ห้องสมุดลับ ที่ซ่อนอยู่ ใน พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ต้นแบบห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์
Lite

ห้องสมุดลับ ที่ซ่อนอยู่ ใน พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ต้นแบบห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์

Focus
  • สวธ. กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมมือกับทางมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดตัวห้องสมุดท้องถิ่น เป็นห้องสมุดลับที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ของ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
  • ห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน มีทั้งหนังสือหมวดทั่วไปและหมวดพิเศษเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ของ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

คุณเคยเข้า ห้องสมุดประจำจังหวัด หรือในท้องถิ่นใกล้บ้านครั้งสุดท้ายเมื่อไร หากคำตอบคือจำไม่ได้ พร้อมคำถามที่ตามมาว่าประเทศไทยเรายังมีห้องสมุดในท้องถิ่นอยู่จริงๆ หรือ วันนี้ Sarakadee Lite ขอชวนไปนั่งอ่านหนังสือในห้องสมุดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่อย่างลับๆ ท่ามกลางบรรยากาศคลาสสิกประเภทชมวัง ฟังเสียงคลื่นกันที่ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ซึ่งได้เปิดต้นแบบห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์ขึ้นพร้อมหนังสือที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 6

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่เป็นข่าวดีมากๆ เมื่อกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้จับมือกับ สำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิด ห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์พระราชนิเวศน์มฤคทายวันพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การพัฒนาและเสริมสร้างพื้นที่เรียนรู้โดยเฉพาะกับประชาชนในท้องถิ่นผ่านรูปแบบ ห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

มกุฎ อรดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปีพ.ศ. 2555 และ เลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการจัดทำห้องสมุดขนาดกระทัดรัดท่ามกลางบรรยากาศของพระราชวังไม้สักเก่าแก่แห่งนี้ว่า เพื่อต้องการเพิ่มกิจกรรมให้ผู้มาเที่ยวชมวังและพิพิธภัณฑ์ และกิจกรรมที่ว่านี้ยังเป็นประโยชน์ต่อการเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย หรืออย่างน้อยก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่พักผ่อนแต่เปี่ยมด้วยความรู้ให้คนในชุมชนโดยรอบ ให้ผู้มาเยือนสามารถหยิบหนังสือไปหามุมนั่งหย่อนใจอ่าน หรือใช้เป็นทางเลือกในการพักเหนื่อยหลังจากเดินเที่ยวจนทั่ว ค้นหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวพระราชนิเวศน์ ตลอดจนเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากตำรับตำราที่ทางห้องสมุดนำมาจัดวางไว้

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

ในส่วนของการจัดเรียงคัดเลือกหนังสือ ทิพภา ปลีหะจินดา บรรณารักษ์อาสาสมัคร ผู้รับอาสามาดูแลคัดเลือกหนังสือ จัดเรียง ปัดฝุ่น และคอยช่วยเหลือแนะนำ เผยว่า ห้องสมุดแห่งนี้จะใช้การจัดเรียงหนังสือโดยอิงตามคำค้นเป็นหลัก ไม่ได้อิงตามหลักวิชาการบรรณารักษ์ศาสตร์แต่อย่างใด ส่วนตัวอย่างของหมวดหนังสือก็มีทั้งหมวดพระราชนิพนธ์ พระราชประวัติ ประวัติศาสตร์ นวนิยาย เรื่องสั้น วรรณกรรมเยาวชน หนังสือสำหรับเด็ก และที่จะขาดไม่ได้คือหนังสือเกี่ยวกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

ความจริงการจัดทำห้องสมุดลับๆ ที่หลายคนยังไม่ค่อยรู้ในพิพิธภัณฑ์พระราชนิเวศน์มฤคทายวันได้ทดลองนำร่องมาเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว ซึ่งเบื้องต้นได้รับเสียงตอบรับในทางบวก ทำให้ทาง สวธ. กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมมือกับทางมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ผลักดันเปิดใช้ห้องสมุดแห่งนี้อย่างเป็นทางการ และหวังให้เป็นต้นแบบในการสร้างห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศไทย ทำให้พิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมหรือพื้นที่เรียนรู้ที่ผู้มาเยือนสามารถเข้ามาค้นคว้าหาข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี สถาปัตยกรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นนั้นๆ

ห้องสมุด

มงคลทิพย์ รุ่งงามฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายและชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มเป้าหมายของห้องสมุด ครอบคลุมทุกช่วงวัย เช่น กลุ่มเด็กและเยาวชนที่จะมีหนังสือเป็นเครื่องมือชักชวนเพื่อนๆ หรือผู้ปกครองมาทำการค้นคว้าหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมถึงได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมในพระราชนิเวศน์มฤคทายวันมากขึ้น ขณะที่ ผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทั่วไปก็มีโอกาสเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อย่างเข้าใจลึกซึ้ง ตลอดจนได้ความรู้ด้านอื่น ๆ จากหนังสือขณะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ซึ่งทางพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเองก็จะมีช่องทางเผยแพร่ข้อมูลเชิงลึกแก่สาธารณชนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ห้องสมุด

พื้นที่ในการจัดตั้งห้องสมุดภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ห้องสมุดเพื่อการศึกษาค้นคว้า โดยจะพัฒนาห้องสมุดให้เป็นแหล่งรวบรวมหนังสืออ้างอิงหรือเอกสารสำคัญที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี งานศิลปะในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และหนังสืออ้างอิง เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอันเป็นข้อมูลที่อาจจะหาอ่านไม่ได้ง่ายๆ ตามห้องสมุดหรือร้านหนังสือทั่วไป

ห้องสมุด

อีกส่วนคือ ห้องสมุดศาลากลางแจ้ง เป็นแหล่งรวบรวมหนังสือทั่วไปและอนุญาตให้บุคคลทั่วไปยืมได้ หนังสือส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความรู้พื้นฐาน สภาพแวดล้อมบริเวณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน รวมถึงหนังสือทั่วไป หนังสือสำหรับเด็ก ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

นอกจากโอกาสที่จะได้ค้นคว้าหาความรู้จากห้องสมุดแล้ว ยังได้เพิ่มกิจกรรมการจัดทำวิธีสมุดบันทึก หรือที่เรียกว่า วิชาหนังสือ ให้แก่เด็กและเยาวชน ที่เข้ามาเยือนพิพิธภัณฑ์พระราชนิเวศน์มฤคทายวันแห่งนี้ด้วย เพื่อเป็นการฝึกให้เด็กๆ ได้รู้จักแสดงความคิด จินตนาการได้อย่างอิสระ ต่างจากการตีกรอบความคิดแบบการเรียนวิชาเรียงความทั่วไป ซึ่งเด็ก ๆ จะสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ การมาเยือนและใช้บริการห้องสมุดแห่งนี้ไม่ได้มีระเบียบข้อบังคับกะเกณฑ์ที่ยุ่งยากแต่อย่างใด เพียงแค่ก้าวเข้ามาเลือกหาหนังสือที่ถูกใจแล้วเดินไปหามุมที่ต้องใจนั่งอ่าน หรือจะเดินอ่านก็ได้ทั้งนั้น เพียงแค่ตอนขากลับอย่าลืมแวะมาคืนหนังสือที่ห้องสมุดก็พอ

แม้ว่าช่วงนี้ ทางพิพิธภัณฑ์พระราชนิเวศน์จะยังไม่เปิดบริการให้บุคคลทั่วไปมาเยือนเนื่องจากติดปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทว่า หากพิพิธภัณฑ์เปิดรั้วเมื่อใด ห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ย่อมครึกครื่นแบบเงียบสงบแต่ไม่เงียบเหงาแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ใครที่ไม่อยากรอนาน ทางพิพิธภัณฑ์แย้มมาว่า จะเปิดชั่วคราวให้บุคคลทั่วไปมาเยือนในระหว่างวันที่ 19-20 กันยายน 2563 ถ้าใครว่าง ไม่รู้ไปไหน ลองชวนคนใกล้ตัวคนรู้ใจ มาเยือนยลวัง ฟังเสียงคลื่น แล้วชื่นชมกับตัวอักษร ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายนวัน กันดูสักครั้ง


Author

นงลักษณ์ อัจนปัญญา
สาวหมวยตอนปลาย ผู้รักการอ่าน ชอบการเขียน สนใจเหตุบ้านการเมืองในต่างแดน และกำลังอยู่ในช่วงการฝึกฝนสายวีแกน