นักระบาดวิทยาภาคสนาม : นักสืบโรคระบาด ที่ต้องทำงานขนานการรักษา
Faces

นักระบาดวิทยาภาคสนาม : นักสืบโรคระบาด ที่ต้องทำงานขนานการรักษา

Focus
  • ประเทศไทยเป็นประเทศแรกนอกสหรัฐอเมริกาที่มีหลักสูตรการสร้าง นักระบาดวิทยาภาคสนาม ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2523 แตกต่างจากนักระบาดวิทยาสาขาอื่น ๆ ตรงที่ต้องมีการลงพื้นที่ไปสอบสวนโรคในกรณีที่เกิดการระบาด
  • ปัจจุบันประเทศไทยมีนักระบาดวิทยาภาคสนาม ราว 300-400 คน กระจายปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ แต่เมื่อเทียบกับประชากรคนไทยทั้งประเทศ และเทียบกับแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น ๆ ถือว่ายังมีปริมาณที่น้อย โดยในปีหนึ่ง ๆ มีนักระบาดวิทยาภาคสนามที่จบหลักสูตรมาราว 10 คนเท่านั้น
  • นักระบาดวิทยาภาคสนาม หรือที่ใคร ๆ ก็เรียกว่า นักสืบโรคระบาด เป็นอีกทีมที่ต้องทำงานอย่างหนักตั้งแต่สัญญาณการระบาดของโควิด-19 เริ่มต้นขึ้น นักระบาดวิทยาต้องลงมือสืบเสาะ หาที่มาของโรค เพื่อตัดตอนการแพร่ระบาดของโรคให้เร็วที่สุด

นอกจากแพทย์ พยาบาล ที่เป็นแนวหน้าในการทำงานรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แล้ว อีกอาชีพที่ต้องทำงานอย่างหนักในทันทีที่มีการส่งสัญญาณการระบาดของโควิด-19 มาจากประเทศจีนก็คือ นักระบาดวิทยา ซึ่งเป็นอีกสาขาเฉพาะทางไม่ต่างจากแพทย์ทั่วไป แต่อาจจะเปลี่ยนจากการตรวจโรคมาเป็นการสอบสวนโรคแทน ซึ่งในประเทศไทยนั้นงานด้านระบาดวิทยาไม่ได้เพิ่งถูกเซตอัปเพราะการระบาดของโควิด-19โดยเฉพาะ นักระบาดวิทยาภาคสนาม หรือที่ใครๆ เรียก นักสืบโรคระบาด นั้นไทยคือประเทศที่ 2 ในโลกที่มีหลักสูตรนักระบาดวิทยาภาคสนาม หรือนักสอบสวนโรคที่เป็นหลักสูตรเดียวกับสหรัฐอเมริกา และนั่นก็แปลว่าประเทศไทยมีการเตรียมพร้อมการรับมือโรคระบาดต่าง ๆ มาก่อนหน้านี้พร้อมทั้งมีการฝึกซ้อมการรับมือโรคระบาดมาอย่างต่อเนื่องร่วม 40 ปี

“ผมเคยไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชนมาก่อน ตอนนั้นผมคิดแค่ว่าการทำงานในโรงพยาบาลชุมชนมันเป็นงานไม่รู้จบ ในแต่ละวันมีคนไข้มาให้ตรวจมากถึงวันละ 80-100 คน และก็เป็นอย่างนั้นทุกวันทั้ง ๆ ที่เรารู้สึกว่าคนไข้บางกลุ่มเขาสามารถได้รับการปกป้องจากการเป็นโรคได้ ถ้ามีคนเข้าไปบริหารจัดการในชุมชน เช่น ไข้เลือดออก ถ้ามีการเข้าไปบริหารจัดการตั้งแต่มีผู้ป่วยรายแรกแล้วทำให้ไม่มีการติดต่อกันก็น่าจะดีขึ้น ซึ่งนี่คืองานของนักระบาดวิทยาภาคสนาม”

นักระบาดวิทยาภาคสนาม
นายแพทย์ไผท สิงห์คำ แพทย์ระบาดวิทยาภาคสนาม และ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมด้านสุขภาพและป้องกันควบคุมโรค

Sarakadee Lite ชวน นายแพทย์ไผท สิงห์คำ แพทย์ระบาดวิทยาภาคสนาม และ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมด้านสุขภาพและป้องกันควบคุมโรค มาพูดคุยทำความรู้จักศาสตร์ที่เรียกว่า ระบาดวิทยา พร้อมเจาะลึกการทำงานของนักระบาดวิทยาภาคสนาม หรือที่ใคร ๆ ก็เรียกว่า นักสืบโรค นักสืบโรคระบาด ผู้ที่ต้องทำงานคู่ขนานเพื่อสนับสนุนงานของทีมแพทย์ พยาบาล รวมทั้งลงมือสืบเสาะเพื่อตัดตอนการแพร่ระบาดของโรคให้เร็วที่สุด

ไม่ได้ตรวจผู้ป่วย ไม่ได้จ่ายยา ไม่ได้เปิดคลินิก แล้ว นักระบาดวิทยา คือใคร

พื้นฐานของ นักระบาดวิทยา จะมีสองมุมคือ นักระบาดวิทยาภาคสนาม และ นักระบาดวิทยาคลินิก นักระบาดวิทยาภาคสนาม ทำงานนอกโรงพยาบาลเป็นหลัก ดูข้อมูลสถิติการเปลี่ยนแปลงของโรคในชุมชน สอบสวนโรค ตัดตอนการระบาดของโรค ส่วนนักระบาดวิทยาคลินิกทำงานด้านข้อมูลผู้ป่วยที่มารับบริการในโรงพยาบาล ตัวผมเองทำงานนักระบาดวิทยาภาคสนาม ก็จะทำงานกับประชาชน ชุมชน งานนอกโรงพยาบาลเป็นหลัก ไม่ได้มองแค่โรคระบาด แต่นักระบาดวิทยาภาคสนามยังมองเรื่องภัยสุขภาพที่เกี่ยวกับประชาชนในภาพรวม เพื่อหาแนวทางในการใช้ทรัพยากรด้านการป้องกันควบคุมโรคที่เรามีอย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดความปลอดภัยสูงสุดสำหรับประชาชน

จุดเริ่มของงานด้านระบาดวิทยาในไทย

กระทรวงสาธารณสุขมีกองระบาดวิทยามานานมาก ทั้งฝั่งที่เป็นแพทย์ บุคลากรด้านสาธารณสุข นักวิจัย เจาะเข้ามาที่กองระบาดวิทยา เรามีทั้งงานส่วนกลางและเครือข่ายระบาดวิทยาอยู่ทั่วประเทศ เช่น ในสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายที่มีการอัปเดตข้อมูลทั่วประเทศอยู่ตลอด และทำงานร่วมกับเครือข่ายนักระบาดวิทยาในต่างประเทศด้วย

ศาสตร์ระบาดวิทยามีมานานแล้วในไทย แต่สิ่งใหม่คือ ศาสตร์ระบาดวิทยาภาคสนาม (field epidemiology) ซึ่งเป็นหลักสูตรเดียวกับของสหรัฐอเมริกาชื่อ หลักสูตรผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม (field epidemiology training program: FETP) ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.2523 ตอนนั้นเป็นวิชั่นของอาจารย์ ธวัช จายนียโยธิน, อาจารย์ประยูร กุนาศล และอาจารย์สุชาติ เจตนเสน ที่เห็นความสำคัญของงานระบาดวิทยาภาคสนาม และทำให้ไทยเป็นประเทศนอกอเมริกาประเทศแรกที่ใช้หลักสูตรนี้ ปัจจุบันก็ไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะมีนักระบาดวิทยาภาคสนาม บางประเทศอาจโฟกัสไปที่การรักษา แต่งานระบาดวิทยาภาคสนามเกิดขึ้นเพื่อควบคุมป้องกันโรค ซึ่งเวลากว่า 40 ปีที่ไทยได้ก่อตั้งหลักสูตรนี้ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าวิชั่นเรื่องระบาดวิทยาได้ปกป้องประเทศไทยจากโรคระบาดใหญ่ในหลาย ๆ ครั้ง อย่างไข้หวัดนก ไข้หวัด 2009

นักระบาดวิทยาภาคสนาม
นักระบาดวิทยาภาคสนาม

ความท้าทายของ นักระบาดวิทยาภาคสนาม คืออะไร

ส่วนตัวผม ผมคิดว่าผมมีเชื้อนักสืบประมาณหนึ่งเลยทำให้ชอบงานระบาดวิทยาภาคสนาม เราไม่ได้รักษาโรคโดยตรง แต่เราเป็นเหมือน นักสืบโรค ขั้นตอนสำคัญที่น่าตื่นเต้นมากคือเมื่อเราได้ค้นต้นตอของโรคไปเรื่อย ๆ และเจอความเชื่อมโยงในการแพร่เชื้อจากกลุ่มหนึ่ง จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง และเราสามารถตัดตอนการแพร่เชื้อนั้น และจำนวนผู้ป่วย จำนวนคนติดเชื้อลดลงทันตาเห็น จังหวะนั้นแหละเป็นจังหวะที่ผมรู้สึกตื่นเต้นกับกระบวนการทำงานระบาดวิทยาภาคสนามมาก

การตรวจจับสัญญาณการระบาด คือ สิ่งแรกที่นักระบาดวิทยาภาคสนามทำ เมื่อเราเจอสัญญาณการระบาดของโรค เราก็จะต้องเข้าไปขุดค้นต้นตอที่ทำให้เกิดโรค เกิดตรงไหน กลุ่มไหน อย่างไร ตรงนั้นเหมือนเรากำลังเข้าไปสืบสวน สืบค้นปัจจัยปัญหา การสืบค้นตรงนั้นเป็นงานที่หนักต้องอาศัยประสบการณ์ สังเกต วิเคราะห์ แยกแยะข้อมูลออกจากกัน จนเมื่อเราค้นพบเส้นทางการเชื่อมโยงการแพร่กระจายโรคและตัดตอนมันได้นั่นคือประสบความสำเร็จ เช่นเคสคลาสสิกที่เป็นตัวอย่างได้ดีคือ คุณหมอจอห์น สโนว์ บิดาแห่งนักระบาดวิทยาภาคสนาม

นักสืบโรคระบาด
คุณหมอจอห์น สโนว์ บิดาแห่งนักระบาดวิทยาภาคสนาม (ภาพ : John Snow Society)

คุณหมอเป็นแพทย์ในโรงพยาบาลที่อังกฤษ วันหนึ่งคุณหมอสังเกตว่ามีคนไข้ท้องเสียเข้ามารักษาในโรงพยาบาลเยอะผิดปกติ คุณหมอเลยออกไปสอบถามคนไข้แล้วเอาข้อมูลของคนไข้มาจุดลงบนแผนที่จนพบว่า เส้นทางการะระบาดของโรคไม่ได้เป็นการระบาดกระจัดกระจายทั่วลอนดอน แต่เกิดกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น คุณหมอก็เลยเดินทางไปในพื้นที่นั้นเพื่อสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง กินอะไร ท้องเสียเมื่อไรแต่ละคนมีภาวะอะไรร่วมกัน ผลสุดท้ายคุณหมอพบว่าท่อประปาในพื้นที่แตก และท่อประปาในสมัยนั้นวิ่งขนานกับท่อส้วมกลายเป็นว่าน้ำของท่อส้วมกับท่อประปาผสมกัน ทำให้มันเกิดภาวะติดเชื้อโรคทางเดินอาหาร

สำหรับเหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 งานของนักระบาดวิทยาเริ่มต้นจากตรงไหน

เมื่อทางการจีนรู้ว่าเริ่มมีการระบาด ก็อาศัยกฎอนามัยระหว่างประเทศในการแจ้งเตือนประเทศต่าง ๆ เพื่อเตรียมการ สำหรับไทยก็เริ่มเซตอัประบบป้องกันโรคต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ตั้งแต่เรายังไม่มีเคสผู้ป่วย ที่ต้องเซตอัประบบและทีมเพราะนักระบาดวิทยาต้องทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ เช่น นักวิจัย ห้องแล็บ นักวิเคราะห์ สถิติ รวมทั้งทีมที่ทำหน้าที่สื่อสาร ประสานทุกฝ่าย ใครค้นพบเชื้อเป็นจุดแรกก็จะเอาปัญหามาวิเคราะห์ร่วมกันทำให้เราสามารถจับสัญญาณการระบาดได้ย่างรวดเร็ว

ชีวิตนักระบาดวิทยาเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนหลังการระบาดของโควิด-19

ชีวิตของนักระบาดวิทยาไม่ได้เปลี่ยนไปมาก เพราะเรามีการฝึกซ้อมด้านระบาดวิทยาอยู่แล้วในทุก ๆ วัน อย่างที่กรมควบคุมโรค เรามีหน่วยงานหนึ่งชื่อว่า หน่วยเฝ้าระวังสถานการณ์ เรามีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรคเข้าไปรับข้อมูลจากทุก ๆ พื้นที่ในประเทศไทย เอามาวิเคราะห์เพื่อดูและจับสัญญาณการระบาดของโรค ทุก ๆ โรค ไม่ว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร โรคติดต่อทางอากาศ ถ้าเราเจอสัญญาณของโรคเมื่อใด เราก็จะส่งอีกทีมหนึ่งเรียกว่า ทีมสอบสวนโรค เข้าไปสอบสวนเพื่อหาสาเหตุของโรค เรามีการฝึกซ้อมอย่างนี้ในทุก ๆ วัน ในทุก ๆ พื้นที่ของประเทศอยู่แล้ว

ทีมงานด้านระบาดวิทยาที่ทำงานในตอนนี้ไม่ได้ถูกเซตอัปมาใหม่ในช่วงโควิด-19 เพียงแต่เราเซตระบบการประสานงานกับทีมอื่น ๆ ใหม่ งานระบาดวิทยา นักระบาดวิทยาในเมืองไทยถูกฝึกฝนมาหลายสิบปี และเราก็ทำอย่างนี้ด้วยมาตรฐานอยู่ทุก ๆ วัน ดังนั้นช่วงสถานการณ์โควิด-19 จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตนักระบาดวิทยามากนัก ยกเว้นแต่ว่าวงจรชีวิตเราอาจจะยาวนานขึ้น นอนน้อยลง แต่วิธีการทำงานเรายังใช้ทักษะที่ได้ฝึกซ้อมทุกวันมาทำงาน

นักสืบโรคระบาด

ว่ากันว่าศตวรรษที่ 21 นี้ เชื้อโรคน่ากลัวกว่าสงคราม ไทยมีนักระบาดวิทยาเพียงพอไหมในการป้องกันการระบาดครั้งใหม่

สำหรับต่างประเทศนักระบาดวิทยามีมูลค่าค่อนข้างสูงมาก เทียบเท่ากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหนึ่งเลย แต่ในเมืองไทยเราอาจจะไม่ค่อยได้ยินเรื่องราวของนักระบาดวิทยาในฉากหน้ามากนัก และมูลค่าของนักระบาดวิทยาเองอาจจะยังไม่เท่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ทำให้ ณ ตอนนี้เรามีนักระบาดวิทยาภาคสนามราว 200-300 คน ซึ่งก็ยังไม่ครบทุกจังหวัด เรามีนักระบาดวิทยาภาคสนามจบมาปีละ 5-10 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับแพทย์ในสาขาต่าง ๆ ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่หลายคนยังมองไม่เห็นภาพในการเติบโตของสายงาน หรือถ้าเทียบกับรายได้กับแพทย์ที่เปิดคลินิกก็อาจจะไม่ได้สูงเท่า หรือหลายคนตอนเรียนแพทย์ก็อาจจะไม่ได้เห็นการทำงานของนักระบาดวิทยามืออาชีพเท่าไรจึงทำให้สาขาระบาดวิทยายังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก

ทำไมคุณหมอถึงเลือกเรียนด้านระบาดวิทยาภาคสนาม

ผมเคยไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชนมาก่อน ตอนนั้นผมคิดแค่ว่าการทำงานในโรงพยาบาลชุมชนมันเป็นงานไม่รู้จบ ในแต่ละวันมีคนไข้มาให้ตรวจมากถึงวันละ 80-100 คน และก็เป็นอย่างนั้นทุกวันทั้ง ๆ ที่เรารู้สึกว่าคนไข้บางกลุ่มเขาสามารถได้รับการปกป้องจากการเป็นโรคได้ ถ้ามีคนเข้าไปบริหารจัดการในชุมชน เช่น ไข้เลือดออก ถ้ามีการเข้าไปบริหารจัดการตั้งแต่มีผู้ป่วยรายแรกแล้วทำให้ไม่มีการติดต่อกันก็น่าจะดีขึ้น ซึ่งนี่คืองานของนักระบาดวิทยาภาคสนาม และปัจจุบันศาสตร์ด้านระบาดวิทยาภาคสนามก็สามารถปรับใช้ได้กับงานควบคุมโรคต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่โรคระบาด เช่น เบาหวาน ความดันโลหิต รวมทั้งการลดอุบัติเหตุการจราจรก็ใช้ศาสตร์ระบาดวิทยาภาคสนามเข้ามาวิเคราะห์และป้องกัน

นักสืบโรคระบาด

ในฐานะนักระบาดวิทยาภาคสนาม อยากเห็น New Normal อะไรหลัง COVID-19

นักระบาดวิทยาเองอยากจะเห็นพฤติกรรมการดูแลสุขภาพและป้องกันโรคที่เปลี่ยนไปในเชิงบวก เช่น การระวังป้องกันตัวเองมากขึ้นในส่วนบุคคล การระวังตัวเองมากขึ้นในส่วนของสถานที่หรือผู้ให้บริการ หรือการที่คนไทยกล้าที่จะใส่หน้ากากอนามัยมากขึ้นต่างจากเมื่อก่อนที่คนใส่หน้ากากอนามัยคือคนที่ทุกคนจับตามอง

นอร์ม (norm) ใหม่อย่างหนึ่งที่อยากเห็นคือการทำความเข้าใจใหม่ว่า งานเรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องของกระทรวงสาธารณสุข หรือ โรงพยาบาลอย่างเดียว แต่เป็นงานที่ทุกคนทำได้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน การป้องกันโรคหรือการไม่ทำให้ตัวเองป่วยเกิดจากกิจกรรมทุก ๆ อย่างในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ถ้าเรามีนอร์มแบบนี้ใหม่ได้ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพอาจจะล่มสลาย หรือการไปโรงพยาบาลและต้องเอารองเท้ามาต่อคิวรอกันอาจจะเป็นเพียงภาพประวัติศาสตร์ไปเลย

อีกสิ่งที่อยากเห็นในนอร์มใหม่คือการที่ประเทศไทยเรามีทรัพยากร มีสิ่งอำนวยความสะดวก (facility) ที่ส่งเสริมให้คนในประเทศมีสุขภาพที่ดีได้ ผมไม่ได้หมายถึงโรงพยาบาล แต่ผมหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว เช่น ทำไมคนไทยถึงมีกิจกรรม มีการออกกำลังได้อย่างยากลำบาก โครงสร้างของเมืองยังไม่เป็นมิตรต่อการที่จะออกกำลัง แค่เดินออกจากบ้านก็จะเดินไม่ได้แล้ว หรือแค่ขี่จักรยานไปทำงานก็ยังยาก ผมอยากใช้ข้อมูล ความรู้ที่พอจะมีในการผลักดันนอร์มใหม่ ๆ ให้เมืองกลายเป็นเมืองที่เป็นมิตรในการสร้างสุขภาพที่ดีของคนไทย

Fact File


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"