แด่ทุกความฝันของหญิงสาว Little Women วรรณกรรมที่เจาะลงไปในใจผู้หญิง โดย ลุยซา เมย์ อัลคอตต์
Faces

แด่ทุกความฝันของหญิงสาว Little Women วรรณกรรมที่เจาะลงไปในใจผู้หญิง โดย ลุยซา เมย์ อัลคอตต์

Focus
  • ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ เป็นนักเขียนชาวอเมริกัน เกิดวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ.1832 เติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่มีแนวคิดการใช้ชีวิตตามปรัชญาอุตรนิยม (Transcendentalist)
  • Little Women ถือได้ว่าเป็นงานเขียนที่มีอิทธิพลต่อนักเขียนหญิงรุ่นต่อๆ มา โดยเฉพาะตัวละคร “โจ มาร์ช” ลูกสาวคนที่ 2 ที่มีบุคลิกและความคิดแหกขนบที่สุดในบ้าน การแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา รักอิสระ และมุ่งมั่นจะเป็นนักเขียน

ในบรรดาวรรณกรรมเยาวชนชุดคลาสสิกของโลกนั้น Little Women โดย ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ (Louisa May Alcott หรือ L.M. Alcott) คือวรรณกรรมเรื่องเยี่ยมที่เจาะลึกลงไปในหัวใจของผู้หญิงหลายยุคสมัย พร้อมการตั้งคำถามถึงมุมมองการใช้ชีวิตของผู้หญิงในแบบที่วรรณกรรมกว่า 150 ปีก่อนไม่ได้พูดถึงมากนัก และแม้ Little Women จะถูกจัดอยู่ในหมวดวรรณกรรมเยาวชน แต่ก็มีความสนุกของนิยายประโลมโลก เรื่องรัก ความเข้าอกเข้าใจผู้หญิง มองลึกเข้าไปในความฝัน และการตามหาคุณค่าที่แท้จริงแห่งตนเอง เป็นหนังสือแนว Coming of Age การก้าวข้ามวัยที่ผู้หญิงยุคปัจจุบันก็สามารถเข้าถึงได้

30 กันยายน ค.ศ. 1869 ตรงกับวันที่ Little Women โดย สำนักพิมพ์ โรเบิร์ตส์ บราเธอร์ส (Roberts Brothers) ซึ่งเป็น 1 ใน 100 วรรณกรรมเยาวชนคลาสสิกเรื่องเยี่ยมระดับโลกวางแผง เนื้อหาของเรื่องและฉากหลังได้แรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของผู้แต่งจนหลายคนบอกว่าแท้จริงแล้ว Little Women คือนิยายกึ่งชีวประวัติของอัลคอตต์เลยก็ว่าได้ วรรณกรรมเรื่องนี้ประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกที่ตีพิมพ์ แต่ Little Women ไม่ได้เป็นนิยายเรื่องแรกของเธอ งานเขียนประเภทนิยายเล่มแรกของอัลคอตต์จริงๆ คือ Moods ซึ่งเขียนจากเรื่องราวความแอบรักในวัยเยาว์และความโรแมนติกของอัลคอตต์ที่มีต่อ เฮนรี เดวิด ธอโร ( Henry David Thoreau) นักเขียนหนุ่มไฟแรงแห่งยุค เจ้าของวรรณกรรมชิ้นเยี่ยม Walden ส่วนงานที่เขียนตีพิมพ์เล่มแรกจริงๆ ของอัลคอตต์เป็นงานรวมเล่มความเรียงและเรื่องสั้นชื่อ  Flower Fables ตีพิมพ์ ค.ศ. 1854 ซึ่งต้นฉบับเป็นงานที่อัลคอตต์ เขียนให้ลูกสาวของ ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) นักประพันธ์ชาวอเมริกันผู้อาศัยอยู่ที่รัฐแมสซาชูเซตส์

ลุยซา เมย์ อัลคอตต์

โจทย์แรกของ Little Woman ที่อัลคอตต์ได้รับจากสำนักพิมพ์ คือให้เขียนนิยายสำหรับเด็กสาว ซึ่งแม้อัลคอตต์จะออกตัวไว้ก่อนว่าเธอไม่เคยชอบสุงสิงกับเด็กสาวหรือรู้จักผู้หญิงมากมายนักนอกจากแค่พี่ๆ น้องๆ ในครอบครัวของเธอ แต่ท้ายที่สุดเธอก็สามารถเขียนเรื่องราวของสี่ดรุณีแห่งครอบครัวมาร์ช (March) ออกมาได้อย่างสนุกสนาน เป็นเรื่องราวของ มาร์กาเร็ต (เม็ก) โจเซฟีน (โจ) อลิซาเบธ (เบธ) และเอมี สี่พี่น้องตระกูล “มาร์ช” ที่ล้วนเป็นผู้หญิงทั้งหมด กับฉากชีวิตในเมืองเล็กๆ ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ ภายใต้การดูแลของแม่ ในขณะที่พ่อของพวกเธอต้องไปทำภารกิจทหารในสงครามกลางเมือง ช่วงปลายศตวรรษที่ 19  แน่นอนว่าบริบทสังคมอเมริกันในยุคสงครามกลางเมืองช่วง ค.ศ.1861-1865 ล้วนถูกแทรกไว้ระหว่างการเล่าเรื่อง ทั้งชีวิตประจำวันและการเติบโตของเด็กสาวทั้งสี่ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองจนคนที่มีสมบัติเก่าและเงินเดือนจากรัฐอย่างครอบครัวของสี่ดรุณีก็ยังต้องประหยัดมัธยัสถ์ ขณะเดียวกันพวกเธอได้เห็นความอดอยากของเพื่อนบ้าน การค้าทาสผิวดำ การที่ผู้ชายในบ้านต้องถูกเกณฑ์ไปสงคราม และการศึกษาของเด็กหญิงที่ยังไม่ถูกผลักดันสู่การเล่าเรียนเพื่อประกอบอาชีพนอกบ้าน

Little Women
ภาพประกอบในเล่มเห็นความอบอุ่นของสี่พี่น้องซึ่งมีผู้เป็นแม่คอยดูแล

Little Woman ประสบความสำเร็จขายหมดภายในเวลาไม่กี่วันตั้งแต่ครั้งแรกที่พิมพ์ จากจำนวน 2,000 เล่มต้องเพิ่มยอดพิมพ์ไปจนถึงหลักแสนเล่ม จากเดิมที่เนื้อเรื่องมีเพียง 23 บท ก็มีการเขียนเรื่องราวต่อเนื่องจนกระทั่งจบสมบูรณ์ที่ 47 บท ในปีต่อมา โดยแบ่งเป็นภาคหนึ่ง ภาคสอง และมีการตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1880 พร้อมกันนั้นยังถูกเล่าต่อเนื่อง ขยายไปเป็นนิยายอีก 2 เล่ม คือ  Little Men (ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1871) และ Jo’s Boys (ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ.1886) ความโด่งดังส่งให้ช่วงทศวรรษ 1960 Little Women ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 50 ภาษา ส่วนฉบับแปลภาษาไทยครั้งแรก เป็นสำนวนแปลของ อ.สนิทวงศ์ (นามปากกาของ อุไร สนิทวงศ์) ชื่อภาษาไทย “สี่ดรุณี” ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แพร่พิทยา เมื่อ ค.ศ.1953 นอกจากนี้ยังมีการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เช่นล่าสุดคือ Little Women ฉบับผู้กำกับ เกรต้า เกอร์วิก (Greta Gerwig) ฉายปี ค.ศ. 2019

Little Women
Little Women ฉบับภาพยนตร์ กำกับโดย เกรต้า เกอร์วิก
ภาพ : © 2019 CTMG, INC. ALL RIGHTS RESERVED.

ด้วยเนื้อหาที่เปิดมุมมองใหม่ให้แก่ผู้หญิงที่ไม่ได้เจาะจงไปเพียงในยุคใดยุคหนึ่งเท่านั้น ทำให้ Little Women ถูกยกย่องจากนิตยสาร Time ให้เป็น 1 ใน 100 เล่ม วรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยมตลอดกาล และยังได้รับการโหวตให้เป็น 1 ใน 100 เล่มหนังสือยอดนิยมของชาวอเมริกัน อีกทั้งตัวละครสำคัญในสี่พี่น้องตระกูล “มาร์ช” ยังเป็นตัวแทนสะท้อนถึงวิถีแห่งความเป็นผู้หญิงในแบบที่หลากหลายทั้งบุคลิก ความชอบ และความฝัน เริ่มจาก เม็ก พี่สาวคนโตของบ้าน สวย เจ้าสำอาง ชอบแต่งตัวและฝันจะมีชีวิตร่ำรวย ส่วน โจ ลูกสาวคนที่สอง เป็นสาวเจ้าอารมณ์ผู้มาพร้อมกับความฉลาดช่างคิดและมีพรสวรรค์ในการเขียน ถัดมาคือ เบธ ลูกสาวคนที่สาม ผู้หญิงน่ารักอ่อนหวาน ชอบเก็บตัวและอยู่บ้าน  ส่วน เอมี น้องสาวคนสุดท้อง มุ่งหวังจะเป็นศิลปินนักวาดภาพ เธอเป็นน้องเล็กที่ร้ายกาจและแสบสันต์ ทั้งยังเป็นคู่ปรับคนสำคัญกับโจ

Little Women
บ้านไม้ของครอบครัวอัลคอตต์ ต้นกำเนิดวรรณกรรมสี่ดรุณี

ทั้งนี้ขณะที่ผู้อ่านกำลังตื่นเต้นลุ้นเพลิดเพลินกับวิถีการเติบโตของสี่ดรุณีทั้งภายในและภายนอกจนถึงวัยผู้ใหญ่ การบริหารความสัมพันธ์ภายในและภายนอกของมาร์มี (แม่)  ก็กลายเป็นเนื้อหาสากลที่ทุกคนเข้าถึงได้และสามารถตรึงใจผู้อ่านได้อยู่หมัด ร่วมด้วยเนื้อหาเรื่องการแสวงหาตัวตนที่เป็นปัจเจก และการตอกย้ำคุณค่าของหน่วยเล็กๆ อย่างครอบครัว ซึ่งแม้จะอ่านในยุคปัจจุบันที่บริบทสภาพสังคมแตกต่างจากสถานการณ์ต้นเรื่องของเหล่าสาวน้อยสี่ดรุณีแห่งตระกูลมาร์ชมากว่า 150 ปี ก็เชื่อว่าผู้อ่านยังคงอินกับเรื่องได้

สำหรับ โจ มาร์ช ถือเป็นอีกตัวละครที่น่าสนใจมากของเรื่องนี้ เพราะเป็นภาพตัวแทนของผู้เขียน ซึ่งนั่นส่งให้พลังของงานเขียนนวนิยายอิงชีวประวัติของตัวเองมีเสน่ห์ล้ำลึกและเข้าถึงจิตใจผู้อ่านมาหลายยุคหลายสมัย โดยตัวละคร โจ มาร์ช เป็นหญิงทันสมัยในศตวรรษที่ 20-21 ความคิดของเธอข้ามกรอบวิถีอิสตรีเดิมๆ กับการตั้งคำถามหาคุณค่าของตัวเอง การแสวงหาทางเลือกอื่นๆ ตามเจตจำนงเสรี ไม่ใช่เพียงตัวเลือกเดียวในครรลองของการมีความรักและแต่งงานกับผู้ชาย โจ มาร์ช ไม่ได้ปฏิเสธความรักและการแต่งงาน แต่เธอให้ความสำคัญกับรักโรแมนติกและการได้สิทธิ์เลือก มากกว่าเงื่อนไขอื่นใดที่อิงปัจจัยในการดำรงชีวิตในสังคม

Little Women
โจ มาร์ช เวอร์ชันภาพยนตร์ เป็นภาพตัวแทนของผู้เขียน

Little Women ถือได้ว่าเป็นงานเขียนที่มีอิทธิพลต่อนักเขียนหญิงรุ่นต่อๆ มา โดยเฉพาะตัวละคร “โจ มาร์ช” ลูกสาวคนที่ 2 ใน 4 ดรุณีที่มีบุคลิกและความคิดแหกขนบที่สุดในบ้าน การแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา รักอิสระ และมุ่งมั่นจะเป็นนักเขียนซึ่งเป็นเส้นทางที่ไม่ง่ายเลยจริงๆ ในยุคปลายศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงที่สังคมอเมริกันยังไม่ได้มีนักเขียนหญิงเป็นอาชีพมากมายนัก ดังนั้นการต่อสู้เพื่อบรรลุความใฝ่ฝันและได้ตีพิมพ์หนังสือที่มีชื่อเป็นของตัวเองจึงโดนใจบรรดานักเขียนสตรีระดับเบสต์เซลเลอร์ และสตรีผู้มีชื่อเสียง บุคคลสาธารณะในศตวรรษที่ 20 ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน นักคิดสตรีผู้ทรงอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวและแนวคิดสตรีนิยม อย่าง  ซีโมน เดอ โบวัวร์  (Simone de Beauvoir)  กลอเรีย สไตเนม  (Gloria Steinem) เกอร์ทรูด สไตน์ (Gertrude Stein)  เฮเลน เคลเลอร์  (Helen Keller) หรือแม้แต่ ฮิลารี รอดแฮม คลินตัน (Hillary Rodham Clinton) อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกายุคประธานาธิบดี บิล คลินตัน รวมถึง เจเค โรว์ลิง (J.K. Rowling) นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนเบสต์เซลเลอร์ ชุด แฮรี พอตเตอร์

ลุยซา เมย์ อัลคอตต์
(ภาพ : Library of Congress, Washington, D.C. )

7 เรื่องเกี่ยวกับ ลุยซา เมย์ อัลคอตต์

1. ลุยซา เมย์ อัลคอตต์ เป็นนักเขียนชาวอเมริกัน เกิดวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ.1832 เติบโตในครอบครัวที่พ่อแม่มีแนวคิดการใช้ชีวิตตามปรัชญาอุตรนิยม (Transcendentalist) เธอใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่บอสตัน คอนคอร์ด และแมสซาชูเซตส์ เสียชีวิตวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 1888 ด้วยวัย 55 ปี

2. อัลคอตต์ มีพี่น้องเป็นหญิงล้วน 4 คน ซึ่งเป็นต้นแบบตัวละครในงานเขียน Little Women และเธอก็มีน้องสาวที่เสียชีวิตด้วยอาการเจ็บป่วยตั้งแต่วัยเด็กเช่นเดียวกับเรื่องราวในสี่ดรุณี  ทั้งนี้วัยเด็กของอัลคอตต์ เติบโตในเมืองคอนคอร์ด ครั้งนั้นเธอได้รู้จักกับเพื่อนบ้านและร่วมสังคมกับนักเขียนนักคิด นักปรัชญาชื่อดังแห่งยุค อย่าง  ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน นักเขียน กวี และนักปรัชญา เจ้าของวาทะ “ความมั่งคั่งอย่างแรก คือ สุขภาพ”  รวมถึง เฮนรี เดวิด ธอโร เจ้าของผลงาน Walden และ นาธาเนียล ฮอว์ธอร์น  (Nathaniel Hawthorne) นักเขียนเจ้าของนิยาย Scarlet Letter

3. เดือนมีนาคม ค.ศ.1840 อัลคอตต์ในวัย 7 ขวบ และพี่สาวของเธอ ได้เข้าเรียนที่ Concord Academy ในเมืองคอนคอร์ดซึ่งมีครูและผู้บริหารอย่าง เฮนรี เดวิด ธอโร ที่ต่อมาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่อง Moods นิยายเรื่องแรกของเธอซึ่งเป็นนิยายโรมานซ์เรื่องรักใคร่ ได้แรงบันดาลใจจากความประทับใจในวัยเด็กต่อครูหนุ่มและนักเขียนคนดังผู้เป็นเพื่อนบ้าน Moods ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1864 ส่วนงานเขียนตีพิมพ์เล่มแรกของเธอจริงๆ เป็นงานรวมเล่มความเรียงและเรื่องสั้นชื่อ  Flower Fables ตีพิมพ์ ค.ศ. 1854

Little Women
บ้านออร์ชาร์ด  (Orchard House) ตั้งอยู่ที่เมืองคอนคอร์ด

4. ค.ศ. 1843 ครอบครัวอัลคอตต์ย้ายไปอยู่ที่ฟรุตแลนด์ ชุมชนที่พ่อของเธอเป็นผู้บุกเบิกตามอุดมคติ แต่เมื่อสถานการณ์ไม่เป็นไปดังหวัง พวกเขาจึงย้ายไปปักหลักที่ Still River นอกเมืองคอนคอร์ด ซึ่งใกล้ชิดธรรมชาติ ทุ่งหญ้า เนินเขา แม่น้ำ และเห็นพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้าได้ถนัดตา

5. อัลคอตต์ มีผลงานบทกวีชื่อ Thoreau’s Flute เธอเขียนขึ้นหลังการตายของ เฮนรี เดวิด ธอโร เพื่อรำลึกถึงผู้เคยเป็นครูสอนหนังสือ นักเขียนที่อยู่ข้างบ้าน และอดีตความทรงจำรักในวัยเยาว์

6. ตัวละคร โจ มาร์ช  ในเรื่องมีความใกล้เคียงกับตัวตนและอาชีพของคนแต่ง รวมถึงเรื่องความรักของผู้เขียน ขณะที่ความรักของตัวละครโจ มาร์ช จบลงด้วยการพบรักกับหนุ่มนักวิชาการผู้มาจากต่างแดน ไม่ใช่เพื่อนสนิทที่เป็นทายาทมหาเศรษฐีข้างบ้าน ที่คนอ่านได้ลุ้นกันตลอดเรื่อง ส่วนความรักชีวิตจริงของผู้ประพันธ์นั้นสมัยวัยรุ่นเธอมีใจรักแบบไม่ได้ลงเอย กับนักคิดนักเขียนหนุ่ม ราล์ฟ วอลโด อีเมอร์สัน นักเขียนนักปรัชญาอุตรนิยม เพื่อนบ้านใจดี  อีกคนคือ เฮนรี เดวิด ธอโร ครูสอนหนังสือ โดยเรื่องราวความสัมพันธ์ความรักในชีวิตจริงได้กลายแรงบันดาลใจในนิยายเล่มแรกของเธอ ชื่อ Moods ซึ่งเธอได้เขียนตัวละครเอกเป็นสาวน้อยนาม ซิลเวีย ที่มีความรักกับสองหนุ่มปัญญาชน  นิยายเล่มแรกจึงเป็นเรื่องแต่งอิงชีวประวัติของนักเขียนอีกเช่นกัน

7. บ้านที่อยู่อาศัยของอัลคอตต์ ชื่อ บ้านออร์ชาร์ด  (Orchard House) ตั้งอยู่ที่เมืองคอนคอร์ด รัฐแมสซาชูเซตต์ เป็นสถานที่ที่เธอใช้เขียนนิยาย Little Women ปัจจุบันบ้านหลังนี้ได้รับการอนุรักษ์และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านนักเขียน ในบ้านยังมีโต๊ะลิ้นชักที่พ่อของเธอซื้อให้เมื่อ ค.ศ. 1868 เป็นโต๊ะที่อัลคอตต์ใช้เขียนวรรณกรรมคลาสสิกเรื่องนี้อีกด้วย สามารถชมบ้านของเธอผ่านระบบออนไลน์ได้ที่ https://vimeo.com/ondemand/peekinsideorchardhouse

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป