Music to Cook By : ประโลมใจด้วยเสียงเพลงพร้อมพินิจปัญญาจากหม้อแกง ในความเรียงฉบับ โตมร ศุขปรีชา
Lite

Music to Cook By : ประโลมใจด้วยเสียงเพลงพร้อมพินิจปัญญาจากหม้อแกง ในความเรียงฉบับ โตมร ศุขปรีชา

Focus
  • Music to Cook By ผลงานความเรียงรวมเล่มเปี่ยมรสนิยมของ โตมร ศุขปรีชาได้นำคอลัมน์ “Music to Cook By”ที่เขาได้เขียนลงนิตยสาร Home & Decor มารวมเล่ม
  • Music to Cook By เล่าความรู้รอบตัวทั้งอาหาร บทเพลง และความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตของโตมร

Music to Cook By ผลงานความเรียงรวมเล่มเปี่ยมรสนิยมของ โตมร ศุขปรีชา บรรณาธิการ นักแปล และนักเขียนผู้คร่ำหวอดในการเล่าความรู้รอบตัว ตั้งแต่จริงจังชวนคิดไปจนถึงวิถีชีวิตสะท้อนยุคสมัยให้มาบรรจบประกอบเป็นเรื่องราวที่มีรสชาติเฉพาะ คงไว้ซึ่งสาระน่ารู้ และภาษาบรรยากาศการอ่านแบบผ่อนคลาย

สำหรับเล่มนี้โตมรได้นำคอลัมน์ Music to Cook By ที่เขาเคยได้เขียนลงนิตยสารแต่งบ้าน Home & Decor มารวมเล่ม เล่าถึงการทำอาหารและรสนิยมการฟังเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิตของเขาอย่างน่าสนใจ ตั้งแต่การเชื่อมโยงประสบการณ์การทำอาหารและการเปิดเพลงให้เข้ากับประสบการณ์ที่ตนคิดได้จากกาละและเทศะต่างๆ เช่น ประสบการณ์เมื่อครั้งเดินทางไปต่างประเทศ หรือการคิดคำนึงถึงอดีตผ่านอาหารและบทเพลงที่บรรเลงเหล่านั้น

สร้างปัญญาจากตะหลิวและเสียงเพลง

ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้นอกจากการแสดงให้เห็นรสนิยมที่กว้างขวางและน่าสนใจของผู้เขียนแล้ว ยังเป็นความชำนาญในการลากเส้นบรรจบกันของความรู้รอบตัว ทั้งการทำอาหาร การฟังเพลง เข้ากับประสบการณ์ในชีวิตของโตมรที่มีทั้งความคิดที่ชัดเจนตรงไปตรงมาในประเด็นต่างๆ เช่นในเรื่อง Rosemary. Don’t worry. ที่เขาเล่าถึงวันที่ฝนตกจนอาการ S.A.D. Syndrome ของตัวเองกำเริบ จนทำให้เขาคิดถึงที่มาแห่งความเศร้าอันลึกลับ

“บางทีเราก็ไม่รู้ตัว, ว่าเราเศร้า
และยิ่งไม่รู้ใหญ่, ว่าเหตุใดเราจึงเศร้า
เมื่อเศร้า ผมจึงเดินเข้าครัว”

โตมรได้ผสานความรู้สึกส่วนตัวเข้ากับกิจกรรมในวิถีชีวิตเพื่ออธิบายบางอย่างที่เป็นนามธรรมอย่างความไม่รู้และความรู้สึก เขาได้โยงเอา โรสแมรี เครื่องเทศในครัวเข้ากับการมีอยู่ของโรสแมรีในบทละคร แฮมเล็ต (Hamlet) ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ในฐานะเครื่องเทศแห่งความทรงจำจากวรรคทองของเรื่องที่ว่า

“There’s rosemary, that’s for remembrance; pray, love, remember”

หรืออย่างคำอธิบายเรื่องกลิ่นกับความทรงจำของ โบเดอแลร์ (Baudelaire) ที่พูดถึง “กลิ่นเป็นพาหนะนำพาเรื่องในอดีตสู่สมองเราได้ดีที่สุด” เขาใช้ความหมายจากการบรรจบกันของความรู้ดังกล่าวมาต่อยอดสู่เมนู ซุปฟักทองใส่โรสแมรีกับมะเขือเทศตากแห้ง ในขณะที่ฝนตก ความขาดแคลนแสงแดดที่จะต้องนำมะเขือเทศมาตากแห้งมีพอๆ กับความขาดแคลนความรู้เกี่ยวกับต้นตอของความเศร้า เขาจึงพยายามทำเมนูนี้ในวันที่เม็ดฝนร่วงพรูพร้อมกับการฟังเพลง “Why Worry?” ของ Dire Straits ประกอบจังหวะการครัว โดยในท้ายที่สุดหลังจากที่โตมรนำผู้อ่านเข้าสำรวจความรู้ที่เขามีอันเชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัว พร้อมทั้งบทเพลงประกอบจนกลมกล่อมแล้ว เขาได้ข้อสรุปถึงวันเศร้าฝนพรำนี้จากเพลงและกิจกรรมทำซุปที่เขาทำจนผลาญเวลาเศร้าให้เลยไป กระทั่งเขาได้ตระหนักในตอนท้ายของความเรียงชิ้นนี้ว่า

“บางครั้งเราก็ไม่รู้เอาจริงๆ ว่าอะไรคือต้นเหตุของความเศร้า
แต่เราสามารถรู้ได้ใช่ไหมว่า ทำอย่างไรเราจึงจะหายเศร้า”
…อย่ากังวลไปเลย…

ในท้ายที่สุดเขาทำให้เห็นถึงกิจกรรมสิ่งละอันพันละน้อย รวมทั้งเกล็ดความรู้ที่สร้างความเพลิดเพลินทั้งหลายเยียวยาความเศร้าด้วยการย้ายความรู้สึกบางอย่างไปสลับผูกกับความคิดมากมาย จนความเศร้าสามารถเลือนไปแม้ในท้ายที่สุดเขาอาจไม่ได้คำตอบที่เราตั้งใจถามแต่เราได้รับรู้วิถีทางที่จะนำพาตัวเองออกจากความรู้สึกเศร้าได้และต่อให้ไม่ได้คำตอบแต่การได้เจอประตูออกไปก็น่าจะคลายกังวลไปได้เช่นกัน

หนังสือเล่มนี้จึงไม่เพียงแนะนำสูตรอาหารและการสำแดงรสนิยมอันมากจริต แต่ยังนำพาไปสู่ความคิดแบบต่างๆ เกล็ดความรู้สัพเพเหระที่อาจไม่ใช่คำตอบของคำถามอันซับซ้อน แต่ทั้งหมดทั้งมวลของหนังสือ Music to Cook By ทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงความสำคัญของความรู้รอบตัวและความรู้ที่ได้จากชีวิตผ่านสิ่งรอบตัวอย่างละเอียดลออ และทำให้การใช้ชีวิตบนความใคร่รู้สาระสรรพสิ่งดังนี้น่าสนุกขึ้นไปพร้อมกับการตกผลึกปัญญาจากชีวิต

จุดตัดของความคิดและชีวิตในหม้อแกงที่ไม่มีบทสรุป

“ถ้าคุณรู้สึกเหนื่อยกับชีวิต หรือเศร้าสร้อยกับความเป็นไปของโลก บางทีคุณอาจจำเป็นต้องปรุงอาหารสูตรเข้มข้นสักหนึ่งหม้อใหญ่ แล้วก้มหน้าก้มตากินมันเข้าไปด้วยความรู้สึกคล้ายอยู่ในงานเฉลิมฉลอง”

บางช่วงบางตอนโตมรได้พาสำรวจความรื่นรมย์ในการทำและกินอาหารไปพร้อมกับการฟังเพลงในฐานะสิ่งที่เยียวยาจิตใจ ทั้งยังพาข้ามเวลาอันย่ำแย่หรือเปลี่ยวเหงา เขานำเสนอให้เห็นสุนทรียะจากอาหารและบทเพลงที่นอกจากความอิ่มท้องสู่การเติมเต็มชีวิตบางช่วง อาหารและบทเพลงเป็นการประกอบกันของรสชาติ กลิ่น และเสียงซึ่งต่างก็ทำงานกับผัสสะของเราและให้ผลหลายแบบ โตมรสำรวจผลที่ได้จากการสัมผัสสุนทรียะจนถึงนำมาครุ่นคิดต่อ อย่างเช่นในตอน “เรื่องของไก่ต้ม” โตมรเล่าถึงประสบการณ์ที่ตนมีต่อเมนูไก่ต้มของครอบครัว ไปจนถึงประสบการณ์ที่ตนมีต่องานศพของครอบครัว โตมรสังเกตเห็นภาพถ่ายงานศพของตาและยายของเขาที่พบว่าทุกคนในรูปมีรอยยิ้ม ซึ่งดูขัดแย้งกับกสถานการณ์ที่เป็นงานสูญเสียบุคคลสำคัญของครอบครัว แต่โตมรก็คิดต่อจากรอยยิ้มที่ดูไม่มีเหตุผลสู่ความคิดคำนึงว่า

“ความสนุกเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในแวดล้อมของบรรยากาศบางอย่าง ณ ขณะเวลานั้น แล้วรอหลั่งน้ำตาเพียงลำพังในค่ำคืน”

ในส่วนนี้เขาได้นำพาจากเมนูอาหารสู่ความซับซ้อนทางความรู้สึกที่ยากจะอธิบาย ซึ่งส่วนนี้เองเป็นจุดแข็งที่น่าสนใจของ Music to Cook By ที่จะทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือนำเสนอวิถีชีวิตของคนที่เขียนมันขึ้นอย่างเดียว แต่เป็นการยกบางส่วนของประสบการณ์ชีวิตมาชวนให้ผู้อ่านคิดคำนึงถึงเรื่องราวที่ซับซ้อนยากที่จะเข้าใจ และแสดงให้เห็นถึงจุดตัดทางความรู้สึกกับเหตุผลที่บางครั้งไม่อาจสรุปได้โดยง่ายอย่างคมคาย จนท้ายที่สุดจุดตัดนี้เองที่อาจเป็นวิถีแบบหนึ่งของชีวิตมนุษย์ เหมือนในช่วงหนึ่งที่โตมรกำลังยกตัวอย่างการค้นหาความสุขในชีวิต เขาเสนอว่าหากการมองดอกไม้บานเป็นความสุข เราอาจต้องสามารถควบคุมการบานของดอกไม้ให้ได้ แต่แท้ที่จริงเราทำไม่ได้ ความสุขจึงอยู่ในพื้นที่พิศวงเหนือการควบคุมของมนุษย์ ในความเรียงลักษณะนี้เองที่โตมรได้แสดงความคิดคมคายออกมาประจักษ์กับคนอ่าน ซึ่งความคมคายเหล่านั้นตกผลึกจากสิ่งรอบตัวของเขาเอง

Music to Cook By จึงเป็นความเรียงที่ทั้งอ่านได้เพลิดเพลินจากเรื่องราวของโตมรพร้อมทั้งชวนประกอบสร้างความคิดจากประสบการณ์ของผู้อ่านผ่านตัวอย่างกรอบคิดฉบับโตมร ซึ่งถือเป็นมิติที่น่าสนใจสำหรับหนังสือเล่มนี้ที่จะทำให้ความหมายของการทำอาหารและการฟังเพลงขยายกรอบจากความผ่อนคลายไปสู่การสร้างปัญญา ด้วยกระบวนการบรรจบกันของประสบการณ์ส่วนตัวเข้ากับความรู้รอบตัวที่สามารถค้นหาได้ไม่รู้จบในชีวิตของแต่ละบุคคลด้วยตนเอง

Fact File

• Music to Cook By : ความเรียงว่าด้วย อาหาร ดนตรี ชีวิต
• เขียน : โตมร ศุขปรีชา
• สำนักพิมพ์ : Brown Books
• ราคา 260 บาท


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน