ถอดรหัส สวิตเซอร์แลนด์ จุดบรรจบเกาหลีเหนือ-ใต้ ใน Crash Landing on You
Lite

ถอดรหัส สวิตเซอร์แลนด์ จุดบรรจบเกาหลีเหนือ-ใต้ ใน Crash Landing on You

Focus
  • ใน Crash Landing on You สหายผู้กอง รีจองฮยอก จากเกาหลีเหนือได้บินลัดฟ้าไปพบกับนางเอก ยุนเซรี ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งนี่ไม่ใช่พรหมลิขิต แต่เป็นเพราะ สวิตเซอร์แลนด์ คือ ดินแดนเสรีและเป็นกลาง ที่แม้แต่นายคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบันก็ยังเลือกมาเรียนที่สวิตเซอร์แลนด์
  • สวิตเซอร์แลนด์ได้สถาปนาทางการทูตกับทางเกาหลีเหนือ และเกาหลีเหนือก็ยอมที่จะดำเนินการสานสายสัมพันธ์ตอบ ทำให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เกาหลีเหนือยอมให้เข้าไปตั้งสถานกงสุล ทั้งๆ ที่มีแนวทางการปกครองและอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

จบไปแล้วสำหรับซีรีย์สุดฮิตเปิดปี 2020 ของช่องเคเบิลทีวี tvN อย่าง Crash Landing on You ซึ่งกวาดเรตติ้งถล่มทลายทั่วเกาหลีใต้พุ่งถึง 21.683 แซงหน้าคำสาปรักผู้พิทักษ์วิญญาณ Goblin ในปี 2017 ไปเป็นที่เรียบร้อย แต่กระนั้นกว่าที่ความรักของทั้งคู่จะลงเอยด้วยดีก็เรียกได้ว่ามีให้ลุ้นจนน้ำตาร่วงสลับยิ้มร่า ทำเอาคนดูเปลี่ยนอารมณ์ไม่ทันกันเลยทีเดียว เพราะเรื่องนี้อุปสรรคขวางกั้นของคนทั้งคู่ไม่ใช่พ่อแม่ญาติพี่น้อง หรือความแตกต่างด้านเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ แต่กลับเป็นความขัดแย้งทางการเมือง บนหน้าประวัติศาสตร์ที่แสนปวดร้าว ที่ก่อให้เกิดเส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ แยกคาบสมุทรเกาหลีออกเป็นเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ที่ไม่สามารถข้ามมาเจอกันได้

เมื่อความรักไม่อาจสมหวังได้บนดินแดนของฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ปฎิบัติการรักข้ามขอบฟ้าจึงอุบัติขึ้นและสิ้นสุดการรอคอย ณ อีกซีกโลกหนึ่งที่แสนห่างไกล แต่ไม่เกินใจรักสองดวงจะดั้นด้นไปถึงอย่าง สวิตเซอร์แลนด์ คำถามที่ตามมาคือทำไมและเพราะอะไร ความรักของทั้งคู่จึงสามารถสุขสมหวังได้ที่ “สวิตเซอร์แลนด์” ซึ่งคำตอบนั้นได้ซ่อนนัยยะเชิงลึกในรายละเอียดมากกว่าการเป็นฉากจบที่สวยงามสอดคล้องเหมาะสมกับขนบซีรีย์รักโรแมนติกทุกประการ

สวิตเซอร์แลนด์
ย่านเก่าเมืองซูริค สถานที่ถ่ายทำ Crash Landing on You

สวิตเซอร์แลนด์ แดนเสรีและเป็นกลาง

สวิตเซอร์แลนด์ได้ชื่อว่า แดนเสรีและเป็นกลาง และนี่คือเหตุผลหนึ่งเดียวที่สรุปได้สั้น ง่าย และตรงประเด็นมากที่สุด ที่ทำให้ผู้เขียนบทเลือกให้รีจองฮยอก และยุนเซรีได้มาพบเจอกันใน Crash Landing on You โดยความเป็นกลางทางการเมืองที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของสวิตเซอร์แลนด์ ทำให้กล่าวได้ว่า ไม่ว่าคุณจะมาจากประเทศทางการเมืองขั้วใด ก็ไม่มีผลใดๆ ต่อสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ว่าคุณจะมีจากเกาหลีเหนือที่โดนทั่วโลกคว่ำบาตร แต่บุคคลคนนั้นก็สามารถใช้ชีวิตและดื่มด่ำกับสิทธิเสรีภาพได้อย่างเต็มที่ ตราบใดที่แนวคิดทางการเมืองไม่ไปสร้างความแตกแยกขัดแย้ง หรือก่อความเดือดร้อนต่อสังคมโดยรวม

ที่สำคัญด้วยสถานะความเป็นกลางทางเมืองของสวิตเซอร์แลนด์ ส่งผลให้ สวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่รัฐบาลเกาหลีเหนือยอมสานสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ ทำให้ในแต่ละปี มีชาวเกาหลืเหนือส่วนหนึ่ง สามารถเดินทางไปใช้ชีวิต ศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ และปฎิบัติหน้าที่การงานอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ได้โดยไม่ขัดต่อหลักกฎหมายของประเทศ และไม่ต้องแอบหลบหนีไปในสถานะของผู้ลี้ภัยแบบในประเทศอื่นๆ และหนึ่งในชาวเกาหลีเหนือที่เติบโตและศึกษาเล่าเรียนในสวิตเซอร์แลนด์ก็คือ นายคิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือคนปัจจุบัน ที่มีสถานะเป็นไม้เบื่อไม่เมา กับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ อยู่ในขณะนี้

สวิตเซอร์แลนด์

สถานะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดทางการเมืองนี้ได้แต่ใดมา

เมื่อเอ่ยถึงสถานะไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของสวิตเซอร์แลนด์นี้ สามารถย้อนกลับไปได้ยาวไกลถึงยุคกลางกันเลยทีเดียว อ้างอิงจากบันทึกประวัติศาสตร์ ที่พบว่า ในทางปฎิบัตินั้น สวิตเซอร์แลนด์ประกาศความเป็นกลางตั้งแต่ในช่วงปี 1515 หลังพ่ายแพ้ให้แก่ประเทศฝรั่งเศสในสงคราม Marignano ทว่าสถานะดังกล่าวเริ่มมีความชัดเจนและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศในยุโรปมากขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามยุโรป 30 ปี ในช่วงศตวรรษที่ 17 ที่มีการลงนามในสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลียรับรองสวิตเซอร์แลนด์ในฐานะดินแดนอิสระที่ไม่ต้องอยู่ใต้อิทธิพลของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังสนธิสัญญา สวิตเซอร์แลนด์ก็มีเหตุให้ต้องถูกดึงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามอยู่บ่อยครั้ง ทั้งเล็กและใหญ่ จนกระทั่งในปี 1815 หลังสิ้นสุดสงครามนโปเลียน สถานะความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ของชัดเจนแข็งแกร่งขึ้น เมื่อที่ประชุมใหญ่แห่งเวียนนาประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้สถานภาพเป็นกลางแก่สวิตเซอร์แลนด์ และกลายเป็นข้อตกลงที่บังคับใช้กันทั่วยุโรปจวบจนถึงทุกวันนี้

สวิตเซอร์แลนด์

ใยสวิตเซอร์แลนด์จึงได้รับการยอมรับในความเป็นกลาง

ถามว่าทำไมนานาประเทศโดยเฉพาะในยุโรป จึงให้การยอมรับสถานะความเป็นกลางของสวิตเซอร์แลนด์ งานนี้ตอบได้แต่เพียงว่า ต้องยกความดีความชอบให้กับชัยภูมิที่ตั้งของประเทศ ที่อยู่ตรงกลางโอบล้อมด้วยชาติมหาอำนาจของยุโรป อย่าง เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี นั่นเอง

หลังจากผ่านศึกสงครามมาหลายครั้งหลายครา จนสร้างความเสียหายบอบช้ำจนถึงที่สุด บรรดามหาอำนาจในยุโรป ต่างมองเห็นตรงกันในเรื่องของยุทธศาสตร์ รัฐกันชน หรือ Buffer State ที่การปล่อยพื้นที่ตรงกลางระหว่างฝรั่งเศส ออสเตรีย อิตาลี และเยอรมนี ไว้เป็นพื้นที่กันชนนั้น จะดีและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยอย่างน้อยก็ช่วยลดการกระทบกระทั่งระหว่างกันลงไปได้

นอกจากนี้ ด้วยชัยภูมิของประเทศที่โอบล้อมด้วยเทือกเขาสูง ทำให้การใช้เป็นทางผ่านกองทัพเพื่อทำสงครามเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ช่วยให้สวิตเซอร์แลนด์สามารถคงสถานะความเป็นกลางเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่นในช่วงสงครามโลกทั้งสองครั้งที่ผ่านมาได้อีกทางหนึ่งด้วย

สวิส VS โสมแดง สถานะและความสัมพันธ์ของสองขั้วตรงข้าม

แม้จะยืนยันยืนกรานอย่างเหนียวแน่นว่าไม่เลือกข้างฝ้กใฝ่ฝ่ายใด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสวิตเซอร์แลนด์จะตัดขาดจากโลกภายนอก และวางตัวโดดเดี่ยวเดียวดายไม่ยุ่งเกี่ยวกับใครอย่างสิ้นเชิง เพราะถึงจะไม่ขอร่วมในความขัดแย้ง แต่สวิตเซอร์แลนด์ก็แสดงจุดยืนแข็งขันที่จะขอร่วมมือในปฎิบัติการภารกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านสังคม วัฒนธรรม การศึกษาและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอื่นๆ เป็นจำนวนมาก

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากสวิตเซอร์แลนด์จะมีสถาปนาทางการทูตกับทางเกาหลีเหนือ และเกาหลีเหนือก็ยอมที่จะดำเนินการสานสายสัมพันธ์ตอบ เพราะ สวิตเซอร์แลนด์แสดงจุดยืนชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวมุ่งไปที่การศึกษาและการให้ความช่วยเหลือตามความต้องการของรัฐบาลเกาหลีเหนือเป็นหลัก โดยที่สวิตเซอร์แลนด์จะไม่เข้าไปก้าวก่ายต่อกิจการภายในใดๆ ของทางเกาหลีเหนือ

สวิตเซอร์แลนด์

ผลลัพธ์ที่ได้ ทำให้สวิตเซอร์แลนด์เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เกาหลีเหนือยอมให้เข้าไปตั้งสถานกงสุล ทั้งๆ ที่มีแนวทางการปกครองและอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ไม่เหมือนจีนกับรัสเซีย ที่มีแนวคิดและความใกล้ชิดกับเกาหลีเหนือมากกว่า  ขณะเดียวกัน สวิตเซอร์แลนด์ ก็เป็นหนึ่งในประเทศอีกซีกโลกที่แสนห่างไกลที่เกาหลีเหนือยอมให้คนของตนเข้าไปใช้ชีวิต ศึกษาเล่าเรียน และรัฐบาลเกาหลีเหนือเองก็เข้าไปตั้งสถานทูตอยู่ในประเทศดินแดนแห่งเสรีภาพแห่งนี้ได้อย่างสบายใจ

งานนี้ บอกได้คำเดียวว่า ต้องขอบคุณ สวิตเซอร์แลนด์ ที่ทำให้นางเอกของเรา สามารถ แลนดิ้งกับ สหายผู้กอง ได้อย่างแฮปปี้เอ็นดิ้ง ชนิดที่ไม่ต้องกระแทกใจรัฐบาลเกาหลีเหนือ หรือสะเทือนความมั่นคงของฝั่งใต้จนเกินไป ซึ่งในเรื่องจะเห็นว่าพระเอกก็พยายามปลดตัวเองจากการเป็นทหาร ก้าวสู่นักเปียโนตัวแทนชาติ และมาที่สวิตเซอร์แลนด์เพื่อให้นางเอกได้แลนดิ้งลงจอดฉุกเฉินต่อหน้าพระเอกอีกครั้ง ซึ่งในตอนจบของเรื่องก็มีผู้ชมตั้งข้อสังเกตว่าทั้งคู่นำดอกไม้ที่เป็นเหมือนตัวแทนของโสมแดงและโสมขาวมาใส่ไว้ในแจกันใบเดียวกัน ณ กระท่อมหลังน้อยใน สวิตเซอร์แลนด์

** ภาพ: www.facebook.com/tvNDrama

อ้างอิงข้อมูล


Author

นงลักษณ์ อัจนปัญญา
สาวหมวยตอนปลาย ผู้รักการอ่าน ชอบการเขียน สนใจเหตุบ้านการเมืองในต่างแดน และกำลังอยู่ในช่วงการฝึกฝนสายวีแกน