Citizen Tea Canteen of nowhere ร้านชากึ่งร้านชำ ที่เชื่อมโยงผู้คนกับหัตถกรรมด้วยประสบการณ์
Brand Story

Citizen Tea Canteen of nowhere ร้านชากึ่งร้านชำ ที่เชื่อมโยงผู้คนกับหัตถกรรมด้วยประสบการณ์

Focus
  • Citizen Tea Canteen of nowhere ร้านชาสไตล์โกปี๊ที่เกิดจากความตั้งใจของ โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา ผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ Citizen of Nowhere ร่วมกับพาร์ทเนอร์ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย โดยต้นไอเดียเกิดจากการมองหาประสบการณ์ที่จะทำให้ผู้คนสามารถใช้เวลาสัมผัสและดื่มด่ำกับงานหัตถกรรมได้มากขึ้น
  • นอกจาก ชาไทย ที่เลือกสรรมาถึง 4 เบลนด์ ด้านชาร้อนยังมีสเปเชียลเบลนด์อย่าง เป็ดตุ๋นเจ้าท่า ที่มีเบสเป็นชาเขียว จิบแล้วชวนให้นึกถึงน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวเป็ดพะโล้กรุ่นเครื่องเทศ ซึ่งทำออกมาแบบลิมิเต็ดหมดแล้วหมดเลย

Citizen Tea Canteen of nowhere ร้านชาแห่งใหม่ประจำย่านตลาดน้อย ที่ต้องเดินซอกแซกเข้าไปในซอยวานิช 2 ฝั่งตรงข้ามกับศาลเจ้าโจวซือกง และถ้าผู้อ่านเห็นตึกแถวสองชั้นสีส้มประดับด้านหน้าด้วยลวดลายกระเบื้องสลับสีดูสะดุดตา กรอบหน้าต่างมีคำว่า “ชาไทย” ตัวโตปรากฏอยู่ นั่นแหละเรามาถูกทางแล้ว

Citizen Tea Canteen of nowhere
ซ้าย : โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย และ ขวา : โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา

หลังบานประตูไม้ที่เปิดออก กลิ่นหอมของชาทักทายเราก่อนเป็นสิ่งแรก ก่อนที่บรรยากาศภายในร้านจะเชื้อเชิญให้มองสำรวจไปรอบ ๆ ผนังสีส้มยังคงโดดเด่นตั้งแต่ด้านนอกถึงด้านใน ซึ่งได้ความจาก โอ-ศรัณย์ เย็นปัญญา และ โอ๊ะ-เบญจภัค เพชรคล้าย สองผู้ก่อตั้งว่าเป็นสีของ “ชาเย็น” หนึ่งในซิกเนเจอร์ของที่นี่ โดยจุดเริ่มต้นของ Citizen Tea Canteen of nowhere เกิดจากการที่โอผู้อยู่เบื้องหลังแบรนด์ Citizen of Nowhere มาแล้วราว 2 ปีในการทำงานร่วมกับชาวบ้าน หยิบจับสินค้าหัตถกรรมงานฝีมือมาต่อยอดเป็นงานดีไซน์ร่วมสมัยตามคอนเซ็ปต์ “Empowering Underdog Culture” ซึ่งหลังจากผ่านกระบวนการพาต้นน้ำมาสู่กลางน้ำ เขายังคงมองว่าปลายน้ำที่ดีก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้คนได้ใช้เวลาสัมผัสและเกิดประสบการณ์ต่อสินค้าหัตถกรรมลึกลงไปในรายละเอียดมากขึ้นได้ แต่ปลายน้ำที่ว่านั้นจะเป็นรูปแบบไหนดี

และวัฒนธรรมโกปี๊ หรือ สภากาแฟ ก็คือคำตอบของคำถามข้อนี้ 

“เราพยายามหาที่ที่สามารถโชว์เคสสินค้าได้ด้วย แต่ก็ไม่อยากให้โชว์รูมเหงา พอตั้งใจมองหาประสบการณ์ที่เหมาะกับงานหัตถกรรม ก็เจอว่าจริง ๆ แล้ว วัฒนธรรมโกปี๊หรือสภากาแฟไม่ค่อยมีแล้ว โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ก็เลยอยากจะปัดฝุ่นขึ้นมาในแบบของเรา เพราะจริง ๆ เราเองก็ไม่เชื่อในเรื่องของอนุรักษ์นิยมเพียงอย่างเดียว” โอกล่าวถึงไอเดียเริ่มต้น

Citizen Tea Canteen of nowhere

ด้วยความตั้งใจที่กล่าวมา ร้านชาในบรรยากาศสไตล์โกปี๊จึงแวดล้อมไปด้วยสินค้างานหัตถกรรม ไม่ว่าจะเบาะที่นั่งฝีมือจักสานจากชุมชนประดับด้วยลวดลายปักจากศิลปินไทยรุ่นใหม่ เสื้อผ้าลินินที่ผลิตจากของเหลือใช้ในอุตสาหกรรม Fast Fashion หรือกระเป๋าสานจากงานเสื่อของชาวภาคใต้และอีกมากมายทุกมุมร้านที่ใส่ความคราฟต์เอาไว้ รวมถึงของประดับตกแต่งอย่างบริเวณผนังที่หยิบเอาไม้เหลือใช้มาชุบชีวิตด้วยการเติมลวดลายสไตล์จีนผ่านวิธีการซิลก์สกรีน (Silkscreen) ด้วยมือ

ชาก็เช่นเดียวกัน ทางร้านนำเอาความคุ้นเคยที่มีมานำเสนอในรูปแบบใหม่ ใครเป็นบิ๊กแฟนของ “ชาไทย” หรือ “ชาส้ม” ที่นี่มีให้เลือกถึง 4 เบลนด์ด้วยกัน เบอร์ 1 Vanilla Sky และ เบอร์ 2 Dusty Dawn มาพร้อมกับความสดใส ใครชอบแบบเข้มและคุ้นเคยหน่อยเบอร์ 3 Sweet Sunrise น่าจะเหมาะที่สุด ส่วนเบอร์ 4 Suede Sunset มีเซอร์ไพรส์เล็ก ๆ ที่ทีมาสเตอร์ชี้เป้าว่ามีความกลิ่นรสของกล้วยตากเจืออยู่ด้วย

Citizen Tea Canteen of nowhere

“เราอยากให้เห็นความแตกต่างของชาแต่ละตัวอย่างเห็นได้ชัด ดีเทลต่าง ๆ ที่ว่าในชาไทยมีอะไรบ้าง เขาใส่อะไรบ้างนอกจากใบชา มีกระบวนการอย่างไร เราเอาข้อแตกต่างพวกนี้มาจำแนกแยกย่อยว่าจะนำเสนออย่างไรให้น่าสนใจ อันนี้เป็นพอยต์เลยว่าอยากจะให้ชาแต่ละตัวที่แตกต่างกันสามารถแบ่งแยกกันได้อย่างชัดเจน” เจ-เจษฎา มะโนน้อม หนึ่งในคนปรุงชา หรือ ทีมาสเตอร์ ของร้านอธิบาย

หมวดชาร้อน เป็นซิกเนเจอร์เบลนด์ที่โอและโอ๊ะหย่อนความไม่มีโจทย์ให้ทีมาสเตอร์ประจำร้านสร้างสรรค์ได้เต็มที่จนในที่สุดผ่านการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายออกมาเป็น 4 เบลนด์ในเมนู จากทั้งหมด 12 เบลนด์ โดยมีชื่อเรียกอย่างน่ารักเข้าใจง่ายว่า บัวลอยน้ำขิง และ ขนมปังกล้วย ซึ่งมีเบสเป็นชาดำ ส่วนอีกสองเบลนด์มีเบสเป็นชาเขียว ได้แก่ Pina Colada และสเปเชียลเบลนด์ที่ทำออกมาเป็นลิมิเต็ดเอดิชันอย่าง เป็ดตุ๋นเจ้าท่า (Duck Noodle Blend) จิบแล้วชวนให้นึกถึงน้ำซุปก๋วยเตี๋ยวเป็ดพะโล้กรุ่นเครื่องเทศจริง ๆ เลย

อีกกิมมิกที่ไม่ทิ้งความคราฟต์นอกจากการเลือกใช้เครื่องไซฟ่อน (Siphon) ในการชงชาเพื่อไม่ให้กระบวนการชงไปรบกวนใบชาจนเกิดความฝาด ทั้งยังเลือกใช้แก้วทรงสูงเพื่อยังคงกลิ่นหอมของชาเอาไว้ เสิร์ฟมาในเครื่องพวงที่ผ่านการรีดีไซน์ใหม่ฉบับ Thai Post Modern ซึ่งตอนนี้เอดิชันแรกมีเจ้าของจับจองไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (แต่แก้ววินเทจยังคงมีให้จับจองอยู่นะ)

ลืมบอกไปว่านอกจากชั้นล่าง บริเวณชั้นสองเปิดให้สามารถขึ้นไปนั่งดื่มด่ำจิบชาเพลิน ๆ และหยิบจับดูโพรดักส์ได้เช่นเดียวกัน หากใครมองไปรอบ ๆ จนส่องสายตามองออกไปนอกหน้าต่างแล้วรู้สึกว่าสีสันช่างเข้ากันจังเลย เหตุผลเพราะสิ่งเหล่านี้ผ่านการดีไซน์รูปแบบและสีสันให้สามารถกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของซอกซอยนี้ได้ เช่นเดียวกับทุก ๆ องค์ประกอบภายในร้านที่ผสานความเกื้อกูลกันทั้งความเก่าและความใหม่ บนพื้นฐานของความยั่งยืน ที่นอกจากเรื่องมูลค่าก็ตั้งใจอยากให้เป็นฟุตพรินต์ที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปควบคู่กัน

Fact File

  • Citizen Tea Canteen of nowhere ตั้งอยู่ในซอยวานิช 2 ย่านตลาดน้อย ใกล้กับ River View Residence
  • ในช่วงแรกรอบ Soft Opening เปิดบริการเฉพาะวันเสาร์ เวลา 10.00-18.00 น.
  • รายละเอียดเพิ่มเติม www.facebook.com/citizenteacanteen

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว