ปรากฏการณ์ ซีไรต์ 2564 “นิยายวาย-นักเขียนหญิง” วิกฤติโควิด-19 สะเทือนเวทีประกวด
Lite

ปรากฏการณ์ ซีไรต์ 2564 “นิยายวาย-นักเขียนหญิง” วิกฤติโควิด-19 สะเทือนเวทีประกวด

Focus
  • ซีไรต์ หรือ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน ประจำปี พ.ศ.2564 เป็นการประกวดประเภทนวนิยายมีนักเขียนร่วมส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 60 เรื่อง
  • สถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจมีผลอย่างมากต่อวงการหนังสือ ทิศทางมุมมองการเขียนงาน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือมีนักเขียนรุ่นใหม่และนักเขียนหญิงส่งผลงานเข้ามามากขึ้น

วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกวงการไม่เว้นแม้แต่วงการวรรณกรรมไทย โดยเฉพาะ ซีไรต์ หรือ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน เวทีที่ สกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์พ.ศ.2564 กล่าวย้ำว่าเป็นเวทีที่มีความหมายต่อวงการนักเขียน และนักอ่านในสังคมไทยอย่างมาก

ซีไรต์

“เรายังเชื่อในคุณค่าของตัวหนังสือ ที่นักเขียนได้พยายามนำเสนอ แม้ผู้สนับสนุนรางวัลซีไรต์จะลดลง ด้วยสภาวะการระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ แต่เราพยายามบริหารจัดการด้วยทุนที่มี และบริบทของสังคมที่เอื้ออำนวย เพราะซีไรต์เป็นเวทีที่มีความหมายต่อวงการนักเขียน และนักอ่านในสังคมไทย”

สกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ พ.ศ.2564 เริ่มต้นเล่าถึงสถานการณ์การประกวดรางวัลซีไรต์ ที่ผู้คนในแวดวงวรรณกรรมกำลังจับตามอง โดยปีนี้เป็น การประกวดประเภทนวนิยาย ซึ่งแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายสำนักพิมพ์บอบช้ำ แต่ทิศทางงานเขียนของเวทีประกวดนี้ กลับน่าสนใจ และเป็นตัวบ่งชี้ถึงทิศทางของนักเขียนไทยที่พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น 

ซีไรต์

สกุลวิเคราะห์การส่งผลงานในรอบแรกว่า การเปิดรับผลงานรางวัลซีไรต์ ประเภทนวนิยายปีนี้ ระยะแรกมีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้สำนักพิมพ์หลายแห่งพิมพ์หนังสือไม่ได้ และบางสำนักพิมพ์ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจจนไม่สามารถพิมพ์หนังสือได้ตามเป้าที่วางไว้ ทำให้เมื่อปิดรับผลงานเมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2564 มีผลงานที่ส่งมาเพียง 17 เล่ม ส่งผลให้คณะกรรมการลงมติที่จะขยายเวลาการส่งถึงสิ้นเดือนมิถุนายน พ.ศ.2564 ซึ่งสุดท้ายมีนักเขียนส่งผลงานเข้ามาจำนวน 60 เล่ม 

สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดถึงผลกระทบของโควิด-19 ต่อวงการหนังสือคือระบบการพิมพ์ที่เปลี่ยนจากพิมพ์จำนวนมากกลายเป็นว่ามีผลงานที่พิมพ์ด้วยระบบพรินต์ออนดีมานด์ค่อนข้างมาก ไม่จะเป็นต้องมียอดพิมพ์เป็นพัน ๆ เล่มก็สามารถพิมพ์หนังสือในราคาที่ควบคุมได้ซึ่งต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีการพิมพ์สมัยนี้ ดีกว่าสมัยก่อนมาก ทำให้หนังสือที่ทำออกมามีคุณภาพการพิมพ์ที่ดีพอ ๆ กับผ่านกระบวนการพิมพ์จากโรงพิมพ์ 

สำหรับปีนี้มีนักเขียนหญิงส่งผลงานเข้ามามากกว่าทุกปี และเป็นนักเขียนรุ่นกลาง ๆ ที่กำลังเติบโตบนถนนนักเขียน ถือเป็นการตื่นตัวที่สำคัญของวงการหนังสือ เพราะนักเขียนรุ่นกลาง ๆ เหล่านี้จะเป็นกำลังหลักในการพัฒนาวงการต่อไป และที่น่าสนใจคือ ปีนี้มีผลงานแนว นิยายวาย ส่งเข้ามามาก ทำให้เห็นถึงความเปิดกว้างเกี่ยวกับเรื่องเพศสภาพในสังคมไทยถือเป็นงานเขียนที่มีอนาคต ซึ่งสกุลให้ความเห็นว่าสิ่งนี้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ให้แก่เวทีซีไรต์อย่างมาก เพราะที่ผ่านมานิยายของนักเขียนไทยมักวนอยู่กับเรื่องน้ำเน่า เขียนวนอยู่ซ้ำ ๆ กับเรื่องแนวเดิม จนไม่คิดถึงเรื่องอนาคต และสังคมที่เป็นอยู่ในวันข้างหน้า ปีนี้นับว่ามีงานของนักเขียนรุ่นใหม่ เปี่ยมด้วยแนวคิดที่พัฒนาไปไกลมาก แต่ในการตัดสิน ก็ยังต้องกลับมาดูว่าแนวคิดกับเนื้อหาของงานมีความกลมกลืนกันหรือไม่ 

“ในสังคมที่พัฒนาไปไกล เราต้องมาตีความนิยายวายกันใหม่ เพราะหลายคนยังติดอยู่กับแค่เรื่องเพศ แต่จริง ๆ แล้วนิยายวาย มีการตีความได้ไกลกว่านั้น ทั้งเรื่องการเมือง ความเท่าเทียม นิยายวายของนักเขียนไทย 2 ปีนี้ มักมีเนื้อหาพ่วงเรื่องการเมืองเข้ามาด้วยใช้ภาษาที่อ่านง่าย สื่อสารแล้วจบ แต่มีบางอย่างซ่อนเร้นในเนื้อเรื่อง แม้ที่ผ่านมานักอ่านมักจะบ่นว่างานซีไรต์อ่านยาก ซึ่งจริง ๆ แล้วคณะกรรมการก็อยากได้งานที่อ่านง่าย มีนัยหรือเรียกว่า งานเขียนที่แฝงเร้นแต่เรียบง่าย

“สำหรับงานของนักเขียนรุ่นใหม่ที่ผ่านเข้ามาบนเวทีซีไรต์ในปีนี้ค่อนข้างต่างจากนักเขียนเมื่อ 20-30 ปี ก่อน ที่หลายคนถูกสภาวะการเมืองและสังคมกดดัน จนทำให้เกิดงานเขียนหลายชิ้นที่สะท้อนภาพของสังคมความเจ็บปวด แต่พอมาถึงช่วงหนึ่งดูเหมือนว่านักเขียนจะมีความว่างเปล่าของแนวคิด แต่พอมาถึงยุคนี้ ด้วยสภาวะสังคม การเมืองที่กดดัน ทำให้นักเขียนรุ่นใหม่ผลิตงานที่เป็นปัจเจกทางสังคมมากขึ้น ซึ่งมีความโดดเด่น จนกลายเป็นงานเขียนถึงสังคมในอุดมคติของคนรุ่นใหม่

“นักเขียนไทยยังมีปัญหาในการเขียนงาน ที่ยังไม่มีความรู้สึก เหมือนอ่านงานรอบเดียวก็จบ งานมันแห้งแล้ง ไร้ความรู้สึก อ่านแล้วก็หายไป เราจะหางานที่อ่านแล้วมีความรู้สึกอย่างเรื่อง ฟ้าบ่กั้น ของลุงลาว คำหอม ได้ค่อนข้างน้อย สิ่งนี้ถือเป็นความท้าทายที่นักเขียนไทยต้องพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น”

ซีไรต์ เป็นเวทีที่มีการประกวดมากว่า 40 ปี การจะประทับตราลงบนหนังสือสักเล่ม ต้องมีคุณค่า เนื้อหาที่ผู้อ่านสัมผัสได้ถึงคุณค่าภายในและภายนอก โดยเฉพาะงานที่ผ่านเข้ารอบ 7 เล่มสุดท้าย ผ่านสายตากรรมการแต่ละปี หลายเล่มมีคุณค่าผ่านการถกเถียงในหมู่กรรมการตัดสินมาอย่างหนัก 

ดังนั้น การตัดสิน ซีไรต์ 2564 นี้ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และสมาคมภาษาและหนังสือ แห่งประเทศไทยฯ ได้ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด และขอให้ทุกคนมั่นใจ แม้จะมีผลกระทบจากโรคระบาด สถานการณ์เศรษฐกิจ แต่จะต้องจัดการประกวดให้เสร็จลุล่วงภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ตามกำหนดการเดิมที่วางไว้ รวมถึงการจัดงานมอบรางวัลให้แก่นักเขียนที่ได้รับรางวัล ที่ตกค้างมาทั้ง 2 ปี คือ อังคาร จันทาทิพย์ ชนะเลิศประเภทกวีนิพนธ์เรื่อง ระหว่างทางกลับบ้าน ประจำปี พ.ศ. 2562 และ จเด็จ กำจรเดช รางวัลปี พ.ศ. 2563 ประเภทเรื่องสั้น “คืนปีเสือ และเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ”

Fact File

  • ติดตามความเคลื่อนไหวของ ซีไรต์ ได้ที่ www.seawrite.com

Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ