นี่หรือคือชีวิต ถ้าอย่างนั้นขออีกสักครั้ง : สูตรการมีชีวิตอยู่ฉบับ Itaewon Class
Lite

นี่หรือคือชีวิต ถ้าอย่างนั้นขออีกสักครั้ง : สูตรการมีชีวิตอยู่ฉบับ Itaewon Class

Focus
  • Itaewon Class ธุรกิจปิดเกมแค้น เป็นซีรีส์ที่ดัดแปลงมาจากเว็บตูนที่โด่งดังในโลกออนไลน์ของเกาหลีใต้ ตั้งแต่เริ่มฉายเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ก็สามารถกวาดเรตติ้ง Netflix ประเทศไทยเข้ามาติดอันดับ 1 ใน 5 อย่างรวดเร็ว
  • ความสนุกของเรื่องคือการนำชั้นเชิงธุรกิจและแนวคิดของคนรุ่นใหม่มานำเสนอ ในมุมมองที่อาจจะขบถต่อกฏเกณฑ์ทางสังคมนิดๆ ขนานไปกับภาพแนวคิดของนักธุรกิจอีกยุคที่ออกไปในแนวอนุรักษ์นิยม

หากรู้สึกว่าชีวิตนี้มันยากนัก การจะหลับฝันหวานให้สนิทสักคืนมันช่างขมขื่น หรือรู้สึกว่าการเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสำเร็จรออยู่ปลายทางมันไม่ง่าย ซีรีส์การบริหารธุรกิจฉบับชั้นเรียนสตาร์ทอัพ ฉากชีวิตคนรุ่นใหม่เกาหลีใต้ Itaewon Class ธุรกิจปิดเกมแค้น อาจจะเป็นอีกหนึ่งประกายที่ช่วยเติมพลังในช่วงที่คุณรู้สึกกำลังแย่สุดๆ เลยก็ได้ เพราะสำหรับ Itaewon Class หากความขมขื่นคือชีวิต พวกเขายังยืนยันจะขอใช้ชีวิตอีกสักครั้ง

เมื่อชีวิตอยู่ในภาวะติดลบ “แล้วไง ชีวิตนายพังแล้วเหรอ”

Itaewon Class เล่าเรื่องชีวิตหนุ่มสาวกลุ่มเล็กๆ ในเกาหลีใต้ที่อาจหาญลุกขึ้นมาทำธุรกิจ ทั้งๆ ที่แต่ละคนล้วนมีต้นทุนชีวิตที่สังคมและวงธุรกิจชั้นนำย้ำเสมอว่านี่คือ ภาวะติดลบ

เริ่มจาก พัคแซรอย (รับบทโดย พัคซอจุน) บุคคลต้นเรื่อง ที่เริ่มภาวะติดลบจากการโดนไล่ออกจากโรงเรียนมัธยมปลาย พ่อตายอย่างไม่ได้รับความยุติธรรม แถมตัวเองยังต้องติดคุก และต้องออกไปทำงานประมงน้ำลึกนานถึง 7 ปี ก่อนจะเก็บเงินมาเปิดบาร์เล็กๆ ทันบัม กลางย่านสุดหรู Itaewon โดยมีจุดหมายคือการล้มยักษ์ใหญ่บริษัทด้านอาหารอันดับหนึ่งในประเทศ ชางกา ซึ่งเขาเชื่อมาตลอดว่าอยู่เบื้องหลังการตายของพ่อ

Itaewon Class
พัคแซรอยในวันที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนและกลายเป็นนักโทษ

ไม่เพียงตัวเอก พัคแซรอย เท่านั้น รอบข้างเด็กหนุ่มทรงผมหัวเกาลัดดูเหมือนจะเต็มไปด้วยผู้คนที่มีต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ในภาวะติดลบเช่นกัน อย่าง โอซูอา (รับบทโดย ควอนนารา) รักแรกของพัคแซรอย เด็กนักเรียนหญิงที่เติบโตในบ้านเด็กกำพร้า แต่ก็ยังมีฝันที่จะโผบินอย่างมีอิสระ

มาฮยอนอี (รับบทโดย อีจูยอง ) Transgender ที่ต้องคอยปกปิดสถานะทางเพศของตัวเองและทำงานอยู่ในโรงงานเงียบๆ กระทั่งเถ้าแก่พัคแซรอยให้โอกาสมาเป็นเชฟและค่อยๆ ส่งต่อความกล้าให้เธอประกาศต่อสังคมว่า “ฉันเป็น Transgender”

Itaewon Class
(จากซ้าย) ชเวซึงควอน และ มาฮยอนอี พนักงานรุ่นบุกเบิกทันบัม

ชเวซึงควอน  (รับบทโดย รยูคยองซู) พนักงานเสิร์ฟหัวร้อนแห่งทันบัมที่เคยจมอยู่กับความคิดที่ว่า นักโทษติดคุกไม่ควรมีที่ยืนในสังคม จนกระทั่งได้เจอพัคแซรอยที่ดึงเขาขึ้นมาจากโลกที่คนในสังคมคิดว่านักโทษ คนคุก ควรจะอยู่ด้วยคำพูดสั้นๆ

“ว่าไงนะ นายคิดว่าชีวิตตัวเองไร้ค่า ไอ้กระจอก”

ในเรื่องดูเหมือนจะมีแต่  จางกึนซู (รับบทโดย คิมดงฮี) ที่มาพร้อมโพร์ไฟล์ทายาทชางกา แต่ก็กลับติดลบด้วยการเป็นลูกนอกสมรสจนทำให้เขาแทบไม่มีตัวตนในบริษัท ส่วน โชอีซอ (รับบทโดย คิมดามี) หมวยน้อยอัจฉริยะ IQ 162 มาพร้อมความเก่งรอบด้าน สามารถหารายได้จากการเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ตามมากกว่า 7 แสนคน ตั้งแต่ยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย ทว่าใครๆ ก็มักจะบอกว่าเธอเป็นพวกต่อต้านสังคม และเธอก็เลือกที่จะทำเช่นนั้นด้วยการปฏิเสธระบบมหาวิทยาลัย (แม้จะสอบติดหลายที่) และออกมาใช้ชีวิตอย่างที่เธอเชื่อ นั่นก็คือการผลักดันความฝันของเถ้าแก่แห่งทันบัมให้เป็นจริง

Itaewon Class
โชอีซอ หมวยน้อยไอคิวสูงที่เลือกใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองเชื่อ

จงใช้ชีวิตตามคุณค่าที่ตัวเองกำหนด

เรื่องนี้จะจบลงภายใน 1 นาทีแรกหาก พัคแซรอย ซึ่งยังอยู่ในชั้นมัธยมยอมก้มหัวให้กับสิ่งที่เขาไม่เชื่อว่าถูกต้อง ตรงกันข้ามเขาตั้งใจจะใช้ชีวิตตามสิ่งที่เขาเชื่อว่าถูกต้อง แม้จะต้องถูกไล่ออกจากโรงเรียน อีกทั้งยังส่งผลให้พ่อต้องลาออกจากงาน เพราะความเชื่อในฐานะพ่อที่มีต่อลูกคนนี้เช่นกัน ซึ่ง “ความเชื่อ” ที่ว่าเป็นเหมือนหัวใจในตำราบริหารธุรกิจโดยคนรุ่นใหม่ฉบับ Itaewon Class ซึ่งแตกต่างจากเล่มของซางกาที่ประธานบริษัทค่อนไปทางหัวอนุรักษ์นิยมและย้ำว่า

“ความเชื่อมั่น ความทะเยอทะยาน เป็นเพียงคำพูดที่ไม่เอาไหน แต่หยิ่งในศักดิ์ศรี ถ้าเราไม่ได้อะไรเลย มันก็เป็นแค่ความดื้อด้าน และบ้าบิ่นเท่านั้น”

ความเชื่อมั่นและการเดินออกไปใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองเชื่อ ทำให้พัคแซรอยกล้าที่จะเชื่อใจในคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นการจ้างโชอีซอซึ่งเพิ่งเข้ามหาวิทยาลัยและไม่มีประสบการณ์ทำร้านอาหารมาเป็นผู้จัดการ การให้เงินเดือน มาฮยอนอี เชฟใหญ่ที่ไม่เคยเรียนทำอาหารมาก่อนเพิ่มเป็น 2 เท่า เพราะเชื่อว่าเขาก็จะพยายามทำอาหารเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่า ส่วนโชอีซอก็เชื่อมั่นว่าเธอจะสามารถฝากชีวิตไว้กับเถ้าแก่หัวเกาลัดคนนี้ได้ เธอจึงไม่ลังเลเมื่อแม่ยื่นคำขาดให้ออกจากบ้านถ้าไม่กลับเข้าสู่ระบบมหาวิทยาลัย และฝากคำลาไว้กับแม่ว่า

“หนูไม่ได้คอยพึ่งพาความฝันของใคร และหนูจะไม่แบกรับความฝันของแม่ด้วย หนูจะเลือกใช้ชีวิตเอง”

Itaewon Class
ประธานบริษัทชากาง ผู้นิยมคติปลาใหญ่กินปลาเล็ก

ร้านอาหารคือผู้คน ทันบัมคือครอบครัว

ในยุคหนึ่งลูกจ้างในบริษัทมักถูกปลูกฝังแนวคิดที่ว่าเพราะมีเจ้านายที่จ้างงาน พวกเขาจึงมีงานทำและรู้สึกว่าการจ้างงานนั้นต้องตอบแทนด้วยความกตัญญู เช่นเดียวกับ ชางกา บริษัทด้านอาหารอันดับหนึ่ง ในเรื่องที่ประธานบริษัทจะย้ำเสมอว่าตนเองคือชางกา และความแข็งแกร่งของซางกาคือทฤษฎีปลาใหญ่ไล่ฮุบกินปลาเล็กอย่างไม่ใยดี

แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวคิดนักธุรกิจรุ่นใหม่อย่างเถ้าแก่พัคแซรอยที่ย้ำกันคนรอบข้างเสมอว่า เขาแกร่งได้เพราะความเชื่อมันของคนรอบข้าง เขาเปิดร้านได้เพราะมีทุกคนในทีม ยิ่งลูกทีมเชื่อมั่น เถ้าแก่คนนี้ก็จะยิ่งเข้มแข็งยิ่งขึ้น ที่สำคัญเขากลับมองว่า ร้านอาหารคือผู้คน และผู้คนที่ว่าไม่ใช่แค่คนในทีม หรือลูกค้า แต่เขายังมองขาดไปถึงร้านรวงต่างๆ รอบข้างในย่านเดียวกัน เช่นในฉากทันบัมต้องถูกไล่ที่ย้ายไปอยู่ในย่านใหม่ที่ร้างผู้คน ร้านรวงในซอยต่างก็ใกล้จะล้มเต็มแก่ พัคแซรอยแก้เกมนี้ด้วยการชุบชีวิตร้านรวงทั้งซอยให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ให้ถนนทั้งเส้นเต็มไปด้วยซีนของความสนุกสนาน ผิดกับบริษัทใหญ่อย่างชางกาที่หากจะทำทั้งถนนให้ดูมีชีวิตชีวาย่อมแปลว่าเป้าหมายในการสร้างกำไรในภายหลัง ส่วนกำไรของเถ้าแกพัคแซรอยนั้นยังคงยืนอยู่บนฐานของความผูกพันและครอบครัว

ปลาเล็กกำลังจะฮุบปลาใหญ่

ความเจ๋งของซีรีส์เรื่องนี้คือไม่ใช่ซีรีส์โลกสวยที่พระเอกสามารถฟันฝ่าอุปสรรคในด้านต่างๆ ได้ฉลุย แม้พัคแซรอยจะดูเป็นเถ้าแก่ในอุดมคติ เป็นผู้ชายโลกสวยที่ดำเนินธุรกิจไปด้วยความพื้นฐานความสัมพันธ์ แต่ในทุกจังหวะการทำธุรกิจมีการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว จากคนที่ชีวิตติดลบต้องไปอยู่ในคุก แต่เขากลับบอกว่าชีวิตในคุกของเขาคือชีวิตจริงที่กำลังเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาหาความรู้ด้านธุรกิจจากห้องสมุดในเรือนจำ การค่อยๆ นำเงินเก็บเพียงเล็กน้อยมาลงทุนในกองทุนและหุ้นต่างๆ ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำ

Itaewon Class สร้างมาจากเว็บตูนเรื่องดังของเกาหลีใต้

เมื่อพ้นโทษเขารู้ว่าเงินเพียงเล็กน้อยย่อมไม่แข็งแกร่งพอที่จะเปิดร้านและแก้แค้นตามแผน 15 ปีที่วางไว้ พัคแซรอยสามารถใจเย็นเก็บเงินด้วยการทำประมงน้ำลึกถึง 7 ปี และเมื่อเปิดร้านเล็กๆ ทันบัมได้แล้ว แผนต่อไปจึงเป็นการก้าวสู่ธุรกิจด้านอาหารอันดับหนึ่งของประเทศ การเพิ่มหุ้น แตกสาขา ขยายธุรกิจไปต่างประเทศล้วนเป็นแผนที่ค่อยๆ ปล่อยออกมาให้ผู้ชมได้ลุ้นในแต่ละตอน ตัดสลับไปกับภาพการบริหารธุรกิจของบริษัทอันดับหนึ่งของประเทศอย่างชากาง ที่ท่านประธานมักจะย้ำกฏพื้นฐานของโลกใบนี้ที่ว่า “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก”

ตรงกันข้ามกับประโยคทัชใจของเถ้าแก่พัคแซรอยที่บอกไว้ตั้งแต่ตอนต้นเรื่องแล้วว่า “ผมเกิดมาตัวเปล่าก็จริง แต่ก็มีสิ่งที่อยากทำมากมาย เพราะว่าจน ไม่ได้เรียนหนังสือ เคยเป็นนักโทษ เลยคิดว่าทำไม่ได้เหรอ ถ้าคิดไปก่อนว่าเป็นไปไม่ได้แล้วจะไปทำอะไรได้ล่ะ”

นี่แหละ ! สูตรการบริหารธุรกิจและเลือกที่จะใช้ชีวิตฉบับItaewon Class

ภาพ : JTBC Drama


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์