เรื่องตลก69 เดอะซีรีส์ : วิกฤตที่มากับกล่องเงิน และความตายในฐานะความหมายของชีวิต
Lite

เรื่องตลก69 เดอะซีรีส์ : วิกฤตที่มากับกล่องเงิน และความตายในฐานะความหมายของชีวิต

Focus
  • เรื่องตลก69 เดอะซีรีส์ เป็นการสร้างใหม่จากต้นฉบับภาพยนตร์ดั้งเดิม เรื่องตลก 69 (1999) ซึ่งยังคงได้รับการกำกับและเขียนบทโดยเจ้าของต้นฉบับ เป็นเอก รัตนเรือง
  • ซีรีส์เรื่องนี้เป็นเรื่องระทึกขวัญที่เกิดขึ้นในกรอบเวลา 24 ชั่วโมงของ ตุ้ม ที่รับบทโดย ดาวิกา โฮร์เน่ ตัวละครเอกที่เพิ่งถูกขับออกจากการทำงานประจำในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ พร้อมเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายที่กำลังตามมา

เรื่องตลก69 เดอะซีรีส์ คือการดัดแปลงต่อเติมเรื่องราวจากภาพยนตร์ เรื่องตลก 69 (1999) ที่ว่าด้วยวันหฤโหดแห่งชีวิตอลวนชุลมุนของ ตุ้ม (รับบทโดย ดาวิกา โฮร์เน่) ตัวละครเอกที่เพิ่งถูกขับออกจากการทำงานประจำในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แต่แล้วชีวิตก็ต้องมาเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อเธอเปิดประตูห้องพักมาเจอกล่องบรรจุเงินล้านปริศนา เหมือนโชคชะตาดลบันดาลแต่อะไรที่ไม่ใช่ของเราย่อมไม่ใช่ของเรา เหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายแอ็กชันระทึกขวัญจึงเกิดขึ้นตามมาจนยากที่จะสรุปได้ว่าเงินในกล่องนั้นควรจะเป็นของใคร?

เรื่องย่อดุจดั่งภาพยนตร์ระทึกขวัญทั่วไปที่มักจะมีเรื่องราวโจรกรรมซับซ้อนของคนหลายกลุ่มอย่างที่โลกภาพยนตร์ผลิตออกมาจำนวนมาก แต่ เรื่องตลก 69 เรื่องนี้ก็ยังมีความน่าสนใจจากวิสัยทัศน์ของผู้กำกับขวัญใจเด็กแนว เป็นเอก รัตนเรือง ที่เนรมิตเหตุการณ์บ้าคลั่งตลกร้ายของห้อง 6 (ที่เลขห้องหลวมจนตกมาเป็นเลข 9) ให้มีสีสัน สนุกสนาน และในครั้งนี้เขาก็ได้กลับมารับหน้าที่เขียนบทและกำกับด้วยตัวเองอีกเช่นเคย ถือเป็นการสร้างสรรค์สิ่งที่ตัวเองเคยทำจนประสบความสำเร็จมาแล้วในฉบับภาพยนตร์ให้ดุเดือดยิ่งขึ้นในเวอร์ชันซีรีส์ที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น และแน่นอนว่าเป็นเอกยังได้ดาราแห่งยุคมารับบท ตุ้ม จากเดิมผู้ที่รับบทคือ ลลิตา ปัญโญภาส ซึ่งใน พ.ศ. นั้นเธอคือดาราดังซุปตาร์ ส่วน พ.ศ. นี้ ตุ้ม ก็ยังคงเป็นดาราสกาวแสงแห่งยุค ดาวิกา โฮร์เน่ กับบทท้าทายที่ต้องแบกรับอุปสรรคชีวิตซึ่งมาพร้อมเงินล้านในเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อจะผ่านวันคืนที่โหดร้ายนี้ไปให้ได้

เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์

ประกัน วิกฤต และ ชั่วโมงเร่งด่วน

เรื่องย่อของ เรื่องตลก69 เดอะซีรีส์ คือการที่ตุ้มเจอกล่องเงินปริศนาซึ่งที่แท้คือเงินนอกกฎหมายของเจ้าของค่ายมวย แต่เมื่อตุ้มที่มีฐานะมนุษย์เงินเดือนตกงานและประสบวิกฤตการเงินส่วนบุคคลขั้นสุดได้เห็นเงินล้านต่อหน้าต่อตา เธอจึงตัดสินใจหยิบกล่องเงินนั้นและวางแผนชิงมาเป็นของตนให้ได้ ทำให้ทั้ง ตุ้ม คนของค่ายมวย และผู้ที่จะต้องรับเงินจากค่ายมวย (แต่ถูกตุ้มชิงไปก่อน) ทั้งสามผู้ที่เกี่ยวข้องกับเงินก้อนนี้ต้องมาชุลมุนวุ่นวายฉกชิงเงินล้านให้ได้ เพราะสำหรับ ตุ้ม พนักงานบริษัทประกันที่ชีวิตไม่มีทุนสำรองหรือฟูกให้ล้มอย่างปลอดภัยหรือสิ่งใดมา ประกัน ชีวิตตนเอง การเสี่ยงลักเงินครั้งนี้จึงสำคัญต่อชีวิตที่เหลือของเธออย่างมาก แต่ในระบบที่อะไรที่ไม่ใช่ของเรามักก็จะไม่ใช่ของเรา ทำให้เกิด วิกฤต ชิงเงินอย่างเอาเป็นเอาตายยืดเยื้อถึง 24 ชั่วโมงต่อเนื่อง จนทำให้ทุกคนทุกฝ่ายในเรื่องใช้ชีวิตอยู่ใน ชั่วโมงเร่งด่วน (rush hours) เสมือนเหตุการณ์มากมายถาโถมร่วมเวลาเดียวกันจนเกิดโหมดเอาชีวิตรอดและจู่โจมฝ่ายตรงข้ามดุจสัตว์ร้ายผู้หิวโหย

ซีรีส์ชุดนี้ได้แสดงให้เห็นโลกของทุนนิยมที่ล้มเหลวในการแบกรับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคม กล่าวได้คือการคลี่คลายประเด็นนี้ผ่านเรื่องของตุ้มในฐานะพนักงานของบริษัทขายประกันที่ถูกขับออกด้วยวิธีเสี่ยงดวงเขย่าเซียมซี หากใครได้เลขที่กำหนดไว้ต้องออกจากบริษัท แม้ตุ้มจะเคยเป็นพนักงานขายดีเด่นระดับได้รับประกาศนียบัตรจากบริษัทก็ตาม นี่คือฉากเปิดเรื่องที่สำคัญเพราะเป็นการเปิดตัวโลกของตุ้มและทำให้เห็นว่าปฐมบทแห่งความวินาศสันตะโรของทั้งเรื่องเกิดขึ้นจากจุดนี้

ในฉากของตอนแรกของเรื่องแสดงให้เห็นถึง ระบบทุนนิยม ที่ประกอบไปด้วยอุดมการณ์แบบ เสรีนิยมใหม่ กล่าวสรุปคือ เป็นระบบทางเศรษฐกิจที่ปฏิเสธความคิดแบบสังคมนิยม ทุนนิยมเชื่อว่าระบบเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนได้ด้วยนายทุนเป็นผู้กระจายทรัพยากร เช่นเดียวกับการที่หัวหน้าฝ่ายบริษัทใช้วิจารณญาณตลกร้ายให้พนักงานเสี่ยงเซียมซีกันหาคนออก อย่างที่ไม่พิจารณาความเป็นเหตุเป็นผล ฝีมือแรงงาน ความยุติธรรมกับชีวิตแรงงาน นี่คือความโหดร้ายของระบบที่มอบอำนาจไว้ให้บุคคลอย่างไร้เหตุไร้ผล และขัดต่อหลักปรัชญาประชาธิปไตยที่มักต้องวางอยู่บนเหตุผลของมวลรวมทางสังคม ทุนนิยมจึงเป็นเผด็จการซ่อนรูปที่ในท้ายที่สุดสามารถใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจและเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลอย่างไม่ต้องมีคำอธิบาย เพียงเพราะเป็นระบบที่อำนาจในการจัดการอยู่ที่นายทุน ใครเป็น “นาย” ผู้นั้นย่อมได้อำนาจไม่ต่างจากระบบศักดินา

การที่ เรื่องตลก69 เดอะซีรีส์ เลือกใช้ “บริษัทประกัน” เป็นตัวเปิดเรื่องก็เป็นอีกความน่าสนใจ เพราะ การประกัน เป็นสินค้าสำคัญในระบบทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่ เมื่อการเลือกระบบเศรษฐกิจแบบนี้ก็เท่ากับอยู่คนละพื้นที่ทางการบริหารทรัพยากรแบบสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ที่เชื่อในความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการถือครองทรัพย์สินอย่างเท่าเทียมชอบธรรม ในระบบตลาดแบบเสรีนิยมใหม่สร้างมายาภาพแห่งความเท่าเทียมทางการแข่งขันเพื่อให้ผู้คนเชื่อว่ากำลังอยู่ในตลาดที่เป็นธรรม ซึ่งในท้ายที่สุดนายทุนก็มีอำนาจเทียบศักดินา ซึ่งในระบบนี้ลวงตาว่าประชาชนจะมีเสรีภาพมากกว่าในระบบที่ยึดถือแนวทางสังคมนิยมที่รัฐต้องคุ้มครองประชากร ความเชื่อแบบเสรีนิยมใหม่จึงนำเสนอภาพเสรีภาพของบุคคลพร้อมกับการที่รัฐไม่ต้องรับผิดชอบคุ้มครองประชาชนไปพร้อมกัน ในรัฐทุนนิยมเฟื่องฟูจึงมักไม่มีสวัสดิการแห่งรัฐที่มีประสิทธิภาพการประกันตนโดยการ “ซื้อประกัน” จึงเป็นความปลอดภัยแบบหนึ่งในโลกที่อาศัยวิกฤตตลอดเวลาอย่างโลกทุนนิยม

กล่าวโดยสรุปได้ว่าในทุนนิยมที่มักมาพร้อมกับระบบเสรีนิยมใหม่ เสรีภาพมาพร้อมกับการรับผิดชอบตนเองนี่คือราคาที่ต้องจ่ายเมื่ออยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบนี้ประกันจึงเปรียบเสมือน “ปัจจัยพื้นฐาน” ที่หากในระบบสังคมนิยมรัฐจะมอบสิ่งนี้เป็นพื้นฐาน แต่ในทุนนิยมทุกอย่างต้องผ่านการซื้อขาย ปัจจัยพื้นฐานทางชีวิตจึงเป็นสินค้าเหมือนทุกสิ่ง รวมกระทั่งชีวิตของผู้คนก็เป็นสินค้าที่บริษัทซื้อมาเป็นองคาพยพในฐานะลูกจ้างเพื่อสร้างกำไรและปลดทิ้งเมื่อไม่มีความจำเป็นอย่างไม่ต้องสนใจชีวิตคน การเสี่ยงเซียมซีปลดคนออกโดยไม่สนใจว่าใครเดือดร้อนอย่างไรบ้างหรือเปล่าจึงแสดงให้เห็นถึงระบบที่มอบมุมมองการเห็นมนุษย์เป็นสินค้าและบริการมากกว่ามนุษย์ที่มีความรู้สึก มีชีวิตจิตใจ

วิกฤตเป็นปัจจัยกระตุ้นตลาดแบบหนึ่งในระบบดังกล่าว ซึ่งใน เรื่องตลก69 เดอะซีรีส์ ได้ฉายให้เห็นอย่างชัดเจนถึงชีวิตตุ้มในวิกฤตตลอด 24 ชั่วโมงของเรื่อง ตุ้มต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตหนีตาย ต่อสู้ ดิ้นรนเพื่อที่จะมี “ชีวิต” ความสำคัญและความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและสังคมนิยมต่างกันตรงการทำงานของสิ่งที่เราเรียกว่า “วิกฤต” ในสังคมนิยมที่มีแนวคิดว่าสังคมเป็นเจ้าของและร่วมขับเคลื่อนทุกสิ่งในทางเศรษฐกิจและรัฐต้องคุ้มครองประชาชนของตนคือแนวคิดที่ต้องการความปลอดภัย เพราะระบบสังคมนิยมจะไม่ปล่อยให้นายทุนหรือเอกชนมีที่ทางในการจัดการทรัพยากรตามอำเภอใจแบบทุนนิยม ในทุนนิยมวิกฤตเป็นปัจจัยสำคัญของระบบ เพราะนายทุนต้องสร้างความไม่ปลอดภัยและไม่สมบูรณ์เพื่อกระตุ้นเร้าให้เกิดการซื้อขายในตลาดหมุนวนไปตลอดกาล การซื้อขายประกันก็เกิดขึ้นจากแนวคิดว่าชีวิตไม่ปลอดภัย เช่นในฉากโฆษณาขายประกันในเรื่องนี้ที่แสดงให้เห็นว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดไม่ว่าคุณจะดวงดีแค่ไหน

เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์

ดังนั้นการสร้างวิกฤตจึงสำคัญอย่างยิ่งในระบบทุนนิยมและความปลอดภัยก็กลายเป็นภัยของระบบไปพร้อมกัน ใน เรื่องตลก69 เดอะซีรีส์ จึงเป็นเรื่องที่หมกมุ่นอยู่ในประเด็นวิกฤตทั้งฉบับภาพยนตร์ต้นฉบับและฉบับซีรีส์ที่ตัวละครประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจจนไปถึงวิกฤตชีวิตในมุมต่างๆ โดนมี ตุ้ม เป็นตัวละครเอกที่ขับเคลื่อนด้วยวิกฤต และในฉบับซีรีส์ก็ได้ขยายประเด็นนี้โดยการให้เกือบทุกตัวละครต้องเผชิญวิกฤตของตนเองราวกับชีวิตนี้ “เมื่อมีวิกฤต ฉันจึงมีอยู่” ยกตัวอย่างเช่น ฉากที่ตุ้มซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต ทีแรกเธอหยิบเนื้อ ไวน์ และอื่นๆ แต่พอมาถึงจุดคิดเงินเธอระลึกได้ว่าเธอตกงานจึงต้องเปลี่ยนสินค้าเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับน้ำเปล่า ฉากนี้แสดงให้เห็นถึงสำนึกว่าชีวิตกำลังเข้าสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจจนต้องลดคุณภาพของสินค้าสำหรับบริโภคจากเนื้อสัตว์สดเป็นกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งแน่นอนว่าคุณภาพอาหารก็จะสะท้อนวิกฤตทางสุขภาพตุ้มในอนาคตต่อเนื่องไป และหากตุ้มไม่ได้ซื้อประกันไว้ ชีวิตของเธอก็จะวิกฤตแน่ถ้ายังต้องบริโภคของเหล่านี้ ฉากนี้สะท้อนให้เห็นว่าคุณภาพชีวิตวิกฤตได้ถ้าคุณไม่มีเงินในกลไกตลาดเสรีนิยมใหม่ และแน่นอนว่าผู้ชมก็จะเห็นต่อเนื่องจากการชมว่าตุ้มก็เข้าสู่วิกฤตใหญ่สุดโกลาหล เพราะเธอต้องการเงิน

ตลอด 1 วัน 24 ชั่วโมงของเรื่องนี้ดำเนินอย่างรวดเร็วในซีรีส์ที่มีหกตอนฉายภาพให้เห็นความเร่งรีบที่ทุกฝ่ายจะชิงเงินก้อนนี้กลับมาจนทำให้ทุกคนเสมือนอยู่ใน ชั่วโมงเร่งด่วนอย่างไม่มีจุดพักหายใจ หากสังเกตถึงโทรทัศน์ในซีรีส์เรื่องนี้แทบทุกครั้งที่กล้องหันไปจับภาพหรือไมค์ได้ยินเสียงจากโทรทัศน์ในแทบทุกสถานที่จะเป็นข่าวสารการชุมนุมของราษฎรที่กำลังเรียกร้องข้อเสนอและขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ และที่สำคัญคือภาพยนตร์ฉายให้เห็นภาพว่าในทุกวันละครไม่มีใครสนใจข่าวที่อยู่ในโทรทัศน์ของทุกฉากที่ปรากฏขึ้นเลยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะระหว่างที่โทรทัศน์กำลังฉายภาพการชุมนุมครั้งใหญ่ของประชาชนไทยขับไล่รัฐบาลที่มาจากอำนาจเผด็จการอย่างแข็งขัน ตัวละครทุกตัวใน เรื่องตลก69 เดอะซีรีส์ ก็กำลังใช้ชีวิตบนอัตราเร่งทางเวลาแบบ ชั่วโมงเร่งด่วน

เปรียบ ชั่วโมงเร่งด่วน คือการบีบรัดมโนทัศน์ทางเวลาที่สัมพัทธ์กับเหตุการณ์จนการรับรู้เวลาของมนุษย์เกิดความรู้สึกกับเวลา อธิบายโดยง่ายระหว่างฉากที่ตุ้มรอแจ้งความตำรวจทั้งที่จริงๆ เธอนั่งรอคิวสักครู่เดียว เพราะผู้ชมจะเห็นได้อยู่ว่ามันไม่มีคิวอื่นแล้ว แต่ตุ้มก็ไม่รอ เพราะเกิดคิดอะไรขึ้นมาได้จากกาลเวลาที่มีช่องว่างของการรอทำให้เหมือนกับว่ามัน “นาน” ซึ่งหากนำไปเทียบกับการหลบหนีหรือการไล่ยิงกันก็จะพบว่าฉากเหล่านั้นรวดเร็ว เพราะการเสี่ยงตายทำให้ชีวิตอยู่ใน ชั่วโมงเร่งด่วน ไม่สามารถถ่างเวลาหาช่องว่างที่จะคิดทบทวนไตร่ตรองอะไรได้ ฉากฆ่าสังหารในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมักแสดงเวลาที่รวดเร็วอีกทั้งแทบทั้งเรื่องของการไล่ล่าก็จะพบว่าซีรีส์ทั้ง 6 ตอนคือการย่นระยะ 24 ชั่วโมงของตัวละครให้เห็นเพียงเวลาที่สำคัญของเนื้อหาทำให้เวลาที่เราได้รับชมล้วนเป็นการข้ามช่วงที่ไม่สำคัญสำหรับเนื้อหาทำให้ผู้ชมเห็นว่าเวลาในเรื่องสร้างอารมณ์ความรู้สึกระทึกขวัญตลอดเวลา เพราะมันคือการนำเรื่องระทึกของเหล่าตัวละครมาเรียงกันอย่างลบช่องว่างทางเวลาที่ไม่ระทึกซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทิ้งไป ซึ่งกลวิธีทางภาพยนตร์ระทึกขวัญนี้แสดงให้ผู้ชมเห็นว่าเหล่าตัวละครอยู่ในชั่วโมงเร่งด่วนตลอดเวลาจนไม่มีช่องว่างทบทวนเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นขนานไปได้อย่างละเอียด และทำให้การเมืองในโทรทัศน์ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาและเธอในวันนี้ของเรื่อง

เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์

ชั่วโมงเร่งด่วน จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ประชาชนห่างไกลจากความรู้สึกทางการเมือง และเป็นเครื่องมือของทุนนิยมที่ใช้ลดการต่อต้านของประชาชนลง ทุนนิยมมีการจัดการเวลาว่าเวลาไหนทำงาน เวลาไหนพักผ่อน อย่างเป็นแบบแผนหรือที่มักถูกเรียกว่า 8×3 คือการหั่นห้วงเวลา 8 ชั่วโมงเป็น 3 ส่วน ได้แก่ เวลาทำงาน เวลาส่วนตัว และเวลาพักผ่อน แต่ในโลกที่เศรษฐกิจบีบรัดขึ้นอย่างในปัจจุบันเร่งเร้าให้เกิดการผลิตในกระแสที่เรียกว่า “productive” เวลาส่วนตัว 8 ชั่วโมงจึงมักกลายไปเป็นเวลาพัฒนาตัวเอง (ซึ่งคือพัฒนาในฐานะแรงงาน แบบที่นายทุนไม่เสียค่าใช้จ่ายให้แรงงาน) หรือเพิ่มพูลทักษะต่างๆ (ซึ่งก็เพื่อการทำงาน) จึงทำให้เสมือนว่าทั้งวันของแรงงานในระบบขูดรีดต้องสละเวลาทั้งหมดไปเพื่อการเอาชีวิตให้รอดในระบบนี้ ภาพสะท้อนนี้แสดงให้เห็นว่าหากมีสิ่งใดรีดเค้นรุกล้ำเวลาของมนุษย์เข้ามาได้ก็จะทำให้แนวคิดบางอย่างหายไป เพราะสิ่งนั้นเข้ามาเป็นความเป็นความตายแทนที่ เช่น การที่ตุ้มต้องฝ่าอุปสรรคมากมายทั้ง 24 ชั่วโมงอย่างไม่สนใจการเมืองภาพใหญ่ เพราะตุ้มพินิจแล้วว่าต้องผ่านวันนี้ของเธอไปให้ได้เพื่อที่จะมีชีวิตต่อ ตุ้มเปรียบเสมือนแรงงานปากกัดตีนถีบที่ใช้เวลาทั้งวันในการรอดไปใช้ชีวิตพรุ่งนี้วนไป ไม่เหลือช่องว่างให้เธอไปใช้เวลากับการต่อสู้ภาพใหญ่เพื่อเดือน วัน ปี ที่เหลือแบบในการชุมนุมที่ชุมนุมเพื่ออนาคต กล่าวคือโหมดของชั่วโมงเร่งด่วนมักจะทำให้ทัศนวิสัยของมนุษย์เป็นดวงตาที่เห็นเพียงอนาคตระยะสั้นด้วยการอัดเร่งเหตุการณ์เอาชีวิตรอดในระยะสั้นมาบีบให้ไม่สามารถมีทรัพยากรไปร่วมต่อสู้เพื่ออนาคตระยะยาว และการทำให้ ชั่วโมงเร่งด่วน ไปสู่โหมดเอาชีวิตรอดยิ่งทำให้ตุ้มยิ่งต้องใช้พลังงานทั้งหมดในทุกทางที่เธอมีต่อสู้กับทุกชั่วโมงแห่งความระทึกจนหมดพลัง

ในซีรีส์เรื่องนี้ทำให้เห็นชัดว่าตุ้มเสียพลังไปกับการทำงานและเกมชิงเงินจนไม่ได้ไปร่วมชุมนุมทั้งที่เธอคือผู้สนับสนุนการชุมนุม สังเกตได้จากโปสต์การ์ดรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกำแพงห้องของเธอซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์เรียกร้องประชาธิปไตยที่ผู้ชุมนุมร่วมกันใช้สื่อสารต้านเผด็จการ หากตุ้มไม่ถูกบีบรัดด้วยชั่วโมงเร่งด่วนเธออาจคือหนึ่งในกำลังสำคัญของการเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ได้ ซึ่งในซีรีส์ตลกร้ายเรื่องนี้ย้ำคุณภาพชีวิตผ่านคำถามที่ตัวละครต่างๆ ถามตุ้มช่วงต้นเรื่องว่ามีงานทำไหมและเข้าใจว่าตุ้มมีงานทำอยู่จึงพูดกับตุ้มว่า “ดีที่ยังมีงานทำ” คำนี้นำไปสู่คำถามว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มี “งาน” จริงหรือการดำรงอยู่ของมนุษย์ในสังคมนี้ถือว่าเป็นวิถีที่ดีแล้ว หรือคำนี้เป็นเสียงสะท้อนของชีวิตที่คับแคบและทางเลือกน้อยเต็มทนของชีวิตในฐานะแรงงานอย่างไม่มีมิติอื่น ซึ่งแน่นอนว่าทุนนิยมที่มีวิกฤตเป็นศูนย์กลางย่อมสร้างความคิดเช่นนี้ เพราะการเป็นมนุษย์ในฐานะสัตว์ย่อมมีความกลัวอดตายการใช้ “งาน” เป็นหลักประกันยึดทรัพยากรไว้กับระบบก็จะควบคุมผู้คนด้วยเหตุผลพื้นฐานเช่นนี้ได้ งานที่แท้จริงจึงไม่ใช่ความหมายของงาน แต่สำหรับแรงงานมันคือปัจจัยขั้นพื้นฐานที่อยู่หลังจากนั้น

กล่าวได้ว่า ชีวิตที่ไม่ได้รับการประกันว่าจะปลอดภัยย่อมดำเนินด้วยวิกฤต และเมื่อวิกฤตทับซ้อนกันมันก็จะทำให้ชีวิตเป็นเรื่องเร่งด่วนจนทำให้เรื่องสำคัญอีกมากมายหายไปจากการบังคับให้ทัศนวิสัยของมนุษย์แคบลงเหลือเพียงการเอาชีวิตรอดวันต่อวันซึ่งสิ่งนี้คือสิ่งที่ตลาดเสรีในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมแบบเสรีนิยมใหม่มอบให้ประชาชนในโลกสมัยใหม่หลายรัฐ รวมทั้งประเทศไทยที่กำลังประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำอันดับต้นของโลกใบนี้ สิ่งที่น่าตลกร้ายคือเราได้รับรู้เรื่องนี้แบบ “เสียเงิน” ด้วยการดูมันผ่านซีรีส์ตลกร้ายด้วยบริการรับชมภาพยนตร์ที่เก็บเงินผู้ชมมากกว่ารายได้ขั้นต่ำต่อวันในประเทศ ทั้งที่จริงๆ เรื่องพวกนี้คุณแค่เดินออกไปหน้าบ้านก็สามารถรับรู้ได้ถึงปัญหานี้เช่นกัน

เรื่องตลก 69 เดอะซีรีส์

ความตายในเรื่องตลกกับความหมายของชีวิต

ในซีรีส์เรื่องนี้มีอีกหนึ่งสถานการณ์ที่น่าสนใจคือฉากโลกหลังความตาย เป็นฉากที่หากตัวละครไหนตายไปจะไปโผล่บนรถตู้ที่มีผู้ขับขี่และพนักงานแต่งชุดขาวขับรถนำไปส่งในห้องที่มี หญิงชุดขาว พนักงานหน้าคอมพิวเตอร์ผู้มีหน้าที่สอบถามชื่อ ตรวจประวัติการตายและกดลบวิญญาณที่ตายแล้วให้หายไป ฉากโลกหลังความตายนี้ปรากฏต่อหน้าผู้ชมซ้ำๆ ทำอะไรเดิมๆ แบบระบบราชการที่เราจะต้องประสบพบเจอความเฉื่อยชา ผู้คนแต่งกายคล้ายเครื่องแบบเดียวกันและเจ้าหน้าที่ที่เฉยชาจากการทำงานซ้ำๆ ตลอดทั้งวัน ความตายในเรื่องนี้จึงแสดงให้เห็นความรู้เกี่ยวกับความตายในฐานะระบบหนึ่งที่รัฐหรือโครงสร้างมหภาคที่ครอบการมีอยู่ของมนุษย์และทำให้ความตายเป็นเรื่องขั้นตอนของการมีอยู่คล้ายกับการทำบัตรประชาชนหรือการติดต่อกับราชการ

ซึ่งหากไตร่ตรองดีๆ การตายในภาพยนตร์นี้มีนัยอยู่ระหว่างการไปสู่ความว่างเปล่าตามคติความเชื่อเรื่อง ความว่างแบบเซ็น กับความคิดเกี่ยวกับ ความไร้ความหมาย (absurdism) ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนมุมมองของการมีอยู่ของชีวิตในฐานะชีวิตที่ตั้งอยู่และมีเสรีภาพไปในโลกที่ไร้ความหมาย คล้องกับแนวคิดปรัชญาแบบ อัตถิภาวนิยม (existentialism) ที่มักใคร่ครวญถึงเจตจำนงเสรีไปพร้อมกับการมองโลกเชิงสังคมว่าเป็นโลกทัศน์ที่เต็มไปด้วยระเบียบทางวัฒนธรรมจนบางครั้งระเบียบนั้นๆ สมควรได้รับการตั้งคำถามเคียงคู่กับการมีอยู่ของมนุษย์ที่เป็นปัจเจกว่าแท้จริงแล้วจิตวิญญาณของมนุษย์ที่เป็นเสรีพ้นจากกรอบต่างๆ ดำรงอยู่ข้างในตัวมนุษย์ขนาดไหน ซึ่งโลกทัศน์ทางปรัชญานี้เราจะได้เห็นผ่านตัวละคร ตุ้ม ที่เดิมทีเธอเป็นพนักงานบริษัทประกันดีเด่นแปลว่าเธอคือคนที่ตั้งใจทำงานเป็นชีวิต

ต่อมาเมื่อเธอถูกขับออกด้วยเซียมซีซึ่งเป็นระบบสุ่มอย่างไร้เหตุผลจึงเป็นจุดตั้งต้นของการมองโลกในฐานะความไร้แก่นสาร หลังจากเหตุการณ์ขับออกเธอกลับมาห้องพักและต่อมาก็ได้มีกล่องเงินปริศนาปรากฏหน้าห้อง ทีแรกที่เธอพบ เธอได้คิดว่ามันไม่ใช่ของเธอ ตุ้มจึงนำกลับไปวางหน้าห้องเช่นเดิมด้วยสำนึกว่านั้นคือของของผู้อื่น จนมีตัวละครในหอพักเดียวกันเดินมาบอกว่ากล่องพัสดุหน้าห้องตุ้มไม่ใช่ของตุ้มหรือ? ตุ้มจึงรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของกล่องที่ตนพบ จากกล่องในฐานะ “สิ่งของที่ไม่ใช่ของเรา” จึงกลายเป็นกล่อง “ฟ้าประทาน” (godsend) ที่ตุ้มเพิ่งจะเข้าใจว่ามันคือดวงดี “ของตนเอง” ในแบบความคิดการสุ่มดวงของเซียมซีขับออกจึงมอบความรู้เรื่องดวงฟ้าประทานให้แก่ตุ้มด้วย และหลังจากนั้นตุ้มก็ได้เรียนรู้ความไร้แก่นสารจากการหลบเลี่ยงและเหตุบังเอิญอีกมากมายในเรื่องนี้ที่นอกเหนือไปจากตรรกะการคาดเดาได้

ในส่วนนี้ซีรีส์ได้นำเสนอตุ้มในชีวิตที่ไร้แก่นสารหาสาระเหตุผลใดๆ ไม่ได้ เงินมาจากไหน? ผู้ไล่ล่าคือใคร? เงินสีเทาใช่หรือไม่ ในส่วนนี้ผู้ชมรู้ แต่ตุ้มไม่รู้ ดังนั้นแนวคิดเกี่ยวกับศีลธรรมที่จะมานั่งครุ่นคิดว่าอะไรคือดี อะไรคือถูก ไม่ปรากฏในซีรีส์ชุดนี้ เพราะทุกตัวละครไม่เพียงแค่ตุ้มต่างมีอยู่ในโลกทัศน์ของตนเองที่ไม่ใคร่ครวญถึง ความจริง ทั้งเชิงสังคมหรือวัฒนธรรมอะไรทั้งสิ้น เช่นตัวละครผู้ทวงเงินจากค่ายมวย เขาก็มีหน้าที่เพียงมาทวงเงิน ตำรวจก็มีเจตจำนงในการล่าผู้ร้ายเพื่อเลื่อนขั้น และเพื่อที่จะเลื่อนขั้นจึงไม่ต้องการให้สำนักงานตำรวจมาแย่งผลงาน ส่วนมาเฟียเองก็มีหน้าที่ส่งของผิดกฎหมาย ในเรื่องนี้ทุกคนเดินตามเสรีภาพของตัวเองในทางเลือกแบบที่ตนเชื่อ และในขั้นตอนการปฏิบัติจะเห็นถึงความไม่เป็นเหตุเป็นผลเช่นฉากตลกๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้มากมาย ทั้งฉากที่ตัวละครที่อยู่ในคนละภารกิจมาเจอกันและยิงกันเพราะเข้าใจผิด ฉากตำรวจกับโจรยิงกันตายโหงทั้งห้องในแบบไม่รู้ใครยิงใคร หรือฉากที่ย้ำให้เห็นว่าโลกของเรื่องมันไร้เหตุผลคือฉากที่มีตัวละครช่วยเหลือหญิงชุดขาวในโลกหลังความตายและได้รับพรแลกมา เขาขอพรว่า “ขอมีชีวิตอยู่ถึงบอลไทยได้ไปบอลโลก” ซึ่งเป็นมุกตลกและแสดงให้เห็นถึงตรรกะที่ตัวละครนี้ไม่ได้จดจ่อกับภารกิจไล่ล่าซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของเรื่องนี้เท่าไร การมีอยู่ของตัวละครในเรื่องนี้จึงดำรงอยู่อย่างไร้แก่นสารท่ามกลางโลกที่ไร้เหตุผลและทุกสิ่งเกิดขึ้นได้ในระบบสุ่ม และทุกตัวละครมีเสรีภาพในการตัดสินใจไม่ว่าจะบ้าบอแค่ไหนเช่น การติดต่อส่งยาเสพติดผ่านโทรศัพท์สาธารณะแบบตู้ แต่ตู้อยู่หน้าห้องของตนเองซึ่งหากคิดแล้วอย่างไรคุณก็ต้องสงสัยเชิงกฎหมายหากตำรวจสอบสวน แต่คุณขอแค่ไม่ใช่มือถือของคุณก็พอ การกระทำแบบนี้เป็นการกระทำแบบทำไปไร้การคาดผลและไร้แก่นสาร แต่ก็ยืนยันเสรีภาพทางความคิดแบบไม่ผูกติดกับความเป็นไปได้ที่คุณไม่ได้คิดคำนึง

ในท้ายที่สุดทุกตัวละครที่ตายเมื่อตกสู่โลกหลังความตายที่จะต้องหายไปนอกจากการย้ำว่า ชีวิตเป็นเรื่องว่างเปล่าและไร้เหตุผล รวมทั้งไม่มีระบบทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ทุกสิ่งล้วนเป็นแค่การทำในความคิดปรัชญาอัตถิภาวนิยมแล้วสิ่งนี้ก็จะสามารถทำให้คิดย้อนไปในส่วนที่ว่า ทุกสิ่งล้วนเป็นแค่การทำที่ไม่ต้องคำนึงถึงศีลธรรม ทำให้ผู้ชมได้ย้อนคำถามกลับสู่โลกก่อนความตายว่า หากหลังความตายคือความว่างเปล่า ไม่มีนรกสวรรค์พิพากษา การอยู่ในโลกก่อนความตายจึงต้องคิดอย่างยิ่งว่า อะไรคือชีวิตที่ดี? เพราะไม่มีสวรรค์ดีๆ ให้คุณอยู่โลกก่อนความตายจึงสำคัญยิ่ง และซีรีส์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอีกโลกที่ใช้ฟุตเทจข่าวจริงมาผสมนั้นคือข่าวการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในโทรทัศน์ที่เหล่าตัวละคร เรื่องตลก69 เดอะซีรีส์ ไม่สนใจนี่แหละ ในจอข่าวคือโลกจริง โลกของผู้ชม โลกที่ไม่คำนึงถึงหลังความตาย มันคือโลกที่ต้องการสร้างสรรค์ให้ชีวิตดีขึ้นในโลกนี้แบบไม่มีโลกหน้า ซึ่งแนวคิดนี้ก็คล้องกับวรรคทองของการต่อสู้ประชาธิปไตยที่ทุกคนต่อสู้กับเผด็จการตอนนี้เพราะต้องการ “ให้มันจบที่รุ่นเรา”

กล่าวได้ว่า เรื่องตลก69 เดอะซีรีส์ คือภาพยนตร์ชุดที่คลี่คลายให้เห็นถึงความหมายของสังคมในยุคสมัยปัจจุบันที่ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูง นายทุนผูกขาดไม่เพียงทรัพยากร แต่ผูกขาดยันความหมายของชีวิตผ่านการ ประกัน ว่าหากเป็นแรงงานในระบบจะมีความมั่นคง ซึ่งแท้จริงแล้วเอกสิทธิ์ทางอำนาจก็อยู่ที่นายทุนอย่างมั่นคงโดยแรงงานก็สั่นคลอนอยู่ดี ในโลกแบบนี้แหละคือโลกที่ต้องมีบริษัทขายประกัน เพราะเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ย่อมอยู่ได้ผ่านกลไกเสมือนว่ามีเสรีภาพทางตลาดซึ่งการกระตุ้นตลาดก็ย่อมต้องสร้าง วิกฤต เพื่อกระตุ้นให้มีความจำเป็นต้องหมุนวนทรัพยากรดังเราจะได้เห็นวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำๆ ตั้งแต่โลกอยู่ในระบบทุนนิยมอย่างต่อเนื่อง

เรื่องตลก 69 ทั้งสองฉบับต่างก็ตั้งตัวเองอยู่บนเรื่องระทึกที่เกิดขึ้นในยุควิกฤตเศรษฐกิจ สิ่งนี้บดบังทัศนวิสัยเรื่องชีวิต เพราะมนุษย์ในฐานะสัตว์ถูกบีบให้เห็นเพียงการเอาชีวิตรอดเบื้องหน้าจากการที่ไม่มีทรัพยากรมากพอที่จะต่อรองทำให้เกิด ชั่วโมงเร่งด่วน ทางชีวิต ปากกัดตีนถีบวันต่อวัน ทำให้การไตร่ตรองเรื่องใหญ่อย่างความหมายชีวิตกลายเป็นความคิดที่ฟุ่มเฟือยหรือค่อยไปคิดหลังจากตายไปแล้วในระบบทุนนิยมก็ได้ เพราะในระบบนี้มนุษย์เป็นเพียงแรงงานแก่นายทุนไม่มีความหมายมากไปกว่านั้น และนี่แหละคือเหตุผลว่า ทำไมการต่อสู้ของประชาชนในโทรทัศน์ของเรื่องจึงสำคัญ ทำไมการโค่นเผด็จการ นายทุน ขุนศึก ศักดินา ซึ่งเป็นคำกล่าวในการชุมนุมปัจจุบันถึงสำคัญและเป็นการกระทำเพื่อชีวิตตอนนี้ที่มีอยู่ ไม่ใช่คาดหวังหาสวรรค์วิมานหลังความตาย เป็นเหตุผลที่ทุกคนควรลุกขึ้นสู้และปิดฉากระบบที่ทำลายความหมายชีวิตที่หลากหลายให้มันจบที่รุ่นเรา เพื่อสถาปนาการมีชีวิตในความหมายตามเสรีภาพของตนทุกคนอันหลากหลายขึ้นมาใหม่ ซึ่งในซีรีส์เรื่องนี้ได้อุปมาไว้แล้วว่า หากผู้คนไม่สนใจและปล่อยให้การต่อสู้อยู่เพียงในจอแก้ว มันก็จะอยู่แค่ในจอแก้ว พร้อมทิ้งคำถามระหว่างนอกและในจอแก้วไว้ว่า…

“เราในฐานะผู้ชมที่มีจอกั้น เราคือผู้ชมหรือผู้เล่น เป็นเพียงผู้เฝ้ามองโลกหรือผู้กระทำการเปลี่ยนแปลง”

Fact File

  • สามารถรับชม เรื่องตลก69 เดอะซีรีส์ ได้ที่ NETFLIX

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน