วรรณกรรมไทย ลมหายใจที่รวยรินท่ามกลางวงล้อมหนังสือแปล
Lite

วรรณกรรมไทย ลมหายใจที่รวยรินท่ามกลางวงล้อมหนังสือแปล

Focus
  • สกุล บุณยทัต นักวิจารณ์วรรณกรรมและอดีตอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มองสภาวะซบเซาของวรรณกรรมไทยอย่างน่าเป็นห่วง และกล่าวถึงสิ่งที่นักเขียนไทยยังข้ามไม่พ้นว่า คือการมองเรื่องเล่าเป็นสูตรสำเร็จ จนบางครั้งลืมความขัดแย้งของเรื่องที่เป็นแก่นไป
  • ปัจจุบันวงการหนังสือไทยซบเซามาพักใหญ่ โดยเฉพาะวงการวรรณกรรม ตามร้านหนังสือพื้นที่ของนักเขียนไทยถูกบีบให้แคบลงเรื่อยๆ กลายเป็น หนังสือแปล จากต่างประเทศค่อยๆ ขยับเข้ามายึดพื้นที่

วรรณกรรมไทย คำนี้ดูจะค่อยๆ บางตาลงทุกที เห็นได้ตาม ร้านหนังสือ เวลานี้ พื้นที่ของนักเขียนไทย ถูกบีบให้แคบลงเรื่อยๆ ที่น่าสนใจคือ หนังสือแปล จากต่างประเทศค่อยๆ ขยับเข้ามายึดพื้นที่ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นสภาวะสังคมไทย ที่ลมหายใจของนักเขียนบ้านเรารวยรินลงทุกที สกุล บุณยทัต ในฐานะนักวิจารณ์วรรณกรรมและอดีตอาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มองสภาวะเหล่านี้อย่างน่าเป็นห่วง และเสี่ยงที่งานของนักเขียนไทยจะค่อยๆ ลดบทบาทลงในสังคมนี้

วรรณกรรมไทย

สิ่งที่นักเขียนไทยยังข้ามไม่พ้น

บ้านเราวงการหนังสือซบเซามาพักใหญ่ โดยเฉพาะวงการวรรณกรรม เดิมหนังสือของนักเขียนไทยมีหลายกระแส ทั้งแบบน้ำเน่า หรือแนวสร้างสรรค์เช่น เพื่อชีวิต แต่ปัจจุบันนักเขียนรุ่นใหม่เน้นเขียนแนวพาฝัน และวิจารณ์สังคมอย่างนิยายวาย แต่นิยายเชิงสร้างสรรค์ที่จะเป็นแสงสว่างทางสังคมแบบที่ได้รางวัลซีไรต์ กลับไม่ได้รับความนิยมจากคนอ่าน

ผิดกับประเทศเวียดนาม ที่นักเขียนหญิงซึ่งมีชื่อเสียงจะเขียนงานแนวซีเรียส แต่ชีวิตจริงเขากลับอยู่ในวัฒนธรรมป๊อปได้อย่างลงตัว เพราะเขาตกตะกอนว่าสังคมคืออะไร แต่สังคมเราเป็นแนวมายาคติ ทำให้งานที่มีความจริงจังมากๆ ไม่ค่อยได้รับความนิยม

4-5 ปีที่ผ่านมา วรรณกรรมแปลจากนักเขียนต่างประเทศได้รับความนิยมมากกว่าแต่ก่อน เพราะงานของเขาคุณภาพดีกว่า แม้บางคนจะวางโครงเรื่องไม่ดี แต่เนื้อหามีประเด็นใหม่ๆ แม้บางเรื่องเป็นประเด็นเก่า แต่นำมาตีความในมุมใหม่ถ้าสังเกตดีๆ งานวรรณกรรมต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีเวิร์ดดิ้งสวยๆ นี่แสดงถึงการคิดวางแผนของคนเขียนอย่างเป็นระบบ 

ผิดจากนักเขียนไทยที่ยังเขียนเรื่องกันเป็นพล็อต คือมีเริ่มเรื่อง กลางเรื่อง และตอนจบ นี่เป็นปัญหาที่นักเขียนไทยยังมองเรื่องเล่าเป็นสูตรสำเร็จ จนบางครั้งลืมความขัดแย้งของเรื่องที่เป็นแก่น ต่างจากฝรั่งที่มองว่า ต้องเอาความขัดแย้งขึ้นก่อนและให้ความสำคัญในส่วนนี้มาก อย่างหนังเรื่อง โจ๊กเกอร์ (2019) ที่เริ่มเรื่องตัวละครก็ประกาศเลยว่าเลว ซึ่งต่างจากยุคกรีกที่ตีความว่าคนจะเลวได้ด้วยสภาพแวดล้อม แต่นี่มันแหวกขนบ ประกาศตั้งแต่ต้นเลยว่าเลวตั้งแต่เกิด 

วรรณกรรมไทย

ประเด็นความขัดแย้งในการเล่าเรื่อง เป็นสิ่งที่นักเขียนไทยยังขบไม่แตก สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้เห็นมุมมองที่กว้างขึ้นคือ การเดินทาง ที่จะทำให้นักเขียนเห็นหลายๆ มุมมอง ที่มากกว่าการนั่งเขียนและตีความอยู่หน้าคอมพิวเตอร์คนเดียว 

“การเขียนเหมือนศาสนา ที่ต้องให้คนอ่านได้ตีความเองตามประสบการณ์ เราถึงเห็นว่า ศาสนาจึงมีหลายนิกาย การเขียนก็เช่นกันเรื่องราวอาจไม่ต้องสรุปในตอนท้ายทั้งหมด แต่ควรให้คนอ่านได้คิดตีความ แต่นักเขียนไทยบางส่วนยังติดว่า ต้องเฉลยเรื่องราวทั้งหมดตอนท้ายเรื่อง”

ขณะที่ตอนนี้อาณาจักรการเขียนของวรรณกรรมไทยน้อยลง เป็นผลให้นักเขียนไม่มีสนามที่จะฝึกฝีมือ เนื่องจากนิตยสารหลายฉบับก็ปิดตัวลง ขณะที่บรรยากาศในแวดวงนักเขียนตามแบบเดิมที่นักเขียนรุ่นพี่อ่านงานรุ่นน้องและช่วยแนะนำ หรือรุ่นพี่ดึงรุ่นน้องให้ไปช่วยงานต่างๆ ก็น้อยลง ทำให้การพัฒนางานของนักเขียนไทยยังไม่ปะติดปะต่อ 

ความนุ่มลึกของวรรณกรรมแปล 

ตอนนี้งานวรรณกรรมแปลของนักเขียนจีนเข้ามาในไทยมาก สมัยก่อนหนังสือแนวกำลังภายในก็เคยได้รับความนิยม แต่หนังสือของนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ของจีนยังคงมีเอกลักษณ์ มีวาทกรรมในเรื่องเล่าที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้ ไม่ได้เป็นวาทกรรมแบบหลอกๆ เหมือนอย่างงานในบ้านเรา แต่วรรณกรรมของเขาพยายามปลุกเร้าให้คนอ่านเรียนรู้จากความจริง 

วรรณกรรมไทย

อย่างงานเขียนของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ นักเขียนชาวญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างในการพัฒนาความคิดของการเขียน ที่คิดให้มาก แต่ไม่ใช่คนคิดมาก งานของเขาเลยผ่านการคิดมาเป็นระบบ และทำให้มีหนังสือหลายเล่มที่เป็นภาคต่อที่ได้รับความนิยมอย่างมาก 

ถ้ามองในมุมการตลาด วงการ วรรณกรรมไทย ตอนนี้เน้นการสั่งซื้อแบบพรีออเดอร์ เพราะสำนักพิมพ์ใหญ่ๆ ไม่กล้าลงทุน เพราะธุรกิจหนังสือตอนนี้เจ้าของมองเรื่องกำไรขาดทุนเป็นหลัก พอเขาเห็นว่างานของนักเขียนพิมพ์มาแล้วขายไม่ได้ก็ไม่อยากพิมพ์ให้ 

หากมองการตลาดของ หนังสือแปล จากต่างประเทศ บางเล่มจะมาพร้อมกับภาพยนตร์ที่นำเรื่องราวในหนังสือไปทำเป็นหนัง ที่ช่วยให้คนอ่านรับรู้ถึงการโปรโมตมากขึ้น เช่นหนังเกี่ยวกับแมวที่เข้ามาฉายในไทย จะเริ่มฉายพร้อมๆ กับการวางแผงของหนังสือ สิ่งนี้เป็นจุดด้อยที่เรายังทำไม่ได้อย่างเป็นระบบ 

ในอีกด้านหนึ่ง การที่วรรณกรรมแปลจากจีนเข้ามาเยอะ เนื่องจากรัฐบาลส่งเสริม ทำให้ค่าลิขสิทธิ์ในการแปลถูกลง บวกกับพื้นฐานวรรณกรรมจีนที่มีความโดดเด่นมานาน ต่างจากนักเขียนไทยที่เนื้อหาเน้นเชิงศีลธรรมแบบ “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” หรือ “ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์” แต่ไม่มีการแหวกขนบว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีรัก” นี่เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่นักเขียนไทย ยังไม่ค่อยเขียนเรื่องที่ย้อนแย้ง แต่ถ้านักเขียนคนไหนเขียนแบบย้อนแย้งจะถูกมองว่าเป็นกบฏ หรือเขียนงานในรูปแบบใหม่ออกมาจะถูกมองว่าอ่านไม่รู้เรื่อง นักเขียนเหล่านี้จึงต้องพยายามต่อสู้ แต่หลายคนก็ค่อยๆ หายไป 

การที่วรรณกรรมแปลเข้ามาตีตลาดในไทยมาก ทำให้เห็นว่าแต่ละประเทศมีธีมเรื่องที่ถ่ายทอดชัดเจนและน่าสนใจ แต่ วรรณกรรมไทย ในภาพรวมยังไม่มีธีม จะมีแค่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่แก่นเรื่องในวรรณกรรมหลายประเทศจะมีหลากหลายกระแส และมีความชัดเจน นี่จึงทำให้นักอ่านส่วนใหญ่หันไปอ่านงานแปล ดังนั้นการจะพัฒนางานวรรณกรรมไทยให้ส่งออกไปยังต่างประเทศได้ จำเป็นต้องหาแก่นแนวคิดในภาพรวมของ วรรณกรรมไทย ว่าคืออะไร เพราะไม่เช่นนั้นเราจะไม่มีวิธีคิด ที่เป็นหลักในการพัฒนางาน

“ที่น่าสนใจในการพัฒนางานเขียนของจีน ไม่ใช่แค่ในเรื่องวรรณกรรม แต่หนังสือฮาวทูก็แสดงให้เห็นอัตลักษณ์ทางวัฒธรรมบางอย่าง เช่น หนังสือเรื่อง “วิถีแห่งสุนัขป่า” ที่สะท้อนแนวคิดการสอนว่า ชีวิตของหมาป่าต้องอดทน ไม่ใช่ว่าจะล่าเหยื่อแล้วได้ทุกครั้ง แต่บางครั้งก็พลาดจนต้องกลับมาเลียแผลตัวเอง เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ก่อนนักเขียนจะเขียนต้องไปศึกษา และสังเกตชีวิตของหมาป่า ก่อนจะนำเรื่องราวมาเขียนเป็นหนังสือฮาวทู 

วรรณกรรมไทย

ทุกวันนี้วรรณกรรมของนักเขียนไทย เสี่ยงจะหมดลมหายใจทุกที โดยเฉพาะตลาดในประเทศเราก็สู้ยากแล้ว จึงเป็นเรื่องยากที่งานของนักเขียนไทยจะแปลไปขายยังต่างประเทศ นี่เป็นเรื่องจำเป็นที่ภาครัฐต้องเข้ามาส่งเสริม วางแผนแก้ไข ทั้งในมุมของคนอ่าน คนเขียน ผู้ผลิต และคนขาย ทุกวันนี้หลายอย่างยังไม่เป็นรูปธรรมเพราะถ้าเราอยากให้วรรณกรรมไทยพัฒนา รัฐต้องเปิดใจฟังมุมมองเหล่านี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขให้มากขึ้น 

ถึงตอนนี้แม้ วรรณกรรมไทย จะตกอยู่ในวงล้อมของ หนังสือแปล แต่ถ้าหากมีการสนับสนุนอย่างเป็นระบบและพัฒนาในเชิงลึกย่อมดีกว่าปล่อยให้เหลือเพียงความทรงจำ

Fact File

  • ติดตามอ่านบทความของ อาจารย์สกุล บุณยทัต ได้ที่ FB: SakulBoonyatudPage


Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว