3 หนังสือแปลคลาสสิก รำลึก ผุสดี นาวาวิจิต แห่ง โต๊ะโตะจัง
Lite

3 หนังสือแปลคลาสสิก รำลึก ผุสดี นาวาวิจิต แห่ง โต๊ะโตะจัง

Focus
  • นับเป็นข่าวเศร้าในวงการวรรณกรรมที่ต้องสูญเสียนักแปลวรรณกรรมญี่ปุ่น ผุสดี นาวาวิจิต ไปด้วยวัย 72 ปี เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2564
  • โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง ผลงานแปลของผุสดี คือหนังสือเล่มสำคัญที่ทำให้เกิดสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ซึ่งนอกจากนั้นยังมีงานคลาสสิกอีกหลายชิ้นซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะวรรณกรรมเยาวชน อย่าง 4 ปีนรกในเขมร สยองขวัญ หรือผลงานแปลบทภาพยนตร์ญี่ปุ่น “Always: Sunset on Third Street” ถนนสายนี้ หัวใจไม่เคยลืม

นับเป็นข่าวเศร้าของวงการวรรณกรรมอย่างมากที่ต้องสูญเสียนักแปลวรรณกรรมญี่ปุ่นผู้มากความสามารถ ทั้งยังเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ผุสดี นาวาวิจิต เจ้าของผลงานแปล โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง วรรณกรรมที่เด็กนับล้านคนทั่วโลกเคยอ่าน และเป็นวรรณกรรมที่ทำให้ผู้ใหญ่ที่ดูแลระบบการศึกษา ต้องหันกลับมาทบทวนตัวเองเสียใหม่โดยมองกลับมาที่เด็กเป็นศูนย์กลาง

ผุสดี นาวาวิจิต เสียชีวิตด้วยวัย 72 ปี ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2564 ซึ่งนอกจาก โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง (แต่งโดย คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ) ที่เป็นหนังสือเล่มสำคัญที่ทำให้เกิดสำนักพิมพ์ผีเสื้อแล้ว ผุสดี นาวาวิจิต ยังแปลงานคลาสสิกอีกหลายชิ้นซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะวรรณกรรมเยาวชน 

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ ผุสดี นาวาวิจิต คือการเข้าใจภาษาญี่ปุ่นอย่างถ่องแท้แล้วถ่ายทอดเป็นภาษาไทยอย่างตรงเจตนารมณ์ของผู้แต่ง เลือกใช้ภาษาที่เหมาะกับโทนเรื่อง และเหมาะกับกลุ่มผู้อ่านที่ต่างออกไปในหนังสือแต่ละเล่ม อาทิ 4 ปี นรกในเขมร สยองขวัญ โมโมจัง รวมทั้งผลงานแปลบทภาพยนตร์ญี่ปุ่นย้อนยุคที่ยังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน “Always: Sunset on Third Street” ถนนสายนี้ หัวใจไม่เคยลืม

Sarakadee Lite ชวนอ่าน 3 วรรณกรรมคลาสสิก เพื่อรำลึกถึง ผุสดี นาวาวิจิต นักแปลผู้เป็นต้นแบบของคนในวงการวรรณกรรม

โต๊ะโตะจัง

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

เขียน : คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ

สำนักพิมพ์ : ผีเสื้อ

โต๊ะโตะจังถูกไล่ออกจากโรงเรียนเก่าขณะเรียนชั้นประถมหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่า “จะเป็นการรบกวนเด็กคนอื่นในชั้นเรียน” 

นี่เป็นคำโปรยที่ไม่ได้มาจากเรื่องแต่งในจินตนาการ แต่ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง เป็นชีวิตวัยเยาว์ของ “คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ” เด็กหญิงในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งถูกไล่ออกจากโรงเรียนด้วยเหตุผลว่าตัวเธอเองไปรบกวนคนอื่น ทว่าการย้ายไปโรงเรียนใหม่ที่ไม่มีอะไรเหมือนโรงเรียนเก่าของเธอสักอย่างกลับทำให้ โต๊ะโตะจัง ต้องสัญญากับตัวเองเสียใหม่ว่า “โรงเรียนดี ๆ อย่างนี้ จะไม่ยอมขาดเรียนเลยสักวันเดียว” 

ที่ โรงเรียนโทโมเอ ซึ่งเป็นโรงเรียนในตู้รถไฟที่ไม่ได้ใช้แล้ว โต๊ะโตะจังได้กินอาหารจากภูเขาและทะเล เด็กนักเรียนได้เลือกว่าจะเรียนวิชาต่าง ๆ ที่ชอบก่อนหรือหลัง ที่นี่มี ครูใหญ่โคบายาชิ ซึ่งอนุญาตให้เด็กพิเศษเรียนร่วมกับเด็กธรรมดา และนั่นก็แปลว่าครูใหญ่โคบายาชิมั่นใจและเชื่อใจในตัวเด็ก ๆ ว่าจะไม่มีใครรบกวนเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนอย่างเด็ดขาด ซึ่งหลังจากหนังสือตีพิมพ์ก็ทำให้มีการถกเถียงและจุดประกายเรื่องการศึกษาในรูปแบบใหม่ที่คิดถึงหัวใจของเด็กเป็นหลักมากยิ่งขึ้น

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง ตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2524 พร้อมทำลายสถิติหนังสือขายดีในญี่ปุ่นยุคสร้างชาติเพราะด้วย ระยะเวลาเพียง 3 ปีเศษ สามารถจำหน่ายเฉพาะภาษาญี่ปุ่นได้ถึง 6 ล้าน 5 แสนเล่ม และแปลเป็นภาษาอื่น ๆ อีก 35 ภาษา ฉบับแปลภาษาไทยต้องพิมพ์ซ้ำถึง 4 ครั้ง ในเวลาไม่ถึงปี แปลโดย ผุสดี นาวาวิจิต ผู้ศึกษาภาษาญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่นนานถึง 10 ปี เมื่อกลับมาอยู่ไทยก็ใช้ภาษาญี่ปุ่นมากเท่า ๆ กับภาษาไทยในฐานะทำงานล่าม นอกจากนี้ยังได้ศึกษาวรรณกรรมเยาวชนควบคู่กันไป สำนวนการแปลของผุสดีจึงค่อนข้างเข้าใจผู้อ่านและผู้เขียนเป็นอย่างมาก

มกุฏ อรฤดี ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสารคดีว่า  โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง เป็นหนังสือที่ทำให้เขาคิดจะทำสำนักพิมพ์อย่างจริงจัง

“ตอนนั้นเราใช้ชื่อสำนักพิมพ์กะรัต แต่ที่เริ่มต้นจริง ๆ คือสำนักพิมพ์ดอกไม้ในปี 2520 พิมพ์ผีเสื้อและดอกไม้ และหนังสือของคนอื่น ๆ อีกไม่กี่เล่ม เราทำนิตยสารคู่มากับหนังสือเล่ม แต่ไม่ได้ทำหนังสือเล่มเป็นเรื่องเป็นราวจริงจัง หนังสือเล่มแรกที่ทำให้ตัดสินใจเปลี่ยนแนวคิดมาทำสำนักพิมพ์ คือ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง เป็นงานแปล ไม่ใช่งานแปลชิ้นแรก แต่เป็นชิ้นแรกที่ตัดสินใจว่าเราควรทำสำนักพิมพ์ เพราะเราได้เห็นต้นฉบับที่ดี”

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง ได้รับการคัดเลือกอยู่ในหนังสือ “วรรณกรรม 50 เรื่องที่ต้องอ่านก่อนโต” เพื่อแนะนำหนังสือให้เยาวชนไทย โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ 32 คนเป็นคนคัดเลือก และ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง ก็ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แต่เยาวชนที่ควรอ่าน คนที่ควรอ่านอย่างแท้จริงคือพ่อ แม่ และผู้ใหญ่ที่ต้องออกแบบระบบการศึกษาให้กับเด็ก ๆ นอกจากนี้ คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ยังได้ถ่ายทอดการเติบโตของ โต๊ะโตะจัง ออกมาเป็นหนังสืออีก 2 เล่ม ได้แก่  นางสาวโต๊ะโตะ และ โต๊ะโตะจังกับโต๊ะโตะจังทั้งหลาย ฉบับภาษาไทยโดย สำนักพิมพ์ผีเสื้อ เช่นกัน

ผุสดี นาวาวิจิต

4 ปีนรกในเขมร

เขียน : ยาสึโกะ นะอิโต

สำนักพิมพ์ : ผีเสื้อ

หากถามว่าไปเที่ยวกัมพูชาต้องอ่านหนังสืออะไร เราจะยังไม่ให้คุณอ่าน Lonely Planet ฉบับไกด์บุ๊คที่ลิสต์สถานที่ต้องเที่ยวไว้ครบแล้ว แต่เราอยากแนะนำให้อ่าน 4 ปีนรกในเขมร วรรณกรรมบันทึกจากภาษาญี่ปุ่นเรื่องแรกของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ แปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกปี พ.ศ.2526 ในนามสำนักพิมพ์กะรัต

4 ปีนรกในเขมร เป็นหนังสือที่จะทำให้เราเข้าใจประวัติศาสตร์กัมพูชามากไปกว่าที่ตำราเรียนในไทยเขียนไว้ หรือภาพความอลังการของนครวัด นครธม เพราะหนังสือเล่มนี้เขียนจากบันทึกชีวิตที่เกือบจะไม่รอดชีวิตของ “ยาสึโกะ นะอิโต” สตรีชาวญี่ปุ่นที่ต้องเข้าไปอยู่กรุงพนมเปญในฐานะภริยานักการทูตชาวเขมร แต่เพียงข้ามคืนหลังจากที่ พอลพต เข้ายึดอำนาจโศกนาฏกรรมที่เขียนขึ้นจากเลือดเนื้อและชีวิตจริงจึงเริ่มขึ้น 

แม้เราจะได้รับรู้เรื่องนี้ผ่านตัวอักษร แต่สามารถสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวด ความทรมานตลอด 4 ปี ที่ภริยาทูตคนนี้ค่อย ๆ สูญเสียลูก สามี เห็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เห็นคนตายในทุก ๆ วันจนแทบจะนึกไม่ออกถึงการมีชีวิตรอดกลับมา เหมือนกับกำลังตกนรกทั้งเป็นก็ว่าได้

“ฉันเชื่อว่า สามีและลูกสองคนที่ตายไป ช่วยคุ้มครองฉันไว้ วิญญาณของเขาคงคอยดูแลฉัน ให้รอดปลอดภัย” 

หลังจากอ่านหนังสือ 4 ปีนรกในเขมร จบ แน่นอนว่าอารมณ์หดหู่ ความกลัวในสงครามจะตามมา ทว่าเมื่อได้มีโอกาสกลับไปยังสถานที่จริงเช่น ทุ่งสังหาร หรือ พิพิธภัณฑ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตวลสเลง เราจะไม่รู้สึกถึงความแปลกแยกแตกต่างทางเชื้อชาติ ไม่รู้สึกว่านี่คือประวัติศาสตร์กัมพูชา แต่สิ่งที่รับรู้ได้คือความเห็นอกเห็นใจในความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน 

สยองขวัญ

เขียน : เอโดงาวะ รัมโป

สำนักพิมพ์ : ผีเสื้อ

ผุสดี นาวาวิจิต มีผลงานแปลเรื่องสยองขวัญ และเรื่องผี ๆ อยู่ไม่น้อย เช่น เรื่องผีผี ของ แล็ฟคาดิโอ เฮิร์น (แปลร่วมกับ ปาริฉัตร เสมอแข) ซึ่งเขียนเกี่ยวกับเรื่องผีคลาสสิกของญี่ปุ่น ผีเกาหลี ของอิม บาง และยี ริยุค เฮิร์น (แปลร่วมกับ ปาริฉัตร เสมอแข) แต่ที่สยองขวัญสั่นทุกประสาทการรับรู้และกลายเป็นความคลาสสิกต้องยกให้ สยองขวัญ (แปลร่วมกับ ปาริฉัตร เสมอแข) เรื่องสั้นแนวสยองขวัญของนักเขียนที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งเรื่องสยองขวัญของญี่ปุ่น  เอโดงาวะ รัมโป นักเขียนระดับปรมาจารย์ที่สามารถนำเรื่องผี ๆ มายกระดับเป็นงานวรรณกรรม ว่ากันว่านักเขียนเรื่องสยองขวัญญี่ปุ่นในยุคหลังล้วนได้รับอิทธิพลมาจาก เอโดงาวะ รัมโป ทั้งสิ้น 

นอกจากความสยดสยองลึกลับ การเขียนฉากฆาตรกรรมได้เห็นภาพอย่างน่าสะอิดสะเอียนแล้ว จุดเด่นของเอโดงาวะ รัมโป คือการนำการฆาตรกรรม การไขรหัสคดีต่าง ๆ เข้ามารวมกับความสยดสยอง ผสานด้วยจินตนาการในเชิงวิทยาศาสตร์ และเขาก็เป็นผู้ให้กำเนิดตัวละครนักสืบเอกชนผู้มาก่อนกาลอย่าง อาเกจิ โคโงโร ในเจ้าหนูยอดนักสืบด้วย

สำหรับหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ สยองขวัญ นั้นมีเรื่องที่โด่งดังมาก ๆ และหลอนแบบกึ่งไซไฟคือเรื่อง เก้าอี้มนุษย์  ซึ่งได้รับการนำไปทำเป็นหนังสั้น และมีฉบับแปลภาษาอังกฤษ โดดเด่นด้วยการหักมุมที่แม้บางเรื่องจะไม่มีผีแต่ก็สร้างความสยองได้ พร้อมแทรกแง่คิด ปมปัญหา รวมทั้งนำปรัชญามาใส่ไว้ในเรื่องผี ๆ ได้อย่างสนุกมาก


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์