Traffickers: Inside The Golden Triangle สามเหลี่ยมทองคำ ไม่เคยสิ้นราชานักค้ายา สารคดีเปิดโปงขบวนการยาเสพติดระดับโลก
Lite

Traffickers: Inside The Golden Triangle สามเหลี่ยมทองคำ ไม่เคยสิ้นราชานักค้ายา สารคดีเปิดโปงขบวนการยาเสพติดระดับโลก

Focus
  • สารคดีซีรีส์ 3 ตอน เล่าถึง  3 ราชานักค้ายาเสพติดที่โด่งดังระดับโลกจากดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ วีรกรรมที่เกี่ยวพันกับด้านมืด ความตาย การหักหลัง และคำถามสำคัญว่าทำไมวงจรพ่อค้ายาเสพติดจึงไม่เคยหมดไปจากดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ
  • สารคดีชุดนี้ ไม่ใช่การถอดชีวประวัติเบื้องลึกของพ่อค้ายาเสพติดทั้งสาม แต่โทนของเรื่องเป็นการถอดไทม์ไลน์ในช่วงที่พวกเขามีความร่ำรวยแบบผิดปกติ จนไปเข้าตาฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ และการแกะรอยจากปากคำผู้ร่วมในปฏิบัติการ ผู้สังเกตการณ์ที่ศึกษาคดีของทั้งสาม และคนที่มีส่วนเกี่ยวพันทั้งส่วนตัวและธุรกิจกับพวกเขา

เมื่อดินแดน สามเหลี่ยมทองคำ ไม่เคยสิ้นราชานักค้ายา ซีรีส์แนวสารคดีชุด  Traffickers: Inside The Golden Triangle จึงค่อนข้างมีความน่าสนใจกับการตั้งโจทย์ไว้ที่ ธุรกิจค้ายามีความเสี่ยง แต่ก็มีคนมากมายเลือกก้าวเข้ามาอยู่ในธุรกิจมืดและผิดกฎหมายเช่นนี้เสมอ อะไรคือแรงจูงใจผลักดันให้พวกเขาทำสิ่งที่มีความเสี่ยง และจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงจรนักค้ายาเสพติดเริ่มต้นจากตรงไหน โดยในสารคดีเล่าเรื่องครอบคลุมช่วงเวลากว่า 40 ปี ที่ผ่านมา เมื่อพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ได้ปักหมุดลงบนแผนที่โลกแล้วว่าเป็น ดินแดนแห่งราชายาเสพติด และต้นทางแหล่งผลิตยาเสพติดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และไม่ว่าจะมีการปราบปรามอย่างเข้มงวดแค่ไหน สุดท้ายธุรกิจยาเสพติดร้อยล้านพันล้านก็ยังคงยืนหยัด โดยสารคดีเล่าเรื่องผ่าน 3 บุคคลสำคัญในวงการค้ายา แบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ตอน เริ่มจาก ขุนส่า ผู้เป็นราชาฝิ่น (ตอน The Opium King) โจรสลัดแม่น้ำโขง (ตอน The Mekong River Pirate) และเจ้าพ่อค้ายาเพลย์บอย (ตอน The Playboy Druglord)

Traffickers: Inside The Golden Triangle

Traffickers: Inside The Golden Triangle เริ่มเล่าเรื่องจากทศวรรษ 1970-80 กับฉากชีวิตของ ขุนส่า ราชายาเสพติด ลูกครึ่งชาวจีนฮ่อ-ไทยใหญ่ผู้อาศัยอยู่ในแผ่นดินรัฐฉาน และเป็นหัวหน้ากองกำลังปฏิวัติไทยใหญ่ ขุนส่ามีความแข็งแกร่งที่สั่งสมจากประสบการณ์และสายสัมพันธ์กับกองทหาร ตั้งแต่สมัยเป็นทหารรับจ้างของจีนพรรคก๊กมินตั๋ง ต่อด้วยการเข้าร่วมกองกำลังพม่าในการยุยงไทยใหญ่ต่างกลุ่มให้รบกัน จนถึงการตั้งกองกำลังปฏิวัติไทยใหญ่แล้วหันไปสู้กับกองทัพพม่าส่วนกลาง ท้ายสุดคือการผันตัวมาเป็นฐานกำลังในการผลิตยาเสพติดส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก

ภาพของขุนส่าเป็นทั้งพระเอกคนดีของกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นทั้งผู้ร้ายในขบวนการค้ายาเสพติดระดับโลกที่มีคนตั้งค่าหัวไว้สูงลิ่ว โดยเฉพาะผงขาว หรือเฮโรอีน หากประทับตราขุนส่า ถือได้ว่าเป็นระดับท็อปควอลิตี คุณภาพดีอันดับหนึ่งของโลก จากการที่ขุนส่ามีวัตถุดิบสารตั้งต้นอย่าง ฝิ่น ที่ปลูกในบริเวณเทือกเขาสูงของสามเหลี่ยมทองคำ ทำให้สามารถผลิตเฮโรอีนบริสุทธิ์ ไม่ปลอมปนแป้งมันอย่างแน่นอน

Traffickers: Inside The Golden Triangle

เรื่องราวของ ขุนส่า น่าสนใจตรงที่ไม่ได้เป็นการเล่าแบบชีวประวัติ แต่ยังมีมิติของการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาอยู่ในเรื่อง เริ่มจากช่วงที่สหรัฐอเมริกาทำสงครามเวียดนามและเข้ามาตั้งฐานทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะนั้นพลเมืองอเมริกันกลายเป็นเหยื่อของยาเสพติดร้ายแรงอย่าง เฮโรอีน และแม้สหรัฐอเมริกาจะประกาศสงครามยาเสพติด และประกาศล่าหัวขุนส่า ในฐานะผู้ผลิตสิ่งมอมเมาเยาวชนของพวกเขา แต่ในทางกลับกันสหรัฐฯ เองก็เป็นคู่ค้าที่สร้างความร่ำรวยให้กับขุนส่า และเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติดนั้นขุนส่าได้แบ่งปันกับประชาชนของเขา รวมทั้งสร้างกองกำลังต่อสู้กับรัฐบาลกลางของพม่า โดยจุดจบของเรื่องนี้สะท้อนว่า ขุนส่าไม่เคยเพลี่ยงพล้ำให้แก่สหรัฐฯ เลยแม้แต่นิดเดียว เพราะเมื่อถูกไล่ล่าโดยทางการไทยสนธิกำลังกับสหรัฐฯ และรัฐบาลพม่าจนเกือบจนตรอก สุดท้ายขุนส่าเลือกได้ที่จะวางมือ สลายกองกำลัง ยกฐานการผลิตเฮโรอีนและมอบตัวกับรัฐบาลพม่า พร้อมกับใช้ชีวิตบั้นปลายโดยถูกกักขังอยู่ในบ้านพักเมืองย่างกุ้ง โดยที่สหรัฐฯ ไม่มีสิทธิได้ตัวเขาไปดำเนินคดี จนวาระสุดท้าย ขุนส่าเสียชีวิตในวัย 73 ปี ที่บ้านพัก เมื่อ ค.ศ.  2007

Traffickers: Inside The Golden Triangle
ภาพของขุนส่าเป็นทั้งพระเอกคนดีของกลุ่มชาติพันธุ์ และเป็นทั้งผู้ร้ายในขบวนการค้ายาเสพติดระดับโลก

ในช่วงทศวรรษ 2000 หลังจากขุนส่าวางมือก็มีคนรับช่วงต่อ นั่นคือ หน่อคำ ชาวไทยใหญ่เกิดที่รัฐฉาน และเคยเป็นทหารในกองกำลังของขุนส่า ซึ่งได้ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากลูกน้องและพวกพ้องเดิม ปักหลักที่จังหวัดท่าขี้เหล็ก เมืองชายแดนไทย-พม่า พร้อมธุรกิจสิ่งผิดกฎหมายที่ควบทั้งการผลิตและจากการควบคุมเครือข่ายยาเสพติดได้ตลอดลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งการดักเก็บค่าคุ้มครองจากบรรดาเรือสินค้าที่ผ่านไปมาบนลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งนั่นทำให้หน่อคำได้ฉายาว่า โจรสลัดแห่งลุ่มน้ำโขง  ก่อนที่หน่อคำจะพบจุดจบจากคดีฆาตกรรมลูกเรือสินค้าชาวจีนและทิ้ง 13 ศพลงในแม่น้ำโขง ใกล้เมืองเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเหตุให้หน่อคำถูกทางการจีนไล่ล่า และถูกจับขึ้นศาลต้องโทษประหารชีวิตปิดตำนานโจรสลัดแห่งลุ่มน้ำโขงที่ประเทศจีน

แต่ขึ้นชื่อว่า สามเหลี่ยมทองคำ ดินแดนนี้ไม่เคยสิ้นคนมีบารมีในวงการค้ายา เมื่อกระบวนการค้ายาขนาดใหญ่ยังคงทำกันเป็นล่ำเป็นสันเป็นกระบวนการที่เกี่ยวพันกับทั้งราชการและนักธุรกิจเบอร์ใหญ่ระหว่างประเทศ และในยุค 2010 พ่อค้ายารายใหญ่ก็ยิ่งเข้าใกล้และปรับตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมสมัยใหม่มากขึ้นในคราบของนักธุรกิจข้ามชาติ พ่อค้ายาเสพติดปรับตัวเองมาเป็นหนุ่มไฮโซในแวดวงสังคม เป็นคนมีเงินและเกี่ยวเนื่องกับวงการบันเทิง เช่น ไซซะนะ แก้วพิมพา หรือมิสเตอร์เอ็กซ์   (Mr. X – Xaysana Keopimpha) ฉายา เจ้าพ่อค้ายาเพลย์บอย

Traffickers: Inside The Golden Triangle นอกจากจะเป็นเรื่องราวของนักค้ายาจากจุดเริ่มต้นจนถึงจุดจบที่เต็มไปด้วยสีสันแล้ว การเลือกเล่าถึง นักค้ายา 3 ยุค ยังสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมเอเชีย ซึ่ง สตีฟ เจา (Steve Chao) นักทำหนัง ผู้กำกับสารคดี ตอน The Opium King และเขายังเป็นนักข่าวที่เกาะติดสถานการณ์ยาเสพติดมาทั่วโลกกว่า 2 ทศวรรษ ชี้ให้เห็นเนื้อหาที่เปิดเผยออกมาในระหว่างการเล่าเรื่องของนักค้ายาตัวพ่อแห่งสามเหลี่ยมทองคำเหล่านี้ว่า 

“มันไม่ใช่แค่เรื่องในวงการค้ายาเสพติด แต่เป็นเรื่องของการเติบโตของเอเชียที่โดดเด่นขึ้นมาในหลายๆ เรื่อง และคนเหล่านี้สามารถมองเห็นการยกระดับของเศรษฐกิจในเอเชียช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เห็นการเติบโตมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก และสามารถปรับตัวล้อกระแส เชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อการลักลอบ เคลื่อนย้ายและขนส่งยาเสพติดไปทั่วภูมิภาคและไปทั่วโลกได้ด้วย”

เบื้องหลัง Traffickers : Inside The Golden Triangle

ดีน จอห์นสัน (Dean Johnson) ผู้อำนวยการสร้าง Traffickers : Inside The Golden Triangle ชี้ประเด็นหนึ่งที่เขาพบจากบุคคลทั้ง 3 ซึ่งเป็นตัวแทนของการมีอยู่ของธุรกิจยาเสพติดมูลค่ามหาศาลในภูมิภาคนี้ว่า 

“สิ่งที่เป็นจุดร่วมของ นักค้ายาเสพติดร้อยล้าน ทั้งสามคนคือ บุคลิกแกร่งโดดเด่น มีลักษณะเป็นผู้นำเข้มแข็งในแบบ จ่าฝูง และมีวิธีคิดต่อชีวิตและบุคลิกลักษณะนิสัยคล้ายๆ กัน ซึ่งเป็นองค์ประกอบในการเป็นตัวละครที่ดึงดูดความสนใจให้อยากนำเสนอเรื่องราวของพวกเขาเป็น สารคดีผสานการเล่าเรื่องแบบดรามา (docu-drama)”

ทั้งขุนส่า หน่อคำ และ ไซซะนะ ล้วนมีเสน่ห์ดึงดูดผู้คน โดยสองคนหลังเป็นหนุ่มเจ้าสำราญที่มีเงิน มีอำนาจ มีผู้หญิงมารุมล้อม และในรายของ ไซซะนะ พ่อค้ายาแห่งยุค 2010 เขามีรถหรูซูเปอร์คาร์ มีภาพเซลฟี่อวดชีวิตหรูร่ำรวยผ่านโซเชียลมีเดียจนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่แกะรอยและรวบตัวเขาได้

ในเรื่องราวทั้ง 3 ตอน ได้ให้รายละเอียดกระบวนการจับกุม แม้ว่าในตอนของขุนส่า จะมีการถ่ายทำจำลองเหตุการณ์เพิ่มเติม เพื่อขยายเรื่องราวจากปากคำของผู้เกี่ยวข้อง แต่ในตอนของ หน่อคำ และ ไซซะนะ นั้นมีบันทึกภาพข่าวจากเหตุการณ์จริงที่ทางเจ้าหน้าที่นัดแนะกับสื่อโทรทัศน์ไทยในวันดักจับกุมที่สนามบินสุวรรณภูมิ

ขุนส่า

ดีน จอห์นสัน ยังเผยถึงการตั้งโจทย์ในการสร้างซีรีส์แนวสารคดีชุด Traffickers: Inside The Golden Triangle ว่า ธุรกิจค้ายามีความเสี่ยง แต่ก็มีคนก้าวเข้ามาอยู่ในธุรกิจมืดและผิดกฎหมายนี้เสมอ  อะไรผลักดันให้พวกเขาทำสิ่งนี้ และจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงจรนักค้ายาเสพติดคืออะไร เขาและทีมงานสร้างอยากเล่าประวัติศาสตร์ที่เกิดซ้ำของกระบวนการค้ายาในดินแดนสามเหลี่ยมทองคำแห่งนี้ ดินแดนที่ดูเหมือนกฎหมายจะปราบปรามยาเสพติดได้ไม่จบไม่สิ้นเสียทีแม้กระทั่งปัจจุบัน จากยุคเป็นแหล่งผลิตเฮโรอีนระดับโลก จนถึงยุคที่เป็นแหล่งผลิตและส่งออก แอมเฟตามีน  ยาเสพติดสังเคราะห์ที่ไม่ต้องอาศัยไร่ฝิ่น แต่แตกไลน์การผลิตเป็น ยาบ้า ยาไอซ์ คริสตัลเมธ และชาบุ ฯลฯ แถมเข้าถึงประชาชนทุกชนชั้น แบบไม่มีทีท่าว่าจะหยุดยั้งได้

สตีฟ เจา ผู้กำกับสารคดี ตอน The Opium King ซึ่งได้สั่งสมประสบการณ์จากการทำข่าวเจาะลึกกระบวนการยาเสพติดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพื้นที่อื่นๆ ในโลกกว่า 25-26 ปี ให้ข้อสังเกตว่า  “ยาบ้า หรือแอมเฟตามีน ยาหลอนประสาทที่ทุกชนชั้นเข้าถึงมันได้  และมีต้นทุนการผลิตราคาถูกมากในดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ แต่เมื่อแปรรูปเป็นยาไอซ์ ขายได้กิโลกรัมละ 250,000 ดอลลาร์ คุณคงพอนึกถึงกำไรมหาศาล และนั่นคือแรงจูงใจสำคัญให้คนกล้าเสี่ยงแหกกฎหมายผลิตยาเสพติดและส่งขายจากต้นทางสามเหลี่ยมทองคำ  ถึงแม้ว่าพอเริ่มตัวใหญ่ขึ้น ก็อาจจะถูกล่าตัวออกมาได้ แต่จากที่เห็นเรื่องราวที่มันเคยเกิดขึ้นแล้ว อย่างซีรีส์สารคดีที่เรานำเสนอ ตราบใดที่ยังมีความโลภ เป็นแรงจูงใจ ด้านมืดของมนุษย์จะยังทำให้มีคนต่อๆไปยอมเสี่ยงเข้ามาในธุรกิจมืดนี้เสมอ แม้ว่าจะเห็นจุดจบที่ไม่สวยของทุกคนชัดเจน แต่แรงจูงใจที่ว่ามามันน่าสนใจมากกว่า”

ขุนส่า

เรื่องย่อ Traffickers: Inside The Golden Triangle

ซีรีส์สารคดีความยาว 3 ตอนชุดนี้ นับเป็นสารคดีเรื่องแรกที่เปิดโลกที่ซ่อนเร้นของการผลิตยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำซึ่งเผยให้เห็นถึงเรื่องราวของ ‘ราชาฝิ่น’ ‘โจรสลัดแม่น้ำโขง’ และ ‘เจ้าพ่อค้ายาเพลย์บอย’ เจ้าพ่อยาเสพติดที่โด่งดังที่สุดในภูมิภาคนี้ ร่วมติดตาม ค้นหาความลับว่าพวกเขาใช้ประโยชน์จากยาเสพติด สงคราม และความรุนแรงเพื่อก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดได้อย่างไร ด้วยบทสัมภาษณ์พิเศษจากคนวงใน เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด และครอบครัวของเหยื่อ รวมถึงวิดีโอต้นฉบับที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน

ตอนที่ 1 The Opium King

“ราชาฝิ่น” สร้างความเสียหายต่อประชาคมโลกอย่างรุนแรงและกว้างขวาง โดยการนำเข้าเฮโรอีนมายังนิวยอร์กในทศวรรษ 1970 สำนักงานปราบปรามยาเสพติดของสหรัฐฯ (DEA) ตั้งค่าหัวขุนส่า ผู้ค้ายารายใหญ่ที่สุดของโลกด้วยเงินรางวัลกว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำตัวเขาไปดำเนินคดีไม่ว่าจะเสียชีวิตหรือยังมีชีวิตอยู่ แต่ “ราชาฝิ่น” มีกองทัพในมือกว่า 25,000 นาย และฐานที่มั่นแน่นหนาลึกเข้าไปในเทือกเขาของพม่า ตราบใดที่ยังไม่มีการบุกโจมตี แก๊งค้ายารายใหญ่คงไม่ยอมรามือ “ปฏิบัติการกับดักเสือ” ที่ใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของขุนส่าจึงเกิดขึ้น และทำให้การค้าเฮโรอีนของเขาสิ้นสุดลงได้ในที่สุด เรื่องนี้กำกับโดย Steve Chao และ Robbie Bridgman 

ขุนส่า

ตอนที่ 2 The Mekong River Pirate

ลูกเรือจีน 13 คนถูกปล้น ฆ่า และโยนลงในลุ่มแม่น้ำโขง จากการสืบสวนพบว่าคนร้ายที่อยู่เบื้องหลังการสังหารหมู่ครั้งนี้คือ หน่อคำ เจ้าของฉายา “โจรสลัดแม่น้ำโขง” หัวหน้าแก๊งค้ายาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ หลังจากถูกไล่ล่าเป็นเวลานานหลายปีโดยเจ้าหน้าที่จีนในประเทศไทย พม่า และลาว ในที่สุดหน่อคำก็ถูกจับในตอนกลางคืนขณะที่เขาพยายามข้ามพรมแดนไทย-ลาวทางเรือ เขาถูกส่งตัวไปจีนอย่างรวดเร็ว ผลการตัดสินประหารชีวิตโจรสลัดแห่งลุ่มแม่น้ำได้ถูกเผยแพร่สดผ่านทางโทรทัศน์ท่ามกลางสายตาของผู้ชมนับล้าน แต่ใครกันแน่ที่เป็นคนร้ายตัวจริง และหน่อคำมีความผิดจริงหรือไม่ สองประเด็นนี้ยังเป็นสิ่งที่ค้างคาใจชาวโลก กำกับโดย Robbie Bridgman

ตอนที่ 3 The Playboy Druglord

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามล่า “เจ้าพ่อค้ายาเพลย์บอย” ที่ลักลอบนำเข้ายาบ้าหลายล้านตันมายังประเทศไทย แต่การเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของเขาไม่ใช่เรื่องง่าย ไซซะนะ แก้วพิมพา นักธุรกิจชาวลาวที่รู้จักกันในนาม ‘เพลย์บอยคนดัง’ เป็นผู้ต้องสงสัยคนสำคัญ ภาพงานปาร์ตี้และรถยนต์สุดหรูของเขาก็ถูกเผยแพร่ไปทั่วโซเชียลมีเดีย หลังจากประสบความสำเร็จในการจับกุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในขบวนการค้ายานี้หลายครั้ง เจ้าหน้าที่ไทยจึงเริ่มเปิดโปงเครือข่ายค้ายาอันซับซ้อนนี้

Fact File

  • Traffickers : Inside The Golden Triangle กำกับโดย Robbie Bridgeman, Steve Chao และ John Lam อำนวยการสร้างโดย Dean Johnson นับเป็นสารคดีออริจินัลเรื่องที่สามของ HBO Asia ต่อจากสารคดีที่ได้รับรางวัลอย่างThe World Behind The Teenage Psychic และ The Talwars: Behind Closed Doors สามารถรับชมได้ทาง HBO GO
  • Traffickers : Inside The Golden Triangle ถ่ายทำในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ รวมทั้งประเทศไทย เมียนมา จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย
  • สตรีมหรือดาวน์โหลด TRAFFICKERS: INSIDE THE GOLDEN TRIANGLE ทาง HBO GO ผ่าน 3BB หรือที่ www.hbogo.co.th พร้อมใช้งานบน Android TV, Apple TV, LG TV และ Samsung Smart TV และมาพร้อมกับฟังก์ชัน AirPlay และ Google Cast

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป