยา มีความสุขและสนุกกับการได้ต้อนรับเพื่อนใหม่ที่แวะเวียนไปพูดคุยและใช้เวลาในบ้านหลังเล็กๆ หากพอมีเวลาว่างก็ปลูกผัก ทำอาหาร และยังคงไม่ทิ้งงานสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่รัก