ตาสว่าง : หนังสือที่ชวนเพ่งมองการเมืองผ่านสายตาอันมืดบอดของสามัญชน
Lite

ตาสว่าง : หนังสือที่ชวนเพ่งมองการเมืองผ่านสายตาอันมืดบอดของสามัญชน

Focus
  • ตาสว่าง (Il Redi Bangkok) นิยายภาพ (Graphic Novel) ที่เกิดจากการลงพื้นที่ศึกษาประเทศไทยในหลายมิติของทีมผู้แต่งที่มาจากหลากหลายสาขา โดยใช้เวลาร่วม 10 ปี ครบทั้งการศึกษาในแง่มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย รูปแบบงานเขียนเรื่องแต่ง และงานออกแบบภาพ
  • เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติร่วมด้วย เคียรา นาตาลุชชีและ ซารา ฟับบรี ได้ร่วมกันค้นคว้าข้อมูลและจัดเก็บกว่า 5,000 รายการ ก่อนจะกลายมาเป็นนิยายภาพตาสว่าง(Il Redi Bangkok) ที่ชวนมองการเมืองผ่านมุมมองของมนุษย์คนหนึ่งที่ก้าวข้ามคำว่าสีเสื้อ

ในโมงยามที่มืดบอด อาจจะเป็นโมงยามที่เราได้เห็นแสงสว่างขึ้นมา และก็ไม่มีโมงยามไหนที่เราจะอ่าน ตาสว่าง ได้เข้าใจเท่ายามที่วิกฤติทำให้เรื่องการเมืองกระชับพื้นที่เข้ามาเป็นเรื่องใกล้ตัวได้อย่างแนบสนิทเช่นนี้

ตาสว่าง

ตาสว่าง (Il Re di Bangkok) นิยายภาพ (Graphic Novel) ที่เกิดจากการลงพื้นที่ศึกษาประเทศไทยในหลายมิติกว่า 10 ปีทั้งในด้านมานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย ลักษณะการเขียนเรื่องแต่ง งานออกแบบภาพ นำโดย เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ (Claudio Sopranzetti) นักวิชาการด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดที่เคยศึกษาประเด็นวินมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ และมีผลงานวิชาการที่เกี่ยวกับการศึกษาการเมืองไทยอีกหลายรายการ ร่วมด้วย เคียรา นาตาลุชชี (Chiara Natalucci) นักแปลและ ซารา ฟับบรี (Sara Fabbri) ศิลปินนักวาดภาพประกอบนักวาดการ์ตูน และเป็นบรรณาธิการนิตยสารการ์ตูน Linus ของอิตาลี

ตาสว่าง
เคียรา นาตาลุชชี/ ซารา ฟับบรี/ เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ

สำหรับ ตาสว่าง พวกเขาได้ค้นคว้าและจัดเก็บข้อมูลกว่า 5,000 รายการครอบคลุมทั้งการสัมภาษณ์ ฟิล์มภาพยนตร์ เอกสารประวัติศาสตร์ ภาพถ่าย งานสะสมส่วนตัวของนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ทั้งหมดทำให้ ตาสว่าง มีรายละเอียดถี่ยิบที่ตรงกับความเป็นจริงในการสร้างนิยายภาพไม่ว่าจะสถานที่ เสื้อผ้า ความคิดความเชื่อ การออกแบบตึกอาคาร วิถีชีวิต และนั่นจึงทำให้ตาสว่างเป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่ครบทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ การเมือง วิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ ผ่านสายตาของผู้เขียนในฐานะประชาชน ไม่ใช่งานเขียนเพื่อชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสียของฝ่ายการเมืองไหน แต่เป็นการสะท้อนว่าสามัญชนคนธรรมดามีผลกระทบอย่างไรจากการพลิกผันของการเมืองไทยในรอบหลายทศวรรษมานี้

ตาสว่าง

เมื่อนกต้องออกโบยบิน

ตาสว่างเล่าเรื่องของ “นก” ชายคนหนึ่งที่เดินทางจากอุดรธานีมาตามหาฝันในกรุงเทพฯช่วง พ.ศ.2525 ซึ่งเป็นปีที่กรุงเทพฯ กำลังพัฒนาผ่านกระแสโลกาภิวัตน์ นกทำงานตั้งแต่แรงงานในโรงงานผลิตรองเท้า เข็นผักก้าวหน้าจากตัวเปล่าจนมีรถมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง และเริ่มเข้าใจว่ากรุงเทพฯ คงเป็นเมืองฟ้าสำหรับเขาจริงๆ

ตาสว่าง

ชีวิตของนกดำเนินตามขนบของสามัญชนคนหนึ่งที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ ทำงานส่งเงินให้ครอบครัว แต่งงานมีลูก โดยในตาสว่างนี้ได้เล่าชีวิตของนกเทียบขนานไปกับเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลาสำคัญต่างๆ ตั้งแต่กบฏทหารนอกราชการของ พันเอกมนูญกฤต รูปขจร (9 กันยายน พ.ศ. 2528) ต่อเนื่องมาถึงพฤษภาทมิฬ วิกฤติต้มยำกุ้ง การลดค่าเงินบาทที่ทำให้การลงทุนหลายส่วนล้มละลาย เรื่อยมาถึงชัยชนะในการเลือกตั้งของ ทักษิณ ชินวัตรจนถึงรัฐประหารครั้งสำคัญในปี พ.ศ.2549 การชุมนุมครั้งสำคัญของ นปช.ในปีพ.ศ.2553 มาจนถึงการถูกปราบปรามด้วยความรุนแรงแต่ด้วยความที่เรื่องทั้งหมดถูกมองผ่านสายตานักมานุษยวิทยา จึงทำให้โทนของเรื่องมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจเหตุการณ์ในฐานะผลกระทบที่เกิดกับผู้คน ขยายให้เห็นภาพใกล้ตัวมากขึ้นว่า “การเมือง” มีผลกับนกตัวหนึ่งอย่างไร

ตาสว่าง

มากกว่าสีเสื้อคือความเชื่อมั่น

“หลวงพ่อสอนว่า สิ่งต่าง ๆ ในชีวิตล้วนเปลี่ยนแปลง แต่ทักษิณทำให้เรารู้ว่า การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นของมันเอง”

จากนกน้อยในชั้นแรงงานที่อยากเติบโตไปตามโอกาสของสังคม ชีวิตของนกพลิกผันหลายตลบ ตั้งแต่การล้มของเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติดในหมู่ผู้ใช้แรงงานอันเนื่องมาจากการต้องทำงานหนักเพื่อหารายได้ยามเศรษฐกิจถดถอย จนมาถึงความหวังทางการเมืองในการชนะการเลือกตั้งของทักษิณนโยบายการปฏิรูปต่าง ๆ ที่ให้ชนชั้นล่างผู้เคยมีรายได้น้อยให้ลืมตาอ้าปากมีสิทธิมีเสียงมีความสามารถในการเจริญก้าวหน้า แต่สุดท้ายความฝันและความเชื่อกลับถูกหยุดด้วยการรัฐประหาร

ใน ตาสว่าง ได้ยกนโยบายสำคัญนโยบายหนึ่งในยุครัฐบาลทักษิณมาเล่านั่นคือนโยบายการปฏิรูปราชการและการมอบเสื้อวินทำให้วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ไม่ต้องถูกเรียกเก็บส่วยอีกต่อไป

นโยบายของรัฐบาลครั้งนั้นแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ ของคนกลุ่มเล็กๆ แต่กลับเป็นการแสดงออกที่สำคัญมากถึงการที่รัฐมองเห็นประชาชนไม่เมินเฉยต่อปัญหาของชนชั้นแรงงานหรือคนที่ถูกมองว่าเป็นชนชั้นล่างคนหาเช้ากินค่ำ ทำให้ประชาชนรวมทั้ง นก กลับมามีความหวังกับกรุงเทพฯ อีกครั้ง

ตาสว่าง

ในงานศึกษาเรื่องวินมอเตอร์ไซค์ (Owners of the Map: Motorcycle Taxi Drivers, Mobility, and Politics in Bangkok) ของเคลาดิโอเขาได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่าอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯ เป็นกลุ่มที่มองเห็นอุปสรรคเชิงโครงสร้างที่ขัดขวางการยกระดับฐานะทางชนชั้นของสามัญชน ดังนั้นเมื่อเขารู้สึกว่าถึงเวลาที่ต้องแสดงพลังเขาจึงไม่รีรอที่จะเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง ซึ่งใน ตาสว่าง นั้นได้เพิ่มมุมมองเรื่องความเชื่อมั่นที่มีมากกว่าสีเสื้อ ต่อไม่ใช่รัฐบาลทักษิณ แต่หากนกรวมทั้งประชาชนคนอื่นเกิดความเชื่อมั่น เชื่อในนโยบายที่จะทำให้นกขยับฐานะได้ตามฝันพวกเขาก็ยังคงจะยืนยันความเชื่อของพวกเขาทุกครั้งเพราะพวกเขาคือผู้ได้รับประโยชน์เชิงนโยบาย

นกในตาสว่าง จึงถือว่าการรัฐประหารรัฐบาลทักษิณเป็นการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีการเลือกเชื่อ เลือกการตัดสินใจของเขา เขาไม่พอใจกับการที่รัฐบาลที่เขาเลือกมากับมือต้องถูกผลักลงและมีคณะที่เขาไม่ได้เลือกขึ้นครองอำนาจ นกฝันสลายอีกครั้ง เขารู้สึกถึงการถูกย่ำยี เป็นการย้ำว่าอย่างไรเสียเขาก็ยังคงเป็นได้เพียงชนชั้นล่าง เป็นพลเมืองชั้นสองที่ไม่มีเสียง ต่อให้ยืนยันความเชื่อมั่นหรือทางเลือกของตัวเองก็สามารถถูกล้มกระดานได้อย่างง่ายดายทำให้นกและอีกหลายๆ คนก้าวขาเข้าสู่การเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ “คนเสื้อแดง”

หากมองข้ามเรื่องสีเสื้อ นกน้อยในเมืองฟ้าอมรตัวนี้ก็คือหนึ่งในประชาชนที่รู้สึกว่าเขาเป็นผู้เสียผลประโยชน์และได้รับการปฏิบัติอย่างไม่ชอบธรรมเมื่อมีอำนาจหนึ่งถูกสถาปนาเหนืออำนาจประชาชน ในตาสว่างนั้นได้ค่อยๆ คลี่มุมมองที่ทำให้เห็นว่า แท้จริงคนอย่างนกไม่ได้ยึดแกนบุคคลเป็นหลักแต่นกยึดความชอบธรรมที่ได้มาจากเสียงของเขาจากรัฐบาลที่เขาเรียกร้องได้และจากประโยชน์เชิงนโยบายที่รัฐมอบให้จนเขาเกิดความเชื่อมั่น

ตาสว่างในยามที่มืดบอด

ชีวิตผู้ร่วมชุมนุมของนกจบลงด้วยกระสุนทะลุร่างไปทำลายประสาทการมองเห็นในเหตุการณ์สลายการชุมนุมพฤษภาคมปี 53 ท้ายที่สุดทำให้เขากลายเป็นคนตาบอด จากวินมอเตอร์ไซค์เสื้อแดงผู้เปี่ยมฝัน แต่ฝันของเขาถูกทลายลงนกกลายเป็นผู้พิการทางสายตา เขาต้องพลิกผันมาขายลอตเตอรี่ในกรุงเทพฯ และเขาต้องใจสลายอีกครั้งเมื่อมีการประกาศยุติการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงและกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งใหม่ในปี พ.ศ.2555

“จะให้เรากลับไปใช้ชีวิตแบบไหน ทักษิณหวังชนะการเลือกตั้งและกลับมามีอำนาจและถ้าจะให้ชนะเลือกตั้ง จำเป็นที่เราต้องหยุดชุมนุมประท้วง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหยุดเรียกร้องความยุติธรรมให้เราและผู้เสียชีวิต เรายอมเสี่ยงทุกอย่างเพื่อให้สามารถกำหนดอนาคตตนเองแต่ทักษิณกลับใช้เราเป็นเครื่องมือในเกมการเมือง”

“ผมเคยเป็นชาวไร่ชาวนา คนงานในกรุงเทพฯ ช่างก่อสร้าง คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ศรัทธาในหลวงพ่อ และทักษิณแล้วตอนนี้ผมเหลืออะไร”

ในตอนท้ายของตาสว่าง นก อยู่ในสภาพตาบอดซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงถูกสลายนกรู้สึกได้ว่าเขากำลังตกอยู่ในความมืดตลอดกาลที่ไม่ใช่เพียงเรื่องทางกายภาพ หรือดวงตาที่มืดบอด

ในฉากสุดท้ายที่ นก กล่าวรำลึกอดีตคนรอบตัวของเขา ลูกเมียพ่อแม่เพื่อนพ้อง เขากลับสู่การให้ความสำคัญกับทุกหน่วยเล็กๆ รอบตัวและเดินสู่แสงสว่างหายไปจากคนอ่าน ชะตาของนกจะเป็นอย่างไรต่อไป คนอ่านไม่สามารถรู้ได้ มีแต่นกเท่านั้นที่จะเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของเขา ทั้งในภาวะของดวงตาที่มืดบอดและการเดินต่อไปบนเส้นทางที่มีแสงสว่างเรืองรองอยู่ข้างหน้า

FACT FILE

  • ตาสว่าง (Il Re di Bangkok) โดย Claudio Sopranzetti, Chiara Natalucci, Sara Fabbri
    แปลโดย นันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ
    สำนักพิมพ์: อ่านอิตาลี ราคา 395 บาท




Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน