HOR FUN ร้านอาหารโฮมคุ้กฟิวชั่น ที่ขอยกวัตถุดิบชุมชนเยาวราชขึ้นมาเป็นพระเอก
Brand Story

HOR FUN ร้านอาหารโฮมคุ้กฟิวชั่น ที่ขอยกวัตถุดิบชุมชนเยาวราชขึ้นมาเป็นพระเอก

Focus
  • HOR FUN (หอฝัน) มาจากภาษาจีนแปลว่า เส้นใหญ่ และทางร้านก็เสิร์ฟก๋วยเตี๋ยวหลอดที่มีเส้นใหญ่เป็นวัตถุดิบหลักเป็นซิกเนเจอร์เมนู
  • HOR FUN ออกแบบรสชาติและคอนเซ็ปต์อาหารโดยเชฟสายครีเอทีฟอย่าง เชฟปิ๊ก–สรมย์เวท ธีระพจน์ ซึ่งผ่านงานร้านอาหารแนวโมเดิร์นทวิสต์มาแล้ว

กานาฉ่าย ก๋วยเตี๋ยวหลอด กุนเชียง เป็ดย่าง เส้นใหญ่ ไชโป๊ว เหล่านี้คือตัวอย่างของวัตถุดิบในชุมชนตลาดเก่าเยาวราชที่หลายคนอาจคุ้นตาและมีวางขายอยู่ทั่วไป ทว่าอาจจะไม่คุ้นเคยเมื่อร้านอาหารโฮมคุ้กฟิวชั่นในตึกเก่าอายุกว่าร้อยปีอย่าง HOR FUN (หอฝัน) ได้หยิบวัตถุดิบในตลาดเก่าเยาวราชเหล่านี้มาทวิสต์เป็นเมนูใหม่ที่นอกจากจะสร้างความว้าวให้คนกินแล้วก็ยังเปิดมุมมองใหม่ๆ ต่อยอดวัตถุดิบก้นครัวจีนเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี ใครจะคิดว่าผักดองน้ำมันแสนคุ้นเคยอย่างกานาฉ่ายจะสามารถทวิสต์มาเป็น สลัดคาเปรเซ่ แบบอิตาลีได้อร่อยจนเราอยากจะออกไปตลาดซื้อกานาฉ่ายกลับไปทำสลัดกินที่บ้านต่อเลยเดี๋ยวนั้น…นี่แหละคือความสนุกของการมากินที่ HOR FUN ซึ่งออกแบบรสชาติและคอนเซ็ปต์อาหารโดยเชฟสายครีเอทีฟอย่าง เชฟปิ๊ก–สรมย์เวท ธีระพจน์

ก๋วยเตี๋ยวหลอดสูตรดั้งเดิมของครอบครัว
Caprese Gana Chai

ด้วยโลเคชันร้านที่อยู่บน ถนนพาดสาย ใจกลางประวัติศาสตร์ชุมชนจีนเยาวราช นั่นจึงทำให้คอนเซ็ปต์อาหารของร้านนี้หลีกหนีจากก้นครัวจีนไปไม่ได้ แต่แทนที่จะเป็นอาหารจีนแบบดั้งเดิม เชฟปิ๊ก ซึ่งมีสไตล์การทำอาหารแบบโมเดิร์นทวิสต์อยู่แล้วจึงเลือกออกแบบรสชาติและหน้าตาให้เป็นอาหารจีนในแบบ Home Cook Fusion โดยมีเมนูไฮไลต์เป็น ก๋วยเตี๋ยวหลอด สตรีทฟูดจีนที่เรามักจะคุ้นกันดีตามร้านรถเข็นข้างทาง แต่เชฟกลับเลือกออกแบบก๋วยเตี๋ยวหลอดที่มีให้เลือกถึง 9 หน้า 9 รส เช่น ซี่โครงแกะ หอยเซลส์ยูเอส ล็อบสเตอร์ ลิ้นวัว แซลมอน เป็นการสื่อสารเมนูก๋วยเตี๋ยวหลอดได้ล้ำมาก

HOR FUN
ก๋วยเตี๋ยวหลอดลิ้ววัว
HOR FUN
พิซซ่าที่ถอดแบบการกินเป็ดปักกิ่งมาเป็นโจทย์

“บอกได้เลยว่า ก๋วยเตี๋ยวหลอด คือเมนูเด่นของที่ร้าน ซึ่งเดิมทีตัวผมเองก็เฉยๆ กับเมนูนี้ ก็เห็นทั่วไปในชุมชนจีน เป็นเส้นใหญ่นำมานึ่ งโรยหน้าด้วยกุ้งฝอยสีชมพูราดน้ำพะโล้ อันนั้นคือภาพจำ แต่วันหนึ่งเมื่อได้มาลองกินก๋วยเตี๋ยวหลอดสูตรของแม่ยายผมเองซึ่งที่บ้านเขาทำก๋วยเตี๋ยวหลอดกินกันเองในบ้าน ทำตั้งแต่เช้ากว่าจะได้กินคือบ่ายเลย เครื่องทุกอย่างต้องทำเอง กุ้งแห้งก็ต้องคั่วเองนำไปปรุงรส ไชโป๊วก็ต้องคั่วก่อน พริกคั่วเอง น้ำพะโลก็เปลี่ยนมาใช้น้ำจากการผัดหมูมาปรุงรสเอง เส้นใหญ่ก็เลือกเจ้าเก่าแก่ที่เหนียวนุ่ม ก็เลยตั้งใจเลยว่าจะเสิร์ฟเมนูนี้ในร้าน และด้วยความที่ผมเป็นคนที่ชอบทำอาหารทวิสต์อยู่แล้วก็เลยคิดต่อมาเป็นก๋วยเตี๋ยวหลอด 9 หน้า 9 รส ก็เสิร์ฟรสดั้งเดิมของที่บ้านด้วยแล้วก็เสนอมุมมองใหม่ให้ก๋วยเตี๋ยวหลอด และเส้นใหญ่ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการทำก๋วยเตี๋ยวหลอดก็ได้กลายมาเป็นชื่อร้านนั่นก็คือ หอฝัน ที่แปลว่า เส้นใหญ่”

HOR FUN
เชฟปิ๊ก–สรมย์เวท ธีระพจน์
HOR FUN

อีกเมนูจีนทวิสต์ที่บ่งบอกคอนเซ็ปต์ของร้านได้เป็นอย่างดีคือ Caprese Gana Chai ซึ่งเชฟเล่าว่าเมนูนี้อยากจะเปิดมุมมองใหม่ให้กับวัตถุดิบที่หาได้ง่ายมากในตลาดชุมชนจีน นั่นก็คือ กานาฉ่าย ผักกาดดองน้ำมันที่เป็นเมนูประจำเทศกาลกินเจ ซึ่งแทนที่จะนำมาผัดเชฟเลือกนำไปทำสลัดคาเปรเซ่หรือสลัดมะเขือเทศกับชีสมอซซาเรลลา เชฟบอกว่าเห็นกานาฉ่ายก็ทำให้นึกถึงสลัดที่ใช้แค่ชีสกับน้ำมันมะกอก และกานาฉ่ายก็เป็นผักดองในน้ำมันอยู่แล้วจึงเข้ากับเมนูสลัดไม่ยาก

หรืออย่าง HOR FUN Pizza ก็เป็นอีกเมนูที่คาดไม่ถึงด้วยการนำคอนเซ็ปต์การกินเป็ดปักกิ่งมาต่อยอด แต่แทนที่จะเป็นหนังเป็ดห่อแป้งตามธรรมเนียม เชฟกลับเลือกนำเส้นใหญ่ที่ใช้ในเมนูก๋วยเตี๋ยวหลอดไปทอดเป็นแป้งพิซซ่า ท็อปด้วยเป็ดรมควันซึ่งใช้เป็ดจากเจ้าเก่าในเยาวราชเช่นกัน ส่วนข้าวผัดหมูชาชูก็เป็นก็เป็นการเจอกันระหว่างจีนและญี่ปุ่นที่ลงตัวมาก แต่ที่ลงตัวยิ่งกว่าคือการเลือกใช้วัตถุดิบหลากหลายจากร้านเก่า ร้านดั้งเดิมในชุมชนเยาวราช ใส่เทคนิคการครัวสมัยใหม่ของเชฟรุ่นใหม่ลงไป ก็ยิ่งทำให้วัตถุดิบจากชุมชนเยาวราชโดดเด่นยิ่งขึ้น จนเราอยากจะออกไปเดินตลาดเยาวราชต่อเลยทีเดียว

Fact File

  • ถนนพาดสาย กรุงเทพฯ
  • เปิดบริการทุกวัน เวลา 11.00-22.00 น. โทร. 083-155-5378
  • www.facebook.com/horfunbkk

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ