เบื้องหลัง Retail Library ใน Central: The Original Store คือนักจัดการร้านหนังสือ “เชน สุวิกะปกรณ์กุล”
Brand Story

เบื้องหลัง Retail Library ใน Central: The Original Store คือนักจัดการร้านหนังสือ “เชน สุวิกะปกรณ์กุล”

Focus
  • Central: The Original Store ห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่บนถนนเจริญกรุงที่ปัดฝุ่นประวัติศาสตร์ร้านค้าปลีกแห่งแรกในเครือเซ็นทรัลมาปรับโฉมใหม่
  • Central: The Original Store มีทั้งคาเฟ่ ร้านอาหาร บาร์ ร้านขายของที่ระลึก ห้องนิทรรศการ และไฮไลต์คือ ร้านหนังสือ และห้องสมุดที่เรียกว่า Retail Library

Central: The Original Store ชื่อนี้ปลุกเจริญกรุงให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่ไม่ใช่ในนามของหมุดหมายทางศิลปะหรือสตรีตอาร์ต ทว่าการเปิดตัวของ Central: The Original Store หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า Central Original ในตึกเก่าเลขที่ 1266 บนถนนเจริญกรุงแห่งนี้ เป็นการกลับมายังบ้านหลังแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจค้าปลีกเล็กๆ ซึ่งอีก 73 ปีต่อมาได้ขยายกลายมาเป็นห้างสรรพสินค้าเบอร์ต้นของไทยในชื่อ เซ็นทรัล

Central The Original Store
ดีไซน์ภายนอกของCentral: The Original Store (ภาพCentral: The Original Store)

เต้-บรม พิจารณ์จิตร คือทายาทรุ่นที่ 4 ผู้อยู่เบื้องหลังการนำร้านค้าปลีกกระโดดเข้ามาอยู่ในหมวดของความครีเอทีฟสอดคล้องกับย่านเจริญกรุงที่เป็น Creative District ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกรุงเทพฯ แน่นอนว่าที่นี่จึงไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าที่ตั้งใจขายของใช้แบบในห้างทั่วไป ตรงกันข้ามในตึกเก่า 5 ชั้น มีทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ บาร์ นิทรรศการ ร้านหนังสือ ห้องสมุด และทีมรีเสิร์ชหาข้อมูลพร้อมให้บริการ

โดยในส่วนของร้านหนังสือ ห้องสมุด และทีมรีเสิร์ช มี เชน สุวิกะปกรณ์กุล นักจัดการร้านหนังสือ และห้องสมุด เป็นผู้อยู่เบื้องหลังนิยามร้านหนังสือแบบใหม่ที่เรียกว่า Retail Library มาเป็นผู้ร่วมออกแบบแนวคิด ฉีกคอนเซ็ปต์ร้านค้าปลีกออกจากกรอบเดิมๆ อย่างที่ห้างไหนๆ ก็เป็นกัน

Central The Original Store
เชน สุวิกะปกรณ์กุล

มากกว่าร้านค้าคือองค์ความรู้

“ถ้าพูดในเชิงภาพรวมที่นี่ก็เป็นร้านค้าปลีก เป็นรีเทลแห่งหนึ่ง แต่เป็นรีเทลยุคใหม่ที่ลูกค้าเข้ามาเพื่อรับประสบการณ์ ต้องยอมรับว่าร้านค้า ห้างสรรพสินค้ายุคใหม่ ลูกค้าทุกคนซื้อสินค้าออนไลน์ได้หมด ดังนั้นร้านต้องให้ประสบการณ์ที่ดี เช่นต้องให้ความรู้แก่ลูกค้ากลับไป Central: The Original Store จึงเป็นเหมือน Experiential Store เป็นร้านค้าปลีก ห้างยุคใหม่ที่ให้ประสบการณ์ จะว่าเป็นร้านหนังสือโดยตรงไหม

“ขอเรียกว่าเราเป็นองค์ความรู้ดีกว่า คือให้มองข้ามความเป็นร้านหนังสือที่เปิดมาเพื่อจะขายหนังสือ หรือร้านค้าที่เปิดมาเพื่อขายของเท่านั้น แต่ที่นี่เราเปิดมาเพื่อให้เป็นองค์ความรู้ เพื่อที่จะก้าวข้ามร้านหนังสือ ร้านค้าแบบเดิมๆ เพราะฉะนั้นก็เลยมีไอเดียว่า Central Original จะทำเป็นห้องสมุดด้วย ซึ่งก็เข้ากับย่านนี้ เข้ากับพื้นที่เจริญกรุง จึงมีการออกแบบให้ Central Original ต้องเล่าเรื่องเจริญกรุงตั้งแต่ ค.ศ.1950 มาเรื่อยๆ ให้พื้นที่นี้สามารถเชื่อมความรู้ในอดีตสู่ปัจจุบันและอนาคตได้”

Central The Original Store

เชน เจ้าของสำนักพิมพ์ Serindia Publications เล่าถึงคอนเซ็ปต์การเข้ามาดีไซน์ในส่วนของร้านหนังสือและห้องสมุดของที่นี่ ซึ่งเมื่อเปิดประตูเข้ามาจะพบกับบาร์กาแฟเล็กๆ

Central The Original Store

ถัดเข้าไปคือมุมขายของที่นำประวัติเซ็นทรัลมาใส่ดีไซน์กลายเป็นของที่ระลึกที่ไม่ใช่แต่นักท่องเที่ยวเท่านั้นที่อยากจะซื้อ ด้านหลังมุมขายของที่ระลึกคือส่วนของร้านหนังสือที่ให้อารมณ์เหมือนกำลังเดินเข้าห้องสมุด หรือไม่ก็กำลังเดินชมนิทรรศการดีๆ ข้อมูลแน่นๆ มากกว่า เพราะนอกจากจะมีการปรับเปลี่ยนธีมหนังสืออยู่เรื่อยๆ แล้วก็ยังมีการใส่ความรู้ที่ต่อเนื่องกับหนังสือที่วางขายอยู่ สามารถเดินอ่านได้อย่างเพลินๆ เจอเล่มที่ถูกใจ เจอหนังสือหายากที่ตามหาจึงค่อยซื้อ

“หนังสือที่นี่จะมีความนิช เจาะกลุ่มผู้อ่านเฉพาะ แม้เป็นพื้นที่เล็กแต่เล่าเรื่องได้ชัดเจน ใช้งานได้ชัดเจน อีกอย่างพื้นที่ตรงนี้สามารถเชื่อมประวัติศาสตร์ชุมชนได้ หนังสือที่นี่จึงมีเรื่องให้เล่าอีกเยอะ โดยเฉพาะเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมืองไทยในยุคเมื่อ 70 ปีก่อนบนถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นยุคแรกของร้านค้าปลีกในไทย”

ร้านหนังสือ ห้องสมุด ต้องตอบโจทย์

เมื่อถามต่อถึงความเชื่อมั่นต่อกลุ่มผู้อ่านที่จะเดินเข้ามาที่ร้านหนังสือที่เล่าเรื่องชัดเจน แต่อาจจะไม่ใช่กลุ่มตลาดนักอ่านหลักเช่นนี้ เชนตอบว่าเขาเชื่อมั่นในกลุ่มตลาดนักอ่านเฉพาะทาง เห็นได้จากกลุ่มแฟนประจำที่ร้านหนังสือที่ Open House ซึ่งเป็นร้านหนังสือแห่งแรกในเครือเซ็นทรัลที่เชนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและคัดเลือกหนังสือ

Central The Original Store
ระบบการค้นหาสำหรับสมาชิกห้องสมุดที่ Central Original

“Open House ถือเป็นโปรเจกต์ร้านหนังสือที่ท้าทายมากๆ โดยเฉพาะในเมืองไทย แต่ด้วยประสบการณ์การทำร้านหนังสือเฉพาะทางในชิคาโกเราจึงเห็นและมั่นใจว่าร้านหนังสือเฉพาะทางก็มีแฟนประจำได้ เช่นเดียวหนังสือที่ Open House ที่ส่วนใหญ่เป็นหนังสือสายอาร์ต ซึ่งหนังสืออาร์ตเป็นอะไรที่ขายดี ขายได้ และมีคนต้องการตลอด แต่ว่าตลาดมันนิช การโฟลว์ของหนังสือก็ไม่เร็วเท่ากับหนังสือทั่วไป

“ดังนั้นสิ่งแรกที่ต้องทำคือคุยทำความเข้าใจกับเจ้าของเงินทุนว่าหนังสือขายได้นะ แต่อาจจะไม่ได้เร็ว ต่อมาคือดีไซน์ หนังสืออาร์ต หนังสือเฉพาะทางต้องมาพร้อมกับดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นชั้นวาง การดีไซน์เนื้อหาที่จะนำเสนอ คนส่วนใหญ่เข้าใจหนังสืออาร์ตขายยาก ใช้เวลาขายนาน ผู้ลงทุนส่วนใหญ่จึงปฏิเสธ แต่สังเกตไหมว่าหนังสืออาร์ต หรือหนังสือเฉพาะทางไม่เคยลดราคานะ มีแต่จะขึ้นราคา และกลายเป็นหนังสือหายาก”

นิทรรศการ The Origins of Central Since 1950 (ภาพ : Ceantral Original)

สำหรับร้านหนังสือที่ Central: The Original Store ต่างกับที่ Open House ชัดเจนตรงเนื้อหาที่นำเสนอ ซึ่งที่ Central: The Original Store จะเลือกหนังสือให้เข้ากับประวัติศาสตร์ของห้างเซ็นทรัลสาขาแรก ประวัติศาสตร์ร้านค้าปลีกในไทย และประวัติศาสตร์ของถนนเจริญกรุง

นอกจากร้านหนังสือแล้วบนชั้น 2 ยังเปิดเป็น The Kolophon Retail Library & Research Service ให้บริการร้านหนังสือ พลัสห้องสมุด และบริการสืบค้นข้อมูล โดยในส่วนของหนังสือนั้นช่วงเริ่มต้นเน้นไปในเชิงธุรกิจ การบริหารร้านค้าปลีก และอีกบริการที่ทำให้ร้านหนังสือแห่งนี้ก้าวออกจากกรอบของร้านหนังสือคือการเปิดให้บริการระบบสืบค้น โดยเชื่อมโยงกับคลังข้อมูล World library ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลกเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูล

Central: The Original Store
นิทรรศการ The Origins of Central Since 1950 (ภาพ : Ceantral Original)

“ในส่วนของห้องสมุดและการให้บริการระบบสืบค้น สำหรับคนที่เป็นสมาชิกสามารถเข้ามาใช้บริการสืบค้นได้ โดยเราจะลิงก์กับเว็บไซต์ฐานข้อมูล World library ที่เราเป็นสมาชิกอยู่ เน้นเรื่องประวัติศาสตร์แฟชั่น ดีไซน์ อาหาร และธุรกิจ แต่ถ้าใครไม่มีเวลารีเสิร์ชเราก็มีทีมที่ทำหน้าที่รีเสิร์ชให้ เรามีฐานข้อมูล คุณอยากรู้อะไรเดี๋ยวเราหาให้ เรารู้ว่าคุณไม่มีเวลา เรามีทีมซัปพอร์ต ได้ตั้งแต่ basic information ไป จนถึงระดับรับปรึกษาเตรียมข้อมูลเป็นโปรเจกต์ เรียกว่าเป็นการออกแบบระบบการสืบค้นตามความต้องการของลูกค้าแต่ละคน”

Central: The Original Store

เชน เล่าถึงการออกแบบห้องสมุดและร้านหนังสือที่ Central: The Original Store ซึ่งเรียกได้ว่าทะลุเพดานร้านหนังสือ ห้องสมุดทั่วไปที่เราคุ้นเคยกันในเมืองไทย แต่ที่จีน และญี่ปุ่น เชนบอกว่าร้านหนังสือ หรือห้องสมุดแบบนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และนั่นทำให้เขาเชื่อมั่นว่าต่อให้โลกจะเปลี่ยนเป็นดิจิทัลขนาดไหน แต่ร้านหนังสือ และห้องสมุดก็ยังคงอยู่ได้

Central: The Original Store

“ไม่ตายแน่นอน โดยเฉพาะห้องสมุดเป็นอะไรที่เรียกได้ว่าฮ็อตที่สุดแล้วกัน  แม้บางทีห้องสมุดมันจะให้ความโบราณระดับหนึ่ง ให้ความน่าเบื่อระดับหนึ่ง แต่ว่าถ้าได้เติมคำว่าบริการข้อมูลเข้าไปด้วยก็จะตอบโจทย์ได้มาก ห้องสมุดและการบริการข้อมูลจะทำให้คนเห็นว่าห้องสมุดยังสำคัญ องค์ความรู้ยังเป็นความจำเป็นอยู่ ห้องสมุดและร้านหนังสือเฉพาะทาง ทั้งสองอย่างอาจจะต้องใช้ความอดทน แต่ไม่ตายแน่นอน”  

Central: The Original Store

นอกจากร้านหนังสือ ห้องสมุดแล้ว ล่าสุดชั้น Central Space ชั้น 3 ยังได้จัดนิทรรศการหมุนเวียนเรื่องราวประวัติเซ็นทรัลในชื่อ The Origins of Central Since 1950 ที่เหมือนกำลังกางหนังสือเล่มใหญ่ออกอ่านประวัติศาสตร์การค้าปลีกในไทยไปด้วย ส่วนชั้น 5 คือร้านอาหารไทย Aksorn โดยเชฟชื่อดัง เดวิด ทอมป์สัน (David Thompson) ที่ถอดสูตรอาหารมาจากตำราอาหารไทยนับพันเล่มที่เชฟสะสมไว้ สมกับคอนเซ็ปต์ใหม่ของ Retail Library ที่มองห้องสมุดและร้านหนังสือเป็นองค์ความรู้ที่มีประสบการณ์จากหนังสือหลากหลายรูปแบบให้ได้สัมผัส

Fact File

  • Central: The Original Store เลขที่ 1266 ถนนเจริญกรุง (หน้าซอย 38) บางรัก กรุงเทพฯ 
  • เปิดบริการ วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น. ยกเว้น SIWILAI SOUND CLUB เปิดบริการเวลา 18:00 – 01:00 และ Aksorn เปิดบริการเวลา 18:00 – 22:00
  • www.centraltheoriginalstore.com

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว