เบื้องหลังรอยยิ้มและคราบน้ำตาของเด็ก ๆ ในหนังสือภาพ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง
Lite

เบื้องหลังรอยยิ้มและคราบน้ำตาของเด็ก ๆ ในหนังสือภาพ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

Focus
  • หนังสือเรื่อง โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง โดย คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2527 และหลังจากผ่านมา 37 ปี หนังสือภาพ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง ฉบับภาษาไทยได้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อต้นปี พ.ศ.2564 เพื่อให้เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก
  • หนังสือภาพรวบรวมภาพวาดจำนวนกว่า 100 รูปของ อิวาซากิ ชิฮิโระ ศิลปินชาวญี่ปุ่นชื่อดังผู้ล่วงลับซึ่งสร้างสรรค์ผลงานไว้มากกว่า 9,000 ชิ้นและส่วนใหญ่เป็นรูปของเด็กในอิริยาบถต่าง ๆ 

เป็นเวลานานถึง 37 ปีแล้วนับตั้งแต่หนังสือเรื่อง โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง โดย คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2527 (แปลโดย ผุสดี นาวาวิจิต) แต่เชื่อแน่ว่าหนังสือเล่มนี้ยังคงเป็นเล่มโปรดในดวงใจของนักอ่านหลาย ๆ คนที่ประทับใจบรรยากาศการเรียนการสอนของโรงเรียนโทโมเอที่ให้อิสระแก่เด็ก ไม่ตีกรอบความคิดด้วยทัศนคติของผู้ใหญ่ และให้เด็ก ๆ ตระหนักว่า “เราทุกคนเหมือนกัน” ไม่ว่าทางกายภาพจะแตกต่างกันแค่ไหน

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง
โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

เท็ตสึโกะ ซึ่งเป็นนักแสดงและพิธีกรโทรทัศน์ชื่อดังของญี่ปุ่นเขียนเล่าเรื่องชีวิตวัยเด็กของเธอในวัยเรียนชั้น ป.1 ที่ต้องถูกให้ออกจากโรงเรียนด้วยเหตุว่าเธอรบกวนการเรียนของเด็กทั้งห้องเพราะชอบเปิด-ปิดฝาโต๊ะเรียนเสียงดัง ชอบไปยืนข้างหน้าต่างเพื่อตะโกนคุยกับคณะนักดนตรีที่เดินผ่าน และชอบคุยกับนกนางแอ่น จนในที่สุด โต๊ะโตะจัง (ชื่อที่เจ้าตัวในขณะนั้นคิดว่าตัวเองชื่อนี้จากที่ผู้ใหญ่เรียกว่า เท็ตสึโกะจัง) ได้ไปเรียนที่โรงเรียนแห่งใหม่ซึ่งมีตู้รถไฟเป็นห้องเรียนและมีครูโคบายาชิ โซซาขุ ผู้เข้าใจเด็กอย่างที่สุดเป็นคุณครูใหญ่ นอกจากเนื้อเรื่องที่สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของผู้ใหญ่ที่ส่งผลต่ออนาคตของเด็กแล้ว ภาพปกและภาพประกอบหนังสือโต๊ะโตะจัง โดย อิวาซากิ ชิฮิโระ ยังเป็นภาพที่สื่อให้เห็นถึงธรรมชาติและความไร้เดียงสาของเด็กได้อย่างอ่อนโยนและละมุนละไม

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง
“เคาะเท้า”, ค.ศ.1969
(ภาพ: พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระ)

หลังจากผ่านมา 37 ปี ในที่สุดทางสำนักพิมพ์ผีเสื้อได้จัดพิมพ์ หนังสือภาพ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง เมื่อต้นปี พ.ศ.2564 ในรูปแบบปกแข็งจำนวน 2 เล่มบรรจุในกล่องกระดาษสวยงามพร้อมรูปประกอบจำนวนกว่า 100 รูป เพื่อให้เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กและสำหรับผู้ใหญ่ที่เติบโตมาพร้อม ๆ กับโต๊ะโตะจังสามารถอ่านให้เด็กฟังพร้อมดูภาพได้อย่างเพลิดเพลิน

ภาพของ อิวาซากิ ชิฮิโระ (พ.ศ.2451-2517) ที่ใช้ประกอบในหนังสือเป็นภาพที่เธอวาดไว้ในช่วง พ.ศ.2503-2516 คือก่อนที่เท็ตสึโกะจะแต่งเรื่อง โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารรายเดือน Wakai Josei เมื่อ พ.ศ.2522 จนกระทั่งพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2524 เท็ตสึโกะนั้นชื่นชอบผลงานของชิฮิโระมากและกล่าวกันว่าตลอดเวลา 2 ปีที่เธอเขียนเรื่องโต๊ะโตะจังนั้น เธอไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระทุกเดือนเพื่อคัดเลือกภาพที่สอดคล้องกับประสบการณ์วัยเยาว์ที่เธอถ่ายทอดลงในหนังสือ ในท้ายเล่มของหนังสือภาพ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง มีรายการทุกรูปประกอบที่ใช้ในหนังสือโดยให้รายละเอียดของชื่อรูป ชื่อหนังสือและปี ค.ศ.ที่รูปเหล่านี้เผยแพร่ครั้งแรก

โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง

“เด็กหญิงสวมหมวกสีน้ำตาลเข้ม”,ต้นทศวรรษที่ 1970
(ภาพ: พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระ)

ภาพวาดส่วนใหญ่ของชิฮิโระเป็นสีน้ำในโทนสีพาสเทล ตลอดชีวิตการทำงานเธอสร้างสรรค์ภาพวาดไว้มากกว่า 9,000 ชิ้นและส่วนใหญ่เป็นรูปของเด็กในอิริยาบถต่าง ๆ และรูปดอกไม้ ชิฮิโระเรียนวาดภาพตั้งแต่อายุ 14 ปีและใช้ชีวิตวัยเด็กและช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในโตเกียว ผลของสงครามที่ทำให้รอยยิ้มของเด็ก ๆ หายไปสะเทือนใจเธอเป็นอย่างมากและนั่นทำให้ภาพวาดของเธอจึงมักสะท้อนความเยาว์วัยและไร้เดียงสาของเด็ก ๆ

“ดอกกุหลาบกับเด็กหญิง”, ค.ศ.1966
(ภาพ: พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระ)

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านของชิฮิโระในโตเกียวถูกระเบิดถล่ม ประสบการณ์ความเจ็บปวดจากสงครามทำให้เธอแต่งหนังสือภาพที่เกี่ยวกับสงครามหลายเล่ม เช่น เรื่อง “Watashi ga Chiisakatta Toki ni” (When I Was a Child) เมื่อพ.ศ.2510 เกี่ยวกับเด็ก ๆ ในเมืองฮิโรชิมะที่โดนถล่มด้วยอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเรื่อง Senka no Naka no Kodomotachi (Children in the Flames of War) ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2516 เกี่ยวกับสงครามเวียดนาม

โรงเรียนโทโมเอในหนังสือโต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง ที่โต๊ะโตะจังชื่นชอบมากจนกล่าวว่า “โรงเรียนดี ๆ แบบนี้ ฉันจะไม่ยอมขาดเรียนสักวันเดียว” นั้นก็เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่โดนถล่มจากการที่เครื่องบินทิ้งระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และทำให้รอยยิ้มของทั้งครูและนักเรียนต้องเลือนหายและเหลือแต่ความวิตกกังวลต่อชะตากรรมในอนาคต

“เด็ก ๆ ในทุ่งหญ้าฤดูใบไม้ผลิ”, ค.ศ.1969
(ภาพ: พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระ)

ผลงานรีโปรดักชันของชิฮิโระในรูปแบบการพิมพ์ที่เรียกว่า Piezography จำนวน 55 ชิ้นจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระที่กรุงโตเกียวและเมืองอะซูมิโนะ เคยนำมาจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครในนิทรรศการชื่อ Chihiro Iwasaki and Picture Book of Japan เมื่อพ.ศ.2557 ในครั้งนั้น ยูโกะ ทาเคะซาโกะ รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระในขณะนั้นเคยกล่าวถึงชิฮิโระไว้ว่า

“ตลอดชีวิตของชิฮิโระ เธอวาดภาพเพื่อหวังให้เด็ก ๆ มีความสุขและโลกสงบสุข พ่อของเธอเป็นสถาปนิกในกองทัพและเธอเติบโตมาพร้อมกับภาพภัยพิบัติของสงคราม ดังนั้นเธอจึงหวังว่าจะไม่มีสงครามเกิดขึ้นอีกเพราะเด็ก ๆ จะเปล่งประกายที่สุดเมื่อโลกนี้สงบสุขในฐานะแม่คนหนึ่ง ชิฮิโระสามารถวาดภาพเด็กอายุ 10 เดือนกับเด็กอายุ 1 ปีได้แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจนโดยไม่ต้องมีต้นแบบ เธอวาดภาพโดยไม่ต้องสเก็ตช์ก่อนและสามารถถ่ายทอดการเคลื่อนไหว ท่าทาง อารมณ์ ความรู้สึกของเด็ก ๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์”

“เด็ก ป.1 สะพายกระเป๋าเป้”, ค.ศ.1966
(ภาพ: พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระ)

ชิฮิโระเขียนหนังสือภาพมากกว่า 30 เล่ม โดยหนังสือภาพสำหรับเด็กเล่มแรกที่เธอเขียนเรื่องและวาดภาพประกอบเองชื่อ Hitori de Dekiruyo (I Can Do It All by Myself) ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ.2499 และได้รับรางวัลวัฒนธรรมเยาวชนสำหรับภาพประกอบหนังสือและนิตยสารสำหรับเด็กจากสำนักพิมพ์ Shogakukan และหนังสือ “Senka no Naka no Kodomatachi” (Children in the Flames of War) ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงในงานเทศกาลหนังสือนานาชาติที่ประเทศแคนาดา

ผลงานทั้งหมดของชิฮิโระได้รวบรวมไว้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระที่กรุงโตเกียวและเมืองอะซูมิโนะซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์หนังสือภาพแห่งแรกของโลก โดยก่อตั้งเมื่อพ.ศ.2520 ณ บ้านพักและสตูดิโอของเธอในกรุงโตเกียวที่เธออาศัยและสร้างสรรค์ผลงานมาเป็นเวลา 22 ปีจนกระทั่งเสียชีวิต ต่อมาใน พ.ศ.2540 มีการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งที่ 2 ที่เมืองอะซูมิโนะ จังหวัดนางาโนะ บ้านเกิดของพ่อแม่ของเธอและยังมีลานกิจกรรม โต๊ะโตะจัง และห้องเรียนตู้รถไฟคล้ายกับโรงเรียนโทโมเอของโต๊ะโตะจังอีกด้วย

นกน้อยกับเด็กหญิง”, ค.ศ.1971
(ภาพ: พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระ)

ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระจัดแสดงหนังสือภาพเกือบ 18,000 เล่มของศิลปิน 207 คน จาก 35 ประเทศ และภาพวาดต้นฉบับของชิฮิโระจำนวนมากถึง 9,500 ภาพ และเมื่อครั้งมีการนำผลงานของชิฮิโระมาจัดแสดงที่กรุงเทพฯเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ยูโกะเคยกล่าวถึงความสำคัญของหนังสือภาพไว้ว่า

“หนังสือภาพเป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญและเป็นวรรณกรรมแห่งความหวัง หนังสือเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างจินตนาการและแต่งแต้มรอยยิ้มบนใบหน้าของเด็ก ๆ ในประเทศญี่ปุ่นมีพิพิธภัณฑ์ราว 35 แห่งที่อุทิศให้แก่การจัดแสดงหนังสือภาพและยังจัดกิจกรรมมากกว่า 300 งานในแต่ละปีที่เกี่ยวเนื่องกับหนังสือภาพ”

“เด็กมองลอดรั้ว”, ค.ศ.1970
(ภาพ: พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระ)

หนังสือเรื่อง โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง ตีพิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2524 และแปลเป็นภาษาต่าง ๆ มากถึง 35 ภาษา ในระยะเวลาเพียง 3 ปีเศษนับตั้งแต่ตีพิมพ์ครั้งแรกสามารถจำหน่ายได้มากถึง 6,500,000 เล่มเฉพาะฉบับภาษาญี่ปุ่น และฉบับแปลภาษาไทยต้องพิมพ์ซ้ำถึง 4 ครั้งในเวลาไม่ถึง1 ปีปัจจุบันผู้เขียน คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระทั้ง 2 แห่ง

Fact File

  • ชื่อ : หนังสือภาพ โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง ในรูปแบบปกแข็งจำนวน 2 เล่ม
  • เขียน : คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ
  • แปล : ผุสดี นาวาวิจิต
  • รูปปกและรูปประกอบ : อิวาซากิ ชิฮิโระ
  • จัดพิมพ์ : สำนักพิมพ์ผีเสื้อญี่ปุ่น (bflybook.com)
  • ราคา : 1,575 บาท
  • พิพิธภัณฑ์ศิลปะชิฮิโระ : chihiro.jp/en/

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ