ฮานาโกะ : ช้างไทยผู้โดดเดี่ยวที่สุดในโลก ที่ถูกส่งไปเยียวยาหัวใจเด็กญี่ปุ่น
Faces

ฮานาโกะ : ช้างไทยผู้โดดเดี่ยวที่สุดในโลก ที่ถูกส่งไปเยียวยาหัวใจเด็กญี่ปุ่น

Focus
  • 2 กันยายน พ.ศ. 2492 วันที่ ฮานาโกะ (Hanako) ช้างไทยถูกส่งไปเยียวยาเด็กญี่ปุ่นผู้กำพร้าจากเหตุแห่งความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สวนสัตว์อุเอโนะ กรุงโตเกียว
  • ฮานาโกะ กลายเป็นตำนานช้างผู้โดดเดี่ยว ได้รับการเขียนถึงจากสื่อต่างๆ ว่าเป็น The World’s Loneliest Elephant และ World’s Saddest Elephant จากเหตุการณ์ที่ฮานาโกะเคยทำให้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์เสียชีวิตในช่วงปี พ.ศ.2503 จนต้องถูกจับล่ามโซ่และขังเดี่ยวในคอกคอนกรีต

2 กันยายน พ.ศ. 2492  วันที่ ฮานาโกะ (Hanako) ช้างไทยถูกส่งไปเยียวยาเด็กญี่ปุ่นผู้กำพร้าจากเหตุแห่งความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจาก ร้อยเอก สมหวัง สารสาส ทายาทของ พันโท พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์) ต้นตระกูล “สารสาส”  อดีต รมต.กระทรวงเศรษฐการ สมัย รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา

ร้อยเอก สมหวัง มีความผูกพันกับประเทศญี่ปุ่นมาก หลังจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 และญี่ปุ่นเป็นผู้แพ้สงครามจึงได้ซื้อลูกช้างพัง (ช้างเพศเมีย) 1 เชือก ส่งไปให้ สวนสัตว์อุเอโนะ กรุงโตเกียว เพื่อเป็นการปลอบโยนเด็ก ๆ ที่ต้องหวาดกลัวกับสงครามครั้งนี้ ทางสวนสัตว์ได้ตั้งชื่อให้ว่า ฮานาโกะ แปลว่า ดอกไม้สีทอง แต่ชื่อเดิมของฮานาโกะคือ พังคชา และผู้ดูแลชาวญี่ปุ่นเรียกว่า คชาโกะ ก่อนจะเปลี่ยนมาเรียกฮานาโกะตามที่ทางสวนสัตว์ตั้ง

ฮานาโกะ

2 กันยายน พ.ศ. 2492  เป็นวันที่ฮานาโกะออกเดินทางจากไทยไปถึงท่าเรือเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่นในวัยเพียง 2 ปีซึ่งถือว่าเป็นช้างที่ยังเด็กมากที่จะถูกจับแยกจากแม่มาอยู่ลำพัง มีบันทึกในหนังสือ ธรณีสีเหลือง เขียนโดย ร้อยเอกสมหวัง สารสาส เอ่ยถึงบรรยากาศวันส่งมอบฮานาโกะที่ท่าเรือโกเบว่า

“…ข้าพเจ้าก็แปลกใจมากที่วันนั้นมีเด็กมาชุมนุมกันเกือบแสนคนเพื่อดูช้าง…”

ก่อนหน้านั้นสวนสัตว์อุเอโนะเคยเลี้ยงช้างไทยมาก่อนแล้ว เป็นช้างที่รัฐบาลไทยส่งไปสานสัมพันธ์กับญี่ปุ่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 ทว่าล้มตายเพราะความอดอยากในระหว่างสงครามโลกครั้ง 2 และช้างน้อยตัวนั้นชื่อฮานาโกะ (ชื่อเดิมคือ วันดี) เช่นกัน เมื่อได้ช้างเชือกใหม่มาทางสวนสัตว์ จึงตั้งชื่อให้เหมือนช้างน้อยเชือกแรกที่จากไป โดยความทรงจำของช้างไทยตัวแรกมีบันทึกไว้ในตอนหนึ่งของการ์ตูน โดราเอมอน โดย ฟุจิโกะ เอฟ ฟุจิโอะ ที่เขียนถึงความผูกพันของคนโตเกียวกับช้างไทยฮานาโกะยุคก่อนสงครามโลก

ฮานาโกะ

เนื่องจากไม่ทราบวันเกิดแน่ชัดของฮานาโกะ ทางญี่ปุ่นจึงถือเอาวันแรกของปี พ.ศ. 2490  ของฮานาโกะ เป็นวันคล้ายวันเกิดและต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่สวนสัตว์อิโนะกะชิระ  (Inokashira Park Zoo) เมือง Musashino เป็นการถาวร

ฮานาโกะ เป็นขวัญใจมหาชนถึงขั้นสัญลักษณ์ประจำสวนสัตว์อิโนะกะชิระ สวนสัตว์เป็นรูปฮานาโกะ และเมืองมูซะชิโนะ ก็เป็นรูปช้างฮานาโกะ อีกทั้งฮานาโกะยังถูกใช้ในงานรณรงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น การป้องกันอัคคีภัย

ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 ทางสวนสัตว์อิโนะกะชิระ ได้จัดงานฉลองวันเกิดครบ 66 ปีให้ช้างไทยขวัญใจชาวญี่ปุ่นเชือกนี้ โดยมีนายกเทศมนตรีแห่งเมืองมุซะชิโน ร่วมด้วย ดร.ชินเวศ สารสาส บุตรชายของร้อยเอกสมหวัง และอุปทูตไทยประจำกรุงโตเกียวไปร่วมงานฉลอง พร้อมกับประชาชนราว 800 คน ร่วมกันมอบเค้กวันเกิดที่ทำจากขนมปัง มันเทศ หัวแครอตและสตรอวเบอร์รีให้คุณป้าฮานาโกะ และกลายเป็นอีกข่าวดังในสื่อมวลชนทั่วประเทศญี่ปุ่น

หนึ่งความผูกพันที่ทำให้ร้อยเอก สมหวังมีต่อญี่ปุ่นถึงขั้นส่งมอบช้างไทยเป็นของขวัญญี่ปุ่น สืบเนื่องมาจากชะตาชีวิตของ พันโท พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์) ต้นตระกูล สารสาส  อดีต รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐการ ในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ลี้ภัยการเมืองยุคคณะราษฎร์ ออกไปพำนักที่แดนอาทิตย์อุทัย และติดค้างอยู่นานถึง 10 ปีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตรงกับช่วงปี พ.ศ. 2478-2488

ฮานาโกะ

ดร.ชินเวศ สารสาส บุตรชายของร้อยเอกสมหวัง เปรียบ ฮานาโกะ เสมือนทูตวัฒนธรรมไทยกับญี่ปุ่น ช่วงปี พ.ศ. 2520 ฮานาโกะ มีบ้านที่ค่อนข้างสะดวกสบาย เป็นโรงช้างพื้นที่ 260 ตารางเมตร มีพื้นที่หลบแดด และมีเครื่องทำความร้อนสำหรับหน้าหนาว มีบ่อน้ำกลางแจ้ง และลานกว้างให้ฮานาโกะได้เล่นได้ แต่ถึงกระนั้นช่วงบั้นปลายชีวิตของ ฮานาโกะ กลับตรงกันข้ามและกลายเป็นตำนาน ช้างผู้โดดเดี่ยว ได้รับการเขียนถึงจากสื่อต่างๆ ว่าเป็น The World’s Loneliest Elephant และ World’s Saddest Elephant จากเหตุการณ์ที่ฮานาโกะเคยทำให้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์เสียชีวิตในช่วงปี พ.ศ.2503 จนต้องถูกจับล่ามโซ่และขังเดี่ยวในคอกคอนกรีตซึ่งถือว่าเป็นการทำร้ายช้างที่มีอุปนิสัยเป็นสัตว์สังคม และเรื่องนี้ก็ถูกเขียนเป็นหนังสือ และสร้างเป็นละครโทรทัศน์ญี่ปุ่นมาแล้ว

เรื่องราวความโดดเดี่ยวของฮานาโกะ ปรากฏในสื่อต่างๆ ทั่วโลก ทั้ง CNN, The Washington Post และ The New York Times  พร้อมทั้งช่วยปลุกกระแสพิทักษ์สัตว์ การปรับวิธีการโดยคำนึงถึงเมตตาธรรมในการดูแลช้างในสวนสัตว์ทั่วญี่ปุ่นให้เกิดขึ้น แม้ว่ามันจะเกิดในช่วงโค้งสุดท้ายของชีวิตฮานาโกะก็ตาม แต่องค์กรอย่าง Elephants in Japan และ Zoocheck องค์กรพิทักษ์สัตว์ป่าสากล ก็ได้ช่วยผลักดันให้ช้างเชือกอื่นๆ ได้รับการดูแลอย่างเข้าใจมากขึ้นโดยเฉพาะช้างชราที่ปลดระวางจากการทำงาน หรือช้างในสวนสัตว์นั้นต้องไม่ถูกเลี้ยงอยู่อย่างโดดเดี่ยว

ฮานาโกะ เสียชีวิตในเดือนพฤษภาคมปี พ.ศ.2559 ขณะอายุ 69 ปี ซึ่งถือได้ว่าเป็นช้างเชือกที่อายุมากที่สุดในญี่ปุ่นตอนนั้น แต่ที่น่าเศร้าคือการตายของฮานาโกะนั้นช่างโดดเดี่ยวอยู่ในคอกคอนกรีตแคบๆ ที่ถูกขัง โดย ก่อน ฮานาโกะ จะเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2558  มีช้างไทยอยู่ในสวนสัตว์ทั่วญี่ปุ่นทั้งหมด 14 เชือก

ต่อมาทางการญี่ปุ่นได้อนุมัติให้ทำรูปปั้นเท่าตัวจริงของฮานาโกะ สูง 1.5 เมตร เป็นอนุสรณ์แก่ช้างไทยชื่อกระฉ่อนโลกเชือกนี้ ปัจจุบัน รูปปั้นฮานาโกะ ตั้งอยู่ที่หน้าสถานีรถไฟ  คิชิโจจิ (Kishijoji Station) ในเมือง Musashino ชานกรุงโตเกียว

ภาพ : elephantsinjapan.com/

อ้างอิง

  • นิตยสารคดี  สิงหาคม 2556 และ มกราคม 2560
  • elephantsinjapan.com

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป