อาโรคยปณิธาน : เจาะลึกประวัติศาสตร์โรคภัย พิธีกรรมความเชื่อ ภูมิปัญญาและการแพทย์
Arts & Culture

อาโรคยปณิธาน : เจาะลึกประวัติศาสตร์โรคภัย พิธีกรรมความเชื่อ ภูมิปัญญาและการแพทย์

Focus
  • อาโรคยปณิธาน นิทรรศการหมุนเวียนชุดใหม่ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของโรคภัยไข้เจ็บในไทยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ผ่านหลักฐานทางโบราณคดีกว่า 300 รายการ
  • การแสวงหาหนทางให้พ้นโรคมีทั้งด้วยพิธีกรรมความเชื่อ การทดลองใช้สมุนไพรต่างๆจนสั่งสมเป็นภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ตลอดจนความก้าวหน้าทางการแพทย์จากตะวันตกที่เข้ามาในสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมามนุษย์เผชิญและต่อสู้กับการระบาดของโรคติดต่อมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ไข้หวัดนก ซาร์ส อีโบลา ไวรัสซิกา และล่าสุดกับโรคโควิด-19 ซึ่งยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลกพร้อมๆ กับความพยายามในการอยู่รอดของมนุษย์ทำให้เกิดนวัตกรรมหรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์อย่างเร่งด่วนเพื่อนำมาแก้วิกฤตในครั้งนี้

นิทรรศการหมุนเวียนชุดล่าสุดของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในชื่อ อาโรคยปณิธาน (หมายถึง ความปรารถนาที่จะให้ปวงมนุษยชาติพ้นจากโรค) ซึ่งจัดแสดงตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน จึงเป็นนิทรรศการที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุดโดยจัดเต็มทั้งวัตถุจัดแสดงกว่า 300 รายการ และข้อมูลเชิงลึกย้อนไปตั้งแต่ประวัติศาสตร์โรคภัยในอดีตผ่านหลักฐานทางโบราณคดี เช่น ชิ้นส่วนกะโหลกตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงโรคต่างๆ ในสมัยนั้น การแสวงหาหนทางให้พ้นโรคทั้งจากพิธีกรรมความเชื่อแบบผี พราหมณ์ พุทธ การทดลองใช้สมุนไพรต่างๆ จนสั่งสมเป็นภูมิปัญญาและตำรารักษาโรค เช่น คัมภีร์พระตำหรับแผนฝีดาษ และ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ตลอดจนความก้าวหน้าทางการแพทย์จากตะวันตกที่เข้ามาในดินแดนสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

อาโรคยปณิธาน

โรคภัยไข้เจ็บยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงตำราพระโอสถพระนารายณ์

ส่วนแรกของนิทรรศการ อาโรคยปณิธาน นำเสนอเรื่องโรคภัยของมนุษย์จากหลักฐานทางโบราณคดีโดยจัดแสดงชิ้นส่วนกระดูกของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ (ราว 2,500-50,000 ปีมาแล้ว) ที่ค้นพบตามแหล่งโบราณคดีต่างๆ ในประเทศไทยซึ่งจะเห็นร่องรอยของโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เช่น โรคเกี่ยวกับฟันเนื่องจากการดูแลทำความสะอาดช่องปากยังไม่ดีพอ โรคขาดสารอาหารที่แสดงให้เห็นจากร่องรอยความผิดปกติของเคลือบฟันและกระดูกที่โค้งมากกว่าปกติ กะโหลกที่หนาและมีรูพรุนมากที่แสดงภาวะโรคโลหิตจาง กระดูกสันหลังกดทับจนอักเสบและผิดรูปจากการทำกิจกรรมแบบเดิมซ้ำๆ และกระดูกปลายนิ้วมือที่สันนิษฐานว่าผิดปกติจากโรคเรื้อนหรือวัณโรค ทั้งนี้ในการจัดแสดงจะมีการทำลูกศรเล็กๆ ชี้ไปที่ส่วนต่างๆ ของชิ้นส่วนกระดูกแต่ละชิ้นเพื่อให้ผู้ชมเห็นได้ชัดว่าส่วนไหนที่ผิดปกติอันเป็นข้อบ่งชี้อาการของโรค

อาโรคยปณิธาน
อาโรคยปณิธาน

จากนั้นเมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ในประเทศไทยซึ่งเริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 เป็นต้นมา ผู้คนเริ่มมีการใช้อักษรในการสื่อสารและจดบันทึกจึงมีการบันทึกถึงโรคภัยไข้เจ็บของคนในสมัยนั้นรวมไปถึงความพยายามในการพิชิตโรคต่างๆ ตำราที่สำคัญคือ ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ซึ่งเป็นตำราที่หมอหลวงได้ประกอบถวายสมเด็จพระนารายณ์โดยกล่าวถึงสาเหตุ และอาการของโรคที่เกิดจากความผิดปกติของธาตุทั้ง 4 และกล่าวถึงตำรับยา 81 ตำรับ ที่ใช้สมุนไพรไทยและสมุนไพรจากต่างประเทศ พร้อมวิธีปรุงยาแบบโบราณ จึงถือเอาตำราพระโอสถพระนารายณ์เล่มนี้เป็นตำราแพทย์แผนไทยและเภสัชตำรับฉบับแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ยังจัดแสดงสมุดไทยดำเรื่อง คัมภีร์โรคนิทาน เล่ม 1 (พุทธศตวรรษที่ 25) ซึ่งเป็นตำราว่าด้วยสาเหตุและสมมติฐานของโรคโดยพิจารณาจากธาตุทั้ง 4 และฤดูกาลในรอบปีซึ่งเป็นดั่งตำราด้านกายวิภาคศาสตร์

อาโรคยปณิธาน
คัมภีร์พระตำหรับแผนฝีดาษ (ด้านขวา)

ในปัจจุบันเริ่มมีการระบาดของ โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ในหลายประเทศและเริ่มเป็นโรคที่เฝ้าระวังไปทั่วโลก แต่ในอดีตนั้นโรคฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ (Smallpox) เป็นโรคระบาดร้ายแรงมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยาและในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 3 โรคนี้คร่าชีวิตชาวสยามเป็นจำนวนมากจนมีการรวบรวมลักษณะของฝีที่ขึ้นตามจุดต่างๆบนร่างกาย ความรุนแรงและอาการของโรค วิธีการรักษารวมไปถึงระยะเวลาในการเจ็บป่วยจนถึงระยะเวลาการเสียชีวิตในสมุดไทยดำชื่อ คัมภีร์พระตำหรับแผนฝีดาษ (เล่ม 1) ซึ่งนำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ด้วย

อาโรคยปณิธาน
ตราขุนพล ทำจากหม้อตาล

เครื่องรางของขลัง ผี และแม่ซื้อ

การรักษาโรคภัยในยุคที่วิทยาการทางการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้าล้วนผูกพันกับความเชื่อที่เหนือธรรมชาติผ่านเครื่องรางของขลังรวมไปถึงพิธีกรรมตามการนับถือแบบผี พราหมณ์ พุทธ เพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและภัยอันตรายต่างๆ

ในนิทรรศการได้จำลองโครงไม้ลักษณะเหมือนเสาประตูและแขวนด้วย “เฉลว” หรือเครื่องจักสานชนิดหนึ่งที่ทำจากตอกโดยนำมาขัดเป็นมุมตั้งแต่ 5 มุมขึ้นไปซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าจะช่วยป้องกันสิ่งชั่วร้ายไม่ให้กล้ำกรายเข้ามาในพื้นที่นั้นๆ นอกจากนี้เหนือเสาไม้ยังแขวน “ตราขุนพล” ซึ่งคือหม้อตาลหรือหม้อดินธรรมดาก็ได้ที่จะเขียนก้นหม้อด้วยปูนแดงเป็นรูปกากบาทและวงกลมเล็กๆ 2 วง สมมติว่าเป็นดวงตาโดยเชื่อว่า เมื่อผีห่าเห็นตรารูปขุนพลจะไม่กล้าเข้ามาในอาณาเขต

เฉลวปักหม้อยา

“เบี้ยก็ถือเป็นเครื่องรางของขลัง มีการขุดพบสร้อยข้อมือของเจ้านายทำจากหอยเบี้ยมีตลับปิดมิดชิดจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีการใช้หอยเบี้ยในพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ เช่น การเอาหอยเบี้ย 33 ตัวมาซื้อเด็กทารกในพิธีร่อนกระด้งหรือพิธีแม่ซื้อเพื่อลวงผีว่าเด็กไม่น่ารัก แม้แต่แม่ยังไม่อยากได้จนต้องมีคนอื่นมารับไปแทน แม้แต่ในหลุมที่ฝังลูกนิมิตก็จะใส่หอยเบี้ยไปด้วย” ยุทธนาวรากร แสงอร่าม ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร อธิบาย

อาโรคยปณิธาน
สมุดไทยขาวตำราแม่ซื้อ-ลำบองราหู

ความเชื่อเรื่องแม่ซื้อที่ว่าเด็กทารกจะมีเทวดาหรือภูตประจำตัวตั้งแต่แรกคลอดจากครรภ์มารดามีการบันทึกใน สมุดไทยขาวเขียนภาพแม่ซื้อ (พุทธศตวรรษที่ 24) โดยมีภาพวาดและคำบรรยายลักษณะของแม่ซื้อทั้ง 7 วันรวมไปถึงการสร้างประติมากรรมรูปแม่ซื้อลักษณะต่างๆ และ สมุดไทยขาวตำราแม่ซื้อ-ลำบองราหู (พ.ศ.2380) ซึ่งมีภาพวาดแม่ซื้อและลำบองราหูที่หมายถึงรูปอมนุษย์ที่มีรูปลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละเดือนโดยคนโบราณเชื่อว่าลำบองราหูเป็นตัวการที่ทำให้ทารกแรกเกิดจนถึง 12 เดือนเจ็บป่วย

เทวดานพเคราะห์

เทวดานพเคราะห์และความเชื่อเรื่องสีมงคลประจำวัน

การบูชาเทวดานพเคราะห์เพื่อให้เจริญอายุและหายจากโรคภัยมีที่มาจากพราหมณ์โดยเชื่อว่าพระเคราะห์ทั้ง 9 เป็นผู้บงการโชคชะตาของมนุษย์และพิธีกรรมบูชานี้ปรากฏชัดเจนตั้งแต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 1 และต่อมาแพร่หลายสู่ราษฎรเป็นพิธีสะเดาะเคราะห์ต่างๆ ในนิทรรศการมีการจัดแสดง แว่นเวียนเทียนภาพเทวดานพเคราะห์ที่ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ได้รับจากหอแก้วเมื่อ พ.ศ.2471

ความเชื่อที่ว่าพระอิศวร พระอุมา พระพรหม และพระนารายณ์เป็นผู้สร้างเทวดานพเคราะห์ทั้ง 9 โดยป่นสิ่งมีชีวิตต่างๆและห่อด้วยผ้าสีต่างกัน เช่น พระอาทิตย์สร้างจากราชสีห์ 6 ตัว และห่อด้วยผ้าสีแดง ส่วนพระจันทร์สร้างจากนางฟ้า 15 องค์ และห่อด้วยผ้าสีนวล ทำให้เกิดคติเรื่องสีมงคลที่ถูกโฉลกของแต่ละวัน เช่น นุ่งสีแดงในวันอาทิตย์จะโชคดี หรือหากนุ่งสีนวลในวันจันทร์จะอายุยืนยาว

เชิงบาตรประดับมุกตราเทพยดาถือประคำ

บทบาทของพราหมณ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยายังปรากฏให้เห็นใน เชิงบาตรประดับมุก (พ.ศ.2416) ที่ใช้ในงานบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 5 ครั้งที่ 2 โดยมีการประดับตราเทพยดาถือประคำซึ่งเป็นตราประจำกรมแพทย์ในสมัยอยุธยาซึ่งเจ้ากรมมีราชทินนามเป็นพราหมณ์และทำหน้าที่ตัดสินคดีความที่เกี่ยวข้องกับการทำเวทมนตร์และคาถาอาคม

พระพุทธคุณกับการเยียวยาจิตใจ

ผู้ที่นับถือพุทธศาสนามีการอาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสร้างรูปเคารพตามพุทธคุณของคติฝ่ายเถรวาทและมหายาน เช่น การสร้างพระช่วยชีพ พระกริ่ง และพระพุทธนิรโรคันตราย เพื่อเสริมสร้างกำลังใจในการต่อสู้กับโรคร้ายและช่วยปัดเป่าภยันตรายทั้งหลาย

“ในประเทศไทยมีการพบ จารึกอโรคยศาลกว่า 10 หลักที่สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมัยที่ 7 แห่งอาณาจักรขอมโดยทั้งหมดมีเนื้อหาใกล้เคียงกันเกี่ยวกับการนมัสการพระไภษัชยคุรุซึ่งถือเป็นพระพุทธเจ้าแพทย์ในพุทธศาสนามหายานและมักประดิษฐานไว้ประจำที่อโรคยศาลโดยเชื่อว่ามีบารมีช่วยขจัดโรคได้” ศรัญ กลิ่นสุคนธ์ ภัณฑารักษ์ของสำนักพิพิธภัณฑ์กล่าว

พระไภษัชยคุรุ พระหัตถ์ทรงหม้อยาหรือวัชระ

จารึกหินทรายอโรคยศาล (พุทธศตวรรษที่ 18) ที่นำมาจัดแสดงได้จากการขุดค้นที่โบราณสถานกู่แก้ว จังหวัดขอนแก่น ถัดมาคือ พระไภษัชยคุรุ ซึ่งพระหัตถ์ทรงหม้อยาหรือวัชระที่สร้างในยุคสมัยเดียวกันกับศิลาจารึกหลักนี้และยังขนาบข้างซ้ายขวาด้วย พระสูรยประภาโพธิสัตว์ และ พระจันทรประภาโพธิสัตว์ นอกจากนี้ผู้ชมยังจะได้ยิน บทสวดโพชฌังคปริตร ซึ่งเป็นคาถาพุทธมนต์ที่เชื่อว่าช่วยเสริมสร้างกำลังใจและช่วยขจัดอาการป่วยไข้ได้ดั่งเช่นที่ประชาชนเคยร่วมกันสวดมนต์บทสวดนี้เมื่อครั้งรัชกาลที่ 9 ทรงพระประชวรและประทับที่โรงพยาบาลศิริราชเพื่อให้พระองค์ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์และหายจากพระอาการประชวร

พระพุทธรูปปางฉันสมอ ถือผลสมอในพระหัตถ์

นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางฉันสมอซึ่งถือผลสมอในพระหัตถ์โดยองค์หนึ่งสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาและอีกองค์หนึ่งเป็นศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 พระพุทธรูปปางนี้สร้างขึ้นตามเหตุการณ์พุทธประวัติที่ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ได้ 49 วันแล้วยังไม่ได้เสวยพระกระยาหารใดเลย พระอินทร์จึงได้ถวายผลสมออันเป็นทิพยโอสถแด่พระพุทธองค์โดยสรรพคุณของผลสมอนั้นยังปรากฏในตำราแพทย์แผนไทยหลายฉบับและในพระนิพนธ์ ตำราสรรพคุณยา ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงวงษาธิราชสนิทถึงกับระบุว่าผลสมอนั้นมีคุณอนันต์กว่าสิบรัศมีพระอาทิตย์เลยทีเดียว

แท่นหินบดยาจารึกคาถาไว้ด้านล่าง

ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยและสรรพคุณของสมุนไพร

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 สมุนไพรไทยอย่างฟ้าทะลายโจรได้กลายเป็นฮีโร่ของตำรับแพทย์แผนไทยภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขยืนยันแล้วว่าสารแอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสโควิด-19 ได้ และจ่ายฟ้าทะลายโจรเป็นยารักษาแก่ผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง

“ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยนั้นคือการกินอาหารเป็นยาเพื่อปรับสมดุลของธาตุทั้ง 4 เพื่อป้องกันโรค ตั้งแต่โบราณมีการใช้สมุนไพรที่ได้จากพืช สัตว์และแร่ธาตุต่างๆ เช่นที่ปรากฏใน จารึกวัดอโสการาม ในสมัยสุโขทัย (พ.ศ.1942) โดยมีการกล่าวถึงชื่อต้นไม้ที่มีสรรพคุณทางยา เช่น สารภี บุนนาค พิกุล มะม่วง มะขวิดและมะพร้าว ซึ่งชื่อเหล่านี้ปรากฏในรายชื่อยาสมุนไพรทั้งในตำราพระโอสถพระนารายณ์และตำราเวชศาสตร์ ฉบับหลวงรัชกาลที่ 5 และยังเป็นเครื่องยาสมุนไพรที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน” ศรินยา ปาทา ภัณฑารักษ์ชำนาญการของสำนักพิพิธภัณฑ์ อธิบาย

ตู้จัดแสดงตำราแพทย์แผนไทยเป็นสมุดไทยและคัมภีร์ใบลาน

ในนิทรรศการยังได้จัดแสดงตำราแพทย์แผนไทยที่บันทึกในสมุดไทยและคัมภีร์ใบลานจำนวน 48 รายการ เช่น ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ที่จารลงใบลานจำนวน 64 หน้าในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 หลังจากที่มีการค้นพบต้นฉบับของตำราพระโอสถนี้ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ รวมไปถึงสมุดไทยดำเรื่อง ตำราเวชศาสตร์ ฉบับหลวง รัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นตำราแพทย์แผนไทยและตำราสมุนไพรพื้นบ้านของไทยที่รัชกาลที่ 5 ให้ทรงรวบรวมคัมภีร์สำหรับรักษาโรคต่างๆ เช่น คัมภีร์กระษัย คัมภีร์ธาตุวิภังค์ พระตำหรับแผนฝีดาษ และนำมาตรวจสอบชำระเพื่อจัดทำเป็นคัมภีร์แพทย์ฉบับหลวงเมื่อ พ.ศ.2413-2414 และ สมุดไทยรูปฤๅษีดัดตนแก้โรคต่างๆ 80 รูป ฉบับหลวง ซึ่งรัชกาลที่ 3 โปรดให้นักปราชญ์แต่งโครงฤๅษีดัดตน 80 ท่า ภายหลังจากทรงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อรูปฤๅษีดัดตนที่วัดโพธิ์แล้ว โดยได้วาดภาพฤๅษีแต่ละท่าพร้อมสรรพคุณแก้โรคและรายนามผู้แต่งโคลงนั้นๆ ลงในสมุดไทยดำซึ่งเป็นการอธิบายความเช่นเดียวกับจารึกที่วัดโพธิ์

นอกจากนี้ยังมีตำราที่เจาะจงเฉพาะโรคและตำรายาประจำถิ่น เช่น คัมภีร์ใบลานเรื่องอหิวาตกโรค ตำรายาจีน ตำรายาต้อ ตำรายาพื้นบ้านภาคกลาง ตำรายาเกร็ดภาคเหนือ ตำรายาภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตำรายาภาคใต้ ถัดมาเป็นตู้กระจกที่จัดแสดงสมุนไพร 138 รายการซึ่งเป็นคอลเล็กชันที่ยืมมาจาก พิพิธภัณฑ์สมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นสมุนไพรที่ได้จากทั้งพืชสัตว์และแร่ธาตุตามที่ปรากฏในตำราพระโอสถพระนารายณ์และมีคิวอาร์โค้ดสำหรับสแกนเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละชนิด

แพทยศาสตร์แบบตะวันตกในสยาม

การแพทย์แบบตะวันตกเริ่มเข้ามาในสยามอย่างเห็นได้ชัดในสมัยกรุงศรีอยุธยาโดยกลุ่มมิชชันนารีที่เผยแผ่ศาสนาควบคู่กับการให้การรักษาทางการแพทย์ ดังเช่นที่ปรากฏในตำราพระโอสถพระนารายณ์ซึ่งมีการบันทึกรายชื่อหมอฝรั่งที่เข้ามารับราชการในราชสำนักอยุธยาและปรุงยาถวายสมเด็จพระนารายณ์รวมทั้งมีการนำวัตถุดิบจากแร่ธาตุต่างๆ เช่น ดินประสิวขาว สารส้ม ดินสอพอง ที่ไม่ปรากฏในตำรายาพื้นบ้านสยาม

ส่วนผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานระบบสาธารณสุขในประเทศคือ หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีและนายแพทย์ชาวอเมริกันที่เข้ามาเมืองไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 และเป็นผู้ริเริ่มวิทยาการทางการแพทย์หลายอย่าง เช่น การผ่าตัดการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ และการผดุงครรภ์เพื่อส่งเสริมให้ชาวสยามหันมาใช้วิธีการสูติศาสตร์แบบตะวันตกโดยมีการแปลและเรียบเรียงตำราสูติกรรมที่ตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาเป็นภาษาไทยชื่อ คัมภีร์ครรภ์ทรักษา ในพ.ศ.2387 พร้อมภาพประกอบอธิบายเรื่องสรีรวิทยา วิธีการทำคลอดทารกที่อยู่ในท่าต่างๆ และเครื่องมือทำคลอด

คัมภีร์ครรภ์ทรักษาที่เปิดอ่านได้ทุกหน้า

ในนิทรรศการยังได้จัดแสดงเตียงผ่าตัดทำจากไม้ที่ใช้ในการรักษาจริงช่วงราว พ.ศ.2500 รวมไปถึงเครื่องมือแพทย์สมัยก่อนในด้านศัลยศาสตร์ วิสัญญีวิทยา สูติศาสตร์ และจักษุวิทยา โดยวัตถุจัดแสดงเหล่านี้มาจากพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน เช่น ชุดเครื่องผ่าตัดตาสมัยโบราณราวพุทธศตวรรษที่ 25-26 เครื่องถ่ายเลือดและเลื่อยตัดขา คีมประกบศีรษะทารกเพื่อช่วยดึงออกจากช่องคลอดและชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ส่วนตัวของพันตรีหลวงวิฆเนศประสิทธิ์วิทย์ นักเรียนแพทย์ประกาศนียบัตรรุ่นแรกที่ได้รับการศึกษาวิชาแพทย์จากโรงเรียนแพทยากรและเป็นผู้ที่ได้เดินทางไปศึกษาวิธีการทำวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษในประเทศฟิลิปปินส์เพื่อกลับมาผลิตวัคซีนใช้ในประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5

อุปกรณ์วางยาสลบในยุคก่อน

“การวางยาสลบมีการใช้ครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมิชชันนารีชาวอเมริกันได้นำยาสลบอีเทอร์ (Ether) มาใช้ในการรักษา ต่อมาในยุคเริ่มแรกของโรงพยาบาลศิริราชมีการให้ยาสลบผ่านทางหน้ากากชิมเมลบุช (Schimmelbusch Mask) เป็นตะแกรงหน้ากากโปร่งหุ้มด้วยผ้าสำสีหรือผ้าก๊อซสำหรับหยดยาสลบแล้วนำไปครอบจมูกและปากให้ผู้ป่วยสูดดมซึ่งทั้งยาสลบอีเทอร์และหน้ากากได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการด้วย สำหรับการรักษาต้อกระจกในสยาม มีหลักฐานจากบันทึกของหมอบรัดเลย์ว่าเขาได้รักษาต้อกระจกให้เจ้าพระยาพลเทพได้สำเร็จจึงทำให้รัชกาลที่ 3 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ขุนนางผู้ใหญ่เข้ารับการรักษากับหมอฝรั่งได้เป็นครั้งแรก” อรรณพ แจ้งสว่าง ภัณฑารักษ์ปฏิบัติการของสำนักพิพิธภัณฑ์กล่าว

ในปัจจุบันแม้เรายังคงเผชิญกับการระบาดของโรคอุบัติใหม่หรือโรคอุบัติซ้ำ แต่บทเรียนการต่อสู้โรคภัยในอดีตทั้งการเยียวยาทางกายและทางจิตใจ ภูมิปัญญา การเรียนรู้เพื่อปรับตัวและป้องกันย่อมทำให้มนุษย์เห็นหนทางในการเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บได้เสมอเช่นเดียวกับที่เราได้เรียนรู้ผ่าน อาโรคยปณิธาน

Fact File

  • นิทรรศการ อาโรคยปณิธาน จัดแสดงระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม-7 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ถนนหน้าพระธาตุ เปิดเวลา 9.00-16.00 น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร)
  • ค่าเข้าชม: ชาวไทย 30 บาทต่างชาติ 200 บาทนักเรียน นักศึกษา ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พระภิกษุ สามเณร และนักบวชทุกศาสนา ไม่เสียค่าเข้าชม
  • สอบถามเพิ่มเติม : โทรศัพท์ 0-2224-1333 และ 0-2224-1402 หรือ Facebook.com/nationalmuseumbangkok

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์