กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ผู้กล้าท้าอำนาจเผด็จการ
Faces

กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักประพันธ์และนักหนังสือพิมพ์ผู้กล้าท้าอำนาจเผด็จการ

Focus
  • กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ยุคบุกเบิกในตำนานผู้กล้าท้าทายอำนาจเผด็จการจนถูกจับกุมคุมขังหลายครั้งและต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศกว่า 15 ปี
  • “ข้างหลังภาพ” “สงครามชีวิตลูกผู้ชาย” และ “แลไปข้างหน้า” คือบทประพันธ์เลื่องชื่อของกุหลาบภายใต้นามปากกา “ศรีบูรพา”
  • องค์การยูเนสโก ได้ยกย่องให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบุคคลดีเด่นของโลก ประจำพ.ศ. 2547-2548 สาขานักเขียนและนักหนังสือพิมพ์

กุหลาบ สายประดิษฐ์ (พ.ศ.2448-2517) ชื่อนี้เป็นทั้งนักคิด นักเขียนชื่อดังเจ้าของนามปากกา ศรีบูรพา ผู้เป็นเจ้าของบทประพันธ์เลื่องชื่อสุดคลาสสิกอย่าง ข้างหลังภาพ, สงครามชีวิตลูกผู้ชาย และ แลไปข้างหน้า นอกจากนักประพันธ์แล้ว กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยังเป็นนักหนังสือพิมพ์ยุคบุกเบิกในตำนาน ผู้กล้าท้าทายอำนาจเผด็จการจนถูกจับกุมคุมขังหลายครั้งและต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศกว่า 15 ปี และเสียชีวิตในต่างแดน องค์การยูเนสโกยังได้ยกย่องให้ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นบุคคลดีเด่นของโลก ประจำพ.ศ. 2547-2548 สาขานักเขียนและนักหนังสือพิมพ์

กุหลาบ สายประดิษฐ์

กุหลาบเกิดวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2448 ในปลายรัชกาลที่ 5 เขารักการอ่านและเขียนหนังสือตั้งแต่สมัยเรียนที่โรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ขณะเรียนเคยทำหนังสืออ่านกันเองระหว่างเพื่อนร่วมชั้น เช่น ม.จ.อากาศดำเกิง ในชื่อหนังสือ ดรุณสาร และ ศรีเทพ และได้เริ่มใช้นามปากกา ศรีบูรพา เขียนบทประพันธ์ขายเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่ในวัยเรียน

ศรีบูรพา

หลังจบม.8 เป็นทั้งครูสอนภาษาอังกฤษตอนค่ำที่โรงเรียนรวมการสอน และเป็นนักประพันธ์ที่สำนักรวมการแปล อีกทั้งเขียนบทกวีและเขียนเรื่องจากภาพยนตร์ส่งหนังสือพิมพ์ ภาพยนตร์สยาม และใช้นามปากกาหลากหลายเช่น ดาราลอย, ส.ป.ด., กุหลาบ, นางสาวโกสุมภ์, หนูศรี, ก.สายประดิษฐ์, นายบำเรอ และ หมอต๋อง ขณะเดียวกันก็ช่วยเพื่อนทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ ธงไทย

ต่อมาเขาได้รับราชการที่กรมยุทธศึกษาฯ เป็นผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ แต่ไม่นานก็ตัดสินใจลาออกมาเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์อิสระเนื่องจากไม่พอใจระบบเส้นสายและการปกครอง เส้นทางการเป็นนักหนังสือพิมพ์เต็มตัวเริ่มขึ้นเมื่อกุหลาบร่วมกับเพื่อนๆ ออกหนังสือพิมพ์รายปักษ์ชื่อ สุภาพบุรุษ และประกาศรับซื้อเรื่องจากนักประพันธ์ทั้งหลายทั้งเชิงสารคดีและบันเทิงคดี นับเป็นการสร้างระบบซื้อเรื่องจากนักเขียนในวงการหนังสือพิมพ์ครั้งแรกเพื่อให้งานเขียนหนังสือเป็นงานมีเกียรติและยึดเป็นอาชีพได้ ดังที่เขาเขียนไว้ในบทบรรณาธิการว่า 

“การประพันธ์ของชาวเราทุกวันนี้เป็น เล่น เสียตั้ง 90 เปอร์เซ็นต์ ที่จัดว่าเป็น งาน เห็นจะได้สัก 10 เปอร์เซ็นต์ดอกกระมัง บัดนี้จึงควรเป็นเวลาที่เราจะเปลี่ยนโฉมหน้าการประพันธ์ให้หันจาก เล่น มาเป็น งาน

หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ ฉบับปฐมฤกษ์คือวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2472 โดยกลุ่มคณะจัดทำชื่อคณะสุภาพบุรษ โดยมีตัวเขาเป็นเจ้าของและบรรณาธิการและเพื่อนร่วมก่อตั้งเช่น อบ ไชยวสุ (นามปากกา ฮิวเมอริสต์) และมาลัย ชูพินิจ (นามปากกา แม่อนงค์) โดยตีพิมพ์จนถึงฉบับสุดท้ายในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473

กุหลาบรับหน้าที่บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ให้อีกหลายฉบับเช่น บางกอกการเมืองไทยใหม่ และหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าที่กล้าท้าทายอำนาจเผด็จการและมีบทความวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างเผ็ดร้อนจนเคยถูกสั่งปิดไปหลายครั้ง เขายังได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยในช่วง พ.ศ.2488-2489 

อมตะนิยาย ข้างหลังภาพ ในนามปากกา ศรีบูรพา ที่ยังตราตรึงคนอ่านมาจนถึงปัจจุบัน เกิดจากการเดินทางไปดูงานด้านหนังสือพิมพ์ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 6 เดือน เพราะในช่วงนั้นทางหนังสือพิมพ์ประชาชาติที่เขาเป็นบรรณาธิการเกิดความขัดแย้งภายในเนื่องจากในช่วงพ.ศ.2479 หลวงพิบูลสงครามมีบทบาททางการเมืองสูงและไม่พอใจที่ทางประชาชาติให้การสนับสนุนพระยาทรงสุรเดช คู่แข่งทางการเมือง กุหลาบจึงถือโอกาสนี้เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อผ่อนปรนความขัดแย้ง แต่หลังจากกลับมาจากดูงานเขาก็ไม่ได้กลับไปทำงานที่ประชาชาติอีก และใช้เวลาเชียนหนังสืออยู่บ้านจนเกิดนิยายเช่น ข้างหลังภาพ และ ป่าในชีวิต

ด้วยเลือดข้นคนหนังสือพิมพ์ กุหลาบยังไม่หยุดเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอยู่ตลอดเวลา เช่น ให้รัฐบาลยกเลิกเซ็นเซอร์หนังสือพิมพ์ ยกเลิก พ.ร.บ.การพิมพ์ พ.ศ.2484และบทความที่คัดค้านรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงครามที่ร่วมมือกับญี่ปุ่นในการทำสงครามทำให้เขาถูกจับข้อหากบฏภายในประเทศและถูกคุมขังอยู่ราว 3 เดือน เมื่อ พ.ศ.2485 

เขาถูกจับกุมอีกครั้งเมื่อ พ.ศ.2495 คราวที่ร่วมคัดค้านสงครามรุกรานเกาหลีในข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักรและถูกตัดสินจำคุก 13 ปี 4 เดือนและได้รับนิรโทษกรรมเมื่อ พ.ศ.2500 

ชีวิตผกผันอีกครั้งเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2501 ขณะไปเยือนประเทศจีนในนามหัวหน้าคณะผู้แทนส่งเสริมและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำรัฐประหารในประเทศไทยและจับกุมคุมขังผู้รักชาติรักประชาธิปไตยขนานใหญ่ และเพื่อหลีกเลี่ยงการโดนจับกุม กุหลาบจึงขอลี้ภัยที่จีนและอยู่ที่นั่นจนถึงแก่กรรมด้วยโรคปอดบวมและเส้นเลือดหัวใจตีบเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2517 โดยทางการจีนได้จัดพิธีศพให้อย่างสมเกียรติ

อ้างอิง

  • นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 196 มิถุนายน พ.ศ.2544