จดหมายเหตุชิ้นสำคัญของชาติ นิทรรศการออนไลน์เอกสารหายาก จากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
Arts & Culture

จดหมายเหตุชิ้นสำคัญของชาติ นิทรรศการออนไลน์เอกสารหายาก จากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

Focus
  • สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เปิดให้ชมเอกสาร จดหมายเหตุชิ้นสำคัญของชาติ ผ่านทางนิทรรศการออนไลน์ “หอจดหมายเหตุ: พลังแห่งสังคมความรู้” ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2563 ทางเว็บไซต์ nat.go.th
  • ไฮไลต์ของนิทรรศการ จดหมายเหตุชิ้นสำคัญของชาติ ได้แก่ เอกสารเกี่ยวกับพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมทั้ง ภาพแบบดวงตราประจำจังหวัดแบบดั้งเดิมที่กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ

จดหมายเหตุชิ้นสำคัญของชาติ นิทรรศการออนไลน์สุดเอ็กซ์คลูซีฟที่คนรักประวัติศาสตร์ห้ามพลาด จัดโดย สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในชื่อนิทรรศการแบบเต็มๆ อย่างเป็นทางการว่า “หอจดหมายเหตุ: พลังแห่งสังคมความรู้” (Archives: Empowering Knowledge Societies) รับชมฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2563 ทางเว็บไซต์ www.nat.go.th

นิทรรศการ จดหมายเหตุชิ้นสำคัญของชาติ ครั้งนี้เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง หอจดหมายเหตุแห่งชาติส่วนภูมิภาค และ ภาคีเครือข่ายหอจดหมายเหตุ จัดเผยแพร่เอกสาร จดหมายเหตุชิ้นสำคัญของชาติ ที่หาชมได้ยากเนื่องในวันจดหมายเหตุสากล (9 มิถุนายน) และวันแห่งการสถาปนาหอจดหมายเหตุแห่งชาติ (18 สิงหาคม)

โดยผู้ชมสามารถเลือกชมจากที่บ้านได้อย่างสะดวกและง่ายดายเพียงปลายนิ้วคลิก อาทิ เอกสารเกี่ยวกับพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสระหว่างพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 และ ภาพแบบดวงตราประจำจังหวัดที่กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ

นอกจากนี้ยังมีการเสวนาออนไลน์เกี่ยวกับ “งานจดหมายเหตุ” ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live ของ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ โดยเริ่มครั้งแรกในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ เรื่อง “จดหมายเหตุส่วนบุคคล: เครือข่ายสังคมความรู้” (Private Archives: Networking Knowledge Society) เวลา 14.00 – 15.30 น.ร่วมเสวนาโดย ศจ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ และ ผศ.ดร. พีรศรี โพวาทอง และดำเนินรายการโดย ราศี บุรุษรัตนพันธุ์

ไฮไลต์ของนิทรรศการออนไลน์ครั้งนี้ที่ห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง ได้แก่ เอกสารจากกระทรวงการต่างประเทศ กรมพิธีการทูต เรียกว่า เอกสารจดหมายเหตุลายลักษณ์ ชุด หจช.ร.๙ กต๑ อยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2477-2525 บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบรมวงศานุวงศ์ ในช่วงต้นรัชกาล อาทิ พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เหตุการณ์เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วันขึ้นปีใหม่ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เป็นต้น

จดหมายเหตุชิ้นสำคัญของชาติ

เอกสารจดหมายเหตุลายลักษณ์ชุดนี้ มีจำนวน 48  กล่อง 286 ปึก 20,297 แผ่น มีให้เลือกอ่านทั้ง หนังสือจากสำนักพระราชวังถึงกระทรวงต่างประเทศเกี่ยวกับคณะทูตที่จะเข้าเผ้าในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ลงวันที่ 18 เมษายน 2493 กำหนดการเสด็จออกมหาสมาคมเนื่องในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ลงวันที่ 21 เมษายน2493 คำแปลคำถวายพระะพรชัยของคณะบดีแห่งคณะทูตานุทูตและกงสุลเนื่องในการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ลงวันที่ 29 เมษายน 2493 และร่างพระราชดำรัสตอบของในหลวงรัชกาลที่ 9

เอกสารชุดนี้ผ่านการประเมินคุณค่า จัดหมวดหมู่ และทำเครื่องมือช่วยค้นเอกสารจดหมายเหตุ ตามแหล่งกำเนิด (Principle of Provenance) เพื่อให้เอกสารที่จัดสะท้อนบทบาทหน้าที่ภารกิจของหน่วยงานเจ้าของเอกสาร ทำให้เอกสารจดหมายเหตุชุดนี้เป็นเอกสารที่มีคุณค่าสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของชาติและเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันเอกสารชุดนี้เก็บรักษาไว้ที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งให้บริการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2543

จดหมายเหตุชิ้นสำคัญของชาติ

อีกเอกสารน่าสนใจในนิทรรศการออนไลน์ครั้งนี้ คือ ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับตราประจำจังหวัดที่เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2483 ตรงกับสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยในครั้งนั้นรัฐบาลได้มอบหมายให้กรมศิลปากร ซึ่งขณะนั้นมี พลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ดำรงตำแหน่งอธิบดี ออกแบบดวงตราประจำจังหวัดทุกจังหวัด

พร้อมกันนั้นยังมอบหมายให้ ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) เป็นผู้คิดความหมายของตราสัญลักษณ์จากชื่อจังหวัด หรือจากสิ่งสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด เพื่อจำลองออกมาเป็นภาพในดวงตรา และมี พระพรหมพิจิตร (อู๋ ลาภานนท์) เป็นผู้ร่างแบบตามแนวคิด พร้อมกับได้เปิดโอกาสให้คณะกรรมการจังหวัดทุกจังหวัดมีส่วนในการเสนอข้อมูลและความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาเขียนดวงตราด้วย

ส่วนการเขียนลงเส้นนั้นมีนายช่างอาวุโสในแผนกหัตถศิลป กองสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร จำนวน 4 คน เป็นผู้เขียน ได้แก่ นายปลิว จั่นแก้ว นายทองอยู่ เรียงเนตร นายปรุง เปรมโรจน์ และนายอุ่ณห์ เศวตมาลย์

จดหมายเหตุชิ้นสำคัญของชาติ

หลังจากที่กรมศิลปากรออกแบบดวงตราประจำจังหวัดแล้ว จังหวัดต่างๆ ก็ได้นำดวงตราไปใช้ (พ.ศ. 2485) และต่อมาเพื่อให้ดวงตราของแต่ละจังหวัดมีความชัดเจนยิ่งขึ้นว่าเป็นของจังหวัดใด ทางกรมศิลปากรจึงได้ออกแบบเพิ่มเติมโดยเพิ่มแถบชื่อจังหวัด หรือตราสัญลักษณ์บางดวงได้เพิ่มทั้งรูปครุฑและแถบชื่อไว้ด้วยกัน

ต่อมามีบางจังหวัดต้องการเปลี่ยนแปลงแบบดวงตราใหม่เพื่อความเหมาะสมกับบริบทใหม่ เอกลัษณ์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปยิ่งขึ้น จึงได้มีการขอให้กองหัตถศิลป กรมศิลปากร ออกแบบให้ใหม่ เช่น จังหวัดยโสธร จังหวัดราชบุรี จังหวัดอุทัยธานี เป็นต้น

บางจังหวัดได้มอบให้กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทยแก้ไข หรือออกแบบขึ้นเอง ดังนั้นจึงมีหลายจังหวัดที่ยังใช้ตราประจำจังหวัดตามแบบเดิมที่กรมศิลปากรออกแบบให้เมื่อปี 2483 และมีดวงตราของหลายจังหวัดที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับจังหวัดที่มีพระราชบัญญัติจัดตั้งขึ้นใหม่ในปัจจุบันนั้น กรมศิลปากรได้ออกแบบให้เฉพาะบางจังหวัดที่ขอความร่วมมือมาเท่านั้น

จดหมายเหตุชิ้นสำคัญของชาติ

ในปี 2520 นายนพวัฒน์ สมพื้น หัวหน้างานศิลประยุกต์ กองหัตถศิลป กรมศิลปากร ได้มอบหมายให้ นายพินิจ สุวรรณะบุณย์ นำแบบดวงตราประจำจังหวัดที่ออกแบบไว้มากำหนดสี และมอบให้ช่างศิลปกรรมช่วยกันลอกแบบของเดิมพร้อมทั้งระบายสี เพื่อจัดพิมพ์หรือส่งเป็นตัวอย่างแก่จังหวัดที่ต้องการ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2520 จนถึงต้นปี 2521

สำหรับนิทรรศการ จดหมายเหตุชิ้นสำคัญของชาติ นี้นำเสนอแบบดวงตราประจำจังหวัดที่มีเก็บรักษาไว้ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ซึ่งเป็นแบบดวงตราประจำจังหวัดเฉพาะที่กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ และนำเสนอในแบบที่ได้มีการระบายสีแล้ว มีเพียงจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรีเท่านั้นที่นำเสนอในรูปแบบลายเส้น

อ้างอิง: https://www.facebook.com/NationalArchivesofThailand

ภาพ: สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช