7 ข้อควรรู้ ไขข้อสงสัยและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ฝีดาษลิง
Better Living

7 ข้อควรรู้ ไขข้อสงสัยและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ฝีดาษลิง

Focus
  • โรคฝีดาษลิง หรือ Monkeypox Virus เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งในลิงซึ่งถูกพบตั้งแต่ 64 ปีที่แล้วใน ค.ศ. 1958 ครั้งนั้นนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีการระบาดเกิดขึ้นในลิงที่ใช้เป็นสัตว์ทดลอง
  • พบมนุษย์ที่ติดเชื้อฝีดาษลิงคนแรกของโลกในปี ค.ศ. 1970 เป็นเด็กผู้ชายอายุ 9 ขวบ จากประเทศคองโก หลังจากนั้นก็พบเคสที่ติดเชื้อฝีดาษลิงมาเรื่อย ๆ โดยเคสส่วนใหญ่พบตามแถบแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง

หลายคนคงจะได้ข่าวเกี่ยวกับ ฝีดาษลิง หรือ Monkeypox Virus (MPXV) หรือชื่ออย่างเป็นทางการ ฝีดาษวานร มาสักพักแล้วที่อยู่ดี ๆ ก็ผุดขึ้นมาต่อจากโควิด-19 และมาพร้อม ๆ กันในหลายประเทศ โดย ณ ขณะนี้ (ข้อมูลอัพเดทวันที่ 9มิถุนายน พ.ศ. 2565) มีรายงานเคสที่ยืนยันว่าติดเชื้อฝีดาษลิงแล้วกว่า 900 เคส โดยพบว่าเคสส่วนใหญ่พบในแถบยุโรป ไม่ว่าจะเป็นประเทศอังกฤษ สเปน สวีเดน อิตาลี เบลเยียม โปรตุเกส หรือแม้กระทั่งแคนาดา และสหรัฐอเมริกา ก็มีรายงานเพิ่มจำนวนเคสมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหลายรัฐด้วยกัน พร้อมกันนั้นก็มีข่าวลือ ข้อสงสัยเกี่ยวกับฝีดาษลิงออกมามากมายในโลกโซเชียล ทำให้หลายคนเป็นกังวลและเริ่มให้ความสนใจกับฝีดาษลิงมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจาก คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ (คกก.) มีมติเห็นชอบร่างประกาศเพิ่ม “ฝีดาษวานร” เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา

Sarakadee Lite ขอชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับฝีดาษลิงอีกครั้ง กับหลาย ๆ เรื่องที่หลายคนสงสัยและยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับฝีดาษลิง

ฝีดาษลิง
ภาพตัดขวางจากชิ้นส่วนผิวหนังของผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง (Monkeypox) จากการแพร่ระบาดในปี ค.ศ. 2003 ด้านซ้าย (รูปไข่รี ๆ สีเทาเข้ม) เป็นไวรัสที่โตเต็มวัย ส่วนด้านขวารูปร่างกลม มีวงสีเทาเข้ม ด้านในสีเทาอ่อน เป็นไวรัสที่ยังไม่โตเต็มวัย (ภาพ : Cynthia S. Goldsmith, Russell Regnery )

1. จริงหรือที่ Monkeypox Virus หรือ ไวรัสฝีดาษลิงเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่

โรคฝีดาษลิง หรือ Monkeypox Virus เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งในลิงซึ่งถูกพบตั้งแต่ 64 ปีที่แล้วใน ค.ศ. 1958 ครั้งนั้นนักวิทยาศาสตร์พบว่ามีการระบาดเกิดขึ้นในลิงที่ใช้เป็นสัตว์ทดลอง และพบมนุษย์ที่ติดเชื้อฝีดาษลิงคนแรกของโลกในปี ค.ศ. 1970 เป็นเด็กผู้ชายอายุ 9 ขวบ จากประเทศคองโก หลังจากนั้นก็พบเคสที่ติดเชื้อฝีดาษลิงมาเรื่อย ๆ โดยเคสส่วนใหญ่พบตามแถบแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง จนกลายเป็นเชื้อประจำถิ่นในแถบนั้นในที่สุด

2. ไวรัส Monkeypox จะมีโอกาสพัฒนากลายเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่หรือไม่เมื่อเทียบกับไวรัส SARS-CoV-2 (ไวรัสก่อโรคโควิด-19) และ Influenza (ไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่)

Monkeypox เป็นไวรัสชนิด DNA ซึ่งปกติจะมีอัตราการกลายพันธุ์ที่น้อยหากเปรียบเทียบกับไวรัสชนิดที่มีสารพันธุกรรมเป็นRNA อย่าง SARS-CoV-2 ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคโควิด-19 และInfluenza ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่ และด้วยความที่ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในตระกูลฝีดาษ(Poxvirus) อย่างไวรัสก่อโรคฝีดาษลิง เป็นเชื้อที่ไม่ต้องการโปรตีนReceptor (โปรตีนที่อยู่บนผิวเซลล์มนุษย์ที่ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นประตูเข้าสู่ในเซลล์) ที่จำเพาะในการติดเชื้อในเซลล์มนุษย์ซึ่งต่างกับ SARS-CoV-2 ที่ต้องอาศัยโปรตีน Receptor ที่ชื่อว่า ACE2 (อ่านเพิ่มเติม:โควิด-19 กับคำตอบสุดท้ายที่ฝากไว้ที่ นักวิจัยยา และ วัคซีน) ในขณะที่เชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ต้องอาศัย Receptor ที่ชื่อว่า Sialic acid เพื่อจับกับโปรตีนของไวรัสที่ชื่อว่า Hemagglutininในการเข้าสู่เซลล์เยื่อบุของเซลล์มนุษย์

อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบอัตราการกลายพันธุ์ของไวรัส Monkeypox ที่สูงขึ้นและอาจเป็นการกลายพันธุ์ที่ทำให้แพร่จากคนสู่คนได้ดีกว่าปกติ แถมยังมีระยะฟักตัวนาน ไม่แสดงอาการ ทำให้คนที่ติดเชื้อเดินทางออกนอกบ้านและแพร่ไปยังผู้สัมผัสใกล้ชิดได้ซึ่งนั่นแปลว่านักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกก็ยังคงต้องจับตามองและทำการศึกษาวิจัยไวรัส Monkeypox กันต่อไปเพื่อเฝ้าสังเกตว่าการกลายพันธุ์ของไวรัส Monkeypox ครั้งนี้จะทำให้ไวรัสแข็งแกร่งขึ้นและแพร่ระบาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วอย่างโควิด-19 หรือไม่

ทั้งนี้ล่าสุดมีข้อมูลรายงานจากห้องปฏิบัติการว่าเมื่อนักวิจัยเอารหัสพันธุกรรมของ Monkeypox จากเคสที่พบล่าสุดในประเทศเบลเยียม มาเปรียบเทียบกับ Monkeypox สายพันธุ์ที่เคยเจอในประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 2018 (โดยเคสนี้เป็นเคสที่ติดจากคนที่เดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย) พบว่ารหัสพันธุกรรมมีความคล้ายคลึงกันสูงมาก แต่ทางนักวิจัยเองก็ยังไม่อยากด่วนสรุปว่า ตัว Monkeypox ที่กำลังระบาดอยู่นี้มีวิวัฒนาการไปจากสายพันธุ์เดิมอย่างไรบ้าง ในรายละเอียดคงต้องมีการศึกษาวิจัยถอดรหัสพันธุกรรมฉบับสมบูรณ์ (Full Genome Sequencing) ของหลาย ๆ เคส และจากหลาย ๆ แหล่งการแพร่ระบาดกันต่อไป เพราะเพียงแค่การกลายพันธุ์ (Mutation) ตำแหน่งเดียว ก็อาจมีผลทำให้ไวรัสแบ่งตัวและแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าเดิมมาก ซึ่งก็ถือว่าเป็นอะไรที่ยังต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์สยองขวัญเขย่าโลกซ้ำแบบโควิด-19 อีก

3. ฝีดาษลิงติดต่อทางเพศสัมพันธ์จริงหรือ

โดยปกติแล้วฝีดาษลิงเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด (มาก ๆ ) กับผู้ติดเชื้อ โดยโอกาสจะติดได้หลัก ๆ มาจากการมีเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted)ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสโดนรอยโรคหรือสารคัดหลั่ง การใช้เสื้อผ้า การนอนที่นอนร่วมกัน (Direct Contact) โดยกว่า 60 เคสที่พบจากสเปน มาจากการใช้ห้องเซานาเดียวกัน (Prolonged Close Contact) นอกจากนี้ ฝีดาษลิงยังสามารถติดกันได้ผ่านการหายใจ แต่โอกาสติดผ่านทางการหายใจยังน้อยมาก เพราะตัวเชื้อเองจะแพร่ไปได้ไม่ไกล ดังนั้นต้องอาศัยความใกล้ชิดในระยะเวลาหนึ่งถึงจะติดเจ้าไวรัสฝีดาษลิงตัวนี้ได้

ฝีดาษลิง

4. อาการแบบไหนที่บอกว่าเป็นฝีดาษลิงไม่ใช่ไข้หวัด

เมื่อเชื้อไวรัสMonkeypoxเข้าสู่ร่างกายจะใช้เวลาฟักตัวค่อนข้างนาน อยู่ในส่วนของไซโทพลาซึม (Cytoplasm) ของเซลล์มนุษย์ และมีความเสถียรมากพอควรที่จะไม่สลายตัวง่ายเหมือนไวรัสชนิด RNA โดยระยะเวลาฟักตัวของเชื้อไวรัส Monkeypox จะอยู่ประมาณ 5-21 วันช่วงระยะเวลานี้อาการเบื้องต้นแทบไม่ต่างกับไข้หวัดใหญ่คือมีไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียและบางรายมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยหลังจากนั้นจะมีผื่นเป็นตุ่ม ๆ ขึ้นตามใบหน้า ฝ่ามือฝ่าเท้าซึ่งในระยะที่ปรากฏรอยโรคนี้จะแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ง่าย จะมีอาการคล้ายคลึงกับอีสุกอีใสมาก แต่ในอีสุกอีใสจะไม่พบอาการต่อมน้ำเหลืองโต ดังนั้นหากมีอาการน่าสงสัยควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อที่จะสามารถวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

5. ฝีดาษลิงน่ากลัวไหม ติดแล้วจะมีอาการรุนแรงถึงตายหรือเปล่า

ตามรายงานแล้วเคสส่วนใหญ่ที่เจอไม่ได้ถึงขั้นที่ต้องแอดมิตนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลและไม่ถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งในเคสที่มีอาการรุนแรงมักจะพบร่วมกับการติดเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ ซึ่งในการรักษาก็สามารถใช้ยาต้านไวรัสได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ยาไซโดโฟเวียร์ (Cidofovir) เป็นต้น

สำหรับ วัคซีนฝีดาษคน (Smallpox Vaccine) สามารถช่วยป้องกัน Monkeypox และไวรัสในตระกูล Poxตัวอื่น ๆ ได้เช่นกันอย่างไรก็ตามยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าภูมิจากวัคซีนฝีดาษคนจะมีระดับการป้องกันฝีดาษลิงได้ดีมากน้อยแค่ไหนในกรณีของคนที่ฉีดมามากกว่า 50-60 ปีแล้วเพราะปกติภูมิคุ้มกันส่วนมากจะอยู่ในร่างกายคนได้ระยะเวลาหนึ่ง จะต้องมีการกระตุ้นด้วยวัคซีนอีกครั้งเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อแบบรุนแรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อาจจะยังคงมีโอกาสติดเชื้อได้อยู่ ถึงแม้ได้รับวัคซีนแล้วก็ตาม

6. อะไรที่เป็นความน่ากลัวของฝีดาษลิงในขณะนี้

ในความคิดเห็นของทางผู้เขียนเองนั้น คิดว่าความน่ากลัวของฝีดาษลิงในตอนนี้ก็น่าจะเป็นความล่าช้าในการตรวจเจอเคส เนื่องด้วยอาการที่คล้ายคลึงกับเคสที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้นำ ซึ่งอาจจะกลายเป็นว่ากว่าจะรู้ว่าเป็นฝีดาษลิงก็อาจจะแพร่ไปให้คนอื่นมากมายแล้ว อีกทั้งฝีดาษลิงเป็นโรคที่เกิดขึ้นน้อย (Rare Disease) ในแล็บทั่วไปอาจจะยังไม่มีการตรวจที่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อไวรัส Monkeypox ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเคสที่เจอที่เบลเยียม ซึ่งทางแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นไปว่าเป็นโรคเริมซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Herpes Simplex Virus (HSV) และซิฟิลิส (Syphilis) ก่อนที่จะเรียกตัวผู้ป่วยกลับมาตรวจเทสต์ที่จำเพาะต่อ​ไวรัสฝีดาษลิงก็ตอนที่เริ่มมีประกาศจากทาง EU ว่ามีการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงเมื่อไม่นานมานี้เอง

ฝีดาษลิง

7. การระบาดของฝีดาษลิงในครั้งนี้จะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีการใช้ไวรัสลิงชิมแปนซี (ที่ตัดต่อพันธุกรรม) มาทำวัคซีนโควิด-19 (Chimpanzee Adenovirus Vaccine) หรือไม่

มีการเข้าใจผิดกันมากในโลกโซเชียลถึงการเชื่อมโยง Monkeypox กับ Chimpanzee Adenovirusซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วนั้น ไวรัส 2 สายพันธุ์นี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กันทั้งสิ้น ทั้งในเรื่องของรหัสพันธุกรรมหรือการก่อโรคของไวรัสเองก็ตาม และที่สำคัญ Chimpanzee Adenovirus ที่ใช้ในการทำวัคซีนมีการตัดต่อพันธุกรรมเพื่อไม่ให้มีการแบ่งตัวเมื่อเข้าสู่เซลล์มนุษย์ กล่าวคือ Chimpanzee Adenovirus ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ “พาหนะ” ที่นำวัคซีนเข้าสู่เซลล์มนุษย์โดยไม่ก่อให้เกิดโรคใด ๆ เลย ทางผู้เขียนเองก็เคยอธิบายไปในบทความก่อนหน้านี้ถึงหลักการของวัคซีนโควิด-19 (อ่านเพิ่ม : วัคซีนป้องกันไวรัสได้อย่างไร ไขข้อสงสัย รวมเรื่องควรรู้ก่อนฉีด วัคซีนโควิด) ด้วยการเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นทางอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน อาจต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงให้ดี มีการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนจากหลายแหล่งที่น่าเชื่อถือ มิฉะนั้นอาจได้รับข้อมูลที่ผิดพลาดได้

โดยสรุป

ต่อจากนี้ Monkeypox หรือ ฝีดาษลิง ก็คงไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นน้อย (Rare disease) อย่างที่เคยเป็นมาอีกแล้ว เนื่องจากการระบาดไปในหลาย ๆ ประเทศ และจำนวนเคสที่เริ่มมีการรายงานเพิ่มขึ้นในทุกวัน ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในพื้นที่นั้น ๆ ควรมีการเร่งตรวจสอบ และกักตัวบุคคลที่มีความเสี่ยง หรือมีความเกี่ยวโยงกับคนที่ติดเชื้อก่อนที่จะมีการระบาดออกไปในวงกว้าง (เราควรเรียนรู้จากโรคโควิด-19 ที่ควรจะมีมาตรการป้องกันก่อนจะเกิดอุบัติการณ์อย่างในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา)

อย่างไรก็ตามจากผลวิจัยเบื้องต้นก็ทำให้ทราบว่าการระบาดที่เกิดในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากตัวที่เป็นสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด ซึ่งก็ยังคงมีความคล้ายคลึงกับเชื้อที่เจอในปี ค.ศ.2018 และเป็นไปได้ว่าน่าจะมาจาก Super-spread อีเวนต์ใดสักแห่งหนึ่งในช่วงเดือนเมษายนค.ศ.2022 และหลังจากที่ผู้คนพากันแยกย้ายก็ไปแพร่ระบาดตามถิ่นฐานของตัวเอง จนกลายเป็นการแพร่ระบาดในหลายประเทศครั้งนี้

ทางผู้เขียนเองก็ได้แต่หวังว่าการเป็นที่สนใจของ Monkeypox ในครั้งนี้จะส่งผลให้มีการวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็วและทันท่วงทีมีการแยกคนติดเชื้อ (Isolate) ออกมาเพื่อป้องกันและลดการแพร่เชื้อไปให้ได้เร็วที่สุด และหยุดการระบาดลงได้อย่างทันท่วงที พวกเราทุกคนคงไม่อยากเจอเหตุการณ์แบบโควิด-19 อีก ปัจจุบันก็ยังคงมีอยู่เนือง ๆ โลกของเราเหมือนเพิ่งโดนระเบิดลูกใหญ่ เกิดความเสียหายระยะยาวหลาย ๆ ด้าน ยากที่จะฟื้นฟู แต่อย่างน้อยเราก็ควรจะได้เรียนรู้อะไรจากสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้วบ้าง กันไว้ดีกว่าแก้…เพราะแย่แล้วอาจจะแก้ไม่ทัน

อ้างอิง

https://www.nature.com/articles/d41586-022-01421-8

https://www.who.int/philippines/news/q-a-detail/monkeypox

https://virological.org/…/first-draft-genome…/799


Author

ดร.ชณัท อ้นบางเขน
อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลไทย (พสวท.) มีความสนใจด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ จบการศึกษาปริญญาเอกด้านเคมีอินทรีย์และเคมีชีวภาพจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) เคยทำงานเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำงานวิจัยศึกษากลไกการทำงานของเซลล์มนุษย์ในระดับโมเลกุลและโพรตีโอมิกส์ (chemical and molecular cell biology and proteomics) ที่เกี่ยวกับความผิดปรกติในโรคต่างๆ
ดร.ศิริรักษ์ ช้างรบ
จบการศึกษาปริญญาเอกจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิจัยเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเชื้อมาลาเรียในกลุ่มประชากรไทย ปัจจุบันเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก ณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโกสหรัฐอเมริกา กำลังศึกษาวิจัยเน้นทางด้านศึกษาระบบภูมิคุ้มกันในเชิงลึก และการผลิตโมโนโคลนอลแอนติบอดี เพื่อนำไปต่อยอดในพัฒนาวัคซีนต้านโรคติดเชื้อไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19