อัพเดท 2 วัคซีนโควิดทีมวิจัยไทย โจทย์ใหญ่ขาดอาสาทดลองวัคซีนในมนุษย์
Better Living

อัพเดท 2 วัคซีนโควิดทีมวิจัยไทย โจทย์ใหญ่ขาดอาสาทดลองวัคซีนในมนุษย์

Focus
  • ทีมนักวิจัยไทย จากจุฬาฯ ได้คิดค้นวิจัยวัคซีนโควิด-19 ขึ้นมา 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA  และ วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา วัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตสกัดจากใบพืชชนิดแรกของไทย
  • สิ่งที่กำลังเป็นความท้าทายใหม่ในการวิจัยในเฟสถัดไป คือ การหาอาสาสมัครอีกจำนวน 3,700 คน ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด-19 มาก่อนเพื่อทดสอบวัคซีนในมนุษย์

แม้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในไทยและหลายประเทศทั่วโลกจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ทีมวิจัยไทย จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังไม่หยุดค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อสร้างศักยภาพให้กับประเทศ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดเสวนา Chula The Impact ครั้งที่ 5 เรื่อง “ความคืบหน้าวัคซีนโควิด-19 ของจุฬาฯ นวัตกรรมของไทย ความหวังของโลก” นำเสนอความคืบหน้าล่าสุดของการพัฒนา วัคซีนโควิด ทั้ง 2 ชนิดโดยทีมนักวิจัยไทย ได้แก่ วัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA ประสิทธิภาพสูง โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา วัคซีนชนิดโปรตีนซับยูนิตสกัดจากใบพืชชนิดแรกของไทย โดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ

วัคซีนโควิด
วัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนา วัคซีนโควิด -19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นทีมพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ซึ่งได้เริ่มดำเนินการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1/2 ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมากล่าวว่า สิ่งที่เป็นความท้าทายใหม่ในการวิจัยในเฟสถัดไป คือ การหาอาสาสมัครอีกจำนวน 3,700 คน ที่ไม่เคยฉีด วัคซีนโควิด -19 มาก่อนเพื่อทดสอบวัคซีนในมนุษย์

วัคซีนโควิด
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

เหตุที่เรื่องอาสาสมัครเป็นสิ่งที่น่ากังวลก็เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในไทยตอนนี้ฉีด วัคซีนโควิด -19 กันมากแล้ว ทำให้การหาอาสาสมัครที่มีร่างกายแข็งแรง และมีอายุที่หลากหลายที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนกลายเป็นโจทย์ใหม่ที่ค่อนข้างยาก แต่ทั้งนี้ทางทีมวิจัยได้เตรียมที่ปรึกษากับทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อขอปรับเปลี่ยนวิธีและจำนวนการทดสอบในอาสาสมัครเป็นประมาณ 600 คน ควบคู่กับการเทียบภูมิคุ้มกันกับคนที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ในประเทศอื่นๆ ทั้งนี้ถ้าหากอาสาสมัครไม่ครบตามเป้าจะทำให้การทดลองมีความล่าช้าจากที่คาดว่าการวิจัยจะเสร็จเร็วสุดเดือนมิถุนายน 2565      

วัคซีนโควิด

สำหรับความคืบหน้าวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ของ ChulaCov19 นั้นได้เริ่มดำเนินการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1/2 ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีการทดสอบในอาสาสมัคร 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 ราย และกลุ่มอายุ 56-75 ปี จำนวน 36 ราย ซึ่งฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ ผลเบื้องต้นในกลุ่มอายุ 18-55 ปี พบว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิกันได้ดี ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง โดยอาสาสมัครมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง และอาการจะดีขึ้นภายใน 1 ถึง 2 วัน นอกจากนี้ยังได้ทดสอบในกลุ่มอายุ 55-75 ปี รวมทั้งอยู่ในระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเตรียมการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ต่อไป พร้อมเตรียมความพร้อมขยายกำลังการผลิตวัคซีน

ทั้งนี้คาดว่า ChulaCov19 จะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้กับบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้ในไตรมาสแรกของปี 2565 และยังมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่ตอบสนองต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ควบคู่กันไปด้วย

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ CEO & Co Founder บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด

ด้าน ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ และ CEO & Co Founder บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้ร่วมคิดค้นวัคซีนป้องกัน Covid-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ ในชื่อ วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา กล่าวว่า ตอนนี้ทางใบยาได้เริ่มทดลองในมนุษย์เฟสแรก โดยเริ่มทดลองฉีดให้กับกลุ่มอาสาสมัครที่มีอายุน้อยก่อน ซึ่งยังไม่พบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ยังขาดแคลนอาสาสมัครในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่จะทดลองในเฟสแรกทั้งหมด 48 คน ตอนนี้อาสาสมัครที่ผ่านการคัดเลือกแล้วมีเพียง 5 คน นี่จึงเป็นอีกประเด็นที่น่ากังวล เพราะตอนนี้ประชากรส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว แต่กลุ่มอาสาสมัครในการทดลองจะต้องมีสุขภาพแข็งแรง และไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน โดยปัญหาหนึ่งของการเป็นอาสาสมัครจะต้องเดินทางมาพบไม่ต่ำกว่า 7 ครั้งเพื่อประเมินสุขภาพ ทำให้ต้องใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายที่สูง ทางโครงการวิจัยจึงอยากเชิญชวนผู้สูงอายุมาสมัครเป็นอาสาสมัครเพื่อร่วมทดลองในครั้งนี้  

สำหรับ วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา เป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากใบพืชตระกูลยาสูบ โดยใช้ระบบการผลิตแบบ recombinant protein โดยการตัดต่อพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ก่อโรคในพืชในใบยาสูบ ปัจจุบันได้ดำเนินการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนจากระบบดังกล่าวที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 คาดว่าจะมีกำลังการผลิตจำนวน 1-5 ล้านโดสต่อเดือน

ในด้านการทดลองนั้น วัคซีนจุฬาฯ-ใบยา อยู่ในระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยได้เริ่มฉีดให้กับอาสาสมัครตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้การทดสอบในมนุษย์ของวัคซีนใบยามี ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ร่วมเป็นนักวิจัยทางคลินิกด้วย นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง โดยปรับปรุงสูตรให้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และมีการพัฒนาจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์มากกว่า 10 รูปแบบ เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนผสม (Cocktail vaccine) ซึ่งวัคซีนรุ่นที่สองนี้ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ทดลอง


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite