10 พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566 เก็บเข้า Bucket List ห้ามพลาด
Lite

10 พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566 เก็บเข้า Bucket List ห้ามพลาด

Focus
  • วงการศิลปะคึกคักตั้งแต่ปลายปี 2565 กับการเปิดพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลก เช่น เฟสแรกของ Ghibli Park, teamLab Massless Beijing และ Sydney Modern Project
  • พิพิธภัณฑ์อีกหลายแห่งเตรียมเปิดให้บริการในปี 2565 เช่น หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย, Grand Egyptian Museumที่อิยิปต์ และ Warner Bros. Studio Tour Tokyo ที่ญี่ปุ่น
  • พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566 ที่น่าสนใจทั่วโลกนั้นมีหลากหลาย ทั้งประวัติศาสตร์ ชีววิทยา ศิลปะ โบราณคดี

รับปีใหม่ด้วย 10 พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566 ที่แนะนำว่าควรเก็บเข้า Bucket List ต้องห้ามพลาด บางแห่งเพิ่งเปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อปลายปี 2565 เช่น เฟสแรกของ Ghibli Park ที่แฟนคลับสตูดิโอจิบลิต้องไม่พลาด teamLab Massless Beijing ในกรุงปักกิ่งสำหรับสายศิลปะดิจิทัลสุดล้ำ และโฉมใหม่ที่อลังการกว่าเดิมของ Art Gallery of New South Wales ในนครซิดนีย์กับโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า Sydney Modern Project

สำหรับปี 2566 เตรียมตัวพบกับอีกหลายพิพิธภัณฑ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจ อาทิ พิพิธภัณฑ์ด้านโบราณคดีที่ใหญ่ที่สุดในโลกกับ Grand Egyptian Museum ที่ประเทศอียิปต์ Warner Bros. Studio Tour Tokyo สำหรับเหล่าแฟนคลับพ่อมดแฮร์รี่ และในประเทศไทยกับการเปิดตัวหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย เพื่อรองรับการจัดงานมหกรรมศิลปะนานาชาติ ไทยแลนด์อาร์ตเบียนนาเล่เชียงราย ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567

01 หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

กรุงเทพฯ, ไทย

หอศิลป์แห่งชาติแห่งใหม่ภายใต้การดำเนินการของสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมได้เปิดพื้นที่จัดแสดงงานบางส่วนเป็นครั้งแรกไปแบบเงียบๆเมื่อเดือนธันวาคม 2565 กับนิทรรศการนำร่องที่นำเสนอผลงานสะสมประจำปีงบประมาณ 2565 ของ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) จำนวน 97 ชิ้นจาก 20 ชุดผลงานของ 16 ศิลปินไทยร่วมสมัย

หอศิลป์ดำเนินการจัดสร้างมาตั้งแต่ปี 2560 ตัวอาคารสามชั้นตั้งอยู่ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยในย่านรัชดา กรุงเทพฯ มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 19,000 ตารางเมตร และโดดเด่นด้วยประติมากรรมขนาดใหญ่รูปสุนัข “ไอ้จุด” โดย วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ตั้งอยู่บริเวณลานสนามหญ้าด้านหลังอาคารซึ่งเป็นหนึ่งในงานสะสมของ สศร. ในงบประมาณปี 2564 แม้ภายนอกตัวอาคารมีความเสร็จสมบูรณ์พร้อมแต่คาดหมายว่าจะมีการเปิดใช้งานจริงแบบเต็มพื้นที่ได้ภายในปี 2566

ทั้งนี้เพื่อเป็นการทดลองระบบและการปฏิบัติการ ในเบื้องต้นทางกระทรวงวัฒนธรรมจึงได้เปิดห้องจัดแสดงหมายเลข 4 บริเวณชั้น 1 เพื่อนำเสนอผลงานสะสมของ สศร. ประจำปีงบประมาณ 2565 ที่ได้งบจัดซื้อผลงานศิลปะราว 17 ล้านบาทให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมเป็นระยะเวลา 1 เดือนเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน-25 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

02 หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย

เชียงราย, ไทย

นอกเหนือจากวัดร่องขุ่นของศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และพิพิธภัณฑ์บ้านดำของศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ ถวัลย์ ดัชนี อีกหนึ่งแลนมาร์กศิลปะที่กำลังจะเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงรายในปี 2566 คือ หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย เพื่อปักหมุดให้เชียงรายเป็นเมืองศิลปะที่เชื่อมผู้คน ศิลปินและศิลปะเข้าด้วยกันโดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในฐานะพื้นที่แสดงงานหลักในเขตเมืองเชียงรายของมหกรรมศิลปะนานาชาติ ไทยแลนด์อาร์ตเบียนนาเล่เชียงรายที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 ธันวาคม 2566-30 เมษายน 2567

โครงการเริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ต้นปี 2565 บนพื้นที่จำนวน 17 ไร่ ที่ได้รับบริจาคจากนักธุรกิจ ทวีชัย อร่ามรัศมีกุล โดยในเฟสแรกเป็นอาคารร่วมสมัยสี่ชั้นครึ่งและมีพื้นที่ใช้สอยราว 3,000 ตารางเมตรสำหรับเป็นพื้นที่จัดแสดงงาน มิวเซียมช็อป คาเฟ่และสำนักงาน

(ภาพ: หอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย)

“เฟสแรกบนเนื้อที่ราว 4 ไร่ใช้งบประมาณราว 35 ล้านบาท จากการสนับสนุนของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ปีกซ้ายและขวาของอาคารจะเป็นหอคอยขาวและหอคอยดำซึ่งเป็นสัญลักษณ์หมายถึงศิลปินเชียงรายที่ยิ่งใหญ่ทั้งสองท่านคือ อาจารย์เฉลิมชัย และ อาจารย์ถวัลย์ เราจะมีสกายวอล์คเชื่อมหอคอยทั้งสอง และเป็นจุดชมวิวด้วย อีกทั้งยังมีห้องนิทรรศการถาวรจัดแสดงงานศิลปะของทั้งสองท่านด้วย ในขณะนี้โครงสร้างอาคารใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้วและเมื่อปรับภูมิทัศน์ทั้งหมดคาดว่าจะเปิดตัวอย่างไม่เป็นทางการได้ในเดือนเมษายน 2566 หลังจากนั้นเราจะจัดอิเวนต์เพื่อสร้างการรับรู้และรับรองว่าพร้อมรองรับงานไทยแลนด์อาร์ตเบียนนาเล่ แน่นอน” สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย ผู้ซึ่งเป็นแกนหลักในการดำเนินโครงการหอศิลป์กล่าว

สำหรับเฟส 2 สุวิทย์เปิดเผยว่าจะดำเนินการหลังมหกรรมศิลปะไทยแลนด์อาร์ตเบียนนาเล่จบโดยจะมีอาคารพิพิธภัณฑ์ที่ขนาดใหญ่กว่าอาคารในเฟสแรก พร้อมทั้งโรงละครและหอประชุมซึ่งจะใช้งบประมาณราว 200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังจะมีการก่อสร้างหมู่บ้านศิลปินบนพื้นที่ราว 10 ไร่ แบ่งเป็น 23 ล็อตและแต่ละล็อตมีขนาด 1 งานเพื่อให้ศิลปินที่สนใจได้ซื้อที่ดินทำเป็นสตูดิโอโดยมุ่งหวังให้เชียงรายเป็นศูนย์กลางศิลปะร่วมสมัยและเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบศิลปะ

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ facebook.com/ArtBridgeChiangRai

03 Ghibli Park

ไอจิ,ญี่ปุ่น

หนึ่งใน พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566 ที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากคือ Ghibli Park ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 และแน่นอนว่าแฟนคลับแอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิทั่วโลกรอคอยการมาของ Ghibli Park แห่งนี้มาเป็นเวลาหลายปี ที่นี่ไม่ใช่แค่ธีมพาร์คสวนสนุก แต่ยังเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ทั้งรวบรวมทุกเรื่องราวของสตูดิโอจิบลิมาไว้ที่นี่

Ghibli Park ตั้งอยู่ ณ เมืองนางาคุเตะ จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น บนพื้นที่ใน Aichi Expo Memorial Park ซึ่งเคยเป็นสถานที่จัดงาน World Expo 2005 โดยในเฟสแรกเปิดให้บริการ 3 โซนคือ Ghibli’s Grand Warehouse, Hill of Youth, และ Dondoko Forest

โซนแรก Ghibli’s Grand Warehouse มีห้องฉายหนัง 170 ที่นั่ง ร้านค้าและคาเฟ่  และห้องนิทรรศการให้ได้เรียนรู้โลกของจิบลิผ่าน 3 นิทรรศการประกอบด้วย Becoming Characters in Memorable Ghibli Scenes นำเสนอ 14 ฉากในหนังแอนิเมชัน 13 เรื่อง ให้ผู้ชมได้ใกล้ชิดกับคาแรกเตอร์ต่างๆ ในแอนิเมชันชื่อดัง เช่น นั่งบนขบวนรถไฟไปกับภูตไร้หน้า (No Face) ในเรื่อง Spirited Away

ส่วนนิทรรศการที่ 2 คือ Delicious! Animating Memorable Meals Expanded Edition เป็นส่วนต่อขยายของนิทรรศการที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์จิบลิ ในเมืองมิตากะ ซึ่งชวนไปไขปริศนาว่าทำไมอาหารในหนังของสตูดิโอจิบลิจึงดูน่าอร่อยโดยในจิบลิพาร์กได้เพิ่มพร็อปที่ใช้ในการถ่ายทำเรื่อง Spirited Away, From Up on Poppy Hill, และ Earwig and the Witch และนิทรรศการสุดท้าย Ghibli’s Collections จัดแสดงโปสเตอร์หนัง แพ็กเกจจิงต่างๆ หนังสือและสิ่งพิมพ์ทั่วโลกที่เกี่ยวกับผลงานของสตูดิโอ นอกจากนี้ยังมีการจำลองห้องทำงานของยูบาบา แม่มดผู้เป็นเจ้าของโรงอาบน้ำในเรื่อง Spirited Away และรถบัสแมวในเรื่อง My Neighbor Totoro ให้ผู้ชมได้เข้าไปนั่งเล่นได้ด้วย

(ภาพ: Ghibli Park)

โซนที่ 2 Hill of Youth ชวนให้ระลึกถึงร้านขายของเก่าในเรื่อง Whisper of the Heart และโซนที่ 3 Dondoko Forest พาเข้าสู่ป่าในเรื่อง My Neighbor Totoro ส่วนเฟสถัดไปที่จะเปิดให้บริการหลังปี 2566 คือโซน Valley of Witches ซึ่งจะพาเข้าสู่บรรยากาศของหนังเรื่อง Howl’s Moving Castle และ Kiki’s Delivery Service และโซน Mononoke’s Village ที่จะนำผู้ชมย้อนไปในยุค Muromachi (ค.ศ.1336-1573) อย่างที่ปรากฏในแอนิเมชันแฟนตาซีอิงประวัติศาสตร์ Princess Mononoke

การเข้าชมต้องซื้อตั๋วล่วงหน้าเท่านั้นโดยจะเปิดจองตั๋วเป็นครั้งแรกสำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในประเทศญี่ปุ่นในวันที่ 10 มกราคม 2566 เวลา 14.00 น. (เวลาญี่ปุ่น) สำหรับการเข้าชมในระหว่างวันที่ 15 มีนาคม-30 เมษายน 2566

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://ghibli-park.jp/en

(ภาพ: © teamLab)

04 teamLab

โตเกียว โอซากา ปักกิ่ง เจดดาห์

แม้ Mori Building Digital Art Museum: teamLab Borderless พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลที่โด่งดังที่สุดในโลกซึ่งตั้งอยู่ในย่านโอไดบะ (Odaiba) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นประกาศปิดตัวไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 แต่ทาง teamLab ประกาศว่าจะกลับมาเปิดใหม่ในปี 2566 ณ บ้านหลังใหม่ในโครงการที่ชื่อว่า Toranomon-Azabudai ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงโตเกียวบริเวณย่าน Toranomon, Azabudai และ Roppongi

โครงการใหม่นี้พัฒนาโดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง Mori Building บนพื้นที่ราว 80,000 ตารางเมตรเพื่อให้เป็นหมู่บ้านใจกลางเมืองที่ทันสมัยและรายล้อมด้วยพื้นที่สีเขียว ในโครงการมีทั้งอาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย โรงแรม โรงเรียนนานาชาติ ร้านค้า ร้านอาหาร โรงพยาบาล และพื้นที่สำหรับงานศิลปวัฒนธรรมโดยมี teamLab Borderless เป็นแม่เหล็กสำคัญตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 9,000 ตารางเมตร นอกจากนี้ยังมีการออกแบบให้พื้นที่สาธารณะในอาคารสำนักงาน อาคารที่พักอาศัย และล็อบบีโรงแรมให้เป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงงานศิลปะต่างๆได้ตามคอนเซปต์ของโครงการคือ “ทำให้ทั้งเมืองเป็นพิพิธภัณฑ์” สเกลของโครงการนี้นับว่ายิ่งใหญ่ไม่แพ้กับเมื่อคราวที่ Mori Building สร้างโครงการ Roppongi Hills เมื่อปี 2546

พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566
(ภาพ: © teamLab)

อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑ์อีกแห่งคือ teamLab Planets Tokyo ในย่าน Toyosu ยังคงเปิดให้บริการถึงปลายปี 2566 และนอกจากที่โตเกียวแล้วทาง teamLab ยังมีนิทรรศการถาวรที่เปิดตัวไปเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2565 ที่สวนพฤกษศาสตร์กลางแจ้ง Nagai Botanical Garden ในเมืองโอซากาโดยโปรเจกต์นี้มีชื่อว่า Digitized Nature ซึ่งออกแบบให้งานดิจิทัลอาร์ตมีปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติโดยรอบ เช่น ลม ฝน เสียงนกร้อง และพฤติกรรมของผู้ชม

นอกจากนี้ยังมีการเปิดพิพิธภัณฑ์ล่าสุด teamLab Massless Beijing เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2565 ที่ Chaoyang Joy City ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน บนพื้นที่ขนาด 10,000 ตารางเมตรซึ่งจัดแสดงงานที่เป็นซิกเนเจอร์ของ teamLab เช่น Forest of Flowers and People: Lost, Immersed and Reborn, The Infinite Crystal Universe และ Massless Clouds Between Sculpture and Life และงานชิ้นใหม่ที่จัดแสดงที่นี่เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีห้องน้ำชา En Tea House ที่พฤติกรรมการดื่มชาของแต่ละคนส่งผลต่อสีที่สะท้อนในแก้วชาและสีของดวงไฟทรงกลมภายในห้องด้วย

พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566
(ภาพ: © teamLab)

teamLab ยังขยายศิลปะไร้พรมแดนโดยร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศซาอุดีอาระเบีย จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลในชื่อ teamLab Borderless Jeddah ณ เมืองเจดดาห์ และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566

พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่นี้ตั้งอยู่บริเวณทะเลสาบ Al-Arbaeen และสามารถมองเห็นย่านเมืองเก่า Al Balad อดีตศูนย์กลางการค้าและมีชื่อเสียงในด้านสถาปัตยกรรมโบราณที่สร้างด้วยหินปะการังและได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ให้เป็นแหล่งมรดกโลกส่วนผลงานที่จัดแสดงจะมีประมาณ 50 ชิ้นงานทั้งงานที่สร้างสรรค์ใหม่เพื่อพื้นที่นี้โดยเฉพาะและงานที่เคยจัดแสดงและได้รับความนิยมอย่างมากเช่น ผลงานที่ชื่อว่า Borderless World, Athletics Forest และ Future Park นอกจากนี้ยังมีโซนที่ออกแบบมาเพื่อเด็กโดยเฉพาะสำหรับการเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์กับศิลปะ

ทาง teamLabและรัฐบาลซาอุดีอาระเบียได้ลงนามความร่วมมือเป็นเวลา 10 ปีนับตั้งแต่ปลายปี 2563 เพื่อพัฒนาซาอุดีอาระเบียไปสู่ยุคสมัยใหม่และการขับเคลื่อนด้วยศิลปะนับเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ นอกจากนั้นการเลือกโลเคชันเป็นเจดดาห์เนื่องจากเป็นเมืองเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ริมทะเลแดงและมีบทบาทสำคัญในฐานะเมืองประวัติศาสตร์และเมืองเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นประตูหลักสู่เมกกะซึ่งเป็นศูนย์กลางความศรัทธาของศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมทั่วโลก

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.teamlab.art

พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566
(ภาพ: Grand Egyptian Museum)

05 Grand Egyptian Museum

ไคโร, อียิปต์

เมื่อปี 2545 รัฐบาลอียิปต์ประกาศสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ที่ทำหน้าที่ทั้งจัดแสดงและอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ไอยคุปต์ที่ยิ่งใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลกในชื่อ Grand Egyptian Museum (GEM) โดยได้มีการวางศิลาฤกษ์ ณ สถานที่โครงการซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับพีระมิดกิซาเพียง 2 กิโลเมตร และในปีถัดมาได้มีการประกวดออกแบบก่อสร้างและบริษัทที่ชนะการประกวดคือบริษัท Heneghan Peng Architects

พิพิธภัณฑ์เริ่มก่อสร้างในปี 2548 แต่มีการหยุดชะงักด้วยเหตุผลหลายอย่างทั้งด้านสิ่งแวดล้อม งบประมาณและความไม่มั่นคงทางการเมือง รวมไปถึงเหตุการณ์อาหรับสปริงในปี 2554 ตามด้วยเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2556 และการระบาดของโควิด-19 จากนั้นจึงได้กลับมาก่อสร้างอีกครั้งและคาดหมายว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 หลังจากที่เลื่อนไปมาหลายต่อหลายครั้ง

ความโดดเด่นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มจากความยิ่งใหญ่ของโครงสร้างสมชื่อ Grand Egyptian Museum โดยมีทั้งส่วนที่เป็นพื้นที่จัดแสดงบนดิน และไล่ระดับความลึกลงไปใต้ดินประหนึ่งกำลังเดินอยู่ในพีระมิด ตัวอาคารเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมอันเป็นไอโคนิกของพีระมิดทำให้พิพิธภัณฑ์กลมกลืนไปกับพีระมิดและโบราณสถานอายุนับพันปีที่รายล้อมโดยเฉพาะมหาพีระมิดกิซา (Giza Plateau) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เมื่อเสร็จสมบูรณ์ที่นี่จะเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านโบราณคดีที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วยเนื้อที่ทั้งหมด 490,000 ตารางเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งหมด 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจัดแสดงโบราณวัตถุกว่า 100,000 ชิ้น โดย 4,549  ชิ้นมาจากสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “ตุตันคาเมน” ผู้ปูทางอียิปต์โบราณสู่ราชอาณาจักรใหม่อันเป็นยุครุ่งเรืองของอียิปต์

หนึ่งในโบราณวัตถุล้ำค่าชิ้นแรกๆที่นำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือรูปปั้นขนาดใหญ่รูปฟาโรห์รามเสสที่ 2 ซึ่งก่อนหน้านี้ตั้งอยู่ที่ Ramses Square ในกรุงไคโร และทางรัฐบาลอียิปต์คาดหมายว่าเมื่อเปิดให้บริการแล้วที่นี่จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เข้ามาชมประมาณ 15,000 คนต่อวันหรือประมาณ 5 ล้านคนต่อปี

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://grandegyptianmuseum.org

พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566
(ภาพ: Warner Bros.)

06 Warner Bros. Studio Tour Tokyo – The Making of Harry Potter

โตเกียว, ญี่ปุ่น

นอกจาก The Wizarding World of Harry Potter ใน Universal Studios ที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นหมุดหมายสำคัญของเหล่าแฟนคลับพ่อมดแฮร์รี่แล้ว ในปี 2566 เตรียมปักหมุดไปเยือนสถานที่ใหม่ที่จะช่วยเติมเต็มประสบการณ์โลกเวทมนตร์อย่างเต็มที่ ณ Warner Bros. Studio Tour Tokyo – The Making of Harry Potter ในกรุงโตเกียว

ทาง Warner Bros. กล่าวว่าที่นี่ไม่ใช่ธีมพาร์คแต่เป็นสตูดิโอทัวร์ที่จะพาผู้ชมไปสนุกกับการชมเบื้องหลังอันน่าตื่นตาตื่นใจของการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Harry Potter และ Fantastic Beasts โดยในสตูดิโอจะจำลองฉากต่างๆ เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ประกอบการถ่ายทำโดยทีมผู้สร้างภาพยนตร์เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจว่ากว่าจะถ่ายทอดโลกเวทมนตร์ในหนังสือของ เจ.เค. โรว์ลิง มาเป็นภาพยนตร์ภาคต่างๆ นั้นเป็นอย่างไร สตูดิโอทัวร์นี้ถือเป็นแห่งที่ 2 ของโลกหลังจากประสบความสำเร็จจากแห่งแรกที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

สตูดิโอทัวร์สร้างขึ้นในบริเวณพื้นบางส่วนซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของ สวนสนุกโทชิมะเอ็น (Toshimaen) บริเวณทางเหนือของกรุงโตเกียวโดยสวนสนุกเก่าแก่อายุ 94 ปีแห่งนี้ได้ปิดกิจการไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม  2563 ทาง Warner Bros. ย้ำว่าที่นี่ไม่มีเครื่องเล่นแต่เป็นสตูดิโอที่ให้ผู้ชมได้เดินชมโดยรอบเพื่อได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่บนพื้นที่ราว 30,000 ตารางเมตรโดยคาดว่าสามารถใช้เวลาทัวร์ครบทุกจุดได้ในเวลาครึ่งวัน

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.wbstudiotour.jp/en/

พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566
(ภาพ: Dorte Mandrup)

07 The Whale Museum

อันเดเนส, นอร์เวย์

The Whale Museum สร้างขึ้นเพื่อให้คนเรียนรู้เกี่ยวกับโลกของวาฬและตระหนักถึงการปกป้องรักษาธรรมชาติโดยตั้งอยู่ที่หมู่บ้านอันเดเนส (Andenes) ในเกาะอันเนอยา (Andøya) ทางตอนใต้ของประเทศนอร์เวย์ โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566

ตามปกติแล้วบริเวณหมู่บ้านอันเดเนสเป็นสถานที่ยอดนิยมของผู้ชื่นชอบวาฬเพราะจะได้พบเจอกับวาฬหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ในช่วงฤดูร้อนของทุกปีระหว่างเดือนมิถุนายน-สิงหาคม มีโอกาสได้เห็นวาฬนำร่อง (Pilot Whale) วาฬมิงก์ (Minke Whale) และวาฬหัวทุย (Sperm Whale) และในช่วงฤดูหนาวเป็นช่วงที่วาฬเพชฌฆาต (Orca) และวาฬหลังค่อม (Humpback Whale) จะอพยพมาอยู่บริเวณนี้

พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566
(ภาพ: Dorte Mandrup)

อาคารพิพิธภัณฑ์ออกแบบโดยบริษัท Dorte Mandrup ให้มีรูปทรงคล้ายกับครีบของวาฬและสร้างติดบริเวณชายฝั่งบนโขดหิน ด้านในติดกระจกบานใหญ่ให้ผู้ชมมองเห็นทะเลได้เต็มตา และมีห้องนิทรรศการ คาเฟ่ มิวเซียมช็อป ส่วนหลังคาของอาคารเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ผู้ชมสามารถขึ้นไปชมทัศนียภาพโดยรอบ และยังมีโอกาสที่จะเห็นวาฬได้อีกด้วย ดังนั้นนอกจากความโดดเด่นด้วยเรื่องของวาฬแล้ว งานออกแบบอาคารของที่นี่ก็ดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวและคนที่หลงใหลงานดีไซน์ สถาปัตย์ ปักหมุดเป็น พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566 ที่ไม่ควรพลาดเลยจริงๆ

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.dortemandrup.dk/work/whale-norway

พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566
(ภาพ: Melike Altinisik Architects)

08 Robot & AI Museum

โซล, เกาหลีใต้

พิพิธภัณฑ์ใหม่สุดล้ำที่คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และเป็น พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566 ที่อัดแน่นด้วยเทคโนโลยี คือ Robot & AI Museum (RAIM) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ผู้ชมผ่านนิทรรศการที่ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ว่าจะเป็น AI (Artificial Intelligence), VR (Virtual Reality), AR (Augmented Reality) และโฮโลแกรม (Hologram)

อาคารรูปทรงกลมออกแบบโดยบริษัท Melike Altinisik Architects และเพื่อให้สมกับชื่อและเป้าหมายของพิพิธภัณฑ์ในขั้นตอนการก่อสร้างได้ใช้ทีมหุ่นยนต์เพื่อประกอบฟาซาดโลหะทรงโค้ง และทีมหุ่นยนต์อีกทีมมีหน้าที่ผลิตแผ่นคอนกรีตจากการพิมพ์ 3 มิติเพื่อใช้ในการก่อสร้างพื้นที่โดยรอบ ทางบริษัทกล่าวว่าการได้เห็นหุ่นยนต์ร่วมสร้างและประกอบอาคารพิพิธภัณฑ์ในไซต์งานจริงนั้น นอกจากจะแสดงศักยภาพของหุ่นยนต์และเทคโนโลยีสมัยใหม่แล้ว ยังถือว่านี่เป็นนิทรรศการเปิดตัวของพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566
(ภาพ: Melike Altinisik Architects)

Robot & AI Museum เป็นหนึ่งในอาคารของโครงการพัฒนาพื้นที่ที่เรียกว่า Changbai New Economic Center เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านศิลปวัฒนธรรมในย่านชางดงทางตอนเหนือของกรุงโซล นอกจากนี้ทางการกรุงโซลยังมีโครงการที่จะก่อสร้างพิพิธภัณฑ์อีกแห่งชื่อว่า Photographic Art Museum (PAM) ในบริเวณใกล้เคียงกันอีกด้วย

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.melikealtinisik.com/2-index/134-seoul-robot-ai-museum

พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566
(ภาพ: Iwan Baan)

09 Sydney Modern

ซิดนีย์, ออสเตรเลีย

เปิดตัวไปสดๆร้อนๆ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2565 กับโฉมใหม่ที่อลังการกว่าเดิมของ Art Gallery of New South Wales ในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลียกับโปรเจกต์ที่มีชื่อว่า Sydney Modern Project โดยเพิ่มส่วนต่อขยายอีกหนึ่งอาคารและเชื่อมกับอาคารเดิมด้วยสวนศิลปะสาธารณะพร้อมปรับภูมิทัศน์โดยรอบให้มองเห็นความสวยงามของอ่าวซิดนีย์

Sydney Modern Project ใช้งบประมาณกว่า 1,200 ล้านบาทจากการสนับสนุนของทางการรัฐนิวเซาท์เวลส์และจากกองทุนของแกลเลอรีที่ได้รับบริจาคจากผู้อุปถัมภ์งานศิลปะ อาคารหลังใหม่ที่เรียกว่า North Building ออกแบบโดยบริษัท SANAA ให้มีความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ด้านในกับด้านนอก และเชื่อมต่อกับอาคารเดิมที่เรียกว่า South Building ซึ่งออกแบบโดยบริษัท Tonkin Zulaikha Greer Architects อีกทั้งยังสามารถเพิ่มพื้นที่การจัดแสดงศิลปะได้ถึง 16,000 ตารางเมตร

(ภาพ: Iwan Baan)

นอกจากนี้ทาง Sydney Modern Project ยังได้ให้ศิลปินชั้นนำทั่วโลก 9 คนสร้างสรรค์งานศิลปะเฉพาะพื้นที่แห่งนี้โดยมีผลงานของ Yayoi Kusama, Lorraine Connelly-Northey, Karla Dickens, Simryn Gill, Jonathan Jones, Lee Mingwei, Richard Lewer, Lisa Reihana, และ Francis Upritchard

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.artgallery.nsw.gov.au/sydney-modern-project

พิพิธภัณฑ์เปิดใหม่ปี 2566
(ภาพ: Museum of Broadway)

10 Museum of Broadway

นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา

Museum of Broadway เปิดตัวไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ยกย่องและอุทิศให้แก่ศิลปะการแสดงละครบรอดเวย์โดยจะเน้นการจัดแสดงแบบอินเตอร์แอ็กทิฟ (interactive) เพื่อให้ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วมตลอดการเข้าชม

การจัดแสดงเริ่มจากห้องแรก The Map Room จัดแสดงวิดีโอแบบอิมเมอร์ซิฟ (immersive) เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของละครบรอดเวย์และย่านโรงละครที่เริ่มจาก ยูเนียนสแควร์ (Union Square) และขยับไปยังเฮรัลด์สแควร์ (Herald Square) จนกระทั่งสู่ย่านไทม์สแควร์ (Times Square) ในปัจจุบัน จากนั้นเป็นห้อง The Timeline ที่ไล่เรียงพัฒนาการของละครบรอดเวย์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน รวมไปถึงการเชิดชูผู้บุกเบิกวงการนี้ และไฮไลต์ผลงานละครเพลงที่ยังตราตรึงอยู่ในหัวใจของผู้ชมตลอดกาล

นอกจากนี้ยังมีงานศิลปะจัดวางโดยทีมศิลปินและดีไซเนอร์บรอดเวย์ ส่วนห้อง The Making of a Broadway Show เป็นนิทรรศการที่ฉายให้เห็นหลังม่านโรงละครเพื่อยกย่องคนทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังที่ร่วมกันผลักดันให้ละครบรอดเวย์ยังมีลมหายใจและสร้างความประทับใจให้ผู้ชมทุกครั้งที่เปิดม่านการแสดง

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.themuseumofbroadway.com


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ