1917 ชีวิตฉากเดียวในสมรภูมิรบที่ทหารถูกเล่าขานด้วยนาม “มนุษย์” สามัญ
Lite

1917 ชีวิตฉากเดียวในสมรภูมิรบที่ทหารถูกเล่าขานด้วยนาม “มนุษย์” สามัญ

Focus
  • 1917 เป็นภาพยนตร์สงครามฟอร์มยักษ์จากวิสัยทัศน์ผู้กำกับรางวัลออสการ์ แซม เมนเดส (Sam Mendes)
  • การันตีด้วยรางวัลมากมายจากหลายสถาบันและเทศกาลทั่วโลก พร้อมทั้งรางวัลใหญ่อย่าง รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดรามาจากเวทีลูกโลกทองคำเสริมด้วยการเข้าชิงรางวัลออสการ์อีกถึง 10 สาขา
  • เรื่องนี้ แซม เมนเดส ใช้เรื่องจริงส่วนตัวของ อัลเฟรดเอช. เมนเดส (Alfred H. Mendes) ปู่แท้ๆของผู้กำกับที่เคยผ่านสมรภูมินี้มาบอกเล่าในรูปแบบภาพยนตร์

1917 ภาพยนตร์สงครามที่การันตีด้วยรางวัลมากมายจากหลายสถาบันและเทศกาลหนังทั่วโลกรวมทั้งการเข้าชิงอีก 10 รางวัลออสการ์ในฐานะตัวเต็งภาพยนตร์ยอดเยี่ยมโดยผู้กำกับรางวัลออสการ์ แซม เมนเดส (Sam Mendes) ที่คราวนี้สร้างความแตกต่างด้วยการทำภาพยนตร์รูปแบบ “Long Take” เต็มเรื่องให้อารมณ์ของการชมภาพยนตร์ต่อเนื่องทั้งเรื่องเสมือนไม่ตัดต่อ และอีกประเด็นที่น่าสนใจคือการเป็นหนังสงครามที่ไม่ได้สาดไปด้วยฉากแอ็กชันเลือดท่วมแรงๆ แต่ ภาพยนตร์1917 แฝงด้วยความเปราะบางในด้านต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์

1917

1917 จุดเริ่มต้นของสงคราม

1917 ตัวเลขชุดนี้ที่ถูกนำมาใช้เป็นชื่อเรื่องโดยได้มาจากไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 (ค.ศ.1914-1918) โดยผู้กำกับเลือกวันที่ 8 เมษายนค.ศ.1917 สองวันหลังรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาประกาศสงครามต่อจักรวรรดิเยอรมันแต่อย่าเพิ่งคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นสารคดีประวัติศาสตร์เล่าเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมาแต่อย่างใด ตรงกันข้ามตัวภาพยนตร์เลือกทำให้เรื่องราวเบื้องหลังต่างๆ รางเลือนไม่มีการใส่ข้อมูลสงครามใดๆไปมากกว่าวันที่เพราะเนื้อเรื่องทั้งหมดต่อไปนี้แซม เมนเดสได้หยิบเรื่องจริงของ อัลเฟรด เอช. เมนเดส (Alfred H. Mendes) ปู่แท้ๆของเขาผู้เคยผ่านสมรภูมินี้มาเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง

เรื่องเริ่มต้นจากนายทหารคนหนึ่งได้รับภารกิจให้นำ “สารยุติการโจมตี” ไปแจ้งเพื่อหยุดคำสั่งการนำทัพทหารเข้าไปประชิดข้าศึกซึ่งได้วางแผนกลไว้และในสงครามเช่นนี้ “เวลา” คือตัวเดิมพันที่สำคัญ เพราะหากคนนำสารไม่สามารถทำภารกิจส่งสารยุติการโจมตีได้ทันเวลา ก็คาดเดาได้ทันทีเลยว่าจะมีทหารอย่างน้อย 1,600 นายต้องตายในสมรภูมิรบ

เรื่องดำเนินไปโดยให้ สกอฟิลด์ รับบทโดยจอร์จ แมคเคย์ (George MacKay) นายทหารผู้ส่งสารต้องฝ่าฟันสมรภูมิอันตรายต่างๆเพื่อนำสารไปส่งให้ทันการณ์และเพื่อย้ำถึงเวลาทุกวินาทีที่สำคัญผู้กำกับแซม เมนเดสจึงใช้วิธีการถ่ายทำขนานไปกับเวลาจริงในรูปแบบ Long Take เป็นการถ่ายทำหนึ่งฉากเป็นเวลานานโดยผู้ชมแทบไม่ได้หยุดพักจากกล้องที่ติดตาม สกอฟิลด์ ซึ่งป็นตัวละครหลักทั้งเรื่องอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ผู้ชมจะได้จึงเป็นความสมจริงของทุกการเคลื่อนไหวเช่นการเดินข้ามสมรภูมิชนิดที่เราจะได้เห็นทุกก้าวแบบไม่มีการตัดต่อเหมือนได้ร่วมเดินไปกับตัวละครจริงวินาทีต่อวินาทีและเป็นการถ่ายทำระบบนี้ตลอดทั้งเรื่อง

1917

เมื่อทหารถูกเล่าขานในนามมนุษย์สามัญ

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่สารคดีประวัติศาสตร์สงคราม แต่สิ่งที่ผู้ชมจะได้เห็นคือการตามสกอฟิลด์ไปพบความเปราะบางของมนุษย์ในหลายๆ ด้านเช่น การเปิดเรื่องโดยการให้สกอฟิลด์นอนหลับอยู่ใต้ต้นไม้แสนร่มเย็นจนกระทั่งมีเพื่อนมาปลุกจากความสุขสงบเพื่อไปรับภารกิจส่งสารครั้งนี้ และเพียงชั่วเวลาลืมตาตื่นเขาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามที่มีความตายรออยู่ทุกวินาที

ในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้บอกว่าทหารหาญคือวีรบุรุษกู้ชาติ มีความแข็งแกร่งไม่กลัวแม้แต่ความตาย และเป็นพวกกระหายการสู้รบจนเลือดสาดแต่อย่างใดสกอฟิลด์เป็นทหารที่มีความเป็นมนุษย์มีความเจ็บปวด ความกลัว เหมือนคนทั่วไปทั้งยังเคยตะคอกใส่หน้าเพื่อนว่าจะชวนมาทำภารกิจครั้งนี้ทำไมทั้งๆ ที่เขานอนอยู่ดีๆ ภาพยนตร์ยังย้ำเนื้อหนังของมนุษย์อีกครั้งเมื่อสกอฟิลด์กำลังเริ่มเดินเข้าสมรภูมิก็โดนลวดหนามทิ่มมือเลือดไหลชุ่มมือทหารไม่ใช่บุรุษเหล็กการรบและสงครามจึงเป็นเพียงฝันร้ายของมนุษย์ในอาชีพทหาร

ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่หมกมุ่นเพ่งเล็งการรบเพื่อชาติสกอฟิลด์พาคนดูผ่านสมรภูมิฝันร้ายด้วยความคิดเพียงทำเพื่อเพื่อนของเขาและความหวังลมๆแล้งๆ ถึงการได้กลับไปพบหน้าครอบครัวในขณะที่เดินทางสกอฟิลด์ก็ไม่ได้พูดถึงการรบกับข้าศึกหรืออุดมการณ์เพื่อชาติเขาย้ำเสมอว่าเขาตั้งใจช่วย 1,600 ชีวิตที่อาจต้องเสียไปหากไม่สามารถระงับคำสั่งนี้ได้อีกทั้งระหว่างปฏิบัติการนั้นสกอฟิลด์ก็แทบไม่ได้ยิงฝ่ายตรงข้าม (ถ้าไม่จำเป็น) แม้เขาจะถือปืนอยู่แต่หากเจอศัตรูเขาก็จะแบกปืนนั้นวิ่งหนีกระสุนที่ศัตรูยิงมา

เหรียญนักรบกล้ามีค่าเท่ากับไวน์

ฉากหนึ่งที่จับใจหลายคนมากคือการที่สกอฟิลด์ เล่าเรื่องที่ตนเคยร่วมรบและได้เหรียญกล้าหาญของสมรภูมิก่อนหน้านี้มาและอย่างไรล่ะ เขานำเหรียญกล้าที่ทหารส่วนใหญ่หวงแหนและติดเต็มแผงอกไปแลกกับไวน์หนึ่งขวด ทั้งยังกล่าวเพิ่มว่าเขาไม่อยากกลับไปบ้านหรอก เพราะการกลับไปพบครอบครัวเท่ากับการรอหมายทหารเรียกรบใหม่อีกครั้ง และในฐานะทหารในสงครามคำสั่งของผู้บังคับที่จะให้ไปรบหรือไปตายคือสิ่งที่ต้องยึดให้มั่น สกอฟิลด์จึงเข้าใจถึงหัวใจทหารนายอื่นดีว่าที่มารบกันอยู่ ทุกคนอยากให้สงครามจบลงโดยเร็วเพื่อให้มีชีวิตรอดกลับไป

ความหมายนี้ได้อยู่ในฉากสำคัญเป็นฉากที่สกอฟิลด์หนีทหารฝ่ายศัตรูจนตกน้ำตกไปโผล่ที่กองศพเขาต้องปีนคลานเหล่าศพพวกนั้นเพื่อขึ้นฝั่งและพบกับพื้นหญ้าเขียวชุ่มชื้นและได้ยินเสียงทัพทหารฝ่ายสกอฟิลด์พักทัพร้องเพลงในป่าการรอดชีวิตจากการตกน้ำตกและหนีศัตรูพ้นเหมือนเป็นการย้ำความโชคดีที่รอด แต่นั่นก็เพื่อมาเป็นทหารและต้องเดินทางกับทัพไปรบต่อ ไม่ต่างจากการกลับบ้านแล้วถูกเรียกมารบใหม่ เหรียญเกียรติยศจึงไม่มีความหมายหากสงครามไม่ยุติและหากยังต้องมีทหารมารบอีก การรอดพ้นก็เป็นเพียงการขึ้นมาพักหายใจจากกองศพสงครามที่ผ่านมาเพื่อรอการเดินทางไปสู่สงครามใหม่เท่านั้น

ผนึกกำลังทีมงานระดับแนวหน้าของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด

ภายใต้การกุมบังเหียนของผู้กำกับแซมเมนเดสเจ้าของผลงานสายลับระทึกโลกอย่าง Skyfall (2012) และเคยคว้ารางวัลออสการ์จาก American Beauty (1999) แต่สำหรับ ภาพยนตร์1917 เขายอมรับว่าเป็นภาพยนตร์ที่ท้าทายเพราะต้องใช้ศาสตร์ภาพยนตร์ด้วยการถ่ายทำแบบ Long Take ซึ่งเป็นการถ่ายทำภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องโดยหลีกเลี่ยงการตัดต่อเพื่อให้ผู้ชมสัมผัสถึงประสบการณ์เวลาจริง (Real Time)

การทำภาพยนตร์ Long Take แทบทั้งเรื่องหมายถึงการที่ฝ่ายต่างๆ ต้องเตรียมงานอย่างหนักมาก ชนิดที่ว่าไม่สามารถผิดพลาดระหว่างถ่ายทำได้หากผิดพลาดเพียงเล็กน้อยอาจทำให้ต้องถ่ายใหม่ชนิดนับหนึ่ง ซึ่งทำให้ระยะเวลาถ่ายทำนานขึ้นอีกเป็นเท่าตัวแซมเมนเดสจึงต้องใช้เวลาซักซ้อมกับทีมงานเป็นเวลากว่า 4 เดือนก่อนถ่ายทำจริงเพื่อให้ทุกตำแหน่งแม่นยำมากที่สุดก่อนจะถึงขั้นตอนถ่ายทำ

1917

1917 ผนึกด้วยทีมงานสร้างเก๋าเกมชนิดชิงรางวัลกันเป็นว่าเล่นไม่ว่าจะเป็นตากล้องระดับหัวแถวของฮอลลีวูด โรเจอร์ ดีกิ้นส์ (Roger Deakins) เจ้าของรางวัลออสการ์สาขาถ่ายภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก Blade Runner 2049 พร้อมเคยเข้าชิงสาขาเดียวกันนี้มาแล้ว 13 ครั้ง

และอีกหนึ่งทีมงานสุดแข็งแกร่งของโปรเจกต์สงครามฟอร์มยักษ์ครั้งนี้ที่ขาดไม่ได้คือผู้ออกแบบงานสร้างที่จะมาเนรมิตสงครามให้สมจริงชนิดจับตัวยากอย่าง เดนนิส แกสเนอร์ (Dennis Gassner) ผู้คว้ารางวัลออสการ์ด้านการออกแบบศิลปะ ฉากภายใน (Best Art Direction-Set Decoration) จากภาพยนตร์เรื่อง Bugsy และแน่นอนว่าได้เข้าชิงออสการ์ในสาขาการออกแบบงานสร้างและออกแบบศิลป์อีกครั้งใน ภาพยนตร์1917

ไม่เพียงแต่ทีมงานที่เคยเหยียบพรมตุ๊กตาทองมาแล้วเท่านั้นภาพยนตร์เรื่องนี้ยังทำหน้าที่เป็นบันไดสู่พรมแดงให้กับทีมงานอีกหลายคน อย่าง ทริสตอง เวอร์สลูส (Tristan Versluis) ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขา Makeup and Hairstyling (ทำงานร่วมกับช่างแต่งหน้า นาโอมิ ดอนน์ (Naomi Donne) และฝ่ายทำผม รีเบกกา โคล (Rebecca Cole)ทริสตอง) เวอร์สลูสเป็นผู้สร้างสรรค์ความสมจริงให้กับทหารในสงครามซึ่งมีรายละเอียดมากมายตั้งแต่สภาพผิวจนถึงฝุ่น รวมถึงควบคุมความต่อเนื่องของการแต่งหน้าและทรงผมให้เป็นไปตามเวลาจริง

1917

อีกตำแหน่งที่ได้ไปเดินพรมแดงจาก ภาพยนตร์1917 คือมือเขียนบทที่มาทำหน้าที่เล่าเรื่องมนุษย์กลางสมรภูมิแห่งความอันตรายครั้งนี้อย่าง คริสตี วิลสัน-แคนส์ (Krysty Wilson-Cairns) ซึ่งเป็นครั้งแรกของเธอบนเวทีออสการ์ด้วยการเข้าชิงร่วมกับ แซม เมนเดส ในรางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม (Best Original Screenplay)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าหนังเรื่องนี้จะได้รางวัลมาแล้วมากแค่ไหน แต่เราไม่ได้อยากชวนคุณมาดู 1917 ในฐานะหนังรางวัล หรือหนังชิงออสการ์แต่อย่างใด สำหรับเรา 1917 คือหนังสงครามอีกเรื่องที่เราอยากชวนมาชมในฐานะของมนุษย์คนหนึ่งที่ชื่อ “สกอฟิลด์”

อ้างอิง


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน