เยียวยาหัวใจ เติมไฟความหวัง กับ 5 ซีรีส์เกาหลีฉบับคนมีฝัน
Lite

เยียวยาหัวใจ เติมไฟความหวัง กับ 5 ซีรีส์เกาหลีฉบับคนมีฝัน

Focus
  • 5 ซีรีส์เกาหลีฉบับคนมีฝัน บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนต่างอาชีพ ที่กำลังมุ่งหน้าหาหนทางไปสู่สิ่งที่ตั้งใจ
  • นอกจากบทบาทในอาชีพและความมุ่งมั่นพยายาม ซีรีส์ยังฉายให้เห็นบริบทรอบข้างในชีวิตที่ส่งผลต่อความฝันและบางครั้งสิ่งนั้นก็เป็นข้อจำกัดที่ตัวละครไม่สามารถเลือกมองข้ามไปได้

นอกจากเรื่องราวหลากรสและการตีแผ่สังคมในมิติต่าง ๆ ที่เข้มข้นชวนติดตาม ต้องยอมรับเลยว่าสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของซีรีส์เกาหลีคือการนำเสนอแง่มุมชีวิตของผู้คนในหลากหลายอาชีพ ซึ่งนอกจากรายละเอียดของบทบาทในอาชีพที่คนภายนอกมองเห็นแล้ว แต่ละตัวละครต่างก็มีความฝัน ความหวัง ความตั้งใจในชีวิตผ่านแต่ละอาชีพที่แตกต่างกัน และหลายครั้งการได้เห็นความฮึดสู้ การฝ่าฟันไปจนถึงการใช้ชีวิตร่วมกับอุปสรรคในแง่มุมต่าง ๆ ก็ช่วยเติมกำลังใจในวันที่หมดแรงได้มากทีเดียว เราจึงอยากส่ง 5 ซีรีส์เกาหลี ที่ออกฉายในปี ค.ศ. 2021 ต่อไปนี้มาเป็นเพื่อนใจอยู่ข้าง ๆ นักสู้ทุกคนที่รู้สึกเหนื่อยล้า ต้องแบกรับกับชีวิตในช่วงวิกฤตโรคระบาดครั้งใหญ่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ก่อนจะก้าวไปสู่การเดินทางครั้งใหม่ในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้

ซีรีส์เกาหลีฉบับคนมีฝัน

“Navillera” 

ความฝันที่จะกางปีกโบยบิน

“ตั้งแต่วินาทีแรกที่สวมรองเท้าบัลเลต์ มันก็ไม่ง่ายสำหรับใครทั้งนั้นนี่ครับ” – อีแชรก

Navillera หรือ ดั่งผีเสื้อร่ายระบำ ซีรีส์เกาหลีความยาว 12 ตอน ซึ่งเรียกได้ว่าบรรจุความฝันส่วนลึกของตัวละครแต่ละตัวที่ล้วนแล้วแต่มีความฝันที่ถูกปัดให้ห่างออกไปด้วยความจำเป็นหรือสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตมากกว่า ชิมด็อกชุน (แสดงโดย พัคอินฮวาน) คุณปู่วัย 70 ปีได้ฟื้นคืนความฝันวัยเยาว์อย่างการขึ้นแสดง Swan Lake บนเวทีขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากคอยเฝ้าดูห้องซ้อมที่มี อีแชรก (แสดงโดย ซงคัง) นักบัลเลต์อนาคตไกลวัย 23 ปีกำลังมุ่งมั่นฝึกฝนเพื่อการออดิชัน ความจับพลัดจับผลูทำให้ทั้งสองกลายมาเป็นคู่หูต่างวัย อีแชรกเป็นคุณครู ส่วนชิมด็อกชุนเป็นลูกศิษย์พ่วงด้วยตำแหน่งผู้จัดการส่วนตัว 

ซีรีส์เกาหลีฉบับคนมีฝัน

นอกจากเส้นเรื่องหลักจะฉายให้เห็นมิตรภาพ ความช่วยเหลือและความมุ่งมั่นของคุณปู่ด็อกชุนและอีแชรกในการเอาชนะขีดจำกัดที่ต่างกัน เรายังได้เห็นการฝ่าฟันของตัวละครรอบด้านที่ต่างกัดฟันกับต่างปัญหาและอดทนเก็บความต้องการเพื่อให้เป็นไปตามบรรทัดฐาน ค่านิยมหรือที่สำคัญคือความอยู่รอดของชีวิต ไม่ว่าจะบทบาทของผู้หญิงในฐานะภรรยาที่ต้องละทิ้งความต้องการในชีวิตวัยทำงาน เด็กสาวที่กวดวิชาทุกสถาบันจนไม่มีเวลากินข้าว หัวหน้าครอบครัวที่พับเก็บความฝันเพื่อครองอาชีพที่มั่นคง หรือคุณปู่ด็อกชุนเองที่แม้ในที่สุดจะได้เรียนบัลเลต์ตามที่ตั้งใจก็ยังต้องเจอตัวแปรอื่นนอกเหนือจากความพยายามทั้งความเจ็บป่วยและมุมมองของคนรอบข้างที่คอยบอกว่าไม่เหมาะสม Navillera จึงเป็นหนึ่งซีรีส์ที่คอยส่งแรงฮึด ความหวัง และท้ายที่สุดคือการส่งแรงกระตุ้นให้ผู้ชมได้เข้าไปค้นกล่องความต้องการที่แท้จริงดูอีกครั้งเมื่อมีโอกาส 

“ความจริงฉันไม่ค่อยกลัวการคัดค้านหรอกนะ สิ่งที่ฉันกลัวจริง ๆ คือต้องอยู่ในสภาพที่ต่อให้ฉันอยากทำแต่ก็ทำมันไม่ได้แล้ว ไม่ก็อยู่ในสภาพที่นึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าเคยอยากทำอะไร เพราะฉะนั้นช่วงเวลานี้จึงมีค่ากับฉันมาก ถ้ายังทำได้ ฉันก็จะไม่ลังเล” – ชิมด็อกชุน

  • รับชมได้ทาง Netflix
ซีรีส์เกาหลีฉบับคนมีฝัน

“Monthly Magazine Home”

ความฝันที่จะมีบ้านอุ่นๆ สักหลัง

“ในระหว่างที่กำลังสูญเสียทุกอย่าง ราวกับจะกลายเป็นซากปรักหักพังในชั่วพริบตา

ถึงแม้ทุกวันจะต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางอันตรายที่จะเกิดขึ้น 

ฉันเชื่อว่าสักวันหนึ่ง ที่แห่งนั้นจะมีดอกไม้เบ่งบานอีกครั้ง” – นายองวอน

Monthly Magazine Home ซีรีส์โรแมนติกคอมเมดี ที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านคอยเชื่อมโยงทุกคนเข้าด้วยกัน แต่ละตัวละครอยู่ในทีมนิตยสารเกี่ยวกับบ้านรายเดือนที่ชื่อว่า “นิตยสารประจำบ้าน” นายองวอน (แสดงโดย จองโซมิน) เป็นบรรณาธิการที่กำลังตั้งเป้าหมายเก็บเงินก้อนแรกเพื่อที่จะมีบ้านของตัวเอง ทั้งการทำปฏิทินร้อยวอนเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน หรือพยายามเรียนรู้วิธีจากโค้ชในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีซีอีโออย่าง ยูจาซอง (แสดงโดย คิมจีซอก) ผู้มีชื่อเสียงในวงการลงทุนอสังหาริมทรัพย์เป็นโฮสต์เจ้าของรายการ 

“ฉันหวังว่าบ้านจะเป็นที่ที่สะดวกสบายและอิสระ ทำให้ชีวิตในแต่ละวันก้าวช้าลง…” – นายองวอน

ไม่เพียงแต่เรื่องราววุ่นวายในกองบรรณาธิการที่ต้องดีลกับหัวหน้าอย่างยูจาซองซึ่งมีตัวเองเป็นศูนย์กลางและเห็นความสำคัญแต่สิ่งที่ทำเงินได้ ความน่าสนใจคือคำว่า “บ้าน” ที่แต่ละตัวละครต่างก็มีนิยามของตัวเอง บ้างคือที่พักพิงแสนอุ่นสบาย บ้างคือตัวแทนของความหวังในการสร้างครอบครัว แต่กับบางคนเช่นยูจางซอกที่อยู่ในสถานะมีบ้านกี่หลังก็ได้ บ้านอาจว่างเปล่าและเป็นตัวแทนของเงินที่จะได้มาเท่านั้น ไม่มีความจำเป็นต้องผูกพันอะไร บรรยากาศของเรื่องแม้จะมีความขำขันจากการเถียงกันในที่ทำงานไม่เว้นวัน แต่ในมุมหนึ่งที่น่าติดตามคือพวกเขาต่างก็กำลังแก้ปัญหาและดิ้นรนเพื่อสิ่งที่เรียกว่าบ้านตามรูปแบบชีวิตของตัวเอง 

  • รับชมได้ทาง IQIYI 
ซีรีส์เกาหลีฉบับคนมีฝัน

“Hospital Playlist 2”

ความฝันที่จะประสบความสำเร็จ

“อาจารย์หมอไม่ได้เป็นอาจารย์หมอมาตั้งแต่เกิดเหรอครับ 

อาจารย์หมอเคยเป็นอินเทิร์นที่งี่เง่าไหมครับ” – ยงซอกมิน

“ฉันมีอดีตแย่ ๆ เยอะเลย” – แชซงฮวา 

บทสนทนาของแชซงฮวาศัลยแพทย์ประสาทมือหนึ่ง และยงซอกมินแพทย์เฟลโลว์ที่ตั้งใจกลับมาเรียนรู้การผ่าตัดอีกครั้ง หลังพบว่าตัวเองยังคงขาดทักษะและประสบการณ์ในสนามจริง

แน่นอนว่าในการทำอะไรสักอย่าง เราต้องพยายามหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดเพื่อพยายามทำสิ่งนั้นออกมาให้สมบูรณ์แบบที่สุด จนบางครั้งข้อผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยกลับติดอยู่ในใจจนรู้สึกผิดอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือมากกว่านั้นคือการลงโทษตัวเองด้วยการบอกว่าเราไม่ควรทำสิ่งนั้นอีกต่อไป ในซีรีส์ Hospital Playlist นอกจากมิตรภาพชวนอบอุ่นของเหล่าแพทย์โรงพยาบาลยุลเจ (Yulje) ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ดำเนินไปพร้อมกับเคสผู้ป่วยที่ชวนให้เอาใจช่วยทั้งคุณหมอ คนไข้และผู้ที่อยู่เคียงข้างผู้ป่วยซึ่งกำลังเฝ้ารอด้วยใจหวัง ขณะเดียวกันซีรีส์ยังฉายภาพไปถึงเรื่องราวของสมาชิกคนอื่น ๆ ในโรงพยาบาล โดยเฉพาะน้องใหม่อย่างเหล่าแพทย์อินเทิร์น เช่น คู่แฝดจางยุนบก (แสดงโดย โชอีฮยอน) และ จางฮงโด (แสดงโดย แพฮยอนซอง) ที่ยังคงเก้ ๆ กัง ๆ กับการทำสิ่งต่าง ๆ ครั้งแรก ไปจนถึงเฟลโลว์หรือแพทย์ประจำบ้านต่อยอดอย่าง คยออุล (แสดงโดย ชินฮยอนบิน) ที่แม้จะผ่านประสบการณ์มาไม่น้อยแต่ความประหม่าและข้อผิดพลาดก็ยังเป็นสิ่งที่น่าเจ็บใจจนเผลอตัดสินตัวเองยกใหญ่เช่นกัน 

“ที่เธอมาเป็นเฟลโลว์เนี่ย ก็เพื่อจะเรียนรู้การผ่าตัดให้มากขึ้นและสั่งสมประสบการณ์นี่ 

ต่อไปพอมีประสบการณ์มากขึ้น ฝีมือก็จะดีขึ้นเอง” – อีอิกจุน

ประสบการณ์ครั้งแรกและการฝ่าฟันความยากที่ไต่ระดับขึ้นตามเวลาของชาวยุลเจ จึงเป็นเหมือนสิ่งที่ช่วยสะกิดเตือนให้เราไม่ลืมที่จะให้เวลากับตัวเองได้เรียนรู้ และแม้จะยังใจสั่นกดดันอยู่ สิ่งสำคัญหนึ่งคืออย่าลืมที่จะปลอบประโลมตัวเองอย่างใจดีด้วยว่า “คเวนชานา ชัลดเวล กอยา (ไม่เป็นไรนะ ทุกอย่างจะเรียบร้อย)”

  • รับชมได้ทาง Netflix
ซีรีส์เกาหลีฉบับคนมีฝัน

“Racket Boys” 

ความฝันที่จะไม่พ่ายแพ้

“…ตอนนี้เธอทำได้ดีมากพอแล้ว แล้วก็เป็นคนที่น่าทึ่งมากพอแล้วด้วย

เพราะฉะนั้นคำพูดที่ฉันอยากจะบอกเธอก็คือ…แพ้ก็ไม่เป็นไรนะ ฮันเซยุน

ไม่ได้หมายถึงแค่ครั้งนี้ ต่อไปก็ด้วย” – ยุนแฮกัง

ถ้าเปรียบชีวิตคือการแข่งขันและมีการเดิมพันครั้งใหม่รออยู่เสมอ การมีทีมหรือใครสักคนเดินไปด้วยกัน มีคนคอยซัปพอร์ตกัน อย่างน้อยก็น่าจะทำให้เราไม่ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวเกินไป Racket Boys เป็นซีรีส์ฟีลกู๊ดคอมเมดีเรื่องหนึ่งของปีนี้ที่คอยชวนให้อุ่นใจด้วยมวลความรู้สึกแบบนั้น

เรื่องราวของทีมแบดมินตันโรงเรียนมัธยมต้นแฮนัมซอ นอกจากจะช่วยเติมใจด้วยไฟฮึด ยังฉายให้เห็นความสัมพันธ์และช่องว่างระหว่างชีวิตชนบทกับเมืองกรุง ไปจนถึงช่องว่างระหว่างวัยของโค้ชกับเด็ก ๆ ทีมแบดมินตันด้วย เช่นตอนหนึ่งที่โค้ชยุนฮยอนจง (รับบทโดย คิมซังคยอง) เดินทางไปหาโค้ชอีแจจุน (รับบทโดย พัคแฮซู) หลังเกิดความลังเลใจว่าตัวเองในฐานะโค้ชควรจะทำอย่างไร เมื่อวันหนึ่งทีม Racket Boys โดดซ้อมกันแทบยกทีม 

“เรามักจะบอกกับเด็ก ๆ เสมอนี่…พอพวกนายโตขึ้นก็จะรู้เอง

มันก็ไม่ต่างจากที่เด็ก ๆ บอกว่า…เดี๋ยวครูก็รู้พออายุเท่าเราไม่ใช่เหรอ” – อีแจจุน

คำว่า “สมัยนั้น” “สมัยเรา” และ “เด็กสมัยนี้” อยู่ในบทสนทนาของสองโค้ชที่ยุคหนึ่งพวกเขาก็เคยเป็นดาวรุ่งแบดมินตันกันมาก่อน แต่ทั้งคู่ตระหนักและเข้าใจดีว่าวิธีของยุคสมัยที่ตัวเองเจออาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมหรือเป็นเหตุผลให้ต้องหยิบมาใช้กับเด็ก ๆ เพียงเพราะว่าตัวเองเจอแบบนั้นมาก่อน นอกจากความพยายามในบทบาทของโค้ชทีมกีฬา หลาย ๆ ฉากเราจึงได้เห็นความพยายามเข้าใจในฐานะของผู้ใหญ่ที่อยู่ร่วมกับเด็ก ๆ ด้วย

ในอีกด้านความสัมพันธ์ของทีมแบดมินตันและความสดใสของวัยเยาว์ถือเป็นอีกหนึ่งพลังบวกที่ซีรีส์เรื่องนี้คอยส่งให้ผู้ชมอยู่ไม่ขาด ซึ่งนั่นมีส่วนช่วยเตือนให้เราไม่ลืมที่จะสนุกกับสิ่งที่กำลังทำ ไม่ลืมที่จะมีความสุขไปกับโมเมนต์ของวัยที่กำลังผ่านและไม่ลืมที่จะปล่อยความรู้สึกให้เป็นอิสระเมื่อเรารู้สึก เหมือนที่ยุนแฮกัง (รับบทโดย ทังจุนซัง) กล่าวกับ ฮันเซยุน (รับบทโดย อีแจอิน) ในตอนหนึ่งว่า 

“…ถ้าเธอรู้สึกแย่ ท้อแท้และหงุดหงิด ก็ร้องไห้ออกมาเถอะ

อย่าทนเอาไว้ ทำแบบนั้นได้เลย” 

  • รับชมได้ทาง Netflix

“Lost”

ความฝันที่สักวันจะไม่หลงทาง

“มาคิด ๆ ดูแล้ว หนุ่มสาวก็อ้างว้างอยู่นะ

อ้างว้างโดยไม่มีเหตุผลด้วย แค่ไม่มีใครพูดออกมา” – ชางซุก

Lost ซีรีส์เมโลดรามาที่พาให้เราไปพบกับความอ้างว้างหลายรูปแบบ ความรู้สึกกระอักกระอ่วนแบบจะเศร้าก็ไม่เชิงแต่จะสุขก็ไม่ใช่ เหมือนมีกรดไหลย้อนออกจากหัวใจอย่างที่ อีคังแจ (รับบทโดย รยูจุนยอล) กล่าวเพื่ออธิบายความรู้สึกของตัวเอง 

สำหรับ Lost คล้ายกับการได้อ่านไดอารีที่ถูกปิดไว้ เพราะส่วนใหญ่เรามักได้รับรู้ความรู้สึกของตัวละครผ่านเสียงบรรยายผ่านความหนักอึ้งที่แสดงออกทางแววตา “ขอให้แข็งแรง” “สบายดีก็ดีแล้ว” เรามักได้ยินข้อความเหล่านี้ที่ตัวละครส่งออกไปด้วยความปรารถนาดี แต่ขณะเดียวกันหลายครั้งเราก็มักจะเห็นความกล้ำกลืนของเจ้าตัวที่พูดสิ่งที่อยู่ในใจตัวเองออกไปไม่ได้ในสถานการณ์แห่งความว่างเปล่า

เรื่องดำเนินไปผ่านชีวิตของคนธรรมดาที่กำลังดิ้นรนเพื่อชีวิต อีบูจอง (รับบทโดย จอนโดยอน) แม่บ้านรับจ้าง อดีตนักเขียนเงาวัย 40 ปีที่ผ่านการสูญเสียมายกใหญ่ทั้งอาชีพการงาน ลูกและความเป็นตัวเอง จนความรู้สึกของการ “ไม่ได้เป็นอะไรเลย” ค่อย ๆ ทำลายจนหมดความหวังหรือแม้แต่เหตุผลที่จะมีชีวิต 

“ถึงจะเป็นความสงบที่คงอยู่ไม่นานนัก แต่วันที่เรียกได้ว่าวันดี ๆ เพราะมีที่ให้พักพิง

…คงอยู่ไม่ไกลเกินไป ผมเชื่ออย่างนั้นครับ” – อีคังแจ

ด้วยความบังเอิญอีบูจองได้พบกับ อีคังแจ บาร์โฮสวัย 27 ปีที่ปัจจุบันมีอาชีพเป็นตัวแสดงแทน คอยสวมบทเป็นเพื่อนเป็นครอบครัวหรือใครสักคนที่ไม่มีอยู่ให้ผู้ว่าจ้าง แม้ชีวิตภายนอกอาจดูไม่ได้ทุกข์ร้อน แต่เขาเองก็กำลังหลงทางอยู่ภายในไม่ต่างจากเธอ บทสนทนาและการเจอกันโดยไม่คาดคิดเลยเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทั้งคู่คอยอยู่เพื่อเยียวยาบาดแผลซึ่งกันและกันในความบังเอิญครั้งต่อมา

  • รับชมได้ทาง IQIY

ภาพ : tvN , SBS , JTBC


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ