อแมนดา กอร์แมน : ยุวกวีหญิงผู้ปลุก “ประชาธิปไตย” ในหัวใจของอเมริกันชน
Faces

อแมนดา กอร์แมน : ยุวกวีหญิงผู้ปลุก “ประชาธิปไตย” ในหัวใจของอเมริกันชน

Focus
  • สุภาพสตรีในโค้ทสีเหลือง อแมนดา กอร์แมน (Amanda Gorman) กลายเป็นที่กล่าวถึงทั่วโลกหลังจากที่เธอได้กล่าวบทกวีในวันพิธีสาบานตนของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา
  • อแมนดา กอร์แมน กลายเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่รับหน้าที่อ่านบทกวีในวันสาบานตนของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

เที่ยงวันของวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2564 หรือตรงกับช่วงเที่ยงคืนย่างเข้าวันใหม่ของวันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคมตามเวลาท้องถิ่นของไทย พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นขึ้น ภายใต้สายตาหลายล้านคู่ที่จับจ้องมาจากทั่วโลก เพื่อเป็นพยานในการเฝ้ามองประวัติศาสตร์ทางการเมืองครั้งสำคัญอีกหน้าหนึ่งของสหรัฐฯ ที่ไม่เคยมีมาก่อน และหลังจากจบพิธี ชื่อของสุภาพสตรีในโค้ทสีเหลือง อแมนดา กอร์แมน (Amanda Gorman) ก็กลายเป็นที่กล่าวถึงทั่วโลก

เพราะนี่เป็นพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีอายุมากที่สุด เป็นพิธีสาบานตนที่มีรองประธานาธิบดีเป็นสตรีผิวสีคนแรก เป็นพิธีสาบานตนครั้งแรกที่ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า (โดนัลด์ ทรัมป์) ไม่เข้าร่วมงาน เป็นพิธีสาบานตนที่ใช้จำนวนทหารในกองทัพอารักขามากที่สุด เป็นพิธีสาบานตนที่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อของไวรัสโควิด-19 และที่สำคัญที่สุดก็คือ ครั้งนี้เป็นพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศที่เกิดขึ้นหลัง “ประชาธิปไตย” หัวใจสำคัญของประเทศถูกกระหน่ำย่ำยีจนบอบช้ำ จากเดิมที่ชอกช้ำอยู่แล้วด้วยวิกฤติการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด-19

อแมนดา กอร์แมน

ท่ามกลางห้วงอารมณ์แห่งความสับสน หวาดหวั่น ขุ่นเคือง และโศกเศร้า ช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ 5 นาทีกว่าของการขึ้นอ่านบทกวี The Hill We Climb ของสุภาพสตรีวัย 22 ปี นาม อแมนดา กอร์แมน (Amanda Gorman) กลับสั่นคลอนและเยียวยาหัวใจของชาวอเมริกัน พร้อมปลุกไฟแห่งความหวัง และฟื้นฟูศรัทธาต่อประชาธิปไตยและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ให้ลุกโชนอีกครั้ง

ภาพผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ในชุดสูทสีเหลืองสดใส ยืนบนเวทีกว้างใหญ่อลังการ กับถ้อยคำอันทรงพลังที่ร้อยเรียงจากปลายปากกาของตนเอง ทำให้เชื่อได้ว่า ชื่อของ อแมนดา กอร์แมน ได้สลักอยู่ในหัวใจของใครหลายคนทั่วโลกเรียบร้อยแล้ว ในฐานะเพชรน้ำเอกแห่งวงการกวีและวรรณกรรมโลก

รู้จักเธอ อแมนดา กอร์แมน

การขึ้นอ่านบทกวีในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งครั้งนี้ ส่งผลให้ อแมนดา กอร์แมน กลายเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่รับหน้าที่ดังกล่าว แน่นอนว่า ผู้ที่ได้รับหน้าที่สำคัญเช่นนี้ย่อมมีประวัติที่ไม่ธรรมดา โดย อแมนดา กอร์แมน เกิดและเติบโตที่นครลอสแองเจลิสของสหรัฐฯ ภายใต้การดูแลของ โจน วิคส์ (Joan Wicks) คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้หาเลี้ยงตนเองด้วยอาชีพครู โดย กอร์แมน มีพี่น้องสองคนและได้รับการเลี้ยงดูตามแบบฉบับของครอบครัวชนชั้นกลางชาวอเมริกันที่ต้องใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ครั้งหนึ่งกอร์แมนเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตนเองเติบโตมาภายใต้สภาพแวดล้อมที่เข้าไม่ค่อยถึงโทรทัศน์

และแม้ตอนนี้เธอจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกวีและการเขียน แต่วัยเด็ก กอร์แมน กลับมีปัญหาด้านการสื่อสาร คือพูดติดอ่าง และเป็นคนที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อเสียงดัง เพราะเธอมีปัญหาในการฟังเสียง กอร์แมนกล่าวถึงตนเองในวัยเด็กว่า เป็นเด็กที่ผิดแผกจากเด็กทั่วไปตรงที่ชอบที่จะอ่านหนังสือและขีดเขียนงานต่าง ๆ ที่สำคัญเธอกล่าวว่าเธอค่อนข้างโชคดีที่ คุณแม่ของเธอให้การสนับสนุนในเรื่องนี้ 

อแมนดา กอร์แมน

แววกวีของกอร์แมนเริ่มฉายแสงในช่วงย่างเข้าวัยรุ่น ซึ่งผลการเรียนที่โดดเด่นทำให้เจ้าตัวได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิ Milken Family Foundation ได้เข้าศึกษาต่อด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาฮาร์เวิร์ด สถานที่ที่กอร์แมนได้ค้นพบหนทางและความชอบของตนเอง นั่นคือ การเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม และการเขียนกวีสะท้อนสังคม โดยมุมมองต่อประเด็นต่าง ๆ ที่เปิดกว้าง บวกด้วยฝีมือที่ผ่านการฝึกฝนขัดเกลาจนเฉียบคม ส่งให้กอร์แมนกลายเป็นบุคคลแรกที่ได้รับรางวัล National Youth Poet Laureate ในปี 2017 ซึ่งรางวัลดังกล่าวมอบให้กับเยาวชนทั่วโลกที่มีผลงานด้านการเขียนกวีที่โดดเด่น โดยในปีเดียวกันกอร์แมนยังคว้ารางวัล OZY Genius Awards พร้อมเงินรางวัล 10,000 เหรียญสหรัฐ จากงานกวีสะท้อนสังคมของเจ้าตัว

เส้นทางนักกวีและนักกิจกรรมเพื่อสังคม 

ทั้งนี้ เส้นทางนักเขียนบทกวีเริ่มเป็นที่ประจักษ์สู่สายตาสาธารณชนในปี ค.ศ. 2014 ซึ่งเจ้าตัวได้รับรางวัลสุดยอดกวีเยาวขนของลอสแองเจลิส ก่อนที่ในปีต่อมาปี 2015 เจ้าตัวได้มีโอกาสตีพิมพ์หนังสืองานเขียนกวีของตนในชื่อ The One for Whom Food Is Not Enough บอกเล่าเรื่องราวที่สะท้อนปัญหาความหิวโหยของสังคม 

อย่างไรก็ตาม ด้วยความสนใจต่อปัญหาการกดขี่ สิทธิสตรี การแบ่งแยกกีดกั้นทางชนชั้น เชื้อชาติ และการพลัดถิ่นของชาวแอฟริกัน ทำให้ กอร์แมน กลายมาเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมตัวยง โดยกอร์แมนตัดสินใจก้าวเข้าสู่วงการนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมอย่างจริงจังหลังได้ฟังสุนทรพจน์ของ มาลาลา ยูซาฟไซ (Malala Yousafzai) เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพที่อายุน้อยที่สุดชาวปากีสถาน และได้เข้าร่วมเป็นผู้แทนเยาวชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียม เป็นธรรม ของคนทุกเชื้อชาติศาสนา 

ขณะเดียวกัน กอร์แมน ยังได้ก่อตั้งองค์การอิสระไม่แสวงหากำไร One Pen One Page ที่ดำเนินการโครงการเพื่อการเขียนของเยาวชนและฝึกอบรมภาวะผู้นำสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งในระหว่างที่ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมนี้กอร์แมนก็ได้นำประสบการณ์ที่ได้สัมผัสและสิ่งที่ได้เรียนรู้มาเขียนกวี ขัดเกลาฝีมือของตนเองอยู่เสมอ พร้อมกันนั้นเจ้าตัวก็มักไม่พลาดที่จะเข้าร่วมกิจกรรมด้านการอ่านและการเขียนกวีขององค์กร สถาบัน และห้องสมุดต่าง ๆ ยกตัวอย่าง การเป็นกวีเยาวชนคนแรกที่เปิดฤดูกาลวรรณกรรมสำหรับหอสมุดแห่งชาติ อ่านบทกวีของตนทาง MTV พร้อมได้รับคัดเลือกจาก The Morgan Library and Museum ให้นำผลงานกวี “In This Place (An American Lyric)” จัดแสดงเคียงข้างผลงานของศิลปินชั้นนำอย่าง Elizabeth Bishop

The Hill We Climb บทกวีแด่ความหวังและไฟฝัน 

กอร์แมน ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส เกี่ยวกับหน้าที่ที่สำคัญและทรงเกียรติเมื่อได้รับเลือกให้ขึ้นอ่านบทกวีในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี โจ ไบเดน โดยเจ้าตัวมีเวลาคิดและเขียนราวสองสัปดาห์  แต่นับเป็นช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่ กอร์แมน ยอมรับว่า กดดันไม่น้อย ถ้อยคำมากมาย คำแล้วคำเล่าถูกเขียนและคัดออกอย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งที่กอร์แมนต้องการก็คือความเรียงที่บอกเล่าความเจ็บปวด แต่ก็ให้ความหวังและพลังในการก้าวต่อไป ซึ่งต้องอาศัยกำลังใจและความกล้าหาญอย่างมากท่ามกลางสภาพสังคมที่เสียหายจากไวรัสโควิด-19 และการแบ่งแยกกีดกันที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น 

แต่แล้วภาพเหตุการณ์บุกยึดอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 ก็ได้จุดประกายและเป็นแรงบันดาลใจให้ กอร์แมนเขียนบทกวีจนเสร็จสิ้นภายในค่ำคืนเดียว และบทกวี The Hill We Climb ก็ทรงพลังด้วยอารมณ์และความคิดอย่างที่ กอร์แมน ตั้งไว้อย่างแท้จริง 

เสียงปรบมืออย่างกึกก้องดังทั่วงานพิธีหลังจากที่กอร์แมนอ่านกวีของเธอจบลง พร้อมความรู้สึกของความหวัง และความสมัครสมานสามัคคีที่ตกตะกอนในหัวใจของชาวอเมริกัน สมความตั้งใจของกอร์แมนที่ให้สัมภาณ์กับทางสถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษก่อนขึ้นเวทีอ่านบทกวีของตนเองว่าต้องการให้ทุกบทกวีของตนเป็นตัวแทนช่วงเวลาของความเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ และให้พลังของคำเป็นพื้นที่ที่กอร์แมนจะได้พูดถึงก้าวต่อไปของประเทศชาติ

ขณะนี้ นักวิจารณ์ทั่วโลกต่างออกมาชื่นชมบทกวีอันทรงพลังของยุวกวีหญิงชาวอเมริกันรายนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ Will Gompertz บรรณธิการศิลปะของบีบีซที่ระบุว่า The Hill We Climb คืองานเขียนที่มีย่างก้าวที่สวยงาม ใช้คำได้ถูกที่และถูกเวลา เหมาะสมกับพิธีสาบานตน ขณะเดียวกันก็เป็นงานกวีที่จะคงอยู่เหนือกาลเวลา และถ้อยคำที่ปรากฎอยู่ในบทกวีจากปลายปากกาของ อแมนดา กอร์แมน จะสั่นคลอนอยู่ในหัวใจผู้คนทั่วโลก ทั้งในวันนี้ พรุ่งนี้และอนาคตข้างหน้า 

Let the globe, if nothing else, say this is true:

That even as we grieved, we grew

That even as we hurt, we hoped

That even as we tired, we tried

That we’ll forever be tied together, victorious

Not because we will never again know defeat

but because we will never again sow division

ให้โลกใบนี้ อย่างน้อยสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องจริง

ว่าแม้เราเศร้าโศก เรายังเติบโต

ว่าแม้เราเจ็บปวด เรายังมีความหวัง 

ว่าแม้เราเหนื่อย เรายังพยายาม

ว่าเราจะเป็นหนึ่งเดียวกันตลอดไป เพื่อชัยชนะ

ไม่ใช่เพราะเราจะไม่รู้จักความพ่ายแพ้อีกครั้ง

แต่เพราะเราจะได้ไม่หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการแบ่งแยกให้เติบโต”

อ้างอิง

ภาพ


Author

นงลักษณ์ อัจนปัญญา
สาวหมวยตอนปลาย ผู้รักการอ่าน ชอบการเขียน สนใจเหตุบ้านการเมืองในต่างแดน และกำลังอยู่ในช่วงการฝึกฝนสายวีแกน