กาดแป๊ป-แป๊ป รถพุ่มพวงป้าน้อย ส่งความอร่อยสู่ชุมชนและผู้สูงอายุ
Lite

กาดแป๊ป-แป๊ป รถพุ่มพวงป้าน้อย ส่งความอร่อยสู่ชุมชนและผู้สูงอายุ

Focus
  • กาดแป๊ป-แป๊ป โปรเจกต์ทดลองระหว่าง CEA Chiangmai, Cloud-Flour และป้าน้อย เจ้าของรถพุ่มพวงเจ้าประจำของชุมชนย่านช้างม่อย ที่ทำหน้าที่พาของสดและของอร่อยเดินทางไปหาคนในชุมชนมากว่า 20 ปี
  • ที่มาของชื่อ กาดแป๊ป-แป๊ป มาจากเสียงแตรที่ดัง แป๊ป-แป๊ป ซึ่งป้าน้อยใช้เรียกลูกค้าเมื่อไปถึงจุดจอด ล้อกับคำว่า แป๊ป-แป๊ป ที่หมายถึงการจอดในระยะเวลาสั้น ๆ
  • นอกจากการปรับและพัฒนาระบบของรถพุ่มพวงให้มีการจัดการที่ดีขึ้น ยังเพิ่มมิติด้านสุขภาพอย่างการร่วมมือกับร้านค้าชุมชนในการปรับสูตรอาหาร โดยคำนึงถึงสุขภาพของผู้สูงอายุซึ่งเป็นลูกค้าส่วนใหญ่ของรถพุ่มพวงป้าน้อย

แน่นอนว่าปลายปีแบบนี้ ใครมีแพลนไปสัมผัสลมหนาวที่จังหวัดเชียงใหม่ก็จะเห็นป้าย เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiangmai Design Week) ตั้งอยู่ทั่วเมือง เป็นเหมือนคำเชิญชวนให้แวะเข้าไปสัมผัสงานสร้างสรรค์ที่ศิลปินหรือนักสร้างสรรค์แต่ละย่านพร้อมนำเสนอ ไม่ว่าจะในรูปแบบของโชว์เคส เวิร์กชอป หรือกิจกรรมที่ชวนให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมไปด้วย แต่สิ่งที่ถือว่าน่าสนใจมาก ๆ สำหรับ Chiangmai Design Week 2021 คือการเน้นการเชื่อมโยงกับชุมชนเสมือนเป็นการเสริมศักยภาพในมิติต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมให้แข็งแรงขึ้น เข้ากับสถานการณ์และยุคสมัยมากขึ้น โดยหนึ่งในโปรเจคต์ที่ว่าคือ กาดแป๊ป-แป๊ป ที่เป็นการทดลองร่วมระหว่าง CEA Chiangmai, Cloud-Flour และ ป้าน้อย เจ้าของรถพุ่มพวงเจ้าประจำของชุมชนช้างม่อย 

กาดแป๊ป-แป๊ป

“ซาวสองปี (22 ปี) แล้วเจ้า” ป้าน้อย ชาวอำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ให้คำตอบ หลังได้ยินคำถามว่าผูกพันกับรถพุ่มพวงมานานกี่ปี ป้าน้อยเล่าเสริมว่าจุดเริ่มต้นเกิดจากพี่สาวที่ริเริ่มทำรถพุ่มพวงมาก่อนจนป้าน้อยได้มารับช่วงต่อ จากระยะเวลาของประสบการณ์ที่ถือว่ายาวนาน รถพุ่มพวงที่เห็นในปัจจุบันจึงเป็นเวอร์ชันที่ 4 แล้ว หลังเปลี่ยนผ่านจากรถจักรยาน รถมอเตอร์ไซค์ รถพุ่มพวงเวอร์ชันแรกจนมาถึงปัจจุบัน

“รถป้าน้อยวิ่งอยู่ในเส้นทางที่เชื่อมย่านสร้างสรรค์อยู่แล้ว เป็นเหมือนรถคันแรกที่เราทดลองโดยมีสมมติฐานคือ การเพิ่มช่องทางทางธุรกิจ เหมือนมีแชนแนลที่ทำให้เศรษฐกิจยังสามารถเดินได้โดยไม่ต้องพึ่งพาออนไลน์เพียงอย่างเดียวสำหรับในวิกฤติโควิด-19 แบบนี้ อีกด้านหนึ่งคือเราเห็นว่าผู้ซื้อของป้าน้อยเป็นคนในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่เป็นลูกค้าประจำ และเขารู้ใจกันว่าลูกค้าคนนี้ชอบอะไร หรือลูกค้าเองก็มีการฝากซื้อของต่าง ๆ ได้ เพราะฉะนั้นมันเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งมาก เราเลยมองว่าน่าสนใจมากเลย” อิ่ม-อิ่มหทัย กันจินะ นักพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจและนวัตกรรมอาวุโส CEA เชียงใหม่กล่าวถึงโปรเจกต์ที่ชื่อน่ารักว่า กาดแป๊ป-แป๊ป

รถพุ่มพวงป้าน้อย

“แป๊ป-แป๊ป” คือเสียงแตรเอกลักษณ์ ส่งสัญญาณการมาถึงของรถพุ่มพวงที่ได้กลายมาเป็นชื่อของโปรเจกต์ล้อกับคำว่า “แป๊ป-แป๊ป” ที่รถพุ่มพวงจะไปจอดแต่ละที่ในเวลาสั้น ๆ โดยในแต่ละวันป้าน้อยจะเดินทางไปตลาดสันป่าข่อยราวตี 4 เพื่อซื้อสินค้าที่คาดว่าลูกค้าต้องการแล้วออกเดินทางไปตามเส้นทางและจุดจอดประจำจนถึงช่วงบ่าย 

“พอติดตามชีวิตป้าน้อยไปสักระยะทำให้เราเห็นหลาย ๆ อย่าง เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย ที่จะมีความคาดหวังของคนซื้อ ซึ่งมองว่ารถพุ่มพวงจะเป็นสินค้าที่ราคาไม่แพงและมีให้เลือกเยอะ ความรู้สึกของคนจะคาดหวังกับรถพุ่มพวงเหมือนไปตลาดที่ต้องได้คุ้ย ได้เลือกของ ป้าน้อยเองก็จะพยายามเปลี่ยนสินค้า คือรู้ใจลูกค้าที่เจอกันบ่อย ๆ จนเป็นเหมือนเพื่อนบ้าน…เขาจะมีข้อมูลของกลุ่มลูกค้าของเขาและมีลูกค้าประจำ เช่น ลูกค้าคนหนึ่งที่เป็นผู้พิการทางสายตา เขาก็จะต้องพึ่งพาอาศัยกัน อีกด้านป้าน้อยเองก็เป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีการให้ร้านแปะป้ายโฆษณาที่รถเขาได้ด้วย” อิ่มกล่าว เสริมด้วยภาพลูกค้าที่ส่งเสียงทักทายรถพุ่มพวงที่คุ้นเคย

กาดแป๊ป-แป๊ป
กาดแป๊ป-แป๊ป

นอกจาก “กาดแป๊ป-แป๊ป” จะมีการปรับและพัฒนารถพุ่มพวงให้มีระบบที่ดีขึ้น หาสินค้าง่ายขึ้น ยังเสริมฟังก์ชันเพิ่มเติม อาทิ กระดาษ “อยากได้/ไค่กิ๋น อะหยังก่อ” ที่ลูกค้าสามารถเขียนเพื่อฝากซื้อของในวันถัดไป หรือการแปะ QR Code ไลน์ของป้าน้อยเพื่อที่หากลูกค้านึกสิ่งที่ต้องการได้ภายหลังก็สามารถติดต่อผ่านทางไลน์ได้ และอีกส่วนหนึ่งคือการทดลองส่งต่อความอร่อยไปพร้อมกับการส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชน

“รถพุ่มพวงเป็นเซอร์วิสออฟไลน์ที่ยังมีอยู่ในชุมชน เมื่อรถพุ่มพวงมาจอด สิ่งสำคัญที่เราเห็นคือผู้คนที่เข้ามาห้อมล้อมแล้วเกิดบทสนทนาระหว่างกัน โดยเฉพาะสังคมผู้สูงอายุในต่างจังหวัดและชนบท เรามองว่าสิ่งนี้คือมิติของคุณภาพชีวิตที่อย่างน้อยคือการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับคนภายนอก รถพุ่มพวงเลยเหมือนเป็นตัวเชื่อมเศรษฐกิจในชุมชน และอีกแง่คือหากทำเซอร์วิสบางอย่างได้ก็จะช่วยเรื่องของคุณภาพชีวิตในมิติต่าง ๆ เช่น เรื่องแรกที่เราทดลองทำกันตอนนี้คือการส่งต่ออาหารที่พยายามทำให้มีคุณภาพมากขึ้น มีการลดรสเค็ม เพราะผู้ซื้อของป้าน้อยส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ เราเลยอยากส่งมอบอาหารที่ดีให้แก่ลูกค้าหรือผู้เฒ่าของเรา มีการลดน้ำตาล เกลือที่เสี่ยงต่อโรคเบาหวานหรือโรคไต เราเลยลงพื้นที่ไปคุยกับทางป้า ๆ ในชุมชนช้างม่อย อย่างร้านลาบป้ายอด ขนมวงป้านวล และไข่คว่ำป้าดา ให้แต่ละร้านเลือกเมนูเด็ดมาหนึ่งเมนูแล้วมาทดลองปรับสูตรให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้น แต่ยังคงรสชาติความอร่อยแบบเดิม เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ด้านป้า ๆ เองก็จะได้เรียนรู้ เช่น การไม่ใส่ผงชูรสก็อร่อยได้ต้องทำอย่างไร” 

รถพุ่มพวงป้าน้อย
รถพุ่มพวงป้าน้อย

อิ่มกล่าวถึงพาร์ตเชิงสุขภาพที่เริ่มทดลองกันแล้วในเบื้องต้นโดยได้รับความร่วมมือจากร้านค้าและ อาจารย์อนุวัตน์ เชื้อเย็น ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปวิทยาการอาหารนานาชาติ (International Gastronomy Tourism Centre – iGTC) ที่มาช่วยด้านการปรับสูตรอาหาร ก่อนปิดท้ายด้วยสิ่งที่มุ่งหวังของโปรเจกต์นี้ที่ต้องคอยติดตามกันต่อไป

“โปรเจกต์นี้เป็นเหมือนระยะเริ่มต้นของการทดลอง เราต้องกลับไปดูกันอีกทีด้วยว่าถ้าเรามองในเรื่องของการขยายผลกับรถคันอื่น ๆ หรือชุมชนอื่น เราควรจะไปต่ออย่างไรและประเด็นไหนดี แต่ตอนนี้สิ่งที่ตามมาหลังจากรถใหม่ของป้าน้อยออก ก็เริ่มมีร้านในชุมชนที่บอกว่าขอเอาของมาฝากขายบนรถได้ไหม ขอฝากเพิ่มด้วยได้ไหม ป้าน้อยเองก็ได้คอนเน็กชันใหม่ ซึ่งเรากำลังมองว่าต่อไปในชุมชนจะนำไปสู่การต่อยอดทำเป็นสินค้าพรีเมียมหรือสินค้าคอลเลกชันพิเศษ ซึ่งเป็นการอัปเกรดสินค้าโลคัลได้ด้วยไหม” 

ภาพ : Cloud-floor

Fact File

  • Chiangmai Design Week 2021 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-12 ธันวาคม พ.ศ.2564
  • ติดตามรถพุ่มพวงป้าน้อยได้ตามเส้นทางชุมชนช้างม่อย-ล่ามช้าง-ท่าแพ และถนนลอยเคราะห์ จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงเวลา 08:00 – 12:00 น. (หยุดวันอาทิตย์)
  • รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook : Cloud-floor และ Chiang Mai Design Week 
  • เว็บไซต์ : www.chiangmaidesignweek.com

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ