84 Paragraphs of Consolations : โลกสิ้นหวังในศักราชใหม่ที่ไม่มีวันมาถึง
Lite

84 Paragraphs of Consolations : โลกสิ้นหวังในศักราชใหม่ที่ไม่มีวันมาถึง

Focus
  • 84 Paragraphs of Consolations: แปดสิบสี่ย่อหน้าของการปลอบประโลม ผลงานนวนิยายขนาดสั้นเล่มล่าสุดของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา นักเขียนไทยร่วมสมัยที่น่าจับตามองที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้
  • หนังลื่อเล่มนี้เป็นนวนิยายที่มีฉากหลังเป็นช่วงหลังโลกาวินาศผสมผสานด้วยบรรยากาศ ไซไฟ แต่ก็ยังแฝงความอีโรติก
  • นิยายเรื่องนี้มีคำถามสำคัญมากมายให้อ่านและพินิจตามไปตลอดทั้งเล่ม ไม่ว่าจะประเด็นเรื่องมนุษย์กับชนชั้น ชีวิตกับความตาย และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการเมืองที่ยังคงเข้มข้นเช่นเคยเหมือนงานที่ผ่าน ๆ มาของวิวัฒน์

เรื่องรักที่ไม่ครอบครอง ชีวิตที่กำลังล้มตาย ความสัมพันธ์ที่ยึดใครบางคู่ไว้ในโลกเผด็จการ และบรรยากาศมืดทึมหลังการล่มสลายของสังคม องค์ประกอบทั้งหมดนี้คงคุ้นเคยกันดีสำหรับคนที่เคยผ่านตางานเขียนของ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา มาบ้าง ซึ่งในครั้งนี้องค์ประกอบทั้งหมดที่ว่ามายังคงปรากฏชัดอยู่ในนวนิยายขนาดสั้นเล่มล่าสุดของเขา 84 Paragraphs of Consolations : แปดสิบสี่ย่อหน้าของการปลอบประโลม นิยายหลังโลกาวินาศ (Post Apocalypse) ที่บอกเล่าถึงสังคมโลกหลังการล่มสลายจากการตายปริศนาครั้งยิ่งใหญ่ที่ทำให้ผู้คนบนโลกต้องย้ายไปตั้งรกรากบนดาวอังคารอันเป็นอาณานิคมใหม่ของเหล่ามนุษย์ชนชั้นสูง และนายพล รวมทั้งยังเป็นที่อยู่ของ “มนุษย์แรงงาน” ผู้ถูกผลิตให้เป็นกึ่งจักรกลกึ่งมนุษย์ในนามของ “ดรอยด์”

เมื่อความเป็นอมตะคือคำสาปของคนยากจน
คำถามใหญ่ที่นิยายเรื่องนี้ได้ตั้งไว้คือ “ความเป็นมนุษย์” ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ค่อยจะตั้งข้อสงสัย โดยในนิยายได้เปรียบเทียบระหว่างมนุษย์ที่เปราะบาง เต็มไปด้วยความรู้สึกต่าง ๆ และมีกิจกรรมหลักที่ยืนยันการเป็นมนุษย์นั่นก็คือ “เพศสัมพันธ์”ซึ่งตีความหมายไปถึงการมีอยู่ของอารมณ์ที่ท่วมท้นหนักหน่วงเพื่อยืนยันในความเป็นมนุษย์ ฉากเซ็กซ์ในนิยายจึงมักจะพุ่งตรงไปเล่าถึงความรู้สึกของฝ่ายมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หรือมนุษย์กับดรอยด์

เรื่องเพศสัมพันธ์เพื่อยืนยันความเป็นมนุษย์ได้ถูกเล่าขนานไปกับการเมือง ซึ่งถูกใช้เป็นฉากหลังของเรื่องและกลไกการมีอยู่ของ “ดรอยด์” มนุษย์กึ่งจักรกลที่รัฐเป็นผู้ผลิตออกมาอย่างแนบเนียนผ่านนโยบายด้านสุขภาพ เพื่อทำให้ตัวเลขการป่วยการตายลดลง ทั้งยังทำให้มนุษย์คนหนึ่งกลายเป็นแรงงานได้อึดและนานขึ้นผ่านการแปรสภาพไปเป็นดรอยด์ โดยดรอยด์จะถูกฝั่งชิปเข้าไปในร่างกาย เพื่อจำกัดจิตสำนึกและความทรงจำที่เคยมี รวมทั้งการเปลี่ยนอวัยวะบางส่วนเพื่อเพิ่มพละกำลังเหมาะกับการเป็นแรงงานในการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร

“…มีความร่วมมือในการสร้างอาณานิคมใหม่ บางคนเดินทางไปตั้งรกรากที่นั่น ไปเป็นแรงงานราคาถูกที่ถูกดัดแปลงเอาความอ่อนแอทางกายภาพเครื่องหมายเดียวของความเป็นมนุษย์ออกไป โดยผ่านความเห็นชอบของเจ้าตัวและของรัฐ…”

ดรอยด์เป็นแรงงานราคาถูกที่ถือได้ว่าเป็นการลงทุนอย่างคุ้มค่าของรัฐ ดรอยด์ไม่ต้องกินอาหาร ไม่มีการเจ็บป่วย ไม่มีความเหน็ดเหนื่อย เหมาะแก่การทำงานก่อสร้างอาณานิคมและเป็นแรงงานให้รัฐเผด็จการ แลกกับการมีชีวิตไปเรื่อย ๆ เหมือนจักรกลแบบ “ผีคนเป็น”คือคนก็ไม่ใช่ หุ่นยนต์ก็ไม่เชิง จะตายก็ตายไม่ได้ และนั่นก็ทำให้ในหนังสือพูดถึงความตายไว้ว่า “ความตายกลายเป็นอภิสิทธิ์”

หนังสือเล่มนี้ตั้งคำถามไว้ให้คิดต่อถึงการเปรียบเทียบความต่างระหว่าง “มนุษย์” ผู้มีความรู้สึก มีความหิว มีความต้องการทางเพศ ทุกข์ทรมาน และตายได้กับ “ดรอยด์” ผู้ไร้ความทุกข์ไร้ความเศร้าจากการไม่มีความรู้สึก ส่วนความรู้สึกทางเพศก็คลุมเครือไม่ชัดเจน แต่ที่สำคัญคือดรอยด์ไม่ต้องกิน ไม่ต้องเหนื่อยและไม่มีวันตาย แต่ในความต่างนั้น วิวัฒน์ก็ยังทิ้งไว้ให้ได้เจ็บจี๊ด ๆ ว่าต่อให้คุณจะเลือกเป็นมนุษย์รูปแบบไหน ท้ายที่สุดก็เป็นเพียงผลผลิตของกลไกที่กำกับดูแลคุณอยู่เท่านั้น

“กล่าวให้ถูกต้องเราต่างสร้างเราขึ้นมาภายใต้การกำกับดูแลของรัฐเผด็จการและบรรษัทข้ามชาติ”

ในเรื่องนี้ยังขยายถึงเรื่องชนชั้นโดยเล่าว่าเดิมทีการคิดค้นผลิตดรอยด์เป็นการทดลองเพื่อที่เหล่าชนชั้นสูงจะได้มีอายุยืนยาวสามารถสืบทอดอำนาจในสังคมที่ผู้ปกครองยึดครองไว้เบ็ดเสร็จต่อไปอย่างอมตะ แต่เครื่องมือเดียวกันนี้กลับถูกนำมาใช้ในการสร้าง “ดรอยด์” เพื่อให้มีความเป็นอมตะเช่นกัน กลับกันคือดรอยด์เป็นเพียงแรงงานอมตะที่ต้องอยู่รับใช้ชนชั้นสูงไปชั่วกัปชั่วกัลป์ ดังบางช่วงบางตอนในนิยายที่เขียนไว้ว่า

“การกลายเป็นมนุษย์เป็นอภิสิทธิ์สำหรับคนร่ำรวยและเป็นคำสาปของคนยากจน”

“แรกทีเดียวโครงการเจเนอเรทดรอยด์ไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับคนชั้นล่างทั้งสิ้น มันคือโครงการวิจัยสำหรับการยืดอายุของมหาเศรษฐีจำนวนหนึ่ง”

“ถ้าจะมีอะไรของมนุษย์ที่เป็นปัญหา มันคือความรู้สึก หากเราตัดเฉือนเอาความรัก ความหิว ความเจ็บปวดออกไป เราจะกลายเป็นอภิมนุษย์ แต่อภิมนุษย์ของปีปัจจุบันไม่ใช่อภิสิทธิ์ของชนชั้นสูง มันคือการเปลี่ยนเราให้เป็นแรงงานสมบูรณ์แบบ”

ความตายครั้งยิ่งใหญ่ในดินแดนสูญสิ้นหวัง
เหตุที่ทำให้สังคมโลกในการล่มสลายเกิดขึ้นจากการตายครั้งใหญ่ที่ไม่มีเหตุชัดเจน เพียงแต่เล่าว่า การตายครั้งใหญ่นั้นประกอบจากอะไรบ้างเช่นการที่สังคมสิ้นหวังในเมืองที่มีเพียงตึกเก่าและสลัมร่วมด้วยฝนพรำเกือบตลอดทั้งเรื่อง และด้วยบรรยากาศมืดทึมนี้จึงมีการเอ่ยถึงการตรอมใจตาย อาการซึมเศร้า

อีกส่วนประกอบจากการตายครั้งใหญ่คือ จลาจลของนักปฏิวัติ ที่หลังจากความตายของผู้คนมากมายได้พรากการปฏิวัติครั้งนั้นไป เหตุปฏิวัติจึงหลงเหลือเป็นเรื่องเล่าและเรื่องเพ้อฝันของคนบนโลกเท่านั้นและทำให้มนุษย์ในเมืองนี้รู้จักเพียงการเลือกตั้งวงไอดอลเด็กสาวซึ่งกลายเป็นสิทธิสูงสุดของประชาชน

“เราจะแบ่งกาแฟกันดื่มและเฝ้าฝันเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกของวงเด็กสาว การเลือกตั้งชนิดเดียวที่เรารู้จัก โอกาสเดียวที่จะเปล่งเสียออกมา”

ดังนั้นระหว่างทางแยกที่มี 2ทางคือ การมอบร่างกายไปเป็นแรงงานบนดาวอังคารเพื่อก่อสร้างอาณานิคมให้ชนชั้นสูงและเหล่านายพลเงียบใบ้ในห้องปรับอากาศ กับอีกทางคือยอมหิวโหยในโลกสลัมหรือเฉาตายไปพร้อมกับความตายปริศนาครั้งใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นความตายที่ไม่มีใครสนใจ โลกใน 84 Paragraphs of Consolations จึงกลายเป็นพื้นที่ของความเศร้าสิ้นหวังไม่รู้จบที่หมุนวนทบกันไป เช่นเดียวกับการบอกถึงเวลาในเรื่องที่ทิ้งเป็นนัยไว้ว่าปีใหม่โลกใหม่ศักราชใหม่เป็นสิ่งที่ไม่มีวันมาถึง

 “…ดีเจเปิดเพลงลูกทุ่งเก่าแก่ที่วันเวลานั้นนิ่งงันเหมือนหนึ่งร้อยห้าสิบปีที่แล้วยังคงอยู่ โลกไม่เปลี่ยนแปลงไป เราหยุดอยู่ในเดือนธันวาคมชั่วนิจนิรันดร์”

Fact File

84 Paragraphs of Consolations แปดสิบสี่ย่อหน้าของการปลอบประโลม, วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา เขียน, สำนักพิมพ์ P.S., ราคาปก 200 บาท


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน พ่วงด้วยตำแหน่ง Writer & Graphic Designer ประจำ Sarakadee Lite