มิสซังสยาม : กว่า 350 ปี คริสต์ในสยามกับนิทรรศการเอกสารโบราณและศิลปวัตถุหายาก ณ กรุงปารีส
Arts & Culture

มิสซังสยาม : กว่า 350 ปี คริสต์ในสยามกับนิทรรศการเอกสารโบราณและศิลปวัตถุหายาก ณ กรุงปารีส

Focus
  • การสถาปนา มิสซังสยาม อย่างเป็นทางการเริ่มในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อพ.ศ.2212 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 และมิสซังคณะแรกคือคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส
  • คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสจัดนิทรรศการ “ข่าวดีที่ดินแดนแห่งรอยยิ้ม: สามศตวรรษครึ่งแห่งการดำรงอยู่ของคณะมิสซังต่างประเทศในประเทศไทย” (L’Évangile au Pays du Sourire: Trois siècles et demi de présence des Missions étrangèresen Thaïlande) ณ กรุงปารีส
  • นิทรรศการจัดแสดงเอกสารโบราณและศิลปวัตถุที่หาชมยาก เช่น สำเนาบันทึกประจำวันของ พระยาโกษาธิบดี (ปาน) ภาพเขียนสีน้ำมันของคณะทูตไทย 3 คนและล่าม

ถึงแม้จะมีมิชชันนารีเดินทางมาสู่สยามเมื่อร่วม 500 ปีก่อน แต่การสถาปนา มิสซังสยาม อย่างเป็นทางการเริ่มในสมัยกรุงศรีอยุธยาเมื่อพ.ศ. 2212 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9 และมิสซังคณะแรกคือ คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Missions étrangères de Paris) และเพื่อเป็นการย้อนรอยศาสนาคริสต์ในสยามอย่างเป็นทางการกว่า 350 ปี คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสจึงได้จัดนิทรรศการ ข่าวดีที่ดินแดนแห่งรอยยิ้ม: สามศตวรรษครึ่งแห่งการดำรงอยู่ของคณะมิสซังต่างประเทศในประเทศไทย (L’Évangile au Pays du Sourire: Trois siècles et demi de présence des Missions étrangèresen Thaïlande) ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2565 ที่ Missions étrangères de Paris ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ภาพเขียนรูปพระยาโกษาธิบดี (ปาน) โดย ชาร์ลส์ เลอเบริง (Charles Le Brun) (ภาพ: MEP_IRFA)

ในนิทรรศการจัดแสดงเอกสารโบราณและศิลปวัตถุที่หาชมยาก เช่น สำเนาบันทึกประจำวันของพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ในขณะที่ทำหน้าที่เป็นราชทูตจากสยามที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศสในสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ภาพเขียนรูปคณะทูตไทย 3 คนและล่าม พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ที่พระราชทานแก่พระสังฆราชฌอง-หลุยส์ เวย์ (Jean-Louis Vey) ประมุขมิสซังสยามในขณะนั้น บันทึกเกี่ยวกับพระวจนาถและชีวประวัติของพระเยซูที่เขียนด้วยลายมือของสังฆราชหลุยส์ ลาโน ผู้ซึ่งได้รับอภิเษกเป็นผู้แทนพระสันตะปาปา (Apostolic Vicar) หรือผู้แทนพระสันตะปาปาองค์แรกของมิสซังสยาม และสมุดข่อยเกี่ยวกับเภสัชวิทยาและการรักษาโรค นอกจากนี้ยังสามารถชมนิทรรศการแบบเสมือนจริงได้ที่ https://missionsetrangeres.com/visite-virtuelle-de-lexposition-temporaire-levangile-au-pays-du-sourire/

ภาพทูตสยาม 3 คน และคุณพ่ออาร์ตุส เดอ ลิออนน์ (Artus de Lionne)ล่ามประจำคณะทูต (ภาพ: Abbaye de Chaalis)

คำว่า มิสซัง มาจากคำว่า มิสซิญง (mission) ในภาษาฝรั่งเศส หมายถึง ขอบเขตการปกครองของพระสังฆราช หรือเรียกว่า สังฆมณฑล และที่ทำการแรกของ มิสซังสยาม อยู่ที่ วัดนักบุญยอแซฟ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในนิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นการย้อนรอยประวัติศาสตร์ของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสในสยามที่เริ่มต้นด้วยภารกิจด้านการรักษาพยาบาลและเผยแผ่คำสอน ความรุ่งโรจน์ของมิสซังในสมัยสมเด็จพระนารายณ์และช่วงเวลาที่ยากลำบากล้มลุกคลุกคลานในช่วงเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อพ.ศ.2231 โดยพระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ และกว่าจะสามารถฟื้นฟูบทบาทในสยามขึ้นมาได้ใหม่ก็เข้าสู่ในสมัยรัชกาลที่ 4 และต่อเนื่องยาวนานมาจนทุกวันนี้

พระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 พระราชทานแก่พระสังฆราชฌอง-หลุยส์ เวย์ (Jean-Louis Vey) (ภาพ: ดรุณี คำสุข)

เอคริค อองครี (Écric Henry) หนึ่งในภัณฑารักษ์กล่าวว่านิทรรศการนี้ใช้เวลาเตรียมการร่วม 2 ปีกว่านับตั้งแต่ พ.ศ.2562โดยรวบรวมเอกสารโบราณและศิลปวัตถุจากคอลเล็กชันของคณะมิสซัง และคอลเล็กชันส่วนตัวของบุคคลและหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆทั้งในประเทศฝรั่งเศสและประเทศไทย เช่น จากอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร และวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา สาเหตุที่ใช้เวลาค่อนข้างนานเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางเข้าออกประเทศไทยของ ฌาค ชาร์ล กาฟ์ฟิโอท์ (Jacques Charles-Gaffiot) ภัณฑารักษ์อีกคนหนึ่งไม่เป็นไปตามกำหนดการที่ตั้งไว้

คณะทูตฝรั่งเศสถวายพระราชสาสน์แด่สมเด็จพระนารายณ์ (ภาพ:MEP_IRFA)

เริ่มต้นภารกิจของมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสในสยาม

นิทรรศการเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการเข้ามาของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งปารีสเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1662 ซึ่งเป็นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ โดยคณะประกอบไปด้วยสังฆราชปิแอร์ ลอมแบรต์ เดอ ลา ม็อตต์ (Mgr Pierre Lambert de La Motte) และมิชชันนารีอีก 2 ท่านคือ ฟร็องซัวส์ เดดิเย่ร์ (François Deydier) และ ฌาค เดอ บรูกฌ์ (Jacques de Bourges) ซึ่งเดินทางมาเข้ามาในแผ่นดินสยามด้วยภารกิจสำคัญด้านการรักษาพยาบาลควบคู่ไปกับการให้การศึกษาและเผยแผ่คำสอนของศาสนาคริสต์

ในด้านสาธารณสุข คณะมิสซังได้จัดตั้งสถานพยาบาลเมื่อ ค.ศ.1669 โดยเริ่มแรกมีคนไข้เพียง 3-4 คน เท่านั้น จนกระทั่งในอีก 3 ปีถัดมาเมื่อ สังฆราชหลุยส์ ลาโน (Mgr Louis Laneau) สืบทอดตำแหน่งประมุขแห่ง มิสซังสยาม ทางโรงพยาบาลจึงมีจำนวนคนไข้เพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 15 คน สังฆราชลาโนและคณะตั้งเป้าหมายให้โรงพยาบาลแห่งนี้สามารถให้บริการรักษาทุกโรคกับประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะผู้ยากไร้ ทว่าโครงการนี้ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะทางราชสำนักโดยเฉพาะเสนาบดีผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย

ส่วนภารกิจด้านการเรียนการสอนนั้นคณะมิสซังเริ่มจากสามเณรเชื้อสายอินเดียจำนวน 3 รูปต่อมาจัดตั้งโรงเรียนเล็ก ๆ ขึ้นมาแห่งหนึ่งและในเวลาต่อมาได้มีการตั้งวิทยาลัยแห่งอยุธยาขึ้นและขยายการเรียนการสอนไปยังทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายโดยสอนทั้งวิชาพื้นฐานและวิชาชีพควบคู่ไปกับหลักปฏิบัติของศาสนา

แผนที่ราชอาณาจักรสยามวาดโดยคุณพ่อปลาซิด เดอ แซงต์-เอแลน (ภาพ: สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย)

ยุครุ่งโรจน์และตกต่ำของศาสนาคริสต์ในสยาม

ช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์สุด ๆ ของคณะมิสซังคือสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ถึงขนาดที่เป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันให้สยามและฝรั่งเศสพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตเลยก็ว่าได้ เห็นได้จากการที่สยามส่งคณะทูตไปเข้าเฝ้าฯ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 อย่างต่อเนื่องถึง 4 ครั้ง และทางฝรั่งเศสเองก็ส่งคณะทูตและกองกำลังเข้ามาปักหลักในสยามด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามความวิตกว่าพระองค์อาจเข้ารีตทางศาสนาคริสต์ รวมไปถึงอิทธิพลของฝรั่งเศสที่เพิ่มขึ้นจากการปฏิบัติของขุนนางฝรั่งนาม คอนสแตนตินฟอลคอน(Constantine Phaulkon) ที่มีบทบาทมากในราชสำนักในตำแหน่งออกพระฤทธิกำแหงภักดี (ต่อมาคือเจ้าพระยาวิไชเยนทร์) และการที่กองกำลังฝรั่งเศสเข้ามายึดและประจำการที่ป้อมบางกอกและท่าเรือเมอร์กุย (ท่าเรือเมืองมะริด) ทำให้ขุนนางฝ่ายสยามเห็นว่าเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของสยาม ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้แก่ขุนนางในราชสำนักบางส่วนที่มีพระเพทราชาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงต่อต้านฟอลคอนและคณะมิสซัง

เหตุการณ์เหล่านี้จึงนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในราชสำนักสยามรวมทั้งมิสซังที่ตั้งมาได้เกือบ 20 ปี พระเพทราชาร่วมกับหลวงสรศักดิ์และบรรดาขุนนางในราชสำนักบางส่วนได้ทำการรัฐประหารในปี ค.ศ.1688 พระโอรสและพระอนุชาของสมเด็จพระนารายณ์ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ฟอลคอนโดนประหาร และต่อมาพระนารายณ์สวรรคต พระเพทราชาได้ขับไล่ชาวฝรั่งเศสจำนวนมากออกไปจากอยุธยา ส่วนคณะมิชชันนารีนั้นถูกจำคุก และเมื่อพ้นโทษออกมาถึงแม้จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินศาสนกิจของตนได้แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตและข้อจำกัดบางประการของทางราชสำนัก

สังฆราชลาโนเป็นหนึ่งในคนกลุ่มแรกที่ถูกจับและถูกจองจำเป็นเวลา 21 เดือน เวลานั้นการติดตามคริสตังเพื่อจับเข้าคุกมีอยู่ทั่วราชอาณาจักร ส่วนสิ่งก่อสร้างต่างๆที่เกี่ยวข้องกับคณะมิสซังก็ถูกทำลายไปพร้อมกันด้วย ช่วงนี้เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากและขมขื่นของคณะมิสซังจนลุกลามไปสู่การตัดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศกันเลยทีเดียว

การเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในสยามเกือบสิ้นสุดเมื่อคราวสิ้นกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อค.ศ.1767 คริสตังราว 300 คน ต้องหนีไปหาที่หลบภัยในเขมร สามเณรและภคินีรักกางเขนไปหลบภัยที่จันทบุรี ครั้นสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกอบกู้เอกราชได้และทรงก่อตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีแห่งใหม่ คณะมิสซังจึงค่อยๆฟื้นฟูบทบาทของตนเองอย่างช้าๆ

ภาพบาทหลวงกีย์ ตาชาร์ (Guy Tachard) และคณะฑูตจากสยาม วาดโดยคาร์โล มารัตตา (Carlo Maratta) (ค.ศ. 1625-1713) กรุงโรม : หอสมุดสำนักวาติกัน
(ภาพ: ดรุณี คำสุข)

ฟื้นฟูคณะมิสซังและความสัมพันธ์ของไทย-ฝรั่งเศส

เมื่อย่างเข้าปี ค.ศ.1784 สังฆราชโจเซฟ กูเด (Mgr Joseph Coudé) ได้กลับมาประจำคณะมิสซังตามคำเชิญของรัชกาลที่ 1 นับว่าคณะมิสซังได้เริ่มฟื้นฟูบทบาทของตัวเองขึ้นมาอีกครั้งหลังจากหมดวาระของสังฆราชกูเดแล้ว ทางสันตะสำนักที่กรุงโรมมีการแต่งตั้งประมุขมิสซังหลาย ๆ องค์สืบเนื่องต่อกันมา สังฆราชที่สำคัญและถือว่ามีบทบาทโดดเด่นในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางด้านการทูตระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ก็คือ สังฆราชฌ็อง-บาติสต์ ปาลกัว (Mgr Jean-Baptiste Pallegoix) ซึ่งดำรงตำแหน่งประมุขของ มิสซังสยาม ตะวันออก และเป็นพระสหายของรัชกาลที่ 4 และเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญทำให้มีการส่งคณะทูตเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างสองประเทศเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในปีค.ศ.1861 คณะทูตจากไทยก็ได้รับการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่จากจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ณ พระราชวังฟงแตนโบล (Fontainebleau) ประเทศฝรั่งเศส

ปัจจุบันในประเทศไทยมีคริสตังราว 3.8 แสนคนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศตาม 11 เขตการปกครองของพระศาสนจักรคาทอลิกไทยที่เรียกว่าสังฆมณฑล (ในจำนวนนี้มี 2 อัครสงฆมณฑล คือ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และอัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง) และยังมีวัดคาทอลิกมากกว่า 500 แห่ง ที่กรุงเทพฯ มีวัดอัสสัมชัญที่ถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ.1820 เป็นอาสนวิหารของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และบรรดาคาทอลิกที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสจะอยู่ในความดูแลของคุณพ่อคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ที่ตั้งอยู่เลขที่ 128 rue du Bac ณ กรุงปารีส ซึ่งมีบาทหลวงและมิชชันนารีในสังกัดจำนวน 180 คณะกระจายอยู่ใน 13 ประเทศในทวีปเอเชียและแถบมหาสมุทรอินเดีย

มรดกตกทอดของคณะมิสซังในสยามทางด้านการรักษาพยาบาลคือการที่มีสุขศาลาและสถานพยาบาลเพิ่มขึ้นมากมายและโรงพยาบาลที่สำคัญคือ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ซึ่งนับเป็นโรงพยาบาลคาทอลิกแห่งแรกในบางกอกและเปิดรับผู้ป่วยชาวสยามคนแรกเมื่อ พ.ศ.2441 และเมื่อไม่นานมานี้ทางโรงพยาบาลได้ตั้งศูนย์พระเมตตาเพื่อรองรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่มีชีวิตอยู่ไม่เกิน 6 เดือนและคลินิกจิตกุศล ยอห์น ปอลที่ 2 เพื่อตรวจรักษาผู้ป่วยยากไร้ในเมืองหลวงด้วยความร่วมมือของภคินีคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร

ส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่กล่าวถึงการเดินทางเข้ามาในดินแดนตังเกี๋ยและโคชินจีนในภาพคือแบบจำลองเรือโซเลย ครัวยาล (Soleil Royal)
(ภาพ:MEP_IRFA)

5 ไฮไลต์เอกสารโบราณและศิลปวัตถุในนิทรรศการ

ในนิทรรศการผู้ชมจะได้เห็นเอกสารโบราณและศิลปวัตถุที่หาชมได้ยากซึ่งทางผู้จัดได้รวบรวมมาจากที่ต่างๆ โดยมีไฮไลต์คือ

ภาพ: MEP_IRFA

บันทึกประจำวันของออกพระวิสุทธสุนทร

สำเนาจากต้นฉบับ

ที่มา: สถาบันค้นคว้าวิจัยฝรั่งเศส-ไทย (Institut de recherche FranceAsie: IRFA)

บันทึกประจำวันตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน ถึงวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1686 ที่เขียนด้วยลายมือของออกพระวิสุทธสุนทร (ต่อมาคือเจ้าพระยาโกษาธิบดี) ขณะที่ทำหน้าที่เป็นราชทูตจากสยามที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศสในรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งในบันทึกโกษาปานได้บรรยายความรู้สึกอัศจรรย์ใจในระหว่างการเยือนประเทศฝรั่งเศสและได้เล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของการเดินทาง บันทึกฉบับนี้ถูกค้นพบโดยบังเอิญเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่สถาบันค้นคว้าวิจัยฝรั่งเศส-ไทย ในหอจดหมายเหตุ คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส และกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการถอดความ แปล และศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด

มิสซังสยาม
ภาพ: Abbaye de Chaalis

ภาพทูตสยาม 3 คนและคุณพ่ออาร์ตุส เดอ ลิออนน์ ล่ามประจำคณะทูต

ภาพสีน้ำมัน ประมาณค.ศ.1715

ศิลปิน ฌาคส์ วิกูครูซ์ ดูว์เพลซีส (ค.ศ.1680-1732)

ที่มา: สถาบันฝรั่งเศส พิพิธภัณฑ์อารามฤษีแห่งชาลิส (Institut de France, Musée de l’Abbaye de Châalis)

คุณพ่ออาร์ตุส เดอ ลิออนน์ (Artus de Lionne) ทำหน้าที่เป็นล่ามประจำคณะทูตจากสยาม หลังจากที่โกษาปานกราบบังคมทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นภาษาไทยแล้วคุณพ่อเดอ ลิออนน์จะแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วคณะราชทูตก็ถอยกลับและเดินผ่านห้องปลาแนตต์ (Planètes) ไปยังห้องออมบาสซาเดอร์ (Ambassadeurs) ที่มีการจัดเลี้ยงรับรองอย่างหรูหรา หลังงานเลี้ยงเสร็จสิ้นคณะราชทูตไปถวายพระพรและถวายของขวัญแด่มกุฎราชกุมารและพระราชโอรสทั้งสาม การเข้าเฝ้าฯ อันดับสุดท้ายคือการเข้าเฝ้าฯ เจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งออร์เลอ็อง (Philippe d’Orlean) พระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และพระชายา คือ เอลิซาเบธ ชาร์ล็อตต์ (Élisabeth-Charlotte de Bavière) เจ้าหญิงแห่งปาลาติน (la princess Palatine)

มิสซังสยาม
ภาพ: ดรุณี คำสุข

พระวจนาถและชีวประวัติของพระมหาเยซู

ต้นฉบับเขียนด้วยมือ ภาษาไทย ประมาณ ค.ศ. 1683-1684 โดยพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน

ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งมิสซังต่างประเทศแห่งปารีสในสยาม สังฆราชลาโนได้เรียบเรียงคำสั่งสอน ประวัติและเรื่องราวต่างของศาสนาคริสต์ด้วยภาษาไทยและภาษาบาลี-สันสกฤตเพื่อเผยแผ่ธรรม และท่านสังฆราชยังได้แปลคำสอนหรือพระวจนาถเป็นภาษาไทยด้วยปัจจุบันนี้ถือได้ว่าเป็นเอกสารที่เขียนด้วยปลายปากกาของท่านเพียงชิ้นเดียวที่ยังคงตกทอดและเก็บรักษาไว้มาถึงทุกวันนี้ เอกสารนี้จัดแสดงอยู่บริเวณห้องประชาสัมพันธ์บริเวณทางซ้ายมือของประตูทางเข้า ซึ่งห้องดังกล่าวอยู่ด้านนอกของห้องที่จัดแสดงนิทรรศการ

มิสซังสยาม
ภาพ: ดรุณี คำสุข)

สมุดข่อยหรือสมุดไทย

เอกสารต้นฉบับเขียนเป็นภาษาไทย ปลายศตวรรษที่ 18

ที่มา: พิพิธภัณฑ์คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร, กรุงเทพฯ

สมุดไทยทำจากเปลือกของต้นข่อยมีทั้งหมด 6 เล่ม สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นที่วัดแห่งหนึ่งในสมัยอยุธยา ประกอบด้วยสมุดไทยสีขาวที่เขียนด้วยตัวหนังสือสีดำจำนวน1 เล่ม เนื้อหาภายในเล่มเป็นการวิธีการต้มใบ รากและพืชสมุนไพรต่าง ๆส่วนที่เหลืออีก 5 เล่มเป็นสมุดไทยดำที่ตัวหนังสือสีขาวซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเภสัชวิทยาและสูตรในการใช้พืชสมุนไพรในการรักษาโรค บางเล่มมีการเขียนรูปสรีระร่างกายของมนุษย์ บางเล่มมีการเขียนรูปคล้ายร่างกายของผู้หญิงเพื่อแสดงวิธีการรักษาในช่วงระยะต่างๆ ระหว่างการตั้งครรภ์ 

มิสซังสยาม
ภาพ: ดรุณี คำสุข

พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่พระสังฆราชฌอง-หลุยส์ เวย์ ประมุข มิสซังสยาม

ทรงเขียนด้วยหมึกลงบนกระดาษ และทรงลงพระปรมาภิไธย, ค.ศ. 1878

ที่มา: หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

รัชกาลที่ 5 ทรงเขียนเพื่อขอบใจพระสังฆราชฌอง-หลุยส์ เวย์ (Mgr Jean-Louis Vey) ที่น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และทรงขอบใจในงานสาธารณะสงเคราะห์ที่บรรดามิชชันนารีคณะมิสซัง ต่างประเทศบำเพ็ญมาโดยตลอดซึ่งยังประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศไทยด้วย

ภายในนิทรรศการยังมีเอกสารโบราณที่น่าสนใจอีกหลายชิ้นด้วย เช่นจดหมายของสังฆราชลัมแบรต์ถึงสังฆราชปาลกัว แบบเรียนมีภาพประกอบวิชาภาษาอังกฤษของโรงเรียนเซนต์ยอแซฟ หนังสือไวยากรณ์ภาษาไทย แนวทางการปฏับัติงานของสังฆราชและมิชชันนารีที่มาประจำแคว้นตังเกี๋ยและโคชินจีน ภาพเขียนของสังฆราชปาลกัว และสังฆราชเดอ ลา มอตต์ และบันทึกความสัมพันธ์ระหว่างเลอ เชอวาลิเยร์ เดอ โชมงต์(Chevalier de Chaumont)ราชฑูตฝรั่งเศสกับราชสำนักสยาม เป็นต้น

Fact File

  • นิทรรศการ “ข่าวดีที่ดินแดนแห่งรอยยิ้ม: สามศตวรรษครึ่งแห่งการดำรงอยู่ของคณะมิสซังต่างประเทศในประเทศไทย” (L’Évangile au Pays du Sourire: Trois siècles et demi de présence des Missions étrangèresenThaïlande) เปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ – 30 มิถุนายน พ.ศ.2565 ณ Missions Etrangères de Paris, 128 rue du Bac 75007 Paris ทุกวันอังคาร-เสาร์ ตั้งแต่เวลา 10.00 -18.00 น. โดยมีคำบรรยายประกอบนิทรรศการทั้งภาษาฝรั่งเศสและภาษาไทย
  • การเดินทาง: เมโทรสาย 10 สาย 12 สถานี Sèvres-Babylone
  • ชมนิทรรศการแบบเสมือนจริงได้ที่  https://missionsetrangeres.com/visite-virtuelle-de-lexposition-temporaire-levangile-au-pays-du-sourire/

ขอขอบคุณ

  • Missions Etrangères de Paris
  • Patricia Crouan, Services Animation des Missions Etrangères de Paris
  • Éric Henry, Services d’animation culturelle et pastorale des Missions Etrangères de Paris
  • Julien Spiewak, direction de la communication aux Missions Etrangères de Paris

Author

ดรุณี คำสุข
จับพลัดจับผลูได้มาอยู่ในย่านของชาวปารีเซียงพลัดถิ่นมามากกว่าสิบปีจนชื่นชอบในสีสันและความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่าง