DELETE : ความลับ การลบ และบทสนทนากับ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ
Lite

DELETE : ความลับ การลบ และบทสนทนากับ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ

Focus
  • DELETE ซีรีส์ไทยเรื่องใหม่จาก Netflix ซึ่งเป็นผลงานความร่วมมือกับบริษัทยอดนิยมระดับประเทศ GDH
  • ซีรีส์เรื่องนี้เป็นการทำงานซีรีส์เรื่องแรกของผู้กำกับภาพยนตร์ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ผู้เคยฝากผลงานมาแล้วในภาพยนตร์ล้ำจินตนาการ โฮมสเตย์ (2018)

DELETE ซีรีส์ไทยเรื่องใหม่จาก Netflix ผลงานความร่วมมือกับบริษัทยอดนิยมระดับประเทศ GDH ที่มาพร้อมกับผู้กำกับ ขาประจำสตูดิโอที่มีวิสัยทัศน์น่าสนใจอย่าง ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ที่เคยสร้างภาพยนตร์มุมมองน่าสนใจอย่าง โฮมสเตย์ (2018) ครั้งนี้ภาคภูมิกลับมาทำภาพยนตร์วิสัยทัศน์น่าสนใจอีกครั้งใน DELETE ที่ว่าด้วยการมีอยู่ของอุปกรณ์ที่สามารถลบมนุษย์ผู้ใดก็ได้จากโลกนี้ และจะเป็นอย่างไรหากอุปกรณ์นี้ไปตกอยู่ในมือของผู้ที่มีความลับอันกำลังต้องการเก็บความลับของตน ให้เป็นความลับตลอดไป ด้วยการลบผู้ที่จะทำให้ความลับเปิดเผย ซีรีส์เรื่องนี้มาพร้อมกับทีมนักแสดงหลักคุ้นหน้าคุ้นตาในตลาดภาพยนตร์ไทยหลายคน มี ณัฏฐ์ กิจจริต ในบท เอม ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์ ในบท ทู ษริกา สารทศิลป์ศุภา ในบท ลิลลี ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง ในบท อร และ นพชัย ชัยนาม ในบท ยุทธชัย เป็นอาทิ รวมทั้งนักแสดงอีกคับคั่งที่จะมาประชันความลับว่าเรื่องลับนี้จะต้องถูกเก็บหรือเปิดเผยโดยมีชีวิตและการหายไปเป็นเดิมพัน

บทที่ 1 “ความลับและการลบ”

เรื่องราวของซีรีส์ DELETE เล่าเรื่องเกี่ยวกับกลุ่มคนหนึ่งที่มีโอกาสครอบครองวัตถุรูปทรงโทรศัพท์มือถือ แต่มีคุณสมบัติเป็นกล้องดิจิทัลที่มีความสามารถในการลบมนุษย์ที่ถูกถ่ายให้หายไปจากโลกอย่างไร้ร่องรอย โดยตัวละครหลักในซีรีส์ทุกตัวมีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงด้วยผลประโยชน์บางอย่าง การตัดสินใจ “ลบ” ใครให้หายไปจึงมีใครอีกคนที่ย่อมได้ผลประโยชน์จากการลบนั้น

กว่าครึ่งของซีรีส์เรื่องนี้เล่าเรื่องความสัมพันธ์ “ชู้ลับ” อันซับซ้อนของตัวละครทั้ง 5 ประกอบด้วย อร เอม ทู ลิลลี และจูน ที่ทั้งห้ามีความสัมพันธ์ชนิดรัก ชัง ไขว้กันไปมาอย่างซับซ้อน และผูกเรื่องด้วยความสัมพันธ์แบบชู้รักที่ต้องเก็บเป็นความลับ ในความน่าสนใจของเรื่องนี้คือใช้เวลาในการอธิบายว่าทำไมการรักษาความลับของตนต้องไปจบที่การลบผู้ไม่ประสงค์ที่จะรู้ความลับให้หายอันตรธานไป เช่น ความลับเรื่องชู้ที่ต้องลับก็เพราะมันขัดต่อศีลธรรมทางสังคม มันเลยต้องลับ สังเกตจากตัวละครเอมและลิลลี ที่ต้องกังวลว่าคนอื่นจะรู้ เพราะกลัวข่าวไหล เนื่องจากมันจะทำร้ายอาชีพที่เป็น “บุคคลสาธารณะ” ของตน การต้องลบผู้ที่ไม่พึงประสงค์ที่จะรู้ของเอมจึงทำให้เห็นว่า เขาไม่ได้รู้สึกว่าความเป็นชู้นั้นผิด แต่มันควรเป็นความลับ เพราะมันทำร้ายชีวิตด้านอื่น ความลับหลายอย่างที่เราไม่อยากให้ผู้อื่นรู้ก็เพราะมันขัดต่อศีลธรรมทางสังคม ความลับในเรื่องนี้จึงทำให้เห็นว่าจริยธรรมปัจเจกกับศีลธรรมของสังคมที่บางครั้งเห็นว่ามันสอดคล้องกัน แท้จริงแล้วมันมีระยะ “ความลับ” ที่ทำให้มันแยกออกจากกัน ความลับในเรื่องนี้จึงเกิดขึ้นด้วยการปิดบังเพื่อรักษาสถานภาพความปลอดภัยบางอย่างของตนเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแอบรักของจูนกับลิลลี ที่แสดงภาพของการขัดศีลธรรมทางสังคมชัดเจนทั้งเชิงความเชื่อศาสนาของจูนและการเป็นชู้กับคนในครอบครัวซึ่งผิดศีลธรรมของสังคม ความลับจึงไม่ใช่เรื่องที่ห้ามรู้ แต่มันจำต้องลับสำหรับบางคน และศีลธรรมของกลุ่มคน หรือสังคมเองก็มีผลในการทำให้เรื่องไหนกลายเป็นความลับที่ควรจะถูกลบ และสำหรับผู้ที่อยู่ในความลับหรือคนมีความลับ ซีรีส์ยังสนองให้เห็นถึงความกลัว กลัวว่าจะมีคนรู้เรื่องของตน และกลัวตนจะกลายเป็น คนนอกทางศีลธรรม ไปถึงกลัวสังคมลงโทษจากความผิด และความผิดนั้นก็จำเป็นต้องเก็บเป็นความลับ

การลบใน DELETE เป็นการตั้งคำถามเชิงจริยธรรมปัจเจกถึงความผิดบาปว่าระดับของการรู้สึกบาปของปัจเจกเกิดขึ้นเมื่อใด ระหว่างความผิดที่ตระหนักได้เอง หรือความผิดเพราะกลัวการลงโทษทางสังคม และสรุปแล้วความผิดที่เรากำลังกลัวเป็นเรื่องของปัจเจกนิยามหรือสังคมนิยามกันแน่ แนวคิดดังกล่าวเองจึงสะท้อนแง่มุมที่แตกต่างกันระหว่างศีลทางศาสนากับ ศีลธรรมส่วนบุคคล และการปฏิบัติตามกฎหมาย ในโลกปัจจุบันที่ความรู้สึกผิดในจิตใจมีได้หลายพื้นที่ขึ้นอยู่กับศีลธรรมของทั้งภายในภายนอกมนุษย์ผู้นั้น DELETE จึงไม่เพียงแสดงภาพของการลบผู้อื่น แต่ซีรีส์เรื่องนี้ตั้งคำถามเกี่ยวกับผู้ใช้อุปกรณ์การลบเองว่า ในใจรู้สึกอะไร พร้อมทั้งตั้งคำถามส่งไปยังผู้ชมว่า การตัดสินใจต่างๆ เราคิดจากพื้นที่ใดในแผนที่จริยธรรม ระหว่างศีลปัจเจกกับกฎสังคม

ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ

บทที่ 2 : พูดคุยหลังจบการลบกับ ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ผู้สร้าง ผู้กำกับ ผู้ร่วมเขียนบท DELETE

ที่มาของไอเดียเกี่ยวกับการลบ

ไอเดียเริ่มต้นเริ่มต้นจากบริษัท GDH และบริษัท -iSM คิดเรื่องราวตั้งต้นเกี่ยวกับมือถือที่ลบคนได้ขึ้นมาและได้มาเริ่มพูดคุยกับผม ผมก็คิดว่าน่าสนใจน่าต่อยอดได้อีกเยอะ สามารถตั้งคำถามกับคนที่แตกต่างหลากหลายกันได้ว่าจะใช้มือถือลบคนได้ไปทำอะไร บวกกับผมชอบโครงเรื่องตอนจบในตอนที่ 8 เลยอยากทำ จนในที่สุดรับทำ และรับเขียนบทร่วมกับ จิรัศยา วงษ์สุทิน และ ทศพร เหรียญทอง

อุดมคติในการทำงานผู้กำกับของภาคภูมิ

อุดมคติของผมก็ไม่ถึงกับชัดเจนมากนัก แต่ผมรู้สึกว่า คนทำต้องมีความเชื่อ มีทัศนคติมาเล่าอย่างจริงใจส่งออกไปให้คนดู เราซึมซับเรื่องต่างๆ ในสังคมมาถ่ายทอดให้คนดู ผมว่านี่เป็นหลักการในการทำงาน

อะไรคือเอกลักษณ์ในการกำกับที่บอกความเป็นภาคภูมิ

ตอนเด็กๆ ผมซื่อๆ มองอะไรด้านเดียวแบบมองอะไรว่าดีเราก็เชื่ออย่างสนิทใจว่าดี แต่พอโตขึ้นเราเริ่มขยับไปเห็นมุมอื่น มันมีอีกมุมหนึ่งอย่างที่เราไม่รู้ ผมเลยคิดว่าคนเรามีเฉดอะไรต่างๆ ผมเคยทำหนังสั้นตอนผมเรียน ผมทำเกี่ยวกับหลวงตาและวัดในตอนเรียนนะครับ บ้านผมใกล้กับวัด ผมก็มีแรงบันดาลใจว่า สิ่งที่ผมเห็นมันไม่ใช่แบบนั้น ผมเริ่มจากแบบนั้น ผมสนุกที่้เห็นตัวละครที่มีมิติ มีสองด้าน มีความระทึกขวัญ มีผู้คนหลายมิติ เวลาผมไปเสพงานคนอื่น ผมก็สนุกที่เห็นมนุษย์มีหลายด้าน มันดึงดูดเราในรูปแบบนี้เสมอมา

การกำกับซีรีส์ครั้งแรกแตกต่างจากงานภาพยนตร์ที่ทำมาตลอดอย่างไร

แตกต่างตั้งแต่วิธีการคิด การเขียนครับ ในแง่การเขียนบทเปรียบได้กับการวิ่ง 100 เมตรและการวิ่งมาราธอน การทำซีรีส์มันยาว วิธีการทำให้น่าสนใจในแต่ละตอนต้องมีจุดเด่น เหมือนการทำหนัง 8 เรื่อง ในส่วนนี้ต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่วิธีการสร้างมันเหมือนกัน มันต่างที่บริบทและการทำให้ผู้ชมดูตอนนี้ และทำให้ผู้ชมอยากดูตอนต่อไปทันที

ความน่าสนใจที่ทำให้เรื่องนี้แตกต่างจากซีรีส์อื่นๆ ใน Netflix

มั่นใจในเรื่องที่เล่า มั่นใจในทีม ว่าไอเดียนี้มันน่าสนใจ เรามีแรงขับดันให้มันออกมา ผมใช้เวลาในชีวิต 2 ปี 3 ปี ถ้ามันไม่ดึงดูดผมมันก็ไม่เกิดครับ การที่เราหยิบมาทำให้มันเกิด แม้สุดท้ายจะอยู่ที่การตัดสินใจของคนดู แต่เราก็ต้องมีความเชื่อก่อนว่ามันดี แม้แต่ตัวเราที่เราทำงานกันอยู่เรายังเสียเวลาชีวิตมาทำเป็นปีๆ มันก็พิสูจน์มาระดับหนึ่งแล้ว แต่สุดท้ายคนดูก็ตัดสินอีกทีว่าจะเลือกดูหรือเปล่า

ในการทำงานกับ GDH มาตั้งแต่เป็น GTH มองเห็นอะไรบ้างในช่วงการเปลี่ยนผ่าน

ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ ค่ายหนังเหมือนคนหนึ่งคนที่มีช่วงวัยของตัวเอง วัยรุ่น วัยชรา แต่ละวัยก็จะมีรสนิยมเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือนตัวเราเอง ความเปลี่ยนแปลงในนั้นมันก็เปลี่ยนตามคนที่ทำงาน ผมคิดว่าดีที่มันเปลี่ยนแปลง มันเคลื่อนไหว แสดงว่ามันยังมีชีวิตอยู่ ผมรู้สึกว่ามันมีรสนิยมในคนทำงานแต่ละช่วง แล้วแต่กลุ่มคนที่เข้ามาทำ หากเรามองอย่างละเอียดจริงๆ ใน GDH มีความหลากหลายในนั้น แม้มีแนวทางโรแมนติกคอมเมดี แต่เงาด้านหลังมันมีความหลากหลายอยู่เต็มไปหมด มีหลายเรื่องที่เป็นการทดลองของ GDH แต่มันอาจไม่ดัง และแน่นอนว่าสตูดิโอต้องมีรสนิยมของตนเอง เขาก็มีความคิดเห็นของเขา เคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ มันเปลี่ยนไปตลอด ทำงานกับคน คนเปลี่ยนไปตลอดเวลา คนรุ่นใหม่เข้ามาการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น

การทำงานกับ Netflix มีอะไรที่แตกต่างจากเดิม

มันสร้างโอกาสทำให้บางไอเดียที่อาจไม่เหมาะกับหนังโรงถูกเอามาสร้างเป็นซีรีส์ของ Netflix ได้ บางไอเดียที่ไม่เหมาะสมกับโรงหนังมันก็เกิดขึ้นได้ เป็นการส่งเสริมคนทำงานและอุตสาหกรรมให้มีงานมากขึ้น ทำให้เราได้ขยับขยายฝึกฝีมือและมีงานสม่ำเสมอในทุกภาคส่วน

คำโปรยซีรีส์ที่ว่า ใครควรอยู่ ใครควรหาย ใครตัดสิน” เกี่ยวกับสังคมไทยหรือไม่อย่างไร

พูดเรื่องการทำให้หายมันคือ “อำนาจ” สิ่งนี้เป็นอำนาจด้านมืดที่จะเลือกว่าใครควรหาย ใครควรอยู่ การหายมันสร้างความเจ็บปวดยิ่งกว่าความตาย เพราะมันไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น มันสร้างแผลให้กับคนที่ยังอยู่ เพราะไม่รู้ว่าคนหายไปไหน การหายมันสร้างความจดจำ DELETE มันเลยแตกไปได้หลายบริบทในเรื่องมือถือเครื่องนี้ก็เปลี่ยนจากมือสู่มือไปเรื่อยๆ อำนาจในมือมันมีอยู่และดึงดูดให้ใช้ เพราะอำนาจนี้มันมีศักยภาพมากมายมหาศาล ผมคิดว่า ยิ่งเราอยากให้อะไรหายไป มันจะถูกจดจำไม่เคยลืม มันลบไม่ได้จริงๆ หรอกครับ

ความยากในการทำเรื่องนี้คืออะไร

ความยากทุกครั้งเวลาทำงานใหม่คือเรื่อง “มนุษย์ในหนัง” ผมมักทำหนัง Hight concept ส่วนใหญ่หนังที่ผมทำก็มักจะมีเรื่องที่ใหญ่เหนือจริงแบบที่ชีวิตจริงมันไม่มีอะไรพวกนี้ เหมือนพอเป็นเรื่องนี้เราจะทำอย่างไรให้กล้องลบคนน่าเชื่อถือ และเข้ากับดรามาได้อย่างแนบเนียน ทำให้มนุษย์มีลมหายใจให้คนเชื่อว่ามีคนแบบนี้มันยากจริงๆ เราเล่าเรื่องคนให้คนดูเชื่อ สนใจติดตามว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับคนคนนี้ เราต้องเอาให้อยู่ให้คนดูเชื่อ มันยากทุกครั้งเวลาเขียนบทว่าเราต้องเข้าใจว่าทำไมเขาเลือกแบบนั้นทำแบบนี้ให้คนดูเชื่อ เวลาผมเล่าเรื่องคนในหนังมันต้องมีเศษเสี้ยวความสมจริงว่านี่คือมนุษย์

อยากฝากถึงคนที่กำลังชม DELETE อย่างไร

ผมไม่ได้อยากให้ไปติดตามแค่ว่ามือถือเครื่องนี้มันลี้ลับหรือทรงพลัง แต่ผมอยากให้ไปดูการดิ้นรนของตัวละครที่มีอุปสรรคขวากหนามในชีวิต และเขามีทางลัดด้วยการใช้มือถือนี้ พวกเขาจะเอาตัวรอดอย่างไร หวังว่าคนดูจะตื่นเต้นกับตัวละครทุกตัวใน DELETE ครับ

Fact File

• รับชมซีรีส์ DELETE ได้บน Netflix


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน