บ้านญวน สตรีทฟูดอาหารญวนหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ เก่าแก่กว่า 200 ปี
Lite

บ้านญวน สตรีทฟูดอาหารญวนหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ เก่าแก่กว่า 200 ปี

Focus
  • ชุมชนญวนสามเสน เป็นชุมชนชาติพันธุ์เก่าแก่ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในสยามร่วม 200 ปี ปัจจุบันยังคงรากวัฒนธรรมด้านอาหาร มีตลาดอาหารญวนดั้งเดิมที่ราคาไม่แพง เป็นสตรีทฟูดญวนหนึ่งเดียวในกรุงเทพฯ
  • บ้านญวนยังมีอาหารตาอย่างเรือนไม้เก่าสลับบ้านทรงคอนกรีตหล่อแบบ ซ่อนตัวอยู่ในซอกซอยเขาวงกตที่ถูกขนาบด้วยสองโบสถ์คาทอลิกเก่าแก่ประจำชุมชน

แหนมเนืองและเฝอ ดูท่าจะไม่ใช่อาหารจานญวนที่หายากอีกแล้วในกรุงเทพมหานคร ไม่นับปากหม้อ ขนมเบื้อง และบัวลอยเผือก ที่กลมกลืนแปลงสัญชาติเป็นไทยไปนานแล้ว แต่ถ้าต้องการลิ้มรสอาหารญวนดั้งเดิมไปมากกว่าเมนูพื้นฐาน แถมยังเสิร์ฟพร้อมประวัติศาสตร์ชุมชนญวนในกรุงเทพฯ ก็ต้องตรงมาที่ตลาด บ้านญวน ตลาดวันอาทิตย์ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยสามเสน 13 ที่นี่คือรางวัลล้ำค่าสำหรับการตื่นแต่เช้าตรู่ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่ต้องดั้นด้นไปให้ถึงก่อนเวลาพิธีมิสซาเริ่ม มิเช่นนั้นของดีขนมเด็ดราคาเป็นมิตรรายรอบ วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ จะทยอยหมดเสียก่อน

บ้านญวน
บรรยากาศชุมชนญวน ซอยสามเสน 13
บ้านญวน

สองร้านสถาบันหลักของชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา บ้านญวน อย่าง อรวรรณ และ ป้าเก๋ ได้ทำให้คนกรุงเทพ ฯ หลายต่อหลายรุ่นรู้จักอาหารญวน โดยเฉพาะในช่วงกระแสนิยมแหนมเนืองเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ก่อนที่จะแตกหน่อกระจายไปทั่วกรุง แต่ตลาดเช้าวันอาทิตย์ บ้านญวน มีให้ชิมมากกว่าเมนูพื้นๆ อย่างยำขนมจีนหนังหมู เปาะเปี๊ยะสด และไก่ตะไคร้ บรรดาแผงอาหารและรถเข็นกว่า 10 ร้านได้ราวกับจำลองตลาดหัวเมืองอีสานริมโขงขนาดย่อมให้พอคลายคิดถึง ที่สำคัญหลายร้านล้วนปรุงทำกันสดใหม่ สมที่สืบสานวัฒนธรรมการกินของเพื่อนบ้านอาเซียนที่ขึ้นชื่อในเรื่องการบริโภคแต่วัตถุดิบสดๆ

บ้านญวน
แผงรถเข็นในตลาด

พระนครทอดน่อง ชวนพาไปชิมจานญวน (ที่อาจจะมีหน้าตาและรสแบบไทยๆ บ้าง) ที่แปลกหน้าตาแต่ปลุกต่อมรส ของชุมชนชาติพันธุ์เก่าแก่ที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานในสยามร่วม 200 ปีแห่งนี้ ที่นอกจากอาหารปาก บ้านญวนยังมีอาหารตาอย่างเรือนไม้เก่าสลับบ้านทรงคอนกรีตหล่อแบบ ซ่อนตัวอยู่ในซอกซอยเขาวงกตที่ถูกขนาบด้วยสองโบสถ์คาทอลิกเก่าแก่ประจำชุมชน  ไม่ไกลนักยังมีอาหารสมองและจิตวิญญาณจากแหล่งความรู้ศิลปวัฒนธรรมและศาสนสถานเพื่อนบ้านอย่างอารามพุทธและศาลเจ้าจีนไหหลำ ตลอดเส้นถนนสามเสนและราชวิถี รวมถึงร้านอาหารอร่อยราคานักเรียนด้วยอยู่ในแหล่งสถานศึกษาชุกชุมให้ตบท้าย

บ้านญวน
บางร้านมีที่นั่งกินเล็กๆ

ตลาดเล็กๆ แต่ของกินแน่นมาก

ตัดปัจจัยของการที่มีเฉพาะเช้าวันอาทิตย์และวายไว สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตลาดบ้านญวนดูไม่เป็นที่รู้จักมากนักก็เนื่องจากพิกัดที่ไม่ได้อยู่ริมถนน ตั้งเสียเกือบก้นซอย แถมมีแตกกระจายไปในซอกซอยอีก แต่การได้ดั้นด้นไปค้นหาก็นับเป็นความสนุกอย่างหนึ่ง ทำให้สร้างแรงได้กินชามใหม่ได้

แนะนำให้เริ่มออกจุดสตาร์ตที่ตัวตลาดโซนหลัก โดยไล่ไปตั้งแต่แยกจุดตัดของซอย 13 กับซอยราชวิถี 19 ซึ่งเป็นสองทางเข้าหลัก ที่มีร้านอรวรรณกับร้านสะดวกซื้อ 7/11 ปักหมุดไว้ จะพบกองทัพรถเข็นยาวไปจนเกือบสุดซอยริมแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนใหญ่จะขายเป็นแพ็กหรือถุงให้ซื้อกลับบ้าน แต่สามารถนำมาแกะกินเคียงในร้านหรือเพิงที่มีโต๊ะเก้าอี้ได้ในระยะการกินแบบมื้อสั้นๆ  เช่นที่เจ้าข้าวต้มตีนไก่ใส่เลือดก้อนและกวยจั๊บญวน โดยใช้วิธีอุดหนุนทางร้านบ้างในการใช้เก้าอี้  

บ้านญวน
ข้าวต้มตีนไก่เจ้าเก่าแก่

เลยหน้าร้านสะดวกซื้อไปอีกแยกทางเดิน ที่เชื่อมไปสู่หลังโบสถ์และทางเข้าโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์เป็นจุดรวมรถเข็นอีกกลุ่ม ซึ่งบางเจ้าขายช่วงเย็นในวันธรรมดาหลังโรงเรียนแถบนั้นเลิกด้วย และยังมีรถเข็นของกินเล่นแนวขนมหน้าโรงเรียนให้รำลึกบรรยากาศวัยเรียน ที่สามารถสอยให้เด็กที่บ้าน พร้อมอาหารไทยรสชาติจัดจ้านให้ผู้ใหญ่ในครอบครัว อย่างขนมจีน แกงกะทิ และผัดเผ็ดปลารสเร่าร้อน

บ้านญวน

อีกโซนที่ต้องเดินต่อไปอีกนิด โดยจะเลี้ยวโค้งเข้าทางด้านหลังโบสถ์ทางเดิม หรืออ้อมไปหน้าโบสถ์ที่อยู่เกือบสุดทางเส้นตลาดหลักในซอย 13 ก็ได้ คือ กลุ่มแผงเพิงฝั่งหน้าโบสถ์ ภาคบังคับของขาประจำตัวตึง ประกอบไปด้วยเจ้ากวยจั๊บแบบปากิมเส้นสด ให้เลือกพร้อมข้าวต้มและข้าวเกรียบปากหม้อญวน ซึ่งนอกจากจะละเลงปากหม้อสดๆ แล้ว ยังปิ้งข้าวเกรียบร้อนกรอบทำใหม่ๆ ตามออร์เดอร์ ให้นั่งกินแบบฟินในความกรอบนอกนุ่มในอย่างที่หาได้ยากในกรุงเทพฯ ด้วยราคาต่ำร้อยนี้ แม้อาจต้องรอใช้เวลาทำสักนิด

บ้านญวน

ติดกันคือเจ้ารถเข็นในตำนานสารพัดเมนูในแพ็กพลาสติกใสตรงหัวมุมหน้าโบสถ์พอดี ปกติจะมาทยอยวางของแต่เช้าตรู่ ถือว่าเป็นเจ้าที่คนรอคอยมากที่สุดและเก่าแก่มากที่สุดเจ้าหนึ่งในชุมชน น่าเสียดายที่ในปัจจุบันคุณลุงทายาทมีแรงทำขายเพียงไม่กี่อย่าง  เลยจากจุดนี้ไปยังสามารถเดินต่อไปร้านอื่นๆ ที่แม้อาจจะไม่ได้ขายเมนูญวนเป็นหลักแต่ก็มีความอร่อยซ่อนตัวอยู่หลายร้าน ซึ่งลัดเลาะได้ไปถึง ชุมชนวัดเขมร ที่อยู่รายล้อม วัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า (วัดเขมร) โบสถ์คาทอลิกเพื่อนบ้านประหนึ่งคู่แฝดอีกแห่งที่ตัวอาคารถือว่าเก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ

บ้านญวน
ร้านป้าเก๋แหนมเนือง

เมนูญวนคลาสสิค

เฝอ คือหนึ่งในบรรดาอาหารเวียดนามที่คนไทยรู้จักดี เริ่มมีพลิกแพลงแต่งเครื่องเคราให้ร่วมสมัยขายกันตามร้านเวียดนามหรือร้านเมนูเส้นตามร้านในห้างหรือร้านรวงหรู แต่ที่บ้านญวนยังขายกันแบบเป็นอาหารจานบ้านๆ ด้วยรูปลักษณ์รสชาติเฉพาะตัว โดยมักออกมาในแนวกวยจั๊บญวนที่เรียกว่า ปากิม (หรือปะกิม) นอกเหนือจากสองร้านที่แนะนำไปข้างต้น ยังมีขายกันหลายร้านในชุมชน บางเจ้าเปิดขายวันธรรมดา บางเจ้าก็โด่งดังเพราะขายข้างโรงเรียน เป็นอาหารเช้าที่ต้องตามมากินกันตอนโต เนื้อแป้งและความเข้มข้นของซุปและเครื่องประกอบอย่างเลือดก้อน เนื้อไก่ฉีก หมูสับ หมูยอ ไข่นกกระทา ก็จะต่างกันไปตามแต่ละเจ้า แต่ที่เป็นเอกลักษณ์หากินที่อื่นยากคือ เครื่องปลาช่อน ที่ทำออกมาได้ไม่คาวเลย ที่ขาดไม่ได้คือหอมเจียวและผักกลิ่นฉุนโรย พร้อมพริกเผาคั่วแบบแห้งให้ปรุงสำหรับคนติดเผ็ด แต่อย่าลืมพริกไทยเป็นใช้ได้

กวยจั๊บญวนเส้นปากิมใส่ปลาช่อนมีขายหลายร้าน

ตอนชิมให้ระวังนิดเรื่องความร้อนของซุปและตัวแป้ง แต่สามารถขอตัวช่วยลดความร้อนได้โดยเติมน้ำซุปให้ใสลดความข้นร้อนจากตัวแป้ง นอกจากนี้บางเจ้าที่ขายเฝอจะนำซุปเดียวกันที่มักเคี่ยวกับกระดูกและขาไก่ พร้อมกับใส่เลือดไก่หรือเครื่องอื่นๆ มาทำข้าวต้มอีกเมนู ซึ่งอร่อยไม่แพ้กัน

กินเล่น กินหวาน กินว่าง

ที่ตลาดบ้านญวนนี่ไม่ต้องห่วงเรื่องของกินเล่น เปาะเปี๊ยะทั้งแบบทอดและสด ปากหม้อญวนที่นึ่งแป้งกันใหม่ๆ โปะกุยช่ายผสมหมูสับอย่างตูม แม้บางเจ้าอาจจะปรับเป็นไก่เพื่อให้ขายได้ตามราคาเดิม หรือขนมเบื้องละเลงแป้งใหม่แบบจานต่อจาน แต่ที่ตลาดนี่ให้มากกว่านั้นด้วยของสารพันกินเล่นกึ่งคาวกึ่งหวานสไตล์ญวน กึ่งกินจริงกินเล่นก็ได้หมด ทั้งหมดนี้นอกจากจะหากินยากข้างนอกแล้ว ยังต้องอาศัยการสอดส่ายสายตาสักนิด เนื่องจากบางเจ้าขายหมดไวบ้าง สลับมาขายบางสัปดาห์บ้าง หรือซ่อนตัวอยู่ในกองแพ็กอาหารเมนูอื่นๆ โดยขอแนะนำสามทีเด็ดก่อนเป็นเบื้องต้น

ทีเด็ดอันแรกคือ ปากหม้อ ทำจากแป้งมันเนื้อใส ไส้หน่อไม้ผสมเนื้อสัตว์อย่างกุ้งหรือหมูไก่สับ คล้ายของกินที่เรียกว่า banh bot loc อาหารถิ่นภาคกลางของเวียดนาม สำหรับคนติดหวานก็มีน้ำจิ้มออกเปรี้ยวปนหวานให้ราด  ทีเด็ด 2 คือ ขนมแปบไส้กุ้งราดกะทิ หน้าตาคล้ายขนมถั่วแปบที่โรยกะทิขูดฝอยแทนถั่วเขียวนึ่ง ตัวไส้จะคล้ายหน้ากะฉีกแต่ใส่กุ้งสีแดงที่คล้ายหน้ากุ้งที่โรยหน้าข้าวเหนียว ให้ผัสสะลิ้นด้วยรสหวานจากกะทิและเค็มจากไส้กุ้งที่ผัด แนมด้วยผักชีตัดเลี่ยน ขนมแปบกุ้งแบบนี้ในกรุงเทพฯ พอจะหากินได้ที่ตลาดนางเลิ้งและชุมชนวัดดุสิตาราม

ของกินเล่นแบบญวนมีขายเยอะมาก

ความเป็นกึ่งหวานกึ่งคาวขั้นสุดยอดยังไปอยู่ที่ทีเด็ด3 คือ ขนมบัวลอยญวน แบบสูตรแยกสองถุง ยุคหนึ่งความลือเลื่องของบัวลอยเผือกบ้านญวนเคยขจรไปปรากฏตามตลาดเทเวศร์และร้านอาหารละแวกใกล้เคียงบางร้าน แต่บัวลอยแบบบ้านญวนแท้ๆ กลับหน้าตาดูคล้ายขนมโค (ซึ่งมีขายตามร้านอาหารเวียดนามหลายที่แล้ว) แต่ที่นี่มีความต่างของรสชาติและส่วนผสมที่ซับซ้อนกว่า โดยแยกปรุงเป็นสองแบบแยกเค็มหวาน โดยทั้งคู่จะมีไส้เป็นถั่วบดที่ผสมหอมเจียวคล้ายกัน แต่แบบเค็มจะใช้น้ำกะทิสีขาวธรรมชาติผสมน้ำตาลทรายกับเกลือ กับตัวแป้งผสมต้นหอมซอยเล็กน้อย ส่วนแบบหวานน้ำกะทิจะผสมน้ำตาลมะพร้าวและงาคั่วบดทำให้สีออกน้ำตาล แม้ว่าจะแยกถุงขาย แต่ก็สามารถซื้อมาผสมกินพร้อมกันได้ ชวนให้สงสัยว่าเป็นที่มาของปลากริมไข่เต่ายิ่งนัก น่าเสียดายที่ของกินเล่นแนวนี้เริ่มทยอยหายไปจากปีก่อนๆ ด้วยกระบวนทำที่ยุ่งยาก และคนกินเป็นน้อยลง  

แหนมเนืองป้าเก๋

จานหมู ที่ไม่ได้ทำกันหมูๆ   

แน่นอนว่าเมนูญวนจะขาดหมูไม่ได้ (แม้ว่าด้วยราคาหมูที่สูงในปัจจุบันทำให้เนื้อไก่ถูกใช้สลับบ้างในบางจาน) นางเอกที่รู้จักกันมานานในเหล่าคนรักผักและสุขภาพคือ แหนมเนือง ที่นำหมูบดปรุงรสมาปั้นเป็นก้อนย่างกินกับแผ่นแป้งพร้อมผักแนมและน้ำจิ้มที่แต่ละเจ้าต่างมีสูตรลับ เช่นกระซิบกันว่าใส่ตับบดบ้าง เมนูนี้จะกินให้ถึงรสอาจต้องไปกินในร้านหลักอย่างป้าเก๋และอรวรรณอยู่ ด้วยวิธีกินที่มีขั้นตอน

หมูหันวางขายในตลาด

แต่พระเอกคือตัวจริงของคนไทยเชื้อสายญวนคือ หมูหัน อาหารประจำงานบุญชาวไทยคาทอลิกทั้งที่มีเชื้อญวนและไม่ญวน ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และรอบๆ  ว่ากันว่าแต่ก่อนจะเป็นอาหารที่ทุกคนรอคอยในงานเลี้ยงฉลองวันอีสเตอร์หลังออกศีลบวชของชาวชุมชนคาทอลิกญวน หมูหันญวนจะไม่เหมือนหมูหันโต๊ะจีนที่คุ้นเคย ตัวไขมันจะออกนุ่มลิ้น เนื้อไม่เค็มจัด และหนังบางออกเหนียวนิดๆ ไม่ไหม้เกรียมกรอบ ซึ่งต้องอาศัยทักษะและเวลาในการย่างหลายชั่วโมง เสียดายว่าไม่ได้มาทุกสัปดาห์ 

ไส้กรอกเลือดหมู
บ๊ะจ่างญวนยัดไส้ถั่วซีกบด

หากจะหาตัวร้าย ก็คงต้องยกให้กับ ไส้กรอกเลือดหมู ที่เรียกกันว่า “โย่ย” ที่มักกินคู่กับบ๊ะจ่างญวนยัดไส้ถั่วซีกบด และเคียงด้วยผักดองญวน แม้ว่ารูปโฉมอาจจะเข้มคล้ำดูเกินท้าทาย แต่หากได้กินหลังต้มใหม่ๆ ยกสะเด็ดขึ้นจากน้ำต้มตะไคร้ร้อนๆ ดับคาว แล้วตัดแบ่งเป็นคำๆ แล้วละก็ จะหลงในเสน่ห์รสและกลิ่นสมุนไพรอ่อนๆ ของจานตัวร้ายรูปไม่หล่อจานนี้

อย่างไรก็ตามก่อนกลับบ้านก็ไม่ควรพลาดตัวประกอบ สอยนานาผลิตภัณฑ์เนื้อหมู ไม่ว่าหมูยอหนัง แหนมหมูใบมะยม ไม่นับรวมหมูทอดหมูฝอยข้าวเหนียวนุ่ม “เมตตา”เจ้าดังหิ้วกลับบ้านไปตุนกินต่อ หากยังพอสู้กับราคาเนื้อหมูยุคนี้ไหว แก้คิดถึงก่อนมาซ้ำรอบหน้า 

ปรุงจานญวนเองได้ง่ายจัง

นอกจากอาหารสด บางร้านบางรถเข็นก็เอาของกึ่งสด อย่างหมูยอกุนเชียง เส้นเฝอเส้นกวยจั๊บตากแห้ง มาจำหน่ายให้กลับไปปรุงเอง ร้านที่มีของให้เลือกมากสุดคงไม่พ้นร้าน “หมูยอกุนเชียงหนูเล็ก” ตรงแยกร้านสะดวกซื้อ ที่ได้เขยชาวเวียดนามมาช่วยนำร่องในการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นำเข้าโดยตรงจากเวียดนามมาให้รู้จักและหัดลองกิน ปกติจะมีพริกเผาคั่วแบบแห้งที่เอาไปปรุงเพิ่มความเผ็ดให้กับเมนูเส้นต่างๆ หอมเจียวที่กรอบนานไร้แป้งที่เอาไปเติมสารพัดจานญวนให้ตรงสูตร รวมถึงเส้นเฝอแห้งที่หากคิดจะต้มกินเอง ที่ผ่านมาร้านหนูเล็กที่มีเพจส่วนตัวได้ประสบความสำเร็จในการแนะนำข้าวต้มมัดห่อใบตองไส้หมูผสมถั่ว หรือที่เรียกกันว่าบ๊ะจ่างญวน ให้ได้ติดใจกันมาแล้ว ช่วงนี้ยังนำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเวียดนามหลายยี่ห้อมาให้ได้ลองชิมกันด้วย ไม่นับกุนเชียงหมูยอตามชื่อร้านที่คัดสรรให้ได้คุณภาพไม่แพ้ถิ่นริมโขง  

หลายร้านทำแป้งกันสดใหม่ตามสั่ง

สำหรับคนที่ไม่สะดวกตื่นเช้าในวันอาทิตย์ และต้องการประสบการณ์มากกว่าการนั่งกินในร้านห้องแอร์ หากไม่สะดวกในวันสุดสัปดาห์ ในวันทำงานตอนบ่ายแก่ๆ หลังโรงเรียนเลิกช่วงเปิดเทอมก็สามารถแวะเวียนมาได้ และแม้แฟนเพจตลาดบ้านญวนสามเสน 13 อาจไม่ใช่แหล่งรวมข้อมูลที่สมบูรณ์นัก แต่ก็สามารถใช้เป็นช่องทางในการทำความรู้จักรวมถึงข่าวสารความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับชุมชนอาหารนี้ และหลายร้านหลายแผงก็ทยอยทำแฟนเพจของตนเองและเริ่มปักหมุดใน Google Maps กันบ้างแล้ว

น่าเสียดายที่บางเจ้าเก่าแก่ได้เลิกขายไปเลย โชคดีที่ยังมีบางเจ้าที่กลับมาขายเฉพาะงานสำคัญประจำปีของทางโบสถ์บ้าง เพื่อให้คนเก่าแก่ที่ย้ายออกไปมากินแก้คิดถึง ด้วยหน้าที่ดั้งเดิมอันหนึ่งของตลาดแห่งนี้ก็คือไว้ให้คนในชุมชนที่ส่วนใหญ่เป็นคริสต์ศาสนิกชนนิกายคาทอลิกที่ย้ายออกไป ได้กลับมาจับจ่ายในเช้าวันอาทิตย์ก่อนพิธีศีลมหาสนิท

ถึงสำเนียงเสียงคำญวนของผู้เฒ่าผู้แก่จะจางหาย แต่ก็ยังพอได้ยินประปราย บางบทสนทนาก็มาจากปากชาวเวียดนามรุ่นปัจจุบันที่ย้ายมาทำงานหรือศึกษาในกรุงเทพฯ ที่มาจับจ่ายหาของกินคุ้นปาก และถึงแม้ร้านดั้งเดิมของชุมชนจะล้มหายตายจาก แต่ก็มีพ่อค้าแม่ขายหน้าใหม่เข้ามาสร้างสีสันให้น่าทอดน่องอยู่ดี

วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์

ของดีย่านใกล้ย่านเคียง

หลังชิมชมแชะแล้ว สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้วัฒนธรรมอาหารการกินคือวัฒนธรรมด้านศาสนา บุคคลภายนอกสามารถสังเกตบรรยากาศของพิธีศีลมหาสนิทประจำสัปดาห์ในช่วงสายวันอาทิตย์ของทั้งสองวัดได้อีกด้วย (ซึ่งประตูโบสถ์จะเปิดช่วงมีพิธี แต่ควรเยี่ยมชมเฉพาะทางด้านนอกวัดในช่วงประกอบพิธี และอาจเข้าชมด้านในได้อย่างสำรวมหลังพิธีเพิ่งเสร็จสิ้น)  

วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์

ทั้งนี้รอบชุมชนคาทอลิกเก่าแก่แห่งนี้ยังมีศาสนสถานสำคัญทั้งของทางพุทธศาสนาอย่าง วัดราชาธิวาสวิหาร (ที่รัชกาลที่ 4 เคยทรงจำพรรษาและเป็นที่มาของตำนานของการมีพระสังฆราชปาลเลอกัวซ์ ณ วัดคอนเซ็ปชัญฯ เป็นพระสหาย) หรืออย่าง ศาลเจ้าแม่ทับทิม (ตุ้ยบ่วยเต็งเหนี่ยง) ริมน้ำใต้สะพานกรุงธน ไม่ไกลจากปากซอยราชวิถี 19 ที่ถือว่าเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวไทยจีนเชื้อสายไหหลำที่สำคัญมาก ในลานจอดรถหน้าศาลไม่มีแต่เพียงขนมจีนไหหลำเจ้าดังให้ได้ชิมกัน ยังมีของกินไหหลำหายากอย่าง “งู้บาฮุ้น” (ลอดช่องแป้งมันสีเหลืองจัดจ้านอย่างเส้นยาวราดน้ำตาลอ้อย) “บั่ว” (ขนมเข่งใส่ไส้มะพร้าวผัดถั่วลิสง) “จินเด” (แป้งทอดโรยงายัดไส้ถั่ว) ก้านบอนดอง และข้าวหมากหมักกุ้ง

วัดคอนเซ็ปชัญแห่งพระแม่เจ้า (วัดเขมร)

และเพียงแต่ลอดใต้สะพานกรุงธนหน้าศาล เดินต่อไปอีกนิด จะพบ วัดราชผาติการามวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรีที่เก่าแก่แต่ครั้งสมัยอยุธยา ที่บอกเล่ากันว่าคริสตังญวนเองก็มีส่วนร่วมสร้างทำให้มีส่วนผสมผสานศิลปะจีนและญวนอยู่หลายจุด  

เหล่าอาคารทั้งสวยทางสถาปัตย์และล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ใกล้บ้านญวน ยังขยายไปถึงกลุ่มอาคารใหญ่ของตระกูลขุนนางสำคัญโซนหลังโรงพยาบาลวชิระ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหิมพานต์ของพระสรรพการหิรัญกิจ ที่ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาล และบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ ที่ปัจจุบันเป็นของสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ทั้งหมดมักมีกลุ่มเดินทัวร์วัฒนธรรมคอยจัดรายการทอดน่องให้เข้าไปชมด้านในกันอยู่เนืองๆ

Fact File

  • สำหรับผู้ใช้รถขนส่งสาธารณะ มีหลายสายวิ่งผ่านถนนทั้งสองเส้น แล้วเดินเท้าต่อเข้ามาทางซอยสามเสน 13 หรือซอยราชวิถี 19 (ข้างธนาคารกรุงเทพ) ได้ ขอสะกิดให้สัญจรอย่างระวังการเฉี่ยวชนนิดเพราะซอยแคบ 
  • ผู้ที่นำรถมาเอง เข้าได้ทางสามเสน 13 มีลานจอดรถทั้งฝั่งโรงเรียนและลานหน้าวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์  แล้วค่อยขับออกทางราชวิถี 19 ซึ่งทั้งสองซอยเป็นซอยเดินรถทางเดียวทั้งคู่ โดยควรขับอย่างระมัดระวัง หรือจอดได้ที่ลานจอดรถของมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช เข้าทางตรอกไร้ชื่อที่อยู่ถัดจากซอยสามเสน 19 บนถนนเลียบข้างสะพานกรุงธนฝั่งพระนคร ขับชิดซ้ายสุดไม่ต้องเข้าเลนกลางขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ถ้าหลงเลยไปก็สามารถจอดที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมตรงหัวโค้งก่อนกลับรถใต้สะพานได้ แล้วเดินย้อนมาอีกที

Author

ภัทร ด่านอุตรา
อดีตผู้อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และหลังกระดานดำ (ของจริง) ที่ผันตัวมาอยู่ในแวดวงการจัดการศิลปวัฒนธรรมแบบผลุบๆ โผล่ๆ ชอบบะจ่างกวางตุ้งบางรัก และ The Poetics ของ Aristotle เป็นชีวิตจิดใจ

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์