จากศิลาจารึกสู่พลุไทยโบราณ เบื้องหลัง ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย
Faces

จากศิลาจารึกสู่พลุไทยโบราณ เบื้องหลัง ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย

Focus
  • งานประเพณี ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2520 โดดเด่นด้วยภูมิปัญญาการทำพลุไทยแบบโบราณ และถอดคอนเซ็ปต์งานมาจากศิลาจารึกหลักที่ 1
  • สัญญลักษณ์ บุณย์เสริมส่ง หรือ ครูแอ๊ก หญิงแกร่งและหญิงเก่งผู้อยู่เบื้องหลังงานพลุที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกรอคอยใน ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย

“…เมืองสุโขทัยนี้มีสี่ปากประตูหลวง เทียรย่อม คนเสียดกันเข้ามาดู ท่านเผาเทียน เล่นไฟ เมืองสุโขทัยนี้มีดั่งจักแตก…”

จากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 บรรทัดที่ 14 ในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 สู่การถอดความรื่นเริงของชาวเมืองสุโขทัยในอดีตที่มีงานเผาเทียนและเล่นไฟอย่างครึกครื้น คนดูล้นหลาม เบียดเสียดกันเข้าประตูเมืองทั้ง 4 พร้อมส่งเสียงไชโยโห่ร้องอึงมี่ประหนึ่งเมืองสุโขทัยจักแตก จักถล่มทลาย มาสู่ยุคสมัยใหม่ กลายเป็นงานประเพณี ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย ที่เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2520 โดดเด่นด้วยการดึงภูมิปัญญาการทำพลุไทยแบบโบราณ ไม่ว่าจะพลุตะไล ไฟพะเนียง ไอ้ตื้อ โดยเบื้องหลังความสวยงามยามค่ำคืนตลอด 43 ปี คือทีมช่างทำพลุชาวสุโขทัยที่สืบทอดวิธีการทำพลุไทยจากรุ่นสู่รุ่น

ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย
ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย

“คนทำพลุไม่ใช่แค่คนทำพลุ แต่การทำพลุเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เปรียบท้องฟ้าเป็นดั่งแจกัน เราต้องรู้ว่าจะเสียดดอกไม้ขึ้นไปบนท้องฟ้า ซึ่งก็คือพลุแต่ละสีขึ้นไปให้สวยงามเหมือนเสียบดอกไม้ในแจกันได้อย่างไร นี่คือหัวใจของการทำพลุ”

สัญญลักษณ์ บุณย์เสริมส่ง หรือ ครูแอ๊ก หญิงแกร่งและหญิงเก่งผู้สืบทอดการทำพลุไทยโบราณจากรุ่นพ่อที่เป็นเพียงโรงงานพลุเล็กๆ ในจังหวัดสุโขทัย ทำพลุ ดอกไม้ไฟไทยใช้ตามงานวัด งานศพ งานฉลองต่างๆ ในชุมชน มาสู่พลุที่ถูกจุดขึ้นท่ามกลางความสวยงามของโบราณสถานระดับมรดกโลกใน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และเป็นงานพลุที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเฝ้ารอที่จะตีตั๋วชมปีละครั้งในค่ำคืนวันลอยกระทง

ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย
สัญญลักษณ์ บุณย์เสริมส่ง หรือ ครูแอ๊ก

“เมื่อก่อนคนที่ทำพลุเก่งคือพระ เพราะพลุจะถูกใช้ตามงานวัด ทั้งงานศพ งานพิธีต่างๆ คุณพ่อก็ไปเรียนกับพระ และก็ไปแสวงหาตำราการทำพลุของเขาเอง แล้วก็เริ่มทำพลุเป็นเจ้าแรกๆ ในสุโขทัย พอคุณพ่อเสีย ลูกสองคนก็รับช่วงต่อ พอน้องชายเสียก็เหลือเรากับลูกทีมที่อยู่กันมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อ ซึ่งตอนนั้นเราเองก็ทำอาชีพครู แต่เมื่อทุกคนอยากที่จะไปต่อ เราก็เลยมารับช่วงทำพลุแล้วก็เป็นครูไปด้วยจนเกษียณ จนตอนนี้ 70 แล้วก็ยังทำพลุอยู่”

ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย

สำหรับทีมพลุสุโขทัยของครูแอ๊กนั้นเป็นทีมพลุที่ได้เข้ามาร่วมจัดงานประเพณี ลอยกระทงเผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 โดยถอดความรื่นเริงมาจากบันทึกในหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 ความภาคภูมิใจที่สุดของครูแอ๊กคือการได้สืบสานการพลุโบราณที่ถอดมาจากศิลาจารึก ทั้งยังเป็นพลุที่ใช้วัสดุในท้องถิ่น ใช้ภูมิปัญญาช่างทำพลุโบราณ และเป็นพลุที่ทำโดยคนสุโขทัยทั้งสิ้น

“ความภูมิใจสูงสุดในการทำงานพลุสำหรับ ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย คือการได้แสดงพลุต่อหน้าพระที่นั่ง ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ไทย ญี่ปุ่น สเปน เนเธอร์แลนด์ แล้วเราสามารถบอกได้ว่านี่คือพลุสุโขทัย ไม่ต้องไปเอาพลุจากที่อื่นมา คนทำก็คือชาวสุโขทัย ก่อนงานลอยกระทงเราจะเอาชิ้นส่วนของพลุ โคม กระจายไปให้ชุมชนทำ เหลาไม้บ้าง ทำตะคันดินเผา ปะกระดาษบ้าง คือเป็นงานที่คนสุโขทัยได้มีส่วนร่วมจริงๆ”

ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย

นอกจากพลุที่สืบสานมาแต่โบราณแล้ว ทางทีมพลุครูแอ๊กยังมีการพัฒนาพลุใหม่ๆ เช่น พลุร่ม พลุปลา โดยเฉพาะพลุร่มนั้นครูแอ๊กบอกว่าถือเป็นงานซิกเนเจอร์และเป็นงานยากเพราะมีกรรมวิธีทำที่ซับซ้อน ใช้เวลานาน แต่ที่มากกว่าการออกแบบพลุคือการออกแบบพื้นที่จัดวางพลุ ความสูงของพลุ เพื่อให้เข้ากับพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่เป็นมรดกโลกอย่างอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย

“การทำพลุว่ายากแล้ว แต่การทำพลุให้เข้ากับพื้นที่โบราณสถาน และการดึงเรื่องราวของประวัติศาสตร์การสร้างเมืองสุโขทัยขึ้นมาเป็นอีกความยากของงานนี้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ชมบอกเราว่าดูพลุที่สุโขทัยไม่เหมือนดูพลุที่อื่น เป็นงานพลุที่ช่างภาพมานอนรอกันเลย อย่างพลุที่จะใช้ในงานแสงสีเสียง เราต้องรู้ว่าช่วงไหนเจดีย์องค์ไหน พื้นที่ตรงไหนจะเด่น เรื่องราวตอนไหนต้องการพลุเข้าไปช่วยเสริม หรือถ้าเป็นพลุที่คู่กับพื้นที่ประวัติศาสตร์เลยก็จะต้องรู้ว่าพลุจะขึ้นตรงไหนเพื่อให้ถ่ายรูปสวย ไม่สูงไป ไม่ต่ำไป เพราะถ้าสูงไปก็จะถ่ายไม่ติดโบราณสถาน หรือต่ำไปก็อาจจะมองไม่เห็นเพราะคนนั่งดูพลุไม่ได้มีอยู่จุดเดียว ซึ่งนี่อาจจะเป็นข้อดีของการที่คนทำพลุทั้งหมดเป็นคนสุโขทัย เราจึงรู้จักพื้นที่และประวัติศาสตร์สุโขทัยเป็นอย่างดี”

นอกจากโคมลอย พลุตะไล ไฟพะเนียง ครูแอ๊กก็หวังว่าจะได้มีโอกาสได้รื้อฟื้นและสืบสานพลุไทยโบราณอีกหลากหลายชนิดให้คงอยู่สืบไป ไม่ว่าจะเป็นไฟกังหัน ไฟลูกกรวด ไฟกระถาง ไฟช้างร้อง ไอ้ตื้อ ซึ่งตอนนี้พลุไทยหลายประเภทกำลังจะหายไปและกำลังจะกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าความรื่นเริงในอดีตที่ถูกเล่าต่อๆ ไปโดยที่อาจจะไม่มีใครเคยได้เห็น

Fact File

  • งานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จากจังหวัดสุโขทัย คว้ารางวัล Gold Prize งานเทศกาลที่มีศักยภาพ (ธีมงานกลางคืน) ประจำปี 2023 จาก International Festival & Events Association (IFEA) ภูมิภาคเอเชีย (ASIA Chapter) ณ เมืองทงยอง  ประเทศเกาหลีใต้ 
  • ข้อมูลเพิ่มเติม งานลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ชัยทัต มีพันธุ์
ช่างภาพอิสระ รักเดินทาง ชอบงานฝีมือ เรียนรู้การใช้ชีวิต