ศาสนาอำนาจนิยม และ การโบกสะบัดธงสีรุ้ง ของ แรปเตอร์–สิรภพ เสรีเทยพลัส
Faces

ศาสนาอำนาจนิยม และ การโบกสะบัดธงสีรุ้ง ของ แรปเตอร์–สิรภพ เสรีเทยพลัส

Focus
  • แรปเตอร์-สิรภพ อัตโตหิ คือหนึ่งในตัวแทนกลุ่ม กลุ่มเสรีเทยพลัส หลายคนรู้จักในฐานะ “ม็อบตุ้งติ้ง” และ “ม็อบเฟส” และการต่อสู้เพื่อสังคมแห่งความหลากหลายทางเพศ
  • แรปเตอร์ มีความสนใจปรัชญาศาสนามา ซึ่งแนวคิดหนึ่งในการต่อสู้ของแรปเตอร์ก็มาจากปรัชญาศาสนา เรื่องทุกคนล้วนเป็นพุทธะ มีความเท่าเทียมกันในเนื้อแท้ภายใน สามารถตื่นรู้ได้อย่างเสมอภาคไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง

“ถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่สู้มาก่อน แม้วันนี้บางคนหมดแรงไปแล้ว แต่ขอให้รู้ว่า การต่อสู้ของพวกคุณที่มีมาก่อน เป็นสิ่งที่ทำให้การต่อสู้ในครั้งนี้มีพลังได้ เพราะถ้าพี่ๆ ไม่ปูทางมาก่อน การต่อสู้ในครั้งนี้อาจจะยากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นสิ่งที่พวกคุณทำมาตลอดมันมีคุณค่า ขออย่าหมดหวัง แม้ว่าวันนี้ไม่มีแรงต่อสู้ แต่ขอเพียงอย่าหมดหวัง และอย่าคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า หรืออย่าคิดว่าสังคมเราไม่มีวันดีขึ้น เพราะตอนนี้สังคมกำลังค่อยๆ ดีขึ้นทุกวัน แค่เราต้องให้เวลากับมัน เวลามันอยู่ข้างเราเสมอ”

แรปเตอร์-สิรภพ อัตโตหิ ตัวแทน กลุ่มเสรีเทยพลัส เล่าถึงการที่เขาลุกขึ้นมาพูดและร่วมขบวนที่พวกเขาคาดหวังจะไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยแววตาเปี่ยมความหวัง แม้เบื้องหน้าในขบวนม็อบเพื่อเรียกร้องเรื่องความหลากหลายทางเพศ คนส่วนใหญ่อาจจะเห็นเพียงสีสันของ “ม็อบตุ้งติ้ง” และ “ม็อบเฟส” ที่แรปเตอร์ปรากฏตัวในชุดสีสันฉูดฉาด ฉาบด้วยวาทะคำอธิบายถึงหลักการที่แหลมคม แต่เบื้องลึกในชุดความคิด อุดมการณ์ที่มัดโยงให้นิสิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้นี้ยอมแบกความเสี่ยง และถือไมค์ท้าทายกับอำนาจย่อมไม่ใช่เรื่องหอมหวานอย่างชุดที่เธอสวมใส่

กลุ่มเสรีเทยพลัส

ก้าวข้ามสู่การยอมรับ

วัยเด็กของแรปเตอร์ การเติบโตมาในครอบครัวใหญ่ ที่บ้านเรือนอยู่ในซอยเดียวกันใน จังหวัดชลบุรี และเป็นเรื่องยากไม่น้อยที่จะเปิดเผยตัวตนว่ามีความหลากหลายทางเพศ ตั้งแต่เรียนชั้น ป.6 ซึ่งนี่คือเบ้าหลอมที่ทำให้เขาออกมาขับเคลื่อนสังคมผ่านธงสีรุ้ง ในวันนี้

“ตอนที่ครอบครัวรู้ว่าเราชอบผู้ชาย สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความรุนแรงทางกาย แต่เป็นทางจิตใจ สิ่งนี้ทำให้เริ่มเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน ทำให้เกิดระยะห่างจนเราเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ แต่เราโชคดีที่ครอบครัวให้อิสระในระดับหนึ่งซึ่งถ้าเทียบกับรุ่นพี่หลายคนที่โดนกระทำทั้งกายใจหนักมากตอนบอกว่าเราเป็นอย่างนี้กับครอบครัว แม้ครอบครัวบอกว่าไม่เป็นไร แต่ก็แนะนำว่าไปหาหมอไหม เหมือนเขาก็มีความหวังว่าจะเปลี่ยนให้เรากลับมาชอบผู้หญิง นี่คือสิ่งที่กดทับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะบางคนใช้คำว่า สับสนทางเพศ จริงๆ สิ่งที่เขาคิดมันไม่ใช่ ทั้งที่เรารู้ตัวเองแล้วว่า ตัวตนเราเป็นอย่างนี้

“เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ เมื่ออยู่ในครอบครัวที่ใช้อำนาจนิยมมักจะถูกคนในครอบครัวทำร้ายได้ง่าย เพราะผู้ปกครองจะมีความรู้สึกว่า เขาเป็นเจ้าของ ดังนั้นจะใช้อำนาจกับลูกในส่วนที่เขาต้องการจะให้เป็น และจะทำให้กลายเป็นความรุนแรงได้ง่ายมันเป็นเรื่องยากมากในคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่จะจัดการกับแรงกระทบกระเทือนจิตใจในวัยเด็ก ซึ่งอยู่ในสังคมที่ไม่มีความเข้าใจคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้หลายคนมีกระบวนการในการป้องกันตัวเอง

“บางคนจะมีกำแพงสูงกับคนอื่น หรือพิสูจน์ตัวเองด้วยความสามารถบางอย่างที่มาแทนที่ เพื่อให้เกิดการยอมรับในมิติอื่นๆ แต่การมีคนที่สามารถพูดคุยไว้ใจได้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก และจะทำให้เรามีพลังใจที่ดี แต่ขณะเดียวกันการบอกใครว่าเราเป็นอย่างนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ของเด็กคนนั้นกับใครอีกหลายคนพังทลายลงหรือเปล่า แต่ถ้ามีคนที่พร้อมรับฟัง และพร้อมจะยอมรับในสิ่งที่เราเป็น จะเป็นสิ่งสำคัญมากและเราต้องรักษาเขาไว้ให้ดี เพราะสิ่งนี้จะทำให้คุณสามารถสู้ต่อไปในโลกที่ยังไม่เข้าใจคนที่มีความหลากหลายทางเพศได้”

กลุ่มเสรีเทยพลัส

ความเป็นพุทธะที่ไม่ได้เลือกเพศ

ด้วยความสนใจปรัชญาศาสนา ทำให้ชีวิตวัยเด็กหลังเลิกเรียน แรปเตอร์มักขลุกอยู่ในห้องพระบ้านคุณยายที่เต็มไปด้วยหนังสือศาสนา และจากความชอบค่อยๆ บ่มให้เริ่มศึกษาค้นคว้าด้านปรัชญา และเรื่องราวเทพปกรณัมจนเกิดคำถามบางอย่าง ผลักดันให้ค้นหาคำตอบเมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย

“พอเรียนมหาวิทยาลัย เราก็เริ่มศึกษาเรื่องปรัชญาพุทธศาสนาอย่างจริงจัง จนเห็นว่าการศึกษาเรื่องศาสนาในบ้านเรายังเป็นแบบท่องจำ รับใช้อำนาจนิยม ทำให้เชื่อแต่อิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ และสิ่งที่กำกับความถูกต้องดีงามในสังคม สิ่งนี้ทำให้มิติในด้านปรัชญาของพุทธศาสนาในสังคมไทยหายไป

“ยิ่งพอได้มาฝึกงานที่ สถาบันวัชรสิทธาของ พี่วิจักขณ์ พานิช ก็เริ่มเห็นแนวคิดพุทธศาสนาในโลกปรัชญาที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะหลักคิดที่ว่า ทุกคนล้วนเป็นพุทธะ มีความเท่าเทียมกันในเนื้อแท้ภายใน สามารถตื่นรู้ได้ภายในตัวเรา สิ่งนี้มีในทุกคนอย่างเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะเป็นชาย หญิง หรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศทุกคนมีสิ่งนี้เท่าเทียมกัน ความเป็นพุทธะไม่ได้เลือกเพศ แต่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ทุกคนเป็นได้ โดยไม่เลือกศาสนา

กลุ่มเสรีเทยพลัส

“แต่ถ้ามองกลับมาในความเป็นพุทธะแบบไทย มักจะผูกโยงกับอำนาจนิยมแปลกๆ เช่น ผู้ชายต้องบวชเพื่อให้พ่อแม่เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ หรือผู้หญิงมีประจำเดือนห้ามขึ้นไปบนอุโบสถ กลายเป็นเอาแนวคิดแบบปิตาธิปไตย ชายเป็นใหญ่มาผูกโยงกับศาสนา ทั้งที่จริงแล้วปรัชญาของพุทธศาสนาไม่ได้มุ่งเน้นในสิ่งนั้น สิ่งเหล่านี้เลยทำให้มีการกีดกันไม่ให้ผู้หญิง หรือคนที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าถึงแก่นคำสอนของศาสนาที่แท้จริง และกลายเป็นการมุ่งทำบุญเพื่อพุทธพาณิชย์ เช่น มีคนบอกว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศทำบาปมามากในชาติที่แล้ว เลยต้องเร่งทำบุญมากๆ เพื่อให้ชาติหน้าได้เกิดมาเป็นชาย จะได้บวช สิ่งนี้เป็นความเชื่อที่รับใช้อำนาจนิยมแบบชายเป็นใหญ่

“ยิ่งโดยเฉพาะหลักคิดเรื่องภิกษุณีในไทยที่อ้างว่าการจะบวชภิกษุณีได้ ต้องมีทั้งพระภิกษุและภิกษุณีมาบวชให้ เขาเลยอ้างว่าเมื่อภิกษุณีในไทยขาดหายไปแล้ว ตามธรรมเนียมจึงไม่สามารถมีภิกษุณีในไทยได้อีก ทั้งที่ความเป็นจริงในพุทธศาสนาสอนให้เรามองโลกอย่าง พลวัต ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคม แต่สุดท้ายคุณก็ไม่เปิดโอกาสให้มีภิกษุณีในไทย ทั้งที่มีความพยายามเช่น หลวงแม่ธัมมนันทา ที่เดินทางไปบวชมาจากศรีลังกา แต่เมื่อกลับมาจำวัดในไทย กลับไม่ได้รับการยอมรับจากคณะสงฆ์ไทยเพราะการยึดติดกับธรรมวินัย แต่ไม่ได้ยึดหลักการสำคัญที่ว่า ทุกคนก็ตรัสรู้ได้ นี่แสดงให้เห็นถึงการยึดติดกับอัตตาของคนเหล่านั้น ซึ่งนี่คืออำนาจนิยมในรูปแบบศาสนา

“ถ้าหัวใจของศาสนาคือการดับทุกข์อริยสัจ 4 จึงไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเพศเลย แก่นหลักของปรัชญาจริงๆ มีแต่จะบอกว่า อะไรคือการดับทุกข์ของคน แก่นของคำสอนคือทุกคนเท่ากัน ซึ่งถ้าคุณมองว่าสิ่งนี้เป็นสัจธรรม เท่ากับว่าสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่เลือกเพศ

“อนาคตของการเคลื่อนไหว คือเราจะเปลี่ยนแปลงความคิดของคนในสังคมได้อย่างไร เพราะตอนนี้เรากำลังสู้กับความคิด วัฒนธรรมและระบบ เราไม่ได้สู้กับคน สิ่งที่เราจะทำได้คือการป้อนความคิดใหม่ๆ ให้คนในสังคมยอมรับความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งนี่เป็นการต่อสู้ในระยะยาว อย่าคิดว่าจะชนะได้ในระยะเวลาอันสั้น เพราะปิตาธิปไตยฝังลึกในสังคมไทยมานานดังนั้นจึงต้องเตรียมกาย เตรียมใจไว้ให้พร้อม เพราะสิ่งนี้คืออนาคตของพวกเราทุกคน”

แรปเตอร์จบการสัมภาษณ์ด้วยเสียงหัวเราะ ซึ่งแฝงด้วยท่าทางมุ่งมั่นทางความคิด แม้เขาจะเพิ่งโทรศัพท์ไปหาที่บ้าน บอกข่าวการเรียนที่ต้องจบช้ากว่าเพื่อนไปอีก 1 ปี แต่ก็ไม่มีอะไรต้องเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะสุดท้ายเวลาจะอยู่ข้างทุกคนเสมอ


Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"