ประมวลนาทีประวัติศาสตร์ ที่ขับเคลื่อน วัฒนธรรมการสร้างสรรค์ของโลกในปี 2021
Arts & Culture

ประมวลนาทีประวัติศาสตร์ ที่ขับเคลื่อน วัฒนธรรมการสร้างสรรค์ของโลกในปี 2021

Focus
  • ความหลากหลายทางเพศ และแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองกลายมาเป็นโจทย์หลักของกระแสการสร้างสรรค์ในปี 2021
  • วิกฤตโรคระบาดทำให้เทคโนโลยีและโลกเสมือนเดินทางมาถึงผู้คนไวขึ้น หนึ่งในนั้นคือการสร้างสรรค์งานศิลปะที่โลกเสมือนได้กลายมาเป็นที่ยอมรับและสร้างมูลค่ามหาศาลในโลกจริง

ตลอดทั้งปี 2021 ที่ผ่านมายังคงเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายและความแปลกใหม่ที่หลายๆ อุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัว ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมในสายออกแบบสร้างสรรค์ ซึ่งต้องรังสรรค์งานศิลปะ ดีไซน์ และต่อยอดความคิดสร้างสรรค์แขนงต่างๆ ท่ามกลางข้อจำกัดของวิกฤตโรคระบาด ทั้งยังต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อก้าวให้ทันโลกในยุคดิจิทัลที่หลายสิ่งดูจะมาไวกว่าที่คิดเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโรคระบาด งานนี้สื่อชั้นนำอย่างซีเอ็นเอ็น (CNN) จึงได้รวบรวมประมวลข่าวคราวในแวดวงศิลปะและความบันเทิงที่กลายเป็นกระแสและได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นภาพนิยามการขับเคลื่อน วัฒนธรรมการสร้างสรรค์ของโลกในปี 2021

วัฒนธรรมการสร้างสรรค์ของโลกในปี 2021

ปีแรกของกระแสแฟชันในพิธีสาบานตนประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ประเดิมกันด้วยงานใหญ่ต้นปี 2021 กับพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในช่วงเดือนมกราคม ซึ่งพิธีสาบานตนครั้งนี้ไม่ได้แตกต่างเพียงเพราะงานจัดขึ้นภายใต้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด หรือการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงาน และการที่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือเพราะเป็นปีแรกที่อดีตประธานาธิบดีอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ได้เข้าร่วมงานด้วยเท่านั้น แต่พิธีสาบานตนในครั้งนี้เป็นปีแรกที่มีการพูดถึงแฟชันการแต่งกายของผู้เข้าร่วมงาน โดยเฉพาะฝั่งสุภาพสตรีที่เต็มไปด้วยสีสันและดีไซน์ที่ร่วมสมัย อีกทั้งประเด็นที่ได้รับพูดถึงเกี่ยวกับแฟชั่นและได้รับเสียงชื่นชมมากที่สุดก็คือ แบรนด์เสื้อผ้าที่ผู้เข้าร่วมงานหลัก อย่าง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน, รองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส และสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง จิล ไบเดน เลือกใส่ ล้วนเป็นแบรนด์ต้นกำเนิดของสหรัฐฯ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น Ralph Lauren, Christopher John Rogers และ Alexandra O’Neill

นอกจากนี้พิธีสาบานตนครั้งนี้ยังกลายเป็นเวทีแจ้งเกิดไม่คาดฝันของยุวกวีและแฟชันสตาร์รุ่นเยาว์อย่าง อแมนดา กอร์แมน (Amanda Gorman) ซึ่งมาในเสื้อโค้ทปราด้าสีเหลืองสด กับ เอลลา เอ็มฮอฟฟ์ (Ellan Emhoff) ลูกสาวบุญธรรมของรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ที่มาในชุดเสื้อโค้ทของ Miu Miu สะดุดตา จนทำให้เสื้อโค้ทตัวนี้กลายเป็นกระแสในโลกแฟชันออนไลน์อยู่ช่วงหนึ่ง

ปีแจ้งเกิดของความหลากหลายทางเพศบนหน้าปกนิตยสารชั้นนำ

ท่ามกลางสังคมกระแสหลักที่เริ่มเปิดใจยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศ และพยายามจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในเรื่องของเพศและเชื้อชาติ ในปี 2021 ถือเป็นปีแรกที่หน้าปกนิตยสารชั้นนำระดับโลกหลายหัวได้นำผู้คนระดับโลกผู้ผลักดันเรื่องความหลากหลายทางเพศและก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องเพศมาขึ้นปกนิตยสาร ไม่ว่าจะเป็นครั้งแรกที่นิตยสารไทม์ นำ Elliot Page ชายข้ามเพศ (transgender man) มาขึ้นปก หรือเป็นครั้งแรกที่นิตยสารเพลย์บอยนำ Bretman Rock อินฟลูเอนเซอร์ด้านความงามชาวฟิลิปปินส์ที่มีรสนิยมรักร่วมเพศขึ้นปก หรือกรณีของนิตยสารกีฬาชั้นนำในสหรัฐฯ อย่าง สปอร์ต อิลลัสเตรดเต็ด (Sports Illustrated) ที่นำนักร้องแร็ปเปอร์ Megan Thee Stallion, นักเทนนิสดาวรุ่งผิวสี Naomi Osaka และนางแบบหญิงข้ามเพศ Leyna Bloom ขึ้นปกในชุดว่ายน้ำเป็นครั้งแรก

ภาพ : Beeple

ผลงานศิลปะดิจิทัลมูลค่า 69 ล้านดอลลาร์

ในช่วงเดือนมีนาคม 2021 วงการศิลปะต้องสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ เมื่อ ไมค์ วินเคลแมนน์ (Mike Winkelmann) หรือศิลปินชื่อดังที่รู้จักกันในชื่อ บีเปิล (Beeple) สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการขายผลงานศิลปะเสมือนจริง (virtual artwork) หรือ NFT (การสร้างผลงานศิลปะแล้วใช้เทคโนโลยีบลอกเชนในการยืนยันความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าว) ผ่าน คริสตี้ บริษัทจัดการประมูลชั้นนำด้วยมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,300 ล้านบาท) สำหรับผลงานชิ้นประวัติศาสตร์นี้ มีชื่อว่า Everydays: The First 5000 Days, ประกอบขึ้นจากภาพถ่ายจำนวน 5,000 ภาพที่ตัวศิลปินสร้างสรรค์มาตลอดระยะเวลา 13 ปี ถือเป็นศิลปะ NFT ชิ้นแรกที่นำมาประมูลผ่านบริษัทประมูล เรียกได้ว่าเป็นการนำโลกออนไลน์มาสู่ออฟไลน์อย่างเป็นทางการ ซึ่งนอกจากจะทำให้ บีเปิล กลายเป็นศิลปินที่มีผลงานแพงที่สุดในโลกขณะที่ศิลปินยังมีชีวิตอยู่แล้ว ผลลัพธ์ดังกล่าวยังจุดประกายให้ตลาด NFT ได้รับความสนใจจากคนทั่วโลกมากขึ้นและมีนักสร้างสรรค์เข้าสู่วงการ NFT อย่างก้าวกระโดด ถือเป็นจุดเปลี่ยนด้านการสร้างสรรค์งานศิลปะในยุคดิจิทัลเลยก็ว่าได้

Lil Nas X กับมหากาพย์รองเท้าผ้าใบรุ่น ‘Satan Shoes’

Lil Nas X แร็ปเปอร์ ชาวอเมริกันชื่อดังเรียกเสียงฮือฮาครั้งใหญ่ในช่วงเดือนมีนาคม หลังเปิดตัวรองเท้าผ้าใบ Nike Air Max 97 ที่นำมาออกแบบดัดแปลงใส่ลูกเล่นเข้าไปใหม่ ภายใต้ความร่วมมือกับกลุ่มนักดนตรี และกลุ่มคนรักศิลปะ MSCHF (กลุ่มศิลปิน ดีไซน์เนอร์ที่มักสร้างความปั่นป่วนและความท้าทายให้วงการศิลปะ) ในนิวยอร์ก พร้อมให้ชื่อว่า รองเท้าซาตาน โดดเด่นด้วยสัญลักษณ์ดาวห้าแฉกสีบรอน์ซ์ และเลือดจริงหนึ่งหยด โดยรองเท้าทั้งหมด 666 คู่ ในราคาคู่ละ 1,018 ดอลลาร์ (หรือราว 33,935 บาท) สามารถขายได้หมดภายในเวลาไม่ถึงนาที ร้อนถึง ไนกี้ เจ้าของแบรนด์ที่นิ่งเงียบในตอนแรกต้องลุกขึ้นมาฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์ ทำให้ Lil Nas X ตกลงยอมความ และเรียกคืนสินค้าและคืนเงินทั้งหมดให้กับผู้ที่ซื้อไป แต่นั่นก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คนในวงการสร้างสรรค์ตั้งคำถามและถกเถียงกันอีกครั้งเรื่องลิขสิทธิ์ที่อาจเข้ามาจำกัดความสร้างสรรค์หรือไม่

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่บนเวทีออสการ์ โดย Chloé Zhao

โคลอี เจา (Chloé Zhao) สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่บนเวทีออสการ์ ด้วยการเป็นผู้กำกับหญิงเชื้อสายเอเชียและผิวสีคนแรกที่คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่อง Nomadland ภาพยนตร์แนวดราม่าถ่ายทอดชีวิตวัยเกษียณของแรงงานตามฤดูกาลที่อาศัยอยู่บนรถตู้ชาวอเมริกัน โดย โคลี เจา เป็นผู้กำกับหญิงคนที่สองที่ได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ต่อจาก Kathryn Bigelow จากภาพยนตร์ Hurt Locker ในปี ค.ศ. 2010 ทั้งนี้ ก่อนหน้าเวทีออสการ์ ผลงานของโคลอี เจา ยังกวาดรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมจากเวทีลูกโลกทองคำ (Golden Globes), Critics Choice Awards และ Directors Guild Awards

Pyer Moss เขย่าวงการ โอต กูตูร์

วงการแฟชั่นชั้นสูง หรือ โอต กูตูร์ (haute couture) ได้ฤกษ์เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เมื่อแบรนด์ Pyer Moss ของ Kerby Jean-Raymond ดีไซเนอร์ผิวสีผู้หยิบเอาวัฒนธรรมและนวัตกรรมของชาวผิวสีมานำเสนอผ่านการออกแบบในรูปแบบที่แปลกใหม่เข้าใจง่ายและเต็มไปด้วยความละเมียดละไมของงานฝีมือ ทั้งยังได้มีโอกาสนำความเป็นผิวสีมาเดินเฉิดฉายบนเวทีแคทวอล์ค ซึ่ง Kerby Jean-Raymond เป็นดีไซเนอร์ชาวอเมริกันผิวสีคนแรกที่ได้รับเชิญให้ร่วมแสดงผลงานบนเวที Paris Haute Couture Fashion Week

การหวนคืนโอต กูตูร์ ในรอบครึ่งศตวรรษ ของ Balenciaga

ถือเป็นการกลับมาที่น้อยแต่มาก เรียบแต่หรู เพื่อทวงบัลลังโอต กูตูร์ตัวแม่อย่างสมศักดิ์ศรีของแบรนด์หรูสัญชาติฝรั่งเศส Balenciaga ที่หวนคืนเวทีแฟชั่นโชว์คอลเล็กชันกูตูร์ครั้งแรกในรอบ 53 ปีในเดือนกรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมา และเป็นงานกูตูร์โชว์ครั้งแรกของแบรนด์นับตั้งแต่ที่ Cristóbal Balenciaga ซึ่ง Christian Dior เคยให้นิยามว่าเป็น “บอสของพวกเราทุกคน” ได้ปิดร้านเมื่อ 53 ปีที่แล้ว

ภาพจากซีรีย์ The Crown (NETFLIX)

กระแสคิดถึง เจ้าหญิงไดอานา

ผลพวงจากซีรีย์ The Crown ซีซั่น 4 ทำให้ประเด็นเรื่องราชวงศ์เป็นที่พูดถึงอีกครั้ง และทำให้เรื่องราวของเจ้าหญิงไดอานากลายเป็นกระแสที่ทุกคนต่างร่วมระลึกถึง ทั้งนี้ความคิดถึงเจ้าหญิงไดอานาได้กลายเป็นประเด็นหลังจากที่เจ้าชายแฮร์รี และเมแกน ให้สัมภาษณ์กับรายการของ โอปราห์ วินฟรีย์ จนทำให้เกิดการเปรียบเทียบของสถานการณ์ระหว่างดัชเชสแห่งซัสเซกส์กับเจ้าหญิงไดอานา

วัฒนธรรมการสร้างสรรค์ของโลกในปี 2021

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2021 ทางพระราชวังเคนชิงตันได้นำชุดแต่งงานของเจ้าหญิงไดอานามาจัดแสดง ก่อนที่เดือนถัดมาจะมีการเปิดตัวรูปปั้นของเจ้าหญิงไดอานาในอุทยาน Sunken Garden ในพระราชวังเคนชิงตัน เนื่องในวาระครบรอบวันเกิดปีที่ 60 ของเจ้าหญิง และปิดท้ายด้วยภาพยนตร์เรื่อง Spencer ในเดือนพฤศจิกายน ที่ทำให้ทั่วโลกต่างทึ่งกับภาพลักษณ์และการแสดงของ Kristen Stewart ผู้สามารถถ่ายทอดภาพของเจ้าหญิงไดอานาได้อย่างน่าทึ่ง

วัฒนธรรมการสร้างสรรค์ของโลกในปี 2021

ชุดราตรีสีรุ้งที่น่าจดจำในมหกรรมโอลิมปิก

ชุดราตรีสีรุ่งที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น Tomo Koizumi ซึ่งทำจากวัสดุรีไซเคิลเพื่อให้นักร้องสาว Misia สวมใส่ในขณะร้องเพลงชาติญี่ปุ่น “Kimigayo” ถือเป็นภาพสะท้อนความรู้สึกทั้งหมดของงานมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในปี 2021 หลังจากเลื่อนจากกำหนดการเดิมถึง 1 ปี เพราะวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายใต้การจัดงานที่ต้องมีกฎระเบียบควบคุมอย่างเคร่งครัด และยังต้องลดทอนขั้นตอนพิธีการที่กำหนดไว้ทั้งหมด แต่ผู้รับชมทั่วโลกก็ยังสัมผัสได้ถึงความหวัง ความสุข และความสนุก ประดุจสีรุ้งบนชุดราตรี ในพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อนในครั้งนี้ที่นำเรื่องความยั่งยืนมาเป็นหัวใจในการจัดงานได้อย่างแท้จริง และแน่นอนว่าทุกรายละเอียดงานออกแบบดีไซน์ ในโอลิมปิก โตเกียว 2020 ครั้งนี้ล้วนพิสูจน์แล้วว่างานออกแบบโดยมีโจทย์เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนสามารถทำได้จริง

วัฒนธรรมการสร้างสรรค์ของโลกในปี 2021

Tom Daley ผู้ปลุกกระแสหนุ่มโครเชต์

อีกหนึ่งกระแสสุดปังประจำการแข่งขันโอลิมปิกในปี 2021 ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ Tom Daley นักกีฬากระโดดน้ำทีมชาติอังกฤษที่ใช้เวลาว่างระหว่างการแข่งขันมานั่งถักไหมพรม (โครเชต์) จนกลายเป็นภาพไวรัลที่ทำสาวๆ ทั่วโลกหัวใจละลาย และทำให้งานอดิเรกอย่างการถักไหมพรมไม่ถูกจำกัดว่าเป็นงานอดิเรกเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น หรือเป็นงานเฉพาะของแม่บ้านอีกต่อไป ขณะที่ตัวของ Tom Daley เองก็สามารถต่อยอดเปิดเป็นบริษัทขายอุปกรณ์ถักโครเชต์ภายใต้แบรนด์ Made with Love by Tom Daley. ในเวลาต่อมา

วัฒนธรรมการสร้างสรรค์ของโลกในปี 2021

เซเลบ-ดารา แสดงจุดยืนทางการเมืองบนพรมแดง Met Gala

ถือเป็นการเปลี่ยนมุมมองและจุดประกายให้เห็นว่าเรื่องการเมือง ประเด็นสังคมเป็นเรื่องที่พูดได้ไม่ว่าคุณจะเป็นศิลปินดาราระดับโลกก็ตาม เมื่อบรรดาศิลปินและนักแสดงตัวพ่อตัวแม่ของวงการต่างใช้พรมแดงในงาน Met Gala ซึ่งจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน 2021 เป็นพื้นที่แสดงความเห็นและจุดยืนทางการเมืองและสังคมผ่านเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายโดยที่ศิลปินเหล่านี้ไม่ต้องเอื้อนเอ่ยวาจาใดๆ ออกมา เริ่มด้วยชุดของ Cara Delevingne ที่เดินพรมแดงพร้อมกับข้อความ “Peg the Patriarchy” (สลักไว้บนเสื้อกั๊กกันกระสุนสีขาวที่ออกแบบโดย Maria Grazia Chiuri ของ Dior)

ขณะที่ Megan Rapinoe ซุปเปอร์สตาร์นักฟุตบอลถือคลัทช์ที่มีวลี “In Gay We Trust” และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  Carolyn B. Maloney อวดชุดที่ประดับประดาด้วยคำว่า “Equal Rights for Women” อย่างไรก็ตาม ชุดราตรีที่มีคนพูดถึงมากที่สุดคือชุดของ Alexandria Ocasio-Cortez ที่เข้าร่วมงานเป็นครั้งแรก โดยเสื้อเปิดไหล่สีขาวของเจ้าตัวภายใต้การออกแบบของแบรนด์ Brother Vellies ติดสโลแกนตัวหนา “Tax the Rich” ไว้ที่ด้านหลัง

วัฒนธรรมการสร้างสรรค์ของโลกในปี 2021

ศิลปะการห่อหุ้มระดับโลกที่ Arc de Triomphe

กลายเป็น 16 วันในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่สร้างความแปลกใหม่ ให้กับชาวปารีเซียงและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือน Arc de Triomphe หรือ ประตูชัยฝรั่งเศส เมื่อสองศิลปินดูโอคู่สามีภรรยา Christo และ Jeanne-Claude โชว์ผลงานศิลปะการห่อหุ้มด้วยการใช้ผ้าผืนใหญ่ห่มคลุมประตูชัยแห่งนี้ พร้อมให้ชื่อผลงานที่ตรงตัวว่า “L’Arc de Triomphe, Wrapped,” โดยใช้ผ้ารีไซเคิลขนาด 3,000 เมตรพร้อมเชือกสีแดงช่วยห่อหุ้ม

วัฒนธรรมการสร้างสรรค์ของโลกในปี 2021

แม้หลายคนยังค้างคาใจหรือไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็นการห่อหุ้ม แต่ก็ถือว่าศิลปินทั้งสองได้ผลักดันให้นิยามของเทคนิคการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป โดยสามีภรรยาคู่นี้มีชื่อเสียงจากการเดินทางไปทั่วโลกเพื่อสร้างงานศิลปะห่อหุ้มจนกลายเป็นผลงานศิลปะมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961 ซึ่งการห่อประตูชัยกินเวลาร่วม 3 เดือน แต่มีเวลาจัดแสดงราว 2 สัปดาห์เท่านั้น

วัฒนธรรมการสร้างสรรค์ของโลกในปี 2021

การไว้อาลัยครั้งสุดท้ายแก่ Virgil Abloh

ส่งท้ายปี 2021 ด้วยข่าวเศร้าส่งท้ายปี กับการจากไปอย่างกระทันหันของ Virgil Abloh ดีไซเนอร์ผู้แหวกขนบวัย 41 ปี หลังต่อสู้กับโรคมะเร็งมานาน 2 ปี โดย Abloh เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ด้านเสื้อผ้าบุรุษของ Louis Vuitton ซึ่งเป็นดีไซเนอร์ผิวสีคนแรกที่มีบทบาทสำคัญโดดเด่นของแบรนด์หรู และเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์เสื้อผ้าสตรีแนวสตรีทสุดหรู อย่าง Off-White เพื่อไว้อาลัยแก่ Abloh ทาง Louis Vuitton ได้เปลี่ยนการแสดงคอลเลกชัน Spring/Summer 2022 ของ Abloh เป็นการยกย่องชีวิตและผลงานของเจ้าตัว โดยการแสดงความยาว 18 นาทีที่มีชื่อว่า Virgil Was Here มีผู้เข้าร่วมชมมากถึง 1,500 คน รวมถึงคนดังอย่าง Kanye West,  Kim Kardashian West, Rihanna และ Pharrell Williams อีกทั้งยังมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ซึ่งโชว์ปิดท้ายด้วยวลีเด็ดของ Abloh ที่ระบุว่า

“ชีวิตสั้นมากจนคุณไม่สามารถเสียเวลาแม้แต่วันเดียวในการน้อมรับกับสิ่งที่คนอื่นคิดว่าคุณทำได้ มากกว่าการตระหนักรู้ด้วยตนเองว่าอะไรคือสิ่งที่คุณทำได้”

อ้างอิง


Author

นงลักษณ์ อัจนปัญญา
สาวหมวยตอนปลาย ผู้รักการอ่าน ชอบการเขียน สนใจเหตุบ้านการเมืองในต่างแดน และกำลังอยู่ในช่วงการฝึกฝนสายวีแกน