เปิดโลกหลังผ้าคลุมสีเข้มขรึม ชีลับ เจ้าสาวของพระเจ้า
Faces

เปิดโลกหลังผ้าคลุมสีเข้มขรึม ชีลับ เจ้าสาวของพระเจ้า

Focus
  • ชีลับ คือ กลุ่มสตรีผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่สละชีวิตสังคมมาใช้ชีวิตในอาราม จำกัดเขตพรตภายใน ตัดขาดจากโลกภายนอกชั่วชีวิต และดำเนินในวิถีศรัทธา มุ่งมั่นกับการรำพึงภาวนา เพื่อพระศาสนจักร
  • คนที่สมัครใจเป็นชีลับ ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั้งนี้ บิดามารดาต้องรับรู้และยินยอม หญิงม่ายสามารถบวชเป็นชีลับได้ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา

ชีลับ คำนี้หลายคนเคยได้ยิน แต่ก็ยังคงเป็นข้อสงสัยว่ามีอยู่จริงไหม กลุ่มสตรีเหล่านี้คือใคร ซ่อนอยู่ตรงไหนในมุมลึกๆ ของอารามลับ และทำไมสตรีกลุ่มหนึ่งถึงยอมสละชีวิตธรรมดาทางโลกเพื่อถวายต่อพระผู้เป็นเจ้า ศาสนจักร และดำรงตนเป็น เจ้าสาวของพระเจ้า

ชีลับ
ชีลับแห่งคณะกลาริสกาปูชิน ภายในเขตพรตของอารามกลาริสกาปูชิน บ้านแสงอรุณ จ.ประจวบคีรีขันธ์

วิถีแห่งการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า

ชีลับ คือ กลุ่มสตรีผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกที่สละชีวิตสังคมมาใช้ชีวิตในอาราม จำกัดเขตพรตภายใน ตัดขาดจากโลกภายนอกชั่วชีวิต และดำเนินในวิถีศรัทธา มุ่งมั่นกับการรำพึงภาวนา มีอาภรณ์สีน้ำตาลเข้มห่มคลุมมิดชิด

คนที่สมัครใจเป็นชีลับ ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั้งนี้ บิดามารดาต้องรับรู้และยินยอม หญิงม่ายสามารถบวชเป็นชีลับได้ ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา มีสุขภาพดีไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคประจำตัวที่เป็นอุปสรรคต้องเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่ผ่านการรับศีลครบ 3 วาระแล้ว คือ ศีลล้างบาปเมื่อแรกเกิด ศีลมหาสนิทเมื่ออายุราว 7-8 ขวบ และศีลกำลังเมื่อราว 10 ขวบ

สิ่งสำคัญคือต้องมีจิตใจแน่วแน่ เพราะเมื่อก้าวเข้ามาในอารามแล้ว จะถือว่าตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่กลับออกไปอีก และดำเนินชีวิตอย่างพระ สละความกำหนัดทางโลก ความสนุกสนานของสังคมเพื่อนฝูงแบบเดิม สละความสัมพันธ์ในครอบครัว มาสู่การเดินทางสู่โลกภายในที่ยึดถือศรัทธา เป็นวิถีหนึ่งของการรับใช้พระผู้เป็นเจ้า ตามความเชื่อ ด้วยศรัทธาบริสุทธิ์

ชีลับ
ภคินีนอนราบกับพื้นแสดงถึงการสละทิ้งทุกสิ่ง (ภาพ : อารามคาร์แมล กรุงเทพฯ)

วิวาห์แห่งสวรรค์

ชีลับหรือ เจ้าสาวของพระเจ้า สตรีคาทอลิกผู้สละทางโลกต้องผ่านพิธีกรรมสำคัญ 3 ครั้ง ภายในอาราม ได้แก่ วันรับเสื้อคณะ เปรียบเสมือนวันหมั้นกับพระเยซูเจ้า ซึ่งภคินีต้องสวมชุดสีประจำคณะ เช่น คณะคาร์เมไลท์ ใช้ชุดสีน้ำตาลเข้ม

เมื่อครบ 1 ปีนับจากวันหมั้นก็ถึง วันปฏิญาณตนถวายตัวชั่วคราว เป็นเจ้าสาวของพระเจ้า และอีก 3 ปีต่อมาจึงเข้าสู่พิธีถวายตัวปฏิญาณตนตลอดชีวิตเปรียบดังวันวิวาห์เป็นการตอกย้ำยืนยันความมั่นคงในความรักต่อพระเจ้าอีกครั้ง

ชีลับ
ภคินีลงนามเข้าเป็นสมาชิกของคณะ (ภาพ : อารามคาร์แมล กรุงเทพฯ)

พิธีวันปฏิญาณตน ขั้นตอนและองค์ประกอบสำคัญมีดังนี้

  • ภคินีสวมชุดขาวเหมือนชุดเจ้าสาว แต่เป็นชุดเรียบๆ แขนยาว คอปิดมิดชิด ทำจากวัสดุที่มีอยู่ บางคนตัดชุดเองจากผ้าคลุมที่นอนสีขาว
  • บนศีรษะมีมงกุฎดอกไม้ขาว สื่อถึงความบริสุทธิ์ตลอดนิรันดร
  • ภคินี ผู้เข้าพิธีปฏิญาณตนของคณะคาร์เมไลท์จะต้องตัดผม แสดงถึงการสละความสวยงามทางโลก สื่อถึงการตัดกิเลสทางโลก
  • คณะคาร์เมไลท์ ไม่มีการสวมแหวนแทนใจ แต่ให้ถือการผูกมัดทางจิตใจ
  • ภคินีถือเทียนใหญ่สีขาวประดับดอกไม้สีขาว จุดสว่างตลอดพิธี สื่อความหมาย ตัวภคินีต้องเป็นผู้ส่องความสว่างแก่ชาวโลก
  • ภคนีต้องปฏิญาณศีลบน 3 ข้อ คือ ความบริสุทธิ์ ความยากจน และความนบนอบ เป็นการรับสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ต่อพระเยซูเจ้า เจ้าบ่าวแห่งสวรรค์ของเธอตลอดไป
  • ชุดเครื่องแบบของชีลับคณะคาร์เมไลท์ หลังการปฏิญาณตนถาวร คือ ชุดสีขาวข้างในและชุดสีน้ำตาลคลุมข้างนอก เรียกว่า ชีมิส ส่วนผ้าคลุมผมชั้นในกับถุงคอสีขาวเรียกว่า ต๊อก
  • ในภาพ ภคินีในชุดขาวคลุมหัวจรดเท้านอนราบกับพื้นท่ามกลางช่อดอกไม้สีขาว เป็นการแสดงความหมายถึงการสละทิ้งทุกสิ่งทางฝ่ายโลกในพิธีปฏิญาณตนตลอดชีวิต
เจ้าสาวของพระเจ้า

อารามลับ แดนหวงห้าม

เจ้าสาวของพระเจ้า ไม่มีเรือนหอหรูหรา แต่เธอจะต้องดำเนินชีวิตทั้งหมดที่เหลือ ใกล้ชิดกับพระผู้เป็นเจ้า ภายในเขตแดนอาราม สังกัดคณะ ที่มีจารีตปฏิบัติและการปกครองในรายละเอียดต่างกันบ้างเล็กน้อย ชีลับ มีการแบ่งคณะเช่นเดียวกับคณะนักบวช จากข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2537 ในเมืองไทยมี 2 คณะ ได้แก่คณะคาร์เมไลท์และ คณะกลาริส กาปูชิน

สำหรับ คณะธรรมทูตคาร์เมไลท์ สืบสายมาจากฝรั่งเศส เริ่มปักหลักในเมืองไทยมาตั้งแต่ พ.ศ.2468 ปักหมุดตั้งศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ ณ อารามคาร์แมล บน ถนนคอนแวนต์(ตรงข้ามโรงเรียนเซนต์โยเซฟ คอนเวนต์)ภายในอารามคาร์แมล แบ่งเป็น 2 เขต คือเขตอารามภายนอก มีการทำพิธีมิสซาของภคินีภายนอก หรือ ซิสเตอร์ และสัตบุรุษเข้าร่วมพิธีได้ และเขตพรตภายใน ซึ่งมีประตูปิดแน่นหนาและกำแพงแนวยาวกั้นไว้ลับตาคน เป็นเขตพำนักชั่วชีวิตของผู้ถวายตัวเป็นเจ้าสาวของพระเจ้า คณะคาร์เมไลท์ยังมีอารามในต่างจังหวัดอีก 2 แห่งที่ อ.เมือง จ. จันทบุรี และ อ.สามพราน จ.นครปฐม

คณะกลาริสกาปูชิน สืบสายมาจากอิตาลี ปักหลักที่เมืองไทย อารามแห่งแรกตั้งอยู่ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อพ.ศ.2479 และแผ่กระจายไปทั่วประเทศ 6 แห่ง ที่บ้านแสงอรุณ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์,อ.สามพราน จ.นครปฐม, ต.ท่าแร่ อ.เมือง จ.สกลนคร, อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.อุดรธานี มี 2แห่งที่อ.เมือง และอ.บ้านดุง

เจ้าสาวของพระเจ้า
ภาพห้องพักส่วนตัวของชีลับ ภายในอารามกลาริส กาปูชิน บ้านแสงอรุณ สะท้อนวิถีชีวิตสมถะ

ตัดขาดจากโลก

ชีลับ เป็นผู้สละโลก เพื่อจะทำให้เธอเป็นอิสระจากทุกสิ่ง โดยเฉพาะอิสระจากตัวเองเหมือนการปล่อยวางละทิ้งตัวเองของศาสนาพุทธ และการตัดขาดจากโลกภายนอก เพื่อให้มีความสงบและใช้ชีวิตรำพึงภาวนารับใช้พระเจ้าได้เต็มที่

การติดต่อระหว่างชีลับกับคนภายนอกทำได้เฉพาะพ่อแม่และญาติพี่น้องสายเลือดเดียวกันเท่านั้น โดยสิทธิการเยี่ยมได้เพียงเดือนละ 1 ครั้ง ในห้องรักแขกที่มีลูกกรงกั้น

ภคินีใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในปีแรก ได้รับอนุญาตให้พบปะสนทนากับญาติที่มาเยี่ยมได้ ณ ห้องรับแขก อารามชั้นนอก เวลาราว 30 นาที หากญาติมาไกลจากต่างจังหวัดอาจอนุโลมได้นานขึ้นอีกอีกหนึ่งวันที่สามารถพบญาติได้คือวันปฏิญาณตนเปรียบเป็นวันวิวาห์ถือว่าเป็นวันพิเศษ ทุกคนจะร่วมชื่นชมยินดี และญาติหรือเพื่อนฝูง หรือคนภายนอก ก็มาร่วมยินดีได้ในห้องรับแขก

ชีลับหรือภคินี ผู้ถวายตนแล้ว ไม่สามารถออกจากอารามนี้ได้อีก แม้บิดามารดาเสียชีวิต ภคินีไม่สามารถไปร่วมพิธีศพได้ ทำได้เพียงสวดภาวนาให้เท่านั้น และเมื่อภคนีเสียชีวิต คนนอกและญาติมิตรจะมาร่วมงานพิธีฝังที่สุสานภายในอารามได้เพียงวันเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นญาติมิตรทำได้เพียงฝากดอกไม้มาวางที่หน้าสุสานเท่านั้น

เจ้าสาวของพระเจ้า
คุณแม่อธิการเจ้าคณะกลาริสกาปูชินบ้านแสงอรุณ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์

รำพึงภาวนา

ชีวิตประจำวันของชีลับ เป็นดั่งนักพรตทั่วไป คือ สวดภาวนา ศึกษาพระคัมภีร์และทรมานกายรำพึงภาวนาหรือการสนทนากับพระเจ้าไม่จำกัดเฉพาะชั่วโมงรำพึงภาวนาวิถีแห่งการเป็นข้ารับใช้ที่ดีของพระศาสนจักรและทำงานให้เกิดผล ภคินีจำเป็นต้องดำเนินชีวิตสนิทกับพระเป็นเจ้า การจะชิดสนิทกับพระเป็นเจ้าต้องอาศัยจิตตารมณ์แห่งการภาวนา

“ความสุขในชีวิตนักบวชชีลับก็อธิบายยาก อยู่ในส่วนลึกของจิตใจของเรา แต่เป็นความสุขที่แท้จริง เป็นความสุขที่จิตใจเราสงบจริง เป็นสุขที่ถาวรเป็นความสุขในทางที่เราก็รู้ว่าพระเจ้าพระทัยดี เมตตากรุณาให้อภัยแก่เราเสมอ เป็นความสุขที่ทำให้เรามีความสบายใจ ความมั่นใจอยู่เสมอ เพราะรู้ว่าพระองค์นำชีวิตของเรา เราไม่ต้องกังวลอะไรทั้งสิ้น” คุณแม่อธิการเจ้าคณะกลาริสกาปูชินบ้านแสงอรุณ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวในนิตยสารสารคดี ฉบับ 116

ชีลับ

สันโดษไม่โดดเดี่ยว

ชีลับมีกฎการดำเนินชีวิตตามพระวินัยที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ต้องมีทั้งเวลาอยู่ลำพังและร่วมกับหมู่คณะ

การอยู่ลำพังมีการเข้าเงียบ หมายถึงการบำเพ็ญภาวนาพิเศษ 10 วัน ห้ามพูดคุยกับใคร และมีช่วงจำศีล ช่วง 7 เดือนใน 1 ปี เริ่มต้นวันที่ 14 กันยายน ถึงวันปัสกา

ชีวิตของชีลับไม่ได้เน้นการมีชีวิตโดดเดี่ยว แต่ยังเน้นถึงชีวิตในหมู่คณะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรัก ความสุภาพ การรับใช้ ช่วยเหลือกันอย่างจริงใจ ตามบทบัญญัติแห่งความรักที่พระคริสตเจ้าทรงมอบไว้ กิจกรรมภายในอาราม มีทั้งรำพึงภาวนา การบำเพ็ญตน การปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับและทำบ่อเลี้ยงปลาเพื่อประกอบอาหาร และต้องมีช่วงพักผ่อนหย่อนใจด้วย ตามประวัติเล่าว่า ในเขตอารามคาร์แมล ที่กรุงเทพฯ เคยมีสวนกุหลาบงอกงาม และตัดส่งออกขายภายนอกได้

บทเพลงเป็นส่วนสำคัญของคริสต์ศาสนิกชน การบรรเลงหรือร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าเป็นหนึ่งในกิจกรรมประจำวันของชีลับ ดังในภาพ ภคินีแห่งคณะกลาริสกาปูชิน กำลังเล่นออร์แกนไฟฟ้าบรรเลงบทเพลงศรัทธาทางศาสนาภายในอารามยังมีเครื่องดนตรีอื่นๆ เช่น เมาท์ออร์แกน กีตาร์และอิเล็กโทน

นอกจากบรรเลงเพลงศรัทธา ภคินีสามารถเล่นเพื่อความเพลิดเพลินและผ่อนคลายได้ แต่จะไม่ฟังเพลงทางโลก ไม่ดูโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือใดๆทางโลก ยกเว้นแม่อธิการ ผู้สามารถคัดเลือกข่าวสารที่เห็นว่าภคินีควรรู้ได้

การดำเนินชีวิตของชีลับ ถือเป็นการประกาศถึงความรักยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่ทรงประทานให้แก่ผู้ที่รักพระองค์ เหนือสิ่งอื่นใด ด้วยการมอบความสุขของชาวสวรรค์ให้เธอตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เป็นรางวัลตอบแทน

ศิลปะ สานศรัทธา

แม้จะตัดขาดจากโลกภายนอกและฝึกฝนตัวเองอย่างเคร่งครัด แต่กิจกรรมแห่งการเผยแผ่ศรัทธาต่อพระเจ้า ยังเป็นส่วนหนึ่งที่เหล่าภคินีปฏิบัติเฉกเช่นเดียวกับฆราวาสและนักบวชอื่นๆ ในภาพภคินีแห่งคณะกาปูชิน กำลังวาดภาพ เพื่อเป็นต้นฉบับไปลงพิมพ์ในหนังสือศรัทธาของศาสนา

นอกจากนั้นชีลับก็มีภารกิจเพื่อชาวโลก โดยการเป็นที่พึ่งทางใจ ด้วยการอนุญาตให้คนภายนอกที่มีปัญหาชีวิต ทั้งสุขภาพ ครอบครัว งานมาพูดคุยผ่านตู้หมุน กับภคินีหลังตู้หมุน โดยไม่ต้องเห็นหน้ากัน ภคินีที่ทำหน้าที่นี้ต้องอาวุโสและมีความรอบคอบ และต้องรักษาความลับของผู้มาปรึกษา

งานเย็บปักถักร้อยเป็นงานกิจกรรมประจำวันหนึ่งของเหล่าภคินี เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นและสร้างรายได้ให้แก่อาราม ทั้งจากทำเสื้อมิสซาของพระสงฆ์ ทำพวกเครื่องบูชาในพิธีทางศาสนา การปักเสื้อพระสงฆ์หรือนักบวช (ในภาพ)ทำอุปกรณ์เครื่องใช้ของพระสงฆ์(นักบวช) เช่น เชือกคาดเอวหรือรัดประคด เสื้อหล่อ และแผ่นศีล หรือแผ่นปัง ทำจากแป้งสาลีละลายน้ำผ่านพิธีเสก ตามความเชื่อว่าแผ่นศีลแทนพระกายของพระเยซูเจ้า เพื่อส่งไปยังโบสถ์คาทอลิกทั่วประเทศ

“เราสละโลกแต่เราไม่ได้ทิ้งโลก เพียงแต่เราไม่ได้เอามาผูก เรายังสนใจทุกข์สุขของคนภายนอกอยู่” อธิการิณี อารามคาร์แมล กรุงเทพฯ กล่าวไว้ในนิตยสารสารคดีฉบับที่ 116

ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี ฉบับ ตุลาคม 2537

เรื่อง: อรสม สุทธิสาคร

ภาพ: พิชญ์ เยาว์ภิรมย์