Escape from Danger : บอร์ดเกมชวนขบคิดเรื่อง การคุกคามทางเพศ
Better Living

Escape from Danger : บอร์ดเกมชวนขบคิดเรื่อง การคุกคามทางเพศ

Focus
  • บอร์ดเกม E.F.D. (Escape from Danger) ออกแบบและพัฒนานานร่วม 2 ปีโดยกลุ่มนักเรียนหญิงจากโรงเรียนหญิงล้วน โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์
  • E.F.D. (Escape from Danger) นำปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศมาเป็นโจทย์ในการออกแบบ ให้ผู้เล่นได้ตระหนักและหาทางออกว่าจะทำให้ตัวเองปลอดภัยจากเหตุการณ์เหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง

การคุกคามทางเพศไม่ใช่แค่เรื่องของการข่มขืน หลายครั้งที่เราอาจจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่ากำลังถูกคุกคามทางเพศอยู่ ไม่ว่าจะด้วยสายตา ความบังเอิญ หรือแม้แต่คำพูดจา แน่นอนว่าวิชาการป้องกันตัวจากการคุกคามทางเพศ 101 ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษามาตรฐานทั่วไปของไทย แต่สามารถเรียนรู้ได้ผ่านบอร์ดเกม E.F.D. หรือ Escape from Danger ซึ่งออกแบบและพัฒนานานร่วม 2 ปีโดยกลุ่มนักเรียนหญิงจากโรงเรียนหญิงล้วน โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์

“ที่พวกเราเลือกประเด็นนี้เพราะโรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนหญิงล้วน เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ก็ทำตัวสบายๆ ไม่ได้ระวังเนื้อระวังตัว พวกหนูเลยติดนิสัยอยู่โรงเรียนแบบสบายๆ ไปข้างนอก เวลาออกจากโรงเรียนก็ทำตัวสบายๆ เหมือนกันจนทำให้เราไม่ได้ระวัง และอาจตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศได้โดยไม่รู้ตัว พวกเราเลยนำปัญหานี้มาเตือนให้เพื่อนๆ ทั้งหญิงและชายรู้ว่าภัยของการคุกคามทางเพศคืออะไร เราจะมีวิธีการเอาตัวรอดจากสถานการณ์นั้นอย่างไรได้บ้าง

พลอยกนก ทับทอง นักเรียนชั้นมัธยมปลายเล่าถึงโจทย์ที่เธอและเพื่อนนักเรียนอีก 3 คนนำขึ้นมาสู่กระดานบอร์ดเกมเพื่อส่งเข้าประกวดในโครงการ ออกแบบเกม ออกแบบสังคม โดยความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินโครงการมาเป็นรุ่นที่ 2 เพื่อบ่มเพาะนวัตกรรุ่นเยาว์ ให้มีทักษะการคิดเชิงออกแบบและการคิดอย่างสร้างสรรค์ อันเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการเป็นนวัตกร แต่การจะเป็นนักออกแบบนวัตกรรมได้ สิ่งหนึ่งที่ต้องเรียนรู้คือการเข้าใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วจึงนำปัญหามาสร้างเป็นนวัตกรรมทางเลือกใหม่ซึ่ง Escape From Danger ก็กำลังทำหน้าที่นั้นเช่นกัน

“พวกเรา 4 คนในกลุ่มไม่ใช่นักเล่นบอร์ดเกม และก็ไม่เคยออกแบบเกมมาก่อน สิ่งที่ยากที่สุดก็คือเมื่อเรารู้ว่าปัญหาคืออะไร เราจะนำปัญหานั้นมาเปลี่ยนเป็นเกมได้อย่าไร”

พลอยกนก ย้อนเล่าถึงความยากของการออกแบบเกม แต่ที่ยากยิ่งกว่าก็คือการเริ่มต้นศึกษาถึงปัญหาโดยเริ่มจากโจทย์ในชีวิตประจำวัน แค่เรื่องง่ายๆ ที่หลายคนอาจมองข้ามนั่นก็คือ การเดินทางกลับบ้าน โดยปัญหาอย่างหนึ่งที่นักเรียนโรงเรียนหญิงล้วนแห่งนี้มักจะได้เจอคือ การคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นสายตาแปลกๆ ของคนแปลกหน้า คุณลุงที่มักจะโชว์กิจกรรมเพศศึกษาต่อหน้านักเรียน พี่วินมอเตอร์ไซค์ขยันเบรก คนแปลกหน้าที่ป้ายรถเมล์ที่เหมือนอยากจะเข้ามาถามทางใกล้ๆ อยู่ตลอดเวลา

“มีอยู่ครั้งหนึ่งที่หนูรู้สึกกลัวมากคือตอนไปเข้าห้องน้ำ อันนี้นอกโรงเรียนนะคะ มีผู้ชายคนหนึ่งเขามองเรา และเขาก็จ้องเราจนเราเข้าไปในห้องน้ำ หนูออกมาเขาก็ยังจ้องเราอยู่ ความรู้สึกของหนูคือ หนูไม่รู้ว่ากำลังถูกคุกคามทางเพศอยู่รึเปล่า”

Escape from Danger
ทีมผู้สร้างสรรค์เกม Escape from Danger

ชลธิชา วิรัตน์ หนึ่งในสมาชิกผู้ออกแบบเกม Escape from Danger เล่าถึงคีย์สำคัญของปัญหาที่นักเรียนหญิงหลายคนต้องเจอคือไม่มีการให้ความรู้ว่าอะไรคือการคุกคามทางเพศ และเมื่อเจอการคุกคามทางเพศแล้วควรแก้ปัญหาอย่างไร

Escape from Danger

“โจทย์คือเราจะทำให้เห็นว่าปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง ส่วนระหว่างเล่นเกมเราจะเสนอวิธีการเอาตัวรอด เช่น ตะโกน แจ้ง หยุด หนี ไม่สนใจ แสดง (ใช้แอคติ้ง หรือโกหกเพื่อเอาตัวรอด) ทุกแอคชั่น ทุกการกระทำ พวกเราไม่ได้คิดเอง แต่คัดเลือกมาจากปฏิกิริยาการตอบสนองจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นจริงว่าเมื่อเราเจอสถานการณ์นี้เราจะทำอย่างไร ทั้งแอคชั่น ปัญหา เราเอามาจากการเสิร์ชข้อมูล บวกกับทำแบบสอบถาม สัมภาษณ์ว่าแต่ละคนเคยเจอเหตุการณ์คุกคามทางเพศอย่างไร และเมื่อเจออย่างนี้แล้วจะทำอย่างไรต่อ

“เราทำการสอบถามทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ผู้ปกครอง เพราะแต่ละเพศ อายุเขาคิดไม่เหมือนกัน ไม่ได้ทำแค่ในโรงเรียน เราทำกูเกิลฟอร์ม กระจายในโรงเรียน ผู้ปกครอง เพื่อนต่างโรงเรียนทั้งทำแบบสอบถามกว่า 100 คน ร่วมกับการเสิร์ชข้อมูลซึ่งที่ญี่ปุ่นมีการทำสถานการณ์จำลองเรื่องนี้อยู่มาก การ์ดไอเท็มในการป้องกันตัวในเกม เช่น สเปรย์ ร่ม นกหวีด พวกเราก็เอามาจากบทความของญี่ปุ่นที่ทำเรื่องนี้ สอนวิธีป้องกันตัว”

Escape from Danger

พลอยกนก ย้อนเล่าถึงการออกแบบเกมซึ่งใช้เวลาเตรียมข้อมูลและออกแบบร่วม 2 ปี โดยในเกมออกแบบให้เป็นแผนที่แสดงเส้นทางจากโรงเรียนกลับบ้าน ซึ่งก็เป็นการจำลองมาจากสถานการณ์จริงของนักเรียนหญิงในโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ ส่วนระหว่างทางก็จะมีโจทย์การคุกคามทางเพศรูปแบบต่างๆ และผู้เล่นต้องหาวิธีการแก้ปัญหาเพื่อกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัย

“หนูคิดว่าควรให้มีการเรียนการสอนเรื่องนี้ในโรงเรียน เพราะถ้าเรามีพื้นฐานมาจากในโรงเรียน ทุกคนไม่ว่าจะหญิงหรือชายจะตระหนักได้ถึงภัยที่มันอยู่ใกล้ตัวเรามากๆ  เขาจะรู้ได้เร็วกว่านี้ ปัญหาที่เราเจอคือบางทีเราก็ไม่รู้ว่าสิ่งนี้ เราผิดหรือเขาผิด เราจึงไม่กล้าโต้ตอบอะไร บางทีเราก็ว้าวกับสถานการณ์ที่คนเขียนมาบอก บางเรื่องเคยคิดว่ามีแต่ในละคร”

พลอยกนก ย้ำถึงความสำคัญของการปูพื้นฐานเรื่องการคุกคามทางเพศที่ไม่ควรปล่อยให้กลายเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่เป็นปกติคือการปูพื้นฐานเรื่องนี้ตั้งแต่ในรั้วโรงเรียนเช่นเดียวกับที่ สุวารี งามปัญจะ หนึ่งในสมาชิกทีมกล่าวเพิ่มเติม

Escape from Danger

“ที่เราลิสต์มาหลายๆ สถานการณ์ในเกมก็เพื่อให้ตัวผู้เล่นได้รู้ว่ามันมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริงๆ เราไม่ควรมองว่าเหตุการณ์แบบนี้มันปกติ เช่นเดียวกับที่หลายคนในสังคมยังมองว่าตัวเหยื่อเป็นคนผิด ถ้าเราเล่นไปเรื่อยๆ ผู้เล่นเขาก็จะรู้ว่าเหตุการณ์แบบนี้มันไม่ควรจะเพิกเฉย”

และเมื่อถามว่า Escape from Danger จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศได้อย่างไร ทิพพาวดี อินทนน หนึ่งในสมาชิกทีมกล่าวทิ้งท้ายว่า

“เกมอาจจะไม่สามารถแก้ที่ต้นเหตุของปัญหาได้ แต่เมื่อเราได้อ่านสถานการณ์นี้บ่อยๆ เราจะรู้แล้วว่า อ้อ…แบบนี้มันคือการคุกคามทางเพศ ตัวเราเองก็ห้ามทำแบบนี้ และถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้เราควรจะเอาตัวรอดอย่างไร ถ้าเราเซฟตัวเราเองได้มันก็ถือเป็นความปลอดภัยอย่างหนึ่งก่อนที่เราจะตกเป็นเหยื่อ”

Fact File

  • เกม E.F.D. หรือ Escape From Danger เป็นเกมที่สื่อสารสถานการณ์การถูกคุกคามทางเพศ ทางป้องกัน และทางแก้ไขเมื่อเราต้องอยู่ในสถานการณ์นั้น โดยนำประสบการณ์ของผู้พัฒนาบอร์ดเกมที่เจอกับสถานการณ์คุกคามทางเพศเมื่อตนเองเดินทางจากโรงเรียนกลับบ้านมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบเกม
  • โครงการ ออกแบบเกม ออกแบบสังคม ดำเนินโครงการมาเป็นรุ่นที่ 2 โดยความร่วมมือระหว่างคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อบ่มเพาะนวัตกรรุ่นยาว์ ให้มีทักษะการคิดเชิงออกแบบและการคิดอย่างสร้างสรรค์ อันเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับการเป็นนวัตกร ติดตามรายละเอียด www.facebook.com/tu.banpu

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ชยพล ปาระชาติ
11 ปีกับช่างภาพประจำนิตยสารสาย interior ปัจจุบันเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ที่ยังมุ่งมั่นอยากให้ทุกภาพออกมางดงามที่สุดในทุกครั้งที่กดชัตเตอร์