VDO

การอนุรักษ์งาน กาลิเลโอ คินี ภาพร่างที่ไม่ได้ใช้ แต่เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ระดับ A+

“ผลงานชิ้นนี้อาจจะไม่สวย ไม่สมบูรณ์ ถ้าเทียบกับงานศิลปะ ชิ้นนี้อาจจะไม่ใช่งานศิลปะที่เป็นเกรด A แต่ในแง่ประวัติศาสตร์ถือเป็นงานระดับ A+”

หากพูดถึงศิลปินชาวอิตาลีที่เข้ามาทำงานในไทยยุคที่ศิลปะ สถาปัตยกรรมตะวันตกกำลังเฟื่องฟูในสยามราวรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แน่นอนว่าต้องมีชื่อของ กาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) โชคชะตาได้นำพาให้เขาข้ามน้ำข้ามทะเลจากเมืองฟลอเรนซ์มาทำงานที่สยามโดยมีสัญญาว่าจ้างเป็นเวลา 30 เดือน เพื่อมาเขียนภาพในพระที่นั่งองค์ใหม่ที่กำลังจะเริ่มก่อสร้าง ณ พระราชวังดุสิต ในช่วงรัชกาลที่ 5

กาลิเลโอ คินี
รัชกาลที่ 6
กาลิเลโอ คินี

ตามสัญญาว่าจ้าง กาลิเลโอ คินี ให้วาดภาพพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 1-5 เพื่อประดับพระที่นั่งอนันตสมาคมจำนวน 5 ภาพ แต่เมื่อคินีในวัย 38 ปี เดินทางมาถึงสยามใน พ.ศ.2454 ก็เป็นช่วงที่มีการผลัดแผ่นดินเข้าสู่ยุครัชกาลที่ 6 ทำให้คินีได้มีโอกาสเข้าร่วมอยู่ในเหตุการณ์จริงในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชในรัชกาลที่ 6 เขาจึงถ่ายทอดประสบการณ์ตรงที่เปรียบเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของสยามผ่านสายตาของศิลปินลงสู่งานจิตรกรรมภาพร่างต้นแบบที่จะนำไปสู่ภาพเขียนจริงภายในโดมของอนันตสมาคม

กาลิเลโอ คินี
ทีมนักอนุรักษ์ สังกัดกรมศิลปากร

แม้สุดท้ายภาพเขียนต้นแบบของคินีจะเป็นเพียงภาพร่างที่ไม่ได้นำไปวาดจริงและถูกพับเก็บอยู่ในคลังของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มาเนิ่นนานจนถูกลืม ต่อเมื่อมีการค้นพบ โจทย์ที่ท้าทายด้านการอนุรักษ์จึงตามมา พร้อมกับการเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เห็นขั้นตอนการซ่อมแซมภาพเขียนขนาดใหญ่อายุนับร้อยปีในระหว่างที่นักอนุรักษ์กำลังลงมือทำงานจริง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ  ก่อนที่จะนำไปจัดแสดงในอาคารนิทรรศการถาวร ที่กำลังปรับปรุงซึ่งคาดหมายว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2566

Fact File

  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เปิดให้เข้าชมการอนุรักษ์ภาพจิตรกรรม ของ กาลิเลโอ คินี ในวันทำการ วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-15.00 น. (เฉพาะวันที่มีการอนุรักษ์) ณ ห้องอเนกประสงค์
  • สอบถามวันที่มีการอนุรักษ์ได้ทางโทรศัพท์ : 02-281-2224
  • รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก Facebook.com/TheNationalGalleryThailand