Madbacon Store ร้านสะดวกซื้อที่มากกว่าการขาย แต่คือประสบการณ์ที่ได้ภายในร้าน
Brand Story

Madbacon Store ร้านสะดวกซื้อที่มากกว่าการขาย แต่คือประสบการณ์ที่ได้ภายในร้าน

Focus
  • Madbacon เริ่มต้นจากการอยากทำแบรนด์ของ ดา ดรีมและเอก สามผู้อยู่เบื้องหลังที่เข้าออกร้านชำอยู่เป็นประจำระหว่างเดินทาง
  • Madbacon ไม่มีความหมายที่ตายตัว แต่เป็นอะไรก็ได้ที่เริ่มต้นจากความชอบเป็นแกนหลักแล้วค่อย ๆ มูฟต่อไปเรื่อย ๆ 
  • นอกจากการดีไซน์และการเลือกโปรดักต์ที่น่าสนใจ สิ่งสำคัญคือประสบการณ์ที่อยากให้ลูกค้าได้รับกลับไป เช่นการได้สัมผัสสินค้าหรือพูดคุยกันได้ว่าสิ่งต่าง ๆ มีที่มาอย่างไร

ร้านชำ ในความทรงจำของทุกคนเป็นแบบไหน คือร้านที่มีของให้เลือกดูมากมายละลานตาหรือเปล่า หรือเป็นร้านสะดวกซื้อที่พร้อมเสิร์ฟทุกความต้องการเวลาเรามองหาของใช้จำเป็นที่ขาดตกไปในชีวิตประจำวัน เราพบว่าไม่มากก็น้อยเวลาเดินเข้าร้านเหล่านี้มักต้องมนตร์เสน่ห์ประจำร้านที่รู้ตัวอีกทีก็ใช้เวลาไปกับพื้นที่เหล่านั้นอยู่นาน เช่นเดียวกับ Madbacon Store ร้านสะดวกซื้อประจำซอยอารีย์ 5 ที่เต็มไปด้วยของกระจุกกระจิกชวนมอง พร้อมกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นว่าของเล็ก ๆ เหล่านั้นที่วางอยู่คืออะไร และบ้างก็ตาวาวเพราะไม่เห็นของบางชิ้นมานานแล้ว

จากซ้าย : เอก ดา และ ดรีม

อ่านมาถึงตรงนี้ หากใครสะดุดเหมือนเราในทีแรกว่า เอ๊ะ Madbacon ที่เป็นชื่อร้านมีความหมายว่าอย่างไร ดา-อรดา เขียวเกิด ดรีม-ธนัชชา เขียวเกิด และ เอก-นันทวัฒน์ คงคา ต่างบอกว่าพวกเขาเองก็ไม่รู้เหมือนกัน เพียงแค่เป็นชื่อที่พูดขึ้นมาแล้วใช่ เป็นชื่อที่พวกเขา “แค่ชอบ” แต่มันไม่จบง่าย ๆ แค่นั้นหรอก เพราะด้วยความชอบเล็ก ๆ ในหลาย ๆ อย่างนั้นแหละที่ประกอบขึ้นเป็น Madbacon แห่งนี้ขึ้นมาได้ ทีนี้คุณพร้อมจะฟังเรื่องราวของพวกเขาหรือยัง แต่แอบบอกก่อนนะว่าเปิดประตูเข้าไปแล้ว อาจลืมมองนาฬิกาโดยไม่รู้ตัว

Madbacon เกิดขึ้นมาได้อย่างไร 

ดา : ร้านนี้เป็นไอเดียของดาที่อยากเปิดร้านคอนเซ็ปต์สโตร์ คือดากับดรีมจะคุยกันมาตลอดอยู่แล้ว เพราะว่าเราสองคนชอบไปเที่ยว แล้วมีนิสัยเหมือนกันคือชอบเดินเข้าร้านของโลคัล ของกระจุกกระจิก เราเลยมีความคิดกันมาตลอดว่า เราทำแบรนด์แบบนี้กันไหม ตอนแรกเราคิดเป็นแบรนด์ก่อน เป็นไอเดียที่มีมานานมากแล้วน่าจะ 2-3 ปีได้ แต่พอเราเห็นโอกาสว่าที่นี่น่าสนใจมาขอเช่าได้เลยเกิดปุบปับทำเป็นร้านกันไปเลย 

ทีมนี้มารวมตัวกันได้อย่างไร และแต่ละคนมีหน้าที่อย่างไรกันบ้าง

ดา : ก่อนหน้านี้เราทุกคนมีงานประจำ พี่เอกเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ ส่วนดาเองเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เป็นนักเขียนนิตยสารมาเหมือนกัน ส่วนดรีมเป็นโปรเจกต์เมเนเจอร์อยู่ที่หนึ่ง จริง ๆ ชื่อ Madbacon มีมานานมากแล้ว (หัวเราะ) คือตัวแบรนด์นี่แหละที่เราอยากทำ เราคิดและเก็บ Reference ไว้เยอะมาก ว่าเราอยากทำอะไรและในแบรนด์เราจะมีอะไรบ้าง แต่พอติดนั่นติดนี่และโควิด-19 ด้วย เราก็มีแต่ทำงานกันอย่างเดียว Madbacon เลยหายไป แล้วพอช่วงที่งานก็ไม่ได้ทำแล้วเรามาเจอที่นี่ เลยคิดว่า เอาพื้นที่นี้มาเปิดร้านไหม ซึ่งพอเหมือนมันมาฮุกเราแล้ว เราก็เลยคิดว่ามันต้องทำแล้ว หน้าที่หลัก ๆ ที่ค่อนข้างชัดเจนเลยคือพี่เอกจะเป็นอาร์ตไดเรกชัน เป็นไดเรกเตอร์และเป็นคนออกแบบหลัก ๆ ส่วนด้านครีเอทีฟทุกคนจะช่วยกัน เพราะ Madbacon เกิดมาจากความคิดที่เราอยากทำอันนั้น อยากทำอันนี้ของหลาย ๆ คนมารวมกัน 

เจอโลเคชันนี้ได้อย่างไร

เอก : เราพักอยู่แถวอารีย์สัมพันธ์ เราวิ่งออกกำลังกายรอบอารีย์ จริงๆ แล้วตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เราก็พยายามมองหาร้านหรือสเปซสักที่หนึ่งเพื่อที่จะทำอะไรแบบนี้แหละ แล้วก็คุยกันว่าถ้าเราจะทำร้านขึ้นมาสักร้านหนึ่ง จะเป็นอะไรก็แล้วแต่นะ เราจะอยู่ในย่านอารีย์

ดา : ถ้าเป็นที่อื่น เหมือนเราไม่เข้าใจในโซนตรงนั้น เพราะเราก็อยู่ตรงนี้มาน่าจะ 5-6 ปี เรารู้สึกชอบที่อารีย์เป็นอย่างนี้ จะมีวุ่นวายบ้าง เงียบบ้าง ในความคิดของเรารู้สึกว่าอารีย์มีเสน่ห์ แต่ไม่ใช่ที่อื่นไม่มีนะ แต่เราแค่ไม่รู้จักหรือผูกพันพื้นที่ตรงนั้นเท่าที่นี่ เรารู้สึกว่าอารีย์เป็นพื้นที่ของเรา

ทำไมถึงสนใจคอนเซ็ปต์ของร้านสะดวกซื้อ

ดา : เรารู้สึกว่าคอนเซ็ปต์นี้เวิร์กสำหรับการทำงานของเรา เหมือนมันตอบโจทย์ดีไซน์และความสนใจของเราก่อน ซึ่งมันจะทำให้เราทำออกมาได้อย่างเต็มที่ อย่างที่บอกว่าเราชอบเข้าร้านของโลคัล ในวัยของดากับพี่เอก เมื่อก่อนจะมีร้านชำที่เราชอบและรู้สึกว่าเข้าไปโดยที่ไม่รู้ว่าต้องซื้ออะไรด้วยซ้ำ แต่ต้องเข้าไปก่อน ไปดูว่ามีขนมใหม่หรือเปล่า มีน้ำใหม่ไหม เราเอาความชอบตรงนั้นมา ส่วนดรีมก็จะชอบเข้าร้านเครื่องเขียน ร้านกิฟต์ชอป เราเลยเอาสิ่งนี้มารวมกัน เอาความสนใจของเรามาใส่ในร้านนี้และมองดูแล้วว่าแถวนี้ยังไม่มี เลยคิดว่าสิ่งนี้แหละ น่าลอง ทำไปเถอะ ทำไปก่อน

เอก : เราอยากจะทำร้านให้คนรุ่นเราหรือคนเจนหลังจากเราเข้ามาแล้วรู้สึกว่า เห้ย ไม่เห็นอันนี้นานแล้ว เห้ย มีอันนี้ด้วย เราคิดแบบนั้นนะเวลาเราไปร้านของชำหรือ Selected Shop เราก็จะเห้ย ๆ ชอบ เราอยากให้คนเข้ามาร้านนี้แล้ว เห้ย ด้วย (หัวเราะ)

เมื่อความชอบและธุรกิจมาเจอกัน

ดา : เรารู้สึกว่ามันคือการลองก่อน เรารีเสิร์ชว่าสิ่งที่เราทำไปเวิร์กไหม ต้องใช้เวลาในการทดลองและทำ แต่เรารู้สึกว่าการทำแบบนี้มันสบายใจเรามากกว่า ด้วยจังหวะของการทำ อย่างหน้าร้านเราคิดว่าสวยแล้ว แต่จริง ๆ มันยังไม่ได้ต้องไปเติม มันก็ค่อย ๆ เข้ามาหมดนะ หมายถึงว่าหลักการในการทำธุรกิจ สิ่งที่เคยเรียนมา แต่เป้าหมายของเราในการทำร้านนี้ยังมีอีกเยอะ ไม่ใช่ว่าตอนนี้เราเปิดร้านแล้วมันจบที่เหลือคือทำกำไร เรายังมีเป้าหมายของเราอยู่ เราอยากให้คนรู้จัก Madbacon มากขึ้นว่าเป็นแบรนด์แบบไหน อยากให้เป็นชื่อแบรนด์ที่พอคนได้ยินแล้วเขานึกออกว่าเราทำอะไรบ้าง หน้าตาเราเป็นอย่างไร มี Identity ที่คนฟังแล้ว อ๋อ ร้านนี้เหรอ 

เอก : ร้านสะดวกซื้อที่เราเป็นอยู่ มันเป็นแค่จุดเริ่มต้น เป็นพาร์ตหนึ่งของการที่จะเดินไปถึงเป้าหมาย

ดา : เราคิดนะว่า Physical Store มันค่อนข้างยากในยุคที่ออนไลน์มาร์เก็ตติงดังมากแบบนี้ แต่มันเป็นหนึ่งในการที่เราจะบอกออกมาว่า Madbacon คือใครได้ชัดเจนที่สุดกับการตั้งร้านให้เห็นเลยว่า Madbacon มี Identity แบบนี้ ส่วนใหญ่เราจะเน้นในแง่ของการคิดอะไรไปเรื่อย ๆ อย่างการคอลแล็บส์กับแบรนด์ต่าง ๆ ที่เป็นเพื่อนพี่น้องเรา เราอยากมีอีเวนต์ เรามีสเปซตรงนี้ (พื้นที่ส่วนหลัง) ที่จะเปิดเร็ว ๆ นี้ อยากให้เป็นสเปซที่มีน้อง ๆ หรือเพื่อน ๆ เรามาจัดนิทรรศการได้ หรือจะดึงแบรนด์ในร้านเราที่เขาไม่ได้แค่ขายสินค้าแต่มีสตอรีมา เราอยากชวนให้คนอื่น ๆ รู้จักเขามากขึ้น 

Endless USED ชั้น 2

หมายความว่า Madbacon จะเป็นอะไรก็ได้เหรอ

เอก : ใช่ คำว่า Madbacon แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ด้วย (หัวเราะ) แค่ชอบกินเบคอนนั่นแหละ แล้วอยู่ดี ๆ สองคนนี้ก็พูดขึ้นมาว่า เห้ย Madbacon ก็เลยคิดว่าชื่อนี้เป็นชื่อที่ไม่คุ้นหู เป็นคำใหม่สำหรับการได้ยิน ก็แค่ชอบกันแค่นั้นเอง 

ดา : ใช่ เป็นชื่อที่ไม่ติดไม่เถียงอะไรเลย ตอนนั้นเราก็คิดเยอะนะ ตั้งแต่ตอนที่อยากทำแบรนด์ เราก็ยังติดว่าแบรนด์จะต้องมีคาแรกเตอร์หรือมาสคอตหนึ่งตัว เลยคิดว่ามาสคอตตัวที่เราจะอินที่สุดคืออะไร ซึ่งก็คือเบคอน (หัวเราะ) พอเป็นเบคอนเราก็คิดว่าต้องเป็นเบคอนที่ไม่ธรรมดา ก็เลยออกมาเป็น Madbacon ซึ่งมันแปลกดี มีหลากหลายอารมณ์ เป็น Mad ที่เจ๋งหรือโกรธก็ได้ ใช้ได้หลายอย่าง 

ดีไซน์บรรยากาศของร้านไว้อย่างไรบ้าง

ดา : ถ้าในแง่ของตัวสโตร์นี้ เราพยายามเลือกสินค้าเข้ามาให้มันดูมีอะไรจุกจิกอยู่ตลอดเวลา ด้วยความที่เราเอานิสัยตัวเองมาทำร้าน เวลาเราไปร้านขายของเราก็จะรู้สึกว่าอันนี้แปลก อันนี้ตลกหรือเราไปเห็นของตามที่ต่าง ๆ เราก็จะรู้สึกว่าอันนี้คือสิ่งที่เราอยากให้มาอยู่ในร้านของเรา เลยพยายามให้ร้านมูฟด้วยสินค้าที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจอยู่เรื่อย ๆ แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่นำเข้ามาคือของที่เราสนใจจริง ๆ บวกกับเราพยายามซัปพอร์ตแบรนด์หรือเพื่อน ๆ ที่ทำแบรนด์ ถ้ามีแบรนด์มาฝากขายและเข้ากับร้านเราก็ได้เลย 

โปรดักต์ในร้านไปเจอเองมาหมดเลยเหรอ มีเกณฑ์ในการเลือกอย่างไร

ดา : มีเพื่อน ๆ แนะนำมาบ้าง เจอเองบ้างหรือเคยกินแล้วคิดว่าสิ่งนี้ต้องมีแล้วแหละ

เอก : ก่อนจะเปิดร้าน ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่าจะเป็นร้านหรอก มีขนมที่เรากินแล้วเราก็คิดว่า อันนี้ต้องอยู่ในร้านเรา อันนี้เราชอบ ต้องอยู่ในร้านเรา (หัวเราะ) ก่อนที่จะเจอร้านนี้ด้วยซ้ำ

ดรีม : เหมือนเราชอบแล้วเราอยากเผยแพร่ (หัวเราะ) 

ดา : เรียกว่าป้ายยา เราอยากให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ในร้านด้วย ร้านชำสมัยก่อนจะมีคนขายคนหนึ่งแล้วเราสามารถถามเขาได้ว่า อันนี้อะไร น้ำอะไรไม่เคยกินเลย แล้วเขาตอบเราได้ว่า อันนี้น้ำมาใหม่นะ จากที่ไหน ไวบ์ (Vibe) แบบนั้นเป็นสิ่งที่เราชินกับร้านสมัยก่อน ซึ่งตั้งแต่เปิดร้านมาเราก็แฮปปี้ที่เราสามารถเล่าอะไรหลาย ๆ อย่างให้คนที่เขามาดูของฟัง มันเพิ่มการรับรู้ได้ว่ามีการผลิตของสิ่งนี้ขายในเมืองไทยนะ 

โปรดักต์ของ Madbacon เองเป็นอย่างไร

ดรีม : ถ้าเป็นสินค้าที่เราผลิตเอง จะมาจากของรอบตัวเราที่เรามองเห็นแล้วรู้สึกว่าอยากมีอันนี้เป็นของเรา เพราะของเราจะเป็นของที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวันอยู่แล้วอย่างเสื้อยืด ไฟแช็ก แก้ว นึกจากสิ่งที่อยู่รอบตัวเราและเราอยากใช้

การเปิดร้านในช่วงโควิด-19 มีความท้าทายหรือต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษไหม

ดา : ท้าทายมาก ก่อนจะเปิดคือเครียดเลยว่าเราจะทำแล้วใช่ไหม เราสามคนไม่เคยเป็นเจ้าของธุรกิจมาก่อน ทุกคนทำงานประจำ มีแพตเทิร์นของงาน มีตารางสิ่งที่ต้องทำ แต่พอท้ายที่สุดเราต้องมาสร้างแพตเทิร์นนี้เอง มันค่อนข้างกดดันตรงที่ทุกคนทยอยปิดกันหมดเลย แล้วเราจะเปิดเหรอ อย่างไรดีนะ แต่เราทำด้วยเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ คืออยากให้คนรู้จักแบรนด์ คือถ้าพูดในแง่ร้ายเลยนะ ว่าร้านนี้มันจะอยู่ไม่ได้แล้ว แต่แบรนด์ของเรามีคนรู้จักแล้ว มันก็ไปต่อได้ อันนี้เรามองใน Worst Case นะ แต่ตอนที่เราเปิดร้านนี้เรารู้สึกว่ามันตอบโจทย์ของเราที่ไม่ใช่แค่การทำเป้าหมายชีวิตให้สำเร็จ แต่มันตอบโจทย์เราในการใช้ชีวิตในทุก ๆ วันด้วยว่าเราอยากมีร้านแบบนี้ และทำอันนี้ไปเรื่อย ๆ ขยับขยายต่อไปเลยตัดสินใจเปิดแล้วค่อย ๆ ดูกันไปว่าเราจะต้องปรับอะไรบ้าง 

เอก : คนรอบตัวพี่ ๆ น้อง ๆ ก็ตั้งคำถามนี้ว่าเปิดช่วงโควิด-19 นี่นะ ซึ่งเราก็คิดแหละ แต่เราไม่ได้เอามาทำให้เราคิดว่าอย่าเปิดดีกว่า เราคิดด้วยซ้ำ ว่าเดี๋ยวลองดู ต้องทำ เพราะพอร้านนี้เกิดขึ้น สำหรับเราคือคนทั่วไปเดินผ่านไปมาหรือคนทำงานออฟฟิศ เรามีขนม มีของใช้ ปากกาหมึกหมดเขาก็ลงมาซื้อได้ คือเราศึกษาพื้นที่แล้วด้วยว่าตรงนี้เป็นกลุ่มออฟฟิศ เป็นบ้านอยู่อาศัย การที่เราขายอะไรแบบนี้ มันก็ตอบโจทย์พวกเขานะ เราเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างน้อยก็มาซื้อกรรไกรตัดเล็บได้ 

วงการงานดีไซน์ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง

ดา : ถ้าในวงการใหญ่ ๆ ตอนนี้ไม่รู้ว่าอาจจะเป็นเพราะช่วงโควิด-19 ด้วย เศรษฐกิจที่มันไม่ค่อยโอเคด้วย ทำให้วงการก็อาจจะไม่ได้โตมาก คนที่โตก็จะโตไปเลย คนที่ยังไม่โตก็พยายามหาหนทาง ถ้ามองถึงภาพอนาคตเรารู้สึกว่าเด็กรุ่นใหม่ค่อนข้างไฟแรง ด้วยความที่เขาโตมากับเทคโนโลยีและเข้าถึงอุปกรณ์อะไรได้เร็วกว่า เด็กบางคนอาจจะทำโฟโต้ชอปมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเมื่อก่อนเรายังทำเพนต์อยู่เลย แล้วเรามองภาพว่าวงการดีไซน์ในอนาคตของเด็กเจนที่เขาจะโตไป เราว่าจะโตไปได้แข็งแรงกว่าในตอนนี้มาก ๆ เรารู้สึกว่าแบรนด์หลายแบรนด์ที่มาอยู่กับเราบางคน เขาก็ยังอายุน้อย คือเราเห็นแพสชันของเขา เขาพยายามที่จะปลดปล่อยพลังดีไซน์ของตัวเองออกมาเป็นโปรดักต์ เราเลยคิดว่าในอนาคตต่อให้เศรษฐกิจจะไม่ดีหรือรัฐบาลไม่สนับสนุน เราคิดว่าเด็กยังมีแรงที่จะทำเพื่อผลักตัวเองไปได้ไกลแน่ ๆ 

เอก : เด็กสมัยนี้เขากล้าทำแล้วเขาไม่กลัวด้วยที่จะทำแบบนี้ออกมา ถ้าเกิดเป็นเอก เราเคยเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์มาก่อน เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ เราก็จะทำแค่กราฟิกโดยคนที่เราทำงานด้วยหรือคนภายนอกก็แค่รับรู้ว่ามันต้องทำแบบนี้แหละกราฟิก คือบางทีเราอยากจะแหก พอแหกปุ๊บก็จะเกิดคำถามว่าจะขายใคร ใครจะเข้าใจ ขายได้ไหม แต่เด็กปัจจุบันนี้คือไม่แคร์ ทำก่อนเลย ขายได้ไม่ได้เดี๋ยวค่อยว่ากัน มันก็เลยเกิดงานอาร์ตหรือศิลปะอันใหม่ขึ้นมา 

จริง ๆ มันอาจจะไม่ได้ใหม่หรอก มันอันเก่านั่นแหละ แต่เขากล้าที่จะเสนอออกมาให้เรา การวางกริดหนังสือ การพาดหัวของเขาประหลาดหมดเลย แต่พอดูรวม ๆ แล้วอันนี้แหละคือสิ่งใหม่ เมื่อก่อนเราคิดว่าเป็นเรื่องของแพตเทิร์น แต่ทุกวันนี้ลองไปดู Tye Zine สิ เป็นหนังสือที่เราซึ่งเป็นคนทำหนังสือมาก่อน เห็นปุ๊บคือ โห ฉีกทุกกฎที่ทำงานมาเลย 

ดา : มันค่อนข้างอินสไปร์เราตรงที่เขากล้าทำ ไม่จำเป็นต้องรู้เยอะทุกอย่างที่จะทำออกมาก็ได้ ซึ่งอะไรพวกนี้ค่อนข้างพุชเรานะ เพราะเราอยู่ในวัยที่ จะทำหนังสือ เรียนวารสารมาหรือเปล่า อะไรแบบนั้น คือเราอยู่ในยุคนั้นมาก่อน จะสมัครงานอย่างหนึ่งแล้วเราต้องเรียนแบบนั้นไป แต่เด็กรุ่นนี้คือสามารถผลิตโปรดักต์ออกมาได้เลย การทำร้านก็ค่อนข้างพุชเราในเรื่องนี้เหมือนกันในแง่ของการทำงานว่า ทำเลยเว้ย ทำไปก่อน แล้วถ้ามันผิดพลาดอะไรก็ค่อยแก้กันไป 

เราจะรันงานดีไซน์ให้อยู่ต่อไปอย่างยั่งยืนได้อย่างไร

ดรีม : แรงสนับสนุน โซนนี้ที่เราจะมีอีเวนต์ คือเราคิดกันว่าอย่างน้อยต่อให้เราไม่ได้เป็นสเปซที่ดัง แต่อยากให้เป็นพื้นที่ที่หากใครหาพื้นที่พอปอัปเพื่อโชว์งาน ตรงนี้จะเป็นอีกหนึ่งที่ที่เขาสามารถมาได้ ใครผ่านไปผ่านมาก็ยังเห็นงานเขา และเราก็หวังว่าสิ่งที่อยู่ตรงนี้จะสนับสนุนเขาให้ไปได้ไกลเรื่อย ๆ อย่างเราเองจบมาพร้อมกับไฟแรงมาก ๆ ตอนเริ่มทำบริษัทที่ทำอยู่กับเพื่อนก็รู้สึกได้ว่าไฟแรงอย่างเดียวแต่ไม่มีแรงสนับสนุน ไม่มีคนมองว่างานนี้มีคุณค่า เขาก็จะลดค่างานเราด้วยเงินหรือด้วยอะไรก็ตาม พอมันไม่มีสิ่งเหล่านี้งานที่เราคิดว่าจะไปได้ไกลก็ไปได้ไม่ไกล เราเลยคิดว่าจริง ๆ สิ่งสำคัญที่สุดคือคนเห็นคุณค่าของงานและพร้อมที่จะสนับสนุน ไม่ต้องคิดว่าจะไปขายให้ใคร แค่คิดว่าคนนี้มีความสามารถแล้วสนับสนุนก็ดีแล้ว 

Madbacon เปิดทำการมาระยะหนึ่งแล้ว รีวิวช่วงที่ผ่านมาหน่อย

เอก : สำหรับเอกแฮปปี้ ทั้งในเรื่องคนที่มา ไวบ์ที่เกิดขึ้น มันมีสิ่งหนึ่งที่เราอยากให้คนเข้ามาในร้านเราแล้วเป็นแบบนี้ซึ่งมันเกิดขึ้นจริง สมมติเราเข้าไปในร้านหนึ่ง เอกเป็นคนไม่ซื้อของอยู่แล้วถ้าไม่ชอบจริง ๆ ก็จะไม่ซื้อ แต่จะมีความคิดว่าอย่างน้อยเข้ามาแล้วสักอย่างอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะลูกอมเม็ดหนึ่ง ก่อนจะออกร้านไปไม่รู้จะซื้ออะไรจริง ๆ ก็เอาอันนี้แล้วกัน นี่คือสิ่งที่เอกคิดว่าอยากให้คนเข้ามาในร้านมาดูของ แต่จะชอบไม่ชอบนั่นคือเรื่องของลูกค้า แต่ว่าอยากให้เขาคิดว่าต้องมีอะไรติดไม้ติดมือกลับไปสักหน่อย ก็มีจริง ๆ เราเลยรู้สึกว่ามันอาจจะเป็น Bullet นิด ๆ หน่อย ๆ ที่คิดขึ้นมาเล่น ๆ แต่เกิดขึ้นจริง ภาพรวมตอนนี้เลยแฮปปี้ 

ดรีม : เราเป็นคนอินโทรเวิร์สมาก ๆ ไม่ค่อยชอบพูดอะไรกับใคร แต่พอเป็นการได้พูดในสิ่งที่เราสนใจ และมีคนสนใจเหมือนกันมันก็สนุกดี มีทั้งคนที่เข้ามาแล้วถามทุกอย่างในร้านเลย ว่านี่คืออะไร เราก็ต้องเดินตามเขาไปเพื่อบอกว่าอันนี้คือนี่ค่ะ หรือบางคนเช่นร้านเราจะมีไม้หอม (Temp in Sept) เขาก็จะตามมาแล้วอยากรู้มากว่ามันคืออะไร อยากให้เทสต์ให้ดู เล่าให้ฟัง ใช้เวลากับสินค้าตัวนั้นนานมาก เราเลยรู้สึกว่ามันชาเลนจ์ตัวเองด้วยที่ปกติไม่ค่อยคุยกับใคร แต่ตรงนี้ต้องเน้น Social Interaction มาก ๆ สนุกดี ทำให้เรารู้สึกว่าเราก็ยังมีสังคมอยู่ (หัวเราะ) 

ดา : เราแฮปปี้ตรงที่ทุกอย่างออร์แกนิกมาก ๆ ทุกอย่างเกิดขึ้นโดยปากต่อปากจริง ๆ ในระยะเวลาเท่านี้ ในช่วงเดือนแรกอาจจะมีแค่เพื่อนเรา แต่เพื่อนเราช่วยสร้างสายต่อไปอีก จากนั้นก็มีเพื่อนของเพื่อนมา มีคนที่เห็นโพสต์ มีคนมองเห็นร้านของเราเข้ามา ทุกอย่างมันเกิดขึ้นโดยที่เรายังไม่ได้ทำมาร์เก็ตติงอะไรมาก เรามีความหวังตรงที่มันทำให้เราอยากทำสเต็ปต่อไปอีกเรื่อย ๆ ยังเป็นขั้นตอนที่เรียนรู้ แต่เรายังแฮปปี้อยู่ และที่แฮปปี้มาก ๆ คือมีร้านอื่น ๆ ในอารีย์ที่เขารู้ว่ามีร้านเราอยู่ตรงนี้แล้วแนะนำลูกค้าเขามา เราดีใจ เรารักคอมมูนิตีอารีย์มากเลย เรารู้สึกว่าอารีย์น่ารัก เขาส่งลูกค้าเขามา มีร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านเสื้อผ้าญี่ปุ่นมือสองก็ส่งลูกค้าญี่ปุ่นมาทางนี้ 

ถ้าเข้ามาในร้านนี้โปรดักต์ที่ทั้งสามคนอยากหยิบออกไปคืออะไร 

ดรีม : Tiny hand เป็นลิสต์แรกที่ดรีมเอาใส่ในลิสต์โปรดักต์เลย เพราะดรีมไปเที่ยวกับพี่ดาที่สเปนแล้วก็เข้าร้านสไตล์แบบนี้แหละ เป็นชอปในมิวเซียม คือเราเดินดูทั่วร้านนะ แต่ไม่ได้อะไรเลย ซึ่งพอเดินไปที่แคชเชียร์มีกระปุก Tiny hand วางอยู่ เราเลยซื้อดีกว่า แล้วทั้งทริปนั้นก็คือเล่นทั้งทริปเลย เพราะว่าต้องใส่เสื้อแขนยาวแล้วเราก็ใส่ Tiny Hand ชี้นู่นชี้นี่ เลยรู้สึกว่าแปลกตรงที่มันคืออะไรก็ไม่รู้แต่เราเล่นตลอดเวลาเลย จนกลับมาไทยดรีมก็พกใส่กระเป๋าไปเล่นกับเพื่อนทุกที่ อย่างน้อยคนก็อาจจะคิดเหมือนกันว่าคืออะไร ดูเป็น Madbacon ดีที่แบบว่าคืออะไรอะ (หัวเราะ)

เอก : สำหรับเรา อีกพาร์ตหนึ่งคือเป็นโปรดักชันดีไซเนอร์ เหมือนเป็นช่างเบา ๆ เราจะชอบพกตลับเมตรเล็ก ๆ หรือเครื่องมือที่อยู่ในพวงกุญแจก็เอาออกมาได้เลย ซึ่งร้านเราก็มีขายอยู่บ้าง ถ้าให้เลือกของในร้านก็อาจจะเป็นเครื่องมือพวกนี้ เป็นพาร์ตของผู้ชาย

ดา : เลือกไม่ได้เลย อย่างที่บอกว่าร้านนี้มันก็คือนิสัยเราจริงๆ ชอบทุกอย่าง ถ้าเป็น Madbacon Merchandise ก็เป็นอะไรที่เราก็อยากขาย เสื้อผ้า แก้ว ที่เปิดขวดหรือไฟแช็ก เป็นของที่มีความเบสิกที่ถ้ามีไว้ก็จะได้ใช้อยู่แล้ว แต่เราอยากพุชตรงที่เป็นงานศิลปะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาในเวิ้งตรงนั้น เราว่าเราชอบงานของน้อง ๆ ที่มาบอกว่า พี่ดาครับผมผลิตอันนี้ เพื่อนผมทำโปสต์การ์ดอันนี้มา เอามาฝากขายหน่อยได้ไหมครับ เราชอบอะไรแบบนี้มันเป็นของจุกจิกที่เราชอบจริง ๆ แล้วเราก็อยากจะซัปพอร์ตพวกเขาจริง ๆ มันไม่มีงานไหนที่เรารู้สึกว่าไม่สวยสำหรับเรา แต่ละคนทำงานของตัวเองแล้วมันแปลกหมด แล้วก็มารวมอยู่ตรงนั้น มันดีหมดเลย ซึ่งงานของแต่ละคนก็จะมีทาร์เก็ตของเขาและทำให้ร้านเรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นที่สำหรับใครสักคนเลย แต่ละคนมีความชอบที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว พอได้ของเหล่านี้มารวมกันเราเลยรู้สึกว่าทำให้ร้านเราเต็มมากขึ้น

Fact File

  • Madbacon Store ซอยอารีย์ 5 เปิดทำการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 11.00-19.00 น. 
  • Location : bit.ly/3HQ7jE8
  • Instagram : @madbaconstore

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

ชยพล ปาระชาติ
11 ปีกับช่างภาพประจำนิตยสารสาย interior ปัจจุบันเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ที่ยังมุ่งมั่นอยากให้ทุกภาพออกมางดงามที่สุดในทุกครั้งที่กดชัตเตอร์