FOLKLORE SEASON 2 เมื่อความกลัวถูกสร้างจากสังคม มหกรรมความสยองจากเอเชียจึงบังเกิด
Lite

FOLKLORE SEASON 2 เมื่อความกลัวถูกสร้างจากสังคม มหกรรมความสยองจากเอเชียจึงบังเกิด

Focus
  • FOLKLORE SEASON 2 ซีรีส์สยองขวัญปรากฏการณ์ความกลัวจาก HBO Asiaที่นำ 6 ผู้กำกับจาก 6 ประเทศมาสร้างสรรค์ซีรีส์ที่มีเนื้อหาเอกเทศจำนวน 6 ตอน
  • ใน FOLKLORE SEASON 2 นี้ผู้ชมจะได้พบกับการเล่าขานตำนานสยองจาก อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยซึ่งมีการให้ความหมายของความกลัวและความสยองขวัญที่แตกต่างกัน

กลับมาอีกครั้งกับ FOLKLORE SEASON 2 ซีรีส์สยองขวัญปรากฏการณ์ความกลัวจาก HBO Asia Original Series กับแนวทางการนำเสนอความกลัวเฉพาะตัวที่นำ 6 ผู้กำกับจาก 6 ประเทศมาสร้างสรรค์ซีรีส์ที่มีเนื้อหาเอกเทศจำนวน 6 ตอน อ้างอิงกลิ่นอายจากเอกลักษณ์ของเรื่องสยองท้องถิ่น และความกลัวเฉพาะถิ่นของประเทศในแถบเอเชีย

FOLKLORE SEASON 2

ใน FOLKLORE SEASON 2 นี้ผู้ชมจะได้พบกับการเล่าขานตำนานสยองจาก อินโดนีเซีย ญี่ปุ่นเกาหลี มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ซึ่งเต็มไปด้วยความหลากหลายของแนวทางการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ แต่ละตอนเป็นเอกเทศไม่ได้เล่าเกี่ยวโยงถึงกันแต่ผูกกันด้วยความหมายของความกลัวที่ถูกสร้างขึ้น ทั้งยังมีแนวทางการสร้างสรรค์เฉพาะตัวตามการตีความของผู้กำกับแต่ละคนที่มาจากต่างวัฒนธรรมเรื่องสยองขวัญ ซึ่งนั่นกลายเป็นจุดเด่นสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้ เพราะ FOLKLORE คือการนำเรื่องราวสยองขวัญท้องถิ่นมานำเสนอความกลัวอย่างร่วมสมัย มุ่งเน้นให้เห็นถึงความผิดปกติ ความกลัว และความเลวร้ายของสังคม ดังนั้นซีรีส์นี้จึงเป็นการนำเสนอประเด็นสังคมร่วมสมัยผ่านบรรยากาศสยองขวัญที่มีมิติขบคิดต่อได้ และยังแสดงให้เห็นถึงบรรยากาศทางสังคมปัจจุบันในเอเชียได้อย่างชัดเจนอีกด้วย

FOLKLORE SEASON 2

BROKER OF DEATH ทางแพร่งของชนชั้นจากนายหน้ามัจจุราช

Broker of Death เป็นตอนหนึ่งของ FOLKLORE SEASON 2 ที่เกี่ยวกับประเทศไทย ผ่านการตีความของ สิทธิศิริ มงคลศิริ ผู้กำกับที่เคยปลุกตำนานผีกระสือมาเล่าใหม่อย่างแฟนตาซีมาแล้วใน แสงกระสือ สำหรับ FOLKLORE SEASON 2 สิทธิศิริได้ปลุกเสกความขลังสร้างโลกภาพยนตร์ของตนอีกครั้งในประเด็นที่ว่าด้วยเครื่องรางของขลัง

Broker of Death เริ่มต้นเรื่องราวว่าด้วย มานพ พ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแล เจิน ลูกสาวผู้ป่วยเป็นโรคลูคีเมียที่ต้องใช้เงินในการรักษาสูงดั่งคำพูดของหมอในเรื่องที่กล่าวกับมานพเมื่อพบว่า “ลูคีเมียแพงหน่อย” มานพจึงต้องเร่งหาเงินด้วยทุกกระบวนท่าที่เขามีตั้งแต่ ธุรกิจขายของขลัง พนันมวย จนถึงการรับจ้างขนย้ายศพมาประกอบพิธีอาคมกับ อาจารย์ก่าย จอมขมังเวทผู้มีฐานะมั่งคั่งและสนิทชิดเชื้อกับกลุ่ม VIP และนักการเมือง

FOLKLORE SEASON 2

ใน Broker of Death สิทธิศิริได้ใส่ประเด็นร่วมสมัยในสังคมไทยเรื่องความเหลื่อมล้ำรวยกระจุกจนกระจายเข้ากับตำนานเครื่องรางของขลังของไทย โดยเล่าเรื่องผ่านความสัมพันธ์สองคู่นั่นคือ มานพกับเจิน และ มานพกับอาจารย์ก่าย ในส่วนของมานพกับอาจารย์ก่ายเป็นการเปิดจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้ โดยอาจารย์ก่ายให้มานพทำงานขนศพและเก็บศพไว้ในบ้านจนกว่าจะถึงเวลาทำพิธี ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างมานพกับเจินคือความขัดแย้งของพ่อที่กำลังหาเงินทุกวิธีทางมารักษาลูก กับลูกที่กำลังไม่เห็นด้วยกับวิธีหาเงินของพ่อ มานพจึงตกอยู่ในทางแพร่งของการตัดสินใจที่หนักหน่วงระหว่างคุณค่าทางจิตใจของลูกกับความจำเป็นด้านการเงินซึ่งเป็นจุดขัดแย้งทางจิตใจของตัวละครมานพตลอดทั้งเรื่อง

ในงานด้านภาพ Broker of Death มักจะถ่ายให้เห็นพื้นที่ร่วมกับนักแสดงและมีฉากที่ถ่ายระยะใกล้ (Close Up) ค่อนข้างน้อยเพื่อให้เห็นตัวละครในพื้นที่ของตนเอง มานพและเจินมักปรากฏตัวในบ้านไม้ที่ดูเก่าโทรมและคับแคบกว่ามากหากเทียบกับบ้านของอาจารย์ก่ายที่ตลอดทั้งเรื่องผู้ชมก็ยังไม่สามารถเห็นหรือนึกถึงผังบ้านได้ ผิดกับบ้านของมานพที่ผู้ชมได้เห็นทั้งสองชั้น ห้องดูโทรทัศน์ห้องครัว ห้องนอนที่ดูติด ๆ กัน แต่บ้านของอาจารย์ก่ายเพียงห้องที่ใช้ปลุกเสกทำพิธีอาคมผู้ชมก็ยังไม่เห็นผนังกำแพงของห้องเสมือนว่ามันกว้างแสนกว้างและสถาปัตยกรรมของบ้านมานพที่เป็นบ้านเก่าติดถนนธรรมดา สีลอก สีจืด ผิดกับบ้านของอาจารย์ก่ายที่ดูกว้างใหญ่ราวกับแบบบ้านในละครโทรทัศน์ที่หรูหราพบเห็นได้ในละครไทย

ไม่เพียงพื้นที่ที่ตอนนี้ได้ใช้เน้นการบ่งบอกสถานะของตัวละครแต่เป็นเรื่องราวที่เราจะได้เห็นว่า ผู้ว่าจ้างมีอำนาจต่อรองกลไกเบ็ดเสร็จกว่าผู้รับจ้างที่ไม่มีปากเสียงและไม่สามารถโต้แย้งได้ สิทธิของคนในตอนนี้จึงขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นมีสถานะแบบไหน มานพ หากทำผิดกฎหมายด้วยธุรกิจขนศพนี้เขาต้องหวาดกลัวการเผชิญหน้าตำรวจ แต่อาจารย์ก่ายที่ถึงขั้นนำศพขึ้นมาบนบ้านซ้ำยังมีศพอยู่ในบ้านที่เพิ่งถูกฆ่าตายอาจารย์ก่ายยังสามารถพูดกับคนงานของเขาได้ว่า “จัดการให้เรียบร้อย” อย่างไร้ความกลัวเกรงในความผิดหรือเหตุการณ์ที่น่าสะพรึงต่าง ๆ

FOLKLORE SEASON 2

ตัวละครในตอนนี้จึงทำให้เห็นถึงชนชั้นและความกลัวว่ามีความสัมพันธ์กันในเชิงที่หากใครมีอำนาจมีสิทธิในการควบคุมปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ได้มากกว่ากันคนนั้นก็จะไร้ซึ่ง ความกลัว เพราะตนมีอำนาจเหนือกว่า สิ่งเหล่านี้สิทธิศิริยังนำมาอุปมาร่วมกับผีสางที่ให้มานพไม่สามารถปราบผีได้ แต่อาจารย์ก่ายทำได้อย่างง่ายดายและไร้ซึ่งความกลัวเช่นเคยทั้งที่ 2 คนนั้นกำลังใช้เครื่องรางของขลังเช่นเดียวกันอยู่

หากเทียบกันแล้วผู้ชมจะได้เห็น บารมี ที่มาพร้อมกับ อำนาจ และเป็นอำนาจที่มากับชนชั้นและชนชั้นก็มีนัยสำคัญถึงเครือข่ายชนชั้นอีกด้วย เช่นการที่มานพมีเพื่อนเป็นคนทำมาหากินทั่วไปเปิดร้านหน้าร้านขายของขลังของเขา เมื่อมีปัญหาเขาจึงแทบไม่มีใครช่วยเหลือใด ๆ ได้ ผิดกับอาจารย์ก่ายที่มีนักการเมืองและตำรวจผู้มีอิทธิพลช่วยเหลือจนใช้ชีวิตได้อย่างมีอำนาจไม่ต้องเกรงกลัวสิ่งใดไม่ว่าจะงานขนศพผิดกฎหมายหรือผีสางใด ๆ ที่ก็พ่ายให้บารมีและอาคมของตน การนำเสนอชีวิตของมานพขนานไปกับอาจารย์ก่ายยิ่งแสดงภาพของความเหลื่อมล้ำและวิถีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับอำนาจในการมีชีวิตที่สุขสบายปลอดภัยหรือสุ่มเสี่ยงอันตรายบนทางแพร่งที่แต่ละคนก็รื้อมันไม่ได้ อย่างที่มานพจนตรอกและทางออกเดียวของตนบนโลกที่กดทับจนไม่มีทางที่จะมีชีวิตต่อไปได้และต้องกระทำนั่นคือ การชำระแค้น คนที่เขาคิดว่ากดขี่ชีวิตเขา ทั้งที่การชำระแค้นมันไม่แก้ไขปัญหาใด ๆ แต่มันคือทางเดียวที่เขาคิดออกและเลือกที่จะทำบนทางแพร่งที่เขาไม่มีอำนาจสร้าง นั่นคือทางเลือกของชีวิตเขาเอง ในตอนนี้เราจึงจะได้เห็นมานพกับการเลือกตัดสินใจแต่ไม่ใช่เจ้าของชะตาที่จะสร้างการกระทำที่ตนมีเจตจำนงของตนเองได้เลย การแก้แค้นในตอนท้ายจึงเป็นคำถามว่านั่นคือสิ่งที่เขาอยากทำหรือมันคือทางเดียวที่เขาคิดว่าเขามี

FOLKLORE SEASON 2

นี่เป็นเพียง 1 ใน 6 เรื่องจาก 6 ประเทศเอเชียที่ FOLKLORE SEASON 2 เลือกนำเสนอประเด็นสังคมเข้มข้นผ่านเรื่องผีตำนานสยองอย่างกลมกล่อมลงตัว จนอยากตั้งคำถามว่า “ความกลัวคือความรู้สึกที่ถูกปรุงแต่ง ความกลัวถูกสร้างขึ้นจากปัจจัยภายนอก หรือว่าความน่ากลัวทั้งหลายเป็นผลผลิตของสังคม”

คุยฉบับกระชับกับ 2 ผู้กำกับเบื้องหลัง FOLKLORE SEASON 2

นอกจากการชมซีรีส์แล้ว Sarakadee Lite ยังได้ร่วมสนทนากับ สิทธิศิริ มงคลศิริ ผู้กำกับตอน BROKER OF DEATH และ เซโกะ มัตสึดะ (Seiko Matsuda) ผู้กำกับจากญี่ปุ่นเบื้องหลังตอน The Day the Wind Blew ถึงการทำงานและประเด็นที่น่าสนใจของซีรีส์เรื่องนี้

สิทธิศิริ มงคลศิริ ผู้กำกับตอน BROKER OF DEATH
เซโกะ มัตสึดะ (Seiko Matsuda) ผู้กำกับตอน The Day the Wind Blew

ที่มาของการมาทำโครงการ FOLKLORE และวิธีเลือกเรื่องที่จะทำ

เซโกะ : มีครั้งหนึ่งตอนไปกินข้าวกับผู้กำกับ เอริค คู (Eric Khoo) เลยเล่าเรื่องน่ากลัว ๆ ของแต่ละที่ (แต่ละคน) เอริคเขาชอบและถูกใจเรื่องที่ฉันเล่าให้เขาฟังมากก็เลยเลือกและตกลงกันว่านำเรื่องนี้มาทำเป็นตอนหนึ่งในโปรเจกต์ซีรีส์ FOLKLORE แล้วทุกอย่างก็เริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนั้นเลยค่ะ ระหว่างที่ฉันเขียนบท เอริคก็ให้คำแนะนำฉันหลาย ๆ อย่าง พวกเราเริ่มเขียนบทกันและก็เข้าสู่กระบวนการโปรดักชัน ถ่ายทำซีรีส์

สิทธิศิริ : เกิดมาจากผมไปเจอข่าวครับ ที่เห็นว่ามีการขโมยศพขโมยกะโหลกของคนตายในป่าช้าเอาไปหลายกะโหลกเลยเอาไปทำเครื่องรางของขลัง เลยเริ่มรีเสิร์ชไปเรื่อย ๆ จนอ๋อ… ว่ามันมีกระบวนการมีธุรกิจมีคนที่เกี่ยวข้องกับการทำสิ่งนี้ไม่ต่างจากธุรกิจอื่น ๆ เลยสนใจและเป็นที่มาของการทำตอน BROKER OF DEATH

ในยุคปัจจุบัน “ผี” ในความหมายทางสังคมถูกมองแตกต่างจากอดีตอย่างไร

เซโกะ : สำหรับตัวฉันเองคิดว่าไม่ว่าวิถีชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนแปลงหรือเทคโนโลยีในยุคนี้จะพัฒนาหรือเจริญขึ้นมากเพียงใด ตัวฉันเองก็คิดว่าอย่างไรก็มีสิ่งที่มันเป็น Spiritual (เรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติ) อยู่แน่ ๆ เรื่องแบบนี้ไม่ได้มีแค่ในญี่ปุ่นเพียงอย่างเดียว แต่ที่ไหน ๆ บนโลกก็มีเช่นกัน ไม่ว่าโลกจะถูกพัฒนาให้มันทันสมัยขึ้นอย่างไรแต่ฉันคิดว่าเรื่องราวของภูตผีวิญญาณ เรื่องผี ๆ Spiritual ก็ยังคงมีอยู่ แล้วคนที่ได้พบได้เห็นก็คงจะคิดว่าเรื่องผีแบบนี้ก็มีด้วย และคงเปิดใจยอมรับการมีอยู่ของเรื่องราวเหล่านี้ แม้ว่ามันจะดูน่าเหลือเชื่อขนาดไหน คงจะคิดว่า “มันเป็นเรื่องน่าพิศวงมาก ๆ เลย” หรือแบบว่า “อ๋อ แบบนี้ก็มีด้วย” และคิดว่าก็คงจะยอมรับเรื่องนี้อย่างเป็นธรรมชาติด้วย

สิทธิศิริ : ถ้าเราพูดเรื่องเครื่องรางของขลังหรือเรื่องความเชื่อ ถ้าเรามองในฐานะที่ว่าทำไมเรื่องนี้มันคงอยู่กับเรามาขนาดนี้แล้วคนก็รีแอ็กกับมันเหมือนกันนะครับ จริง ๆ ไม่ใช่ว่าคนต่างจังหวัดจะรู้สึกมากกว่าคนกรุงเทพฯ อันนี้ผมเถียง บางคนที่ไม่ว่าจะเป็นมหาเศรษฐีหรือจบดอกเตอร์ก็เชื่อมาก ๆ ผมสนใจเรื่องนี้และพยายามจะทำหนังที่ตั้งคำถามถึงมันซึ่งส่วนตัวก็ยังไม่เจอคำตอบ และยังตั้งคำถามต่อไปว่ามันเพราะสิ่งไหนวะ? มันช่วยเราไหมวะ ? มันมีจริงไหมวะ? มันเป็นคำถามที่เรามองความเชื่อในมิติที่มันเกี่ยวกับสังคมเกี่ยวกับมนุษย์มากกว่า และทำไมเราไม่เคยปฏิเสธมัน และส่วนตัวก็ไม่ปฏิเสธถึงแม้มันจะไม่ช่วยเราเลย ในหนังก็ตั้งคำถามอยู่ว่าเรื่องนี้จะตอบอย่างไรกันแน่

สำหรับเซโกะขั้นตอนการทำงานระหว่างงานนักร้อง นักแต่งเพลง สู่การเขียนบทและกำกับ มีความแตกต่างกันอย่างไร

เซโกะ : ถ้าเป็นการร้องเพลง ฉันก็จะเป็นคนร้อง ส่วนใหญ่ก็ร้องเพลงคนเดียวเกือบตลอดเลยด้วย หรือการแต่งเพลง ทำผลงานเพลง ฉันก็จะทำเองคนเดียวค่ะ แต่ถ้าเป็นการทำซีรีส์ เขียนบทจะต้องเกี่ยวข้องกับคนหลาย ๆ คน ทีมงานที่มาร่วมสร้างซีรีส์นี้ด้วยกัน ฉันคิดว่าจุดนี้เป็นข้อแตกต่างที่เห็นได้เด่นชัดเลยค่ะ แล้วมันก็แตกต่างตรงที่เรื่องราวในซีรีส์เรื่องนี้ที่ฉันสร้างขึ้นมา ฉันไม่ได้แสดงเรื่องนี้ผ่านตัวของฉันเอง แต่เป็นทางทีมนักแสดงที่พวกเขาต้องมาถ่ายทอดผลงานของฉันผ่านการแสดงและการเคลื่อนไหวทางร่างกายของพวกเขา ถ้าเป็นการร้องเพลง เพลงของฉัน มันถูกถ่ายทอดผ่านเสียงของฉัน ตัวของฉันเอง กระบวนการผลิตผลงานที่ฉันทำเองคนเดียว แต่สำหรับการสร้างซีรีส์ที่ต้องใช้แรงกายแรงใจของทุก ๆ คนมารวมเป็นหนึ่งใจเดียวกันเพื่อสร้างผลงานให้ออกมาดีที่สุด มันต่างกันมาก ๆ เลยค่ะ

ภาพจากตอน The Day the Wind Blew

สำหรับสิทธิศิริ ตอนที่คุณกำกับเป็นเสมือนหนึ่งในตัวแทนของความเป็นประเทศไทยในขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงซึ่งในประเด็นเรื่องความเชื่อ ความจน ในซีรีส์ของคุณก็ดูจะเกี่ยวกับเรื่องนี้ คุณคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย

สิทธิศิริ : ส่วนตัวคิดว่า ยิ่งถ้ามองว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติเรายิ่งต้องไม่ปล่อยให้เป็นแบบนั้น ในฐานะที่เราอยู่ในสังคมเดียวกันคงต้องชวนกันคิดว่ามีหนทางไหนที่จะแก้ไขหรือบรรเทามัน ผมว่ามันต้องยุติธรรมด้วยนะ ถ้าเรามองว่ามันเป็นธรรมชาติของทุนนิยม ธรรมชาติของโลกนี้ แล้วคุณจะปล่อยให้มันเป็นธรรมชาติแบบนี้เหรอ มนุษย์ควรตั้งคำถามกับสิ่งนี้เหมือนกัน แล้วก็เป็นประเด็นที่หนังเรื่องนี้ตั้งคำถามอยู่ครับ

Fact File

  • สามารถรับชม FOLKLORE SEASON 2 ได้ทาง HBO GO
  • Folklore เป็นออริจินัลซีรีส์สยองขวัญเรื่องแรกของ HBO Asia ซีรีส์หลายตอนใน Folklore ซีซัน 1 เคยได้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่สำคัญ
  • ผู้กำกับใน FOLKLORE SEASON 2 ได้แก่ เลี่ยว ซื่อหาน (Shih-Han Liao) จากไต้หวัน, เซโกะ มัตสึดะ (Seiko Matsuda) จากญี่ปุ่น, โดม-สิทธิศิริ มงคลศิริ จากประเทศไทย, อีริค แมตตี้ (Erik Matti) จากฟิลิปปินส์, บิลลี่ คริสเตียน (Billy Christian) จากอินโดนีเซีย และ นิโคล มิโดริ วู้ดฟอร์ด (Nicole Midori Woodford) จากสิงคโปร์ โดยมี อีริค คู (Eric Khoo) ผู้สร้างภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลของสิงคโปร์กลับมารับหน้าที่โชว์รันเนอร์

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน